วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 28, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSโครงการ CCS มาแน่ แต่มาตรการส่งเสริมจากรัฐต้องมาด้วย
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

โครงการ CCS มาแน่ แต่มาตรการส่งเสริมจากรัฐต้องมาด้วย

ท่ามกลางภยันตรายจากโลกเดือด ทำให้ทุกภาคส่วนนิ่งเฉยไม่ได้ ต้องเดินหน้าสู่ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยวิธีการต่างๆ แต่ก็ต้องเดินไปพร้อมกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะ การซื้อคาร์บอนเครดิต จาก โครงการลดก๊าซเรือนกระจก ไม่ได้รับการยอมรับเท่ากับการลงมือทำด้วยตัวเอง

ในกิจการพลังงานแม้จะยากในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ก็ต้องทำ โครงการสำคัญที่กำลังง่วนกันอยู่ คือ โครงการ Carbon Capture and Storage (CCS) และแค่เก็บอย่างเดียวก็ไม่สมาร์ทเท่าเอาที่เก็บมาใช้ประโยชน์ด้วย หรือ CCUS (Carbon Capture Utilization and Storage) ยากไปอีกขั้นเช่น เพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมัน (Enhanced Oil Recovery), อุตสาหกรรมเครื่องดื่มน้ำอัดลม โซดา, อุตสาหกรรมอาหาร รวมถึงนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แปลงเป็นเชื้อเพลิง เช่น ก๊าซมีเทน หรือแปลงเป็นสารเคมีหรือผลิตภัณฑ์อื่นที่มีมูลค่าสูงถือเป็นสเต็ปที่ต้องพัฒนาต่อหลังเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บเข้าที่แล้ว

ในส่วนของภาคพลังงานบ้านเรา กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติกำลังศึกษาเรื่องกฎหมาย เพื่อสนับสนุนให้มี CCUS ในพื้นที่พัฒนาปิโตรเลียม และพื้นที่อื่นๆ รวมถึงจัดทำแนวทางการ และกติกาในการพิจารณาด้านเทคนิค การประเมินศักยภาพชั้นหินทางธรณีวิยา สิ่งแวดล้อม การตรวจติดตามระหว่างการอัดและภายหลังการอัด ขณะเดียวกันก็ประสานกับหน่วยงานต่างๆ ภายในประเทศด้วย เช่น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กรมศุลกากร เพื่อส่งเสริมการดำเนินงานด้าน CCS ในด้านสิ่งแวดล้อม ด้านยกเว้นภาษี พร้อมกับให้ความรู้แก่หน่วยงานต่างๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานด้าน CCS

ทั้งนี้ CCS จะก้าวหน้าไปได้อยู่ที่การเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสม ตอนนี้กรมเชื้อเพลิงก็มีความร่วมมือระหว่างประเทศกับ Japan Oil, Gas and Metals National Corporation (JOGMEC) และ The Commercial Law Development Program (CLDP) เป็นต้น เพื่อทบทวนและวางกรอบเกี่ยวกับพัฒนาด้านกฎหมาย และกำลังศึกษาศักยภาพ และโอกาส ทำโครงการ CCS ในบริเวณอ่าวไทยตอนบนด้วย

สำหรับ โครงการนำร่อง sandbox ที่แหล่งปิโตรเลียมอาทิตย์ (Arthit CCS) ซึ่ง “ปตท.สผ.” เป็นแม่งานก็กำลังเดินหน้าไปอย่างช้าๆ มีวางแผนในการกักเก็บคาร์บอนทั้งหมดจากกระบวนการผลิตต้นน้ำ (Zero-flaring) โดยใช้หลุมอัดกลับอย่างน้อย 7 หลุมที่เบื้องต้นใช้เงินลงทุนประมาณ 400 ล้านดอลลาร์ หรือ 14,000 ล้านบาท โดยปตท.สผ. มีเป้าหมายให้โครงการ CCS ช่วยกักเก็บก๊าซคาร์บอนไคออกไซด์ ประมาณ 40 ล้านตันต่อปี ในปี 2593 และเพิ่มเป็น 60 ล้านต้นต่อปี ในปี 2608 ขณะที่ปตท.ก็กำลังจับมือกับภาคส่วนต่างๆในการทำโครงการ CCS เชิงพาณิชย์ ซึ่งการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการนี้ (Feasibility Study) จะได้ข้อสรุปในปี 2568 ว่าจะออกมาหน้าตาอย่างไร

ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง

“ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวไว้ในงานสัมมนา iBusiness Forum “2025 Net Zero กับความท้าทายของเศรษฐกิจโลกยุคใหม่ Net Zero and the Challenges of The New Global Economy” ว่า กำลังทำงานกับหลายหน่วยงานเพื่อเดินหน้าโครงการ CCS ให้เป็นรูปธรรม เพราะปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายมารองรับ

“สำหรับแนวทางของปตท. เราจะไม่ได้ดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เฉพาะในกลุ่มของเรา แต่จะทำให้โรงงานอุตสาหกรรมอื่นๆ มาใช้ประโยชน์ได้ด้วย เพราะยังไงก็เลี่ยงไม่ได้ที่กระบวนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมต้องปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งโครงการ CCS เข้ามาตอบโจทย์ได้ อย่างบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ก็สนใจ” ดร.คงกระพัน กล่าว

ปัจจุบันมีหลายประเทศดำเนินโครงการ CCS ถึง 41 โครงการ และ 26 โครงการกำลังก่อสร้าง อีก 325 โครงการที่กำลังเริ่มต้นพัฒนา เท่ากับว่าตอนนี้เรามีเทคโนโลยีให้เลือกใช้

ในส่วนของรูปแบบการลงทุน โครงการ CCS ปตท.จะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อาทิ ถังเก็บคาร์บอนและท่อฯ ส่วน บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. จะเป็นแกนนำในการพัฒนาโครงการ CCS ซึ่งกำลังทำ sandbox ในแหล่งอาทิตย์ สามารถเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 1 ล้านตันต่อปี สำหรับเทคนิคการเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากโรงงานอุตสาหกรรมจะเก็บเป็นของเหลว ซึ่งทำได้ 2 วิธี คือ ขนส่งไปเก็บในหลุมทีไม่มีการผลิตก๊าซฯแล้ว และ กักกับในชั้นหินที่มีน้ำเกลือเข้มข้น (saline aquifer) ซึ่งสามารถได้ทำได้บริเวณชายฝั่งทะเล

ดร.คงกระพัน บอกว่า สำหรับโครงการที่จะทำเชิงพาณิชย์เพื่อดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากโรงงานอุตสาหกรรมนั้น ปตท.กำลังดูว่าเทคโนโลยีอะไรที่เหมาะสม โดยจะลงทุนเทคโนโลยีเลยไม่ใช้วิธีซื้อเพราะเป็นโครงการใหญ่ ส่วนจะลงทุนเท่าไหร่ ทำที่ไหน ใครจะมาร่วมบ้างปีหน้าจะได้ข้อสรุปหลักการสำคัญของปตท.คือ ลงทุนอะไรที่ไม่ขาดทุน ต้องมี return

ทั้งนี้การที่ปตท.ลุยโครงการ CCS เพราะมองว่าอย่างไรเสียในระยะอันใกล้นี้พลังงานฟอสซิลยังจำเป็น โดยเฉพาะก๊าซฯที่ถูกประเมินว่าจะเป็น Transition Fuel ในระยะ 20-30 ปี เป็นเชื้อเพลิงที่สำคัญในการช่วงเปลี่ยนผ่านพลังงานไปสู่พลังงานสะอาด ปตท.คาดการณ์ว่าในปี 2593 สัดส่วนการใช้พลังงานขั้นต้น ในส่วนของก๊าซฯของทั่วโลกจะไม่ได้ลดลงเลยเมื่อเทียบกับปี 2564 หรือ จาก 25% เป็น 26% ส่วนพลังงานหมุนเวียนเพิ่มจาก 6% เป็น 17% เท่านั้น

ดร.คงกระพัน มองภาพรวมของความต้องการใช้ก๊าซฯในกลุ่มประเทศอาเซียน ว่า ไทยมีการผลิตก๊าซฯเอง 50% ของความต้องการใช้ ที่เหลือนำเข้าก๊าซฯจากเมียนมา 10% อีก 40% นำเข้าในรูปก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ทั้งอาเซียนมีรวมๆกันอยู่ 14 LNG Terminals ขนาด 54.8 ล้านตันต่อปี มีท่อส่งข้ามแดน (Crossborder Pipeline) ระยะ 3,631 กม. เรียกว่ามี infrastructure พร้อมรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น และเชื่อมโยงกันได้ เมื่อเป็นอย่างนี้การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วย CCS จึงต้องมาคู่กับการใช้ก๊าซฯที่ยังต้องเป็นพลังงานหลักต่อไประยะหนึ่ง

โครงการ CCS ในส่วนของนำร่องที่แหล่งอาทิตย์ จะเห็นได้ว่า ปตท.สผ.ต้องลงทุนสูงมากกว่า 14,000 ล้านบาท ดังนั้นเรามองว่าเรื่องนี้จะเดินหน้าได้นอกจากกฎเกณฑ์ต้องรองรับอย่างเอื้ออำนวยแล้ว มาตรการจูงใจจากภาครัฐที่จะเข้ามาสนับสนุนโครงการต้องมาด้วย ทั้งมาตรการทางภาษี และสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน รวมถึงมาตรการส่งเสริมคาร์บอนเครดิตในประเทศ จึงจะเห็นโครงการ CCS เป็นรูปธรรมโดยเร็ว นอกจากนี้ต้องมีแนวทางการกำกับตรวจสอบให้การจัดเก็บต้องไม่มีการรั่วไหลเกิดขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้ทุกภาคส่วน

อย่างไรก็ตาม การพุ่งเป้าไปที่โครงการ CCS ก็ไม่ผิด แต่จะไม่ใช่เรื่องเดียวที่จะทำ สำคัญกว่านั้น คือการออกแบบเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิตให้ได้มากที่สุดที่ต้องมาก่อน

………………..

คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน

โดย…..“ศรัญญา ทองทับ”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img