วันพฤหัสบดี, ธันวาคม 12, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS“SMR”...รอบนี้มีสิทธิ์ลุ้นไหม?
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“SMR”…รอบนี้มีสิทธิ์ลุ้นไหม?

ไม่เพียง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่จะเชียร์อัพในการ นำนิวเคลียร์แบบโมดูลาร์ขนาดเล็ก (Small Modular Reactor : SMR) เข้าระบบตามภารกิจที่กำหนดใน ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย หรือ PDP 2024 (พ.ศ.2567-2580) ที่ให้มี SMR จำนวน 600 เมกะวัตต์ในช่วงปลายแผน

การบรรจุนิวเคลียร์ในร่างแผน PDP 2024 ไม่เหมือน 2 ครั้งก่อนในอดีต ที่ “กฟผ.” เป็นแม่งานหลักเหมือนเดิม แต่ศึกษาไปทำ ท่ามกลางเสียงคัดค้าน ฝ่ายเชียร์ก็อยู่กันแบบเงียบๆ แต่ดูเหมือนครั้งที่ 3 จะต่างออกไป มีแรงสนับสนุนออกมาเป็นระยะๆ และจะขอทำเองด้วยซ้ำไป ไม่ว่าจะเป็น “กลุ่ม ปตท.” หรือ “ราช กรุ๊ป” และ “บริษัทพัฒนาที่ดินทั้งหลาย” ที่ต่างออกมาบอกว่ากำลังตามศึกษาเทคโนโลยีอยู่

เพราะตอนนี้นักลงทุนที่จะมาลงทุนในไทย โดยเฉพาะ กลุ่มธุรกิจ DATA CENTER ต่างต้องการได้ ไฟฟ้าสีเขียว ป้อนให้ได้ 24/7 ชม. เพื่อให้ได้ชื่อว่า “ไม่ปล่อยคาร์บอน” ซึ่ง การปั่นไฟฟ้าจาก SMR ไม่ปล่อยคาร์บอน ย่อมตอบโจทย์ และไทยเองก็ต้องไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2608 ซึ่งพลังงานหมุนเวียนที่จะเข้าระบบมากขึ้นตามแผน 51% ไม่พอ

อีกอย่างความต้องการใช้ไฟฟ้าทั่วโลก สูงขึ้นทุกวันๆ อย่างร่างแผนพีดีพี 2024 คาดการณ์ว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าช่วงปลายแผนในปี 2580 จะสูงถึง 5.5-5.6 หมื่นเมกะวัตต์ จากแผนเดิม 3.6 หมื่นเมกะวัตต์  ขณะที่ฟอสซิลน้อยลงไป และราคาก็ขึ้นๆลงๆผันผวนไม่แน่นอน

ในอดีตเรามีการศึกษาเซอร์เวย์ทำโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดมาตรฐาน ครั้งแรกปี 2520 ว่าจะทำกันที่ อ่าวไผ่ จ.ชลบุรี ครั้งที่สองปี 2554 วางพื้นที่ศักยภาพไว้ 5 แห่ง ได้แก่ อุบลราชธานี-นครสวรรค์-ตราด-ชุมพร-สุราษฎร์ธานี มีการพัฒนากำลังคนกันมาระดับหนี่ง แต่สิบกว่าปีผ่านมาก็ล้มหายไป หรือไม่ก็แยกย้ายกันไปทำภารกิจอื่น มีทีมใน “กฟผ.” ที่ยังเกาะติดกันอยู่เข้มข้นชื่อว่า “กองประกันคุณภาพและพลังงานนิวเคลียร์” มีกันอยู่ไม่น้อยกว่า 32 คน

การศึกษารอบที่สาม ที่มีเสียงสนับสนุนนั้น รวมถึง กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน (ERS) ที่นำโดย “แทคโนแครตด้านพลังงาน” ก็ออกมาหนุน ดังนั้นมาถึงบัดนี้ SMR อาจจะไม่ได้ถูกปัดตกโดยอย่างรวดเร็วเหมือนในอดีตแล้ว จะมีก็เสียงเรียกร้องให้วางโครงสร้างบุคลากร ทั้งองคาพยพให้พร้อม ที่สำคัญมีกฎระเบียบรองรับอย่างเข้มงวด

ตอนนี้ในหลายประเทศกำลังซุ่มพัฒนา SMR กันจ้าละหวั่น มีมากกว่า 80 ดีไซน์ แข่งกันจริงจังก็มี 2 ค่ายใหญ่คือ  1.Nuscale ของสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนดีไซน์ในรายละเอียด (Detailed Design) และผลิตอุปกรณ์ประกอบ ยังไม่มีการก่อสร้าง และ 2.ACP100 ของจีน ซึ่งเป็นรูปธรรมมากกว่า ทำในพื้นที่ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฉางเจียง มณฑลไห่หนาน ผลิตไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2569 อายุโรงไฟฟ้า 60 ปี

ที่แข่งกันพัฒนาเทคโนโลยี SMR  คือทำอย่างไรให้ตอบโจทย์เรื่องความปลอดภัยเมื่อมีภัยพิบัติ การดีไซน์จึงสำคัญมากอย่าง ACP100 กำลังผลิต 125 เมกะวัตต์วางระบบความปลอดภัยที่ทำงานด้วยตัวเองโดยไม่ต้องอาศัยแหล่งจ่ายไฟฟ้าจากภายนอก (Passive Safety System)

นักวิชาการด้านนิวเคลียร์จาก “กฟผ.” ระบุว่า “ประเด็นที่วิศวกรนิวเคลียร์กลัว คืออุบัติเหตุจากเชื้อพลิงหลอมละลาย ทำให้สารกัมมันตรังสีในแท่งเชื้อเพลิงกระจายตัวออกไป ซึ่งต้องระบายความร้อนโดยใช้น้ำระบาย เทคโนโลยีที่ผ่านมาเวลามีเหตุฉุกเฉินจะใช้ไฟให้ปั้มทำงาน เพื่อเอาน้ำเข้าไประบายความร้อน กรณีเกิดเหตุโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ เมื่อปี 2554 มาจากแผ่นดินไหวทำให้โรงไฟฟ้าดับโดยอัตโนมัติ แต่นิวเคลียร์มีลักษณะพิเศษ คือดับแล้วมีความร้อนหลงเหลือต้องการน้ำระบายความร้อน การออกแบบของโรงไฟฟ้าพอดับก็จะมีเครื่องปั่นไฟจากดีเซลทำงานได้ปกติ แต่เหตุจากสึนามิที่ตามมาทำให้น้ำท่วม เครื่องปั่นไฟดีเซลซึ่งอยู่ใต้ดิน ทำงานไม่ได้ เมื่อไม่มีไฟฟ้า น้ำก็ไม่สามารถไประบายความร้อนได้ จึงเกิดเหตุขึ้น”

ดังนั้น SMR จึงพัฒนาโดยใช้หลักการธรรมชาติ ไม่ต้องใช้ไฟฟ้าระบายความร้อน แต่ใช้หลักแรงโน้มถ่วง ตั้งถังน้ำสูงกว่าเครื่องปฏิกรณ์ เมื่อมีอะไรผิดปกติ วาล์วจะเปิดอัตโนมัติ รวมถึงหลักพาความร้อน โดยอุณหภูมิสูงจะลอยขึ้นที่สูงควบแน่นและกลายเป็นน้ำก็ช่วยระบายความร้อนได้ ซึ่ง ACP100 จะมี Passive Safety System อยู่ 3-4 ตัว

สำหรับภาพที่ติดตาในอดีต ที่ทำให้เกิดความเข้าใจว่า การเกิดเหตุกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กับระเบิดนิวเคลียร์ เป็นเรื่องเดียวกัน นักวิชาการนิวเคลียร์ “กฟผ.” ระบุว่า “ไม่ได้เป็นอย่างนั้น ซึ่งภาพของฟุกุชิมะไม่ใช่ระเบิดนิวเคลียร์ เพราะความเข้มข้นของยูเรเนียม 235 ที่ใช้ในโรงไฟฟ้าอยู่ที่ 2-5% ของ ACP100 ไม่เกิน 5% แต่ก็มีรุ่นแอดวานซ์ความเข้มข้นไม่เกิน 20% ตามมาตรฐานของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศกำหนดไว้ หากเป็นระเบิดนิวเคลียร์ต้องใช้ความเข้มข้นมากกว่า 90% ซึ่งกรณีฟุกุชิมะระเบิดจากก๊าซไฮโดรเจน”

ส่วนเรื่องเชื้อเพลิงซึ่งเป็นอีกประเด็นที่คนจับตา “เขา” เล่าว่า “ในโรงไฟฟ้า SMR ฉางเจียง ใช้เชื้อเพลิงยูเรเนียม 3 ตันต่อปี ทำเป็นมัดเชื้อเพลิงสั้นลงจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่ หรือลดจาก 4 เมตร เหลือ 2.1 เมตร ใช้ 57 มัด โรงไฟฟ้าขุดลึกลงไปใต้ดิน 12 เมตร โดยแหล่งยูเรเนียม 50% ในโลกอยู่ที่ออสเตรเลีย แคนาดา คาซัคสถาน ซึ่งยูเรเนียมในธรรมชาติเข้มข้น 0.7% เมื่อโรงไฟฟ้าต้องใช้ 2-5% ก็ต้องเพิ่มความเข้มข้น เรียกเสริมสมรรถนะ ซึ่งมีบริษัทดำเนินการ และมาขึ้นรูปทำให้เป็นเม็ดเชื้อเพลิงจะใช้กี่เม็ดแล้วแต่กำลังผลิต ACP100 ใช้ 3 ตันต่อปี รอบการเปลี่ยนทุกๆ 2 ปี”

ตรงนี้แหละคือ ความปลอดภัยที่ต้องโฟกัส ซี่งจะมีบริษัทผลิตเชื้อเพลิง และขนส่งมาให้ถึงโรงไฟฟ้า ส่วนเชื้อเพลิงใช้แล้ว ก็มีหลายดีไซน์ จะเก็บในบ่อที่ต้องมีน้ำหล่อตลอดเวลา จะมีอาคารแยกก็ได้ หรือจะให้บริษัทที่ขายเชื้อเพลิงรับไปสกัดกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งจีนและฝรั่งเศสนิยมทำแบบนี้ เพื่อลดปริมาณเชื้อเพลิงใช้แล้ว แต่สหรัฐฯไม่ เพราะหวั่นเรื่องการรั่วไหลและเอาไปทำอาวุธ แต่ตอนนี้ก็มีเทคโนโลยีใหม่เข้ามาอีก ไม่ต้องแช่น้ำ เก็บแบบแห้งก็ได้ ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละประเทศ

ในบ้านเราแล้ว สิ่งสำคัญคือ ความพร้อมทั้งกฎหมายและกำลังคน โดยเฉพาะ “สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ” ที่ต้องปรับองค์กรใหม่ และเพิ่มกำลังคน พร้อมทำงานกับภาคส่วนอื่นๆ โดยเฉพาะกับ “ฝ่ายความมั่นคง” ที่ต้องดูแลกันตั้งแต่การขนส่งอุปกรณ์ การเดินเครื่อง และการขนส่งเชื้อเพลิงใหม่และเชื้อเพลิงใช้แล้วออกจากโรงไฟฟ้า

สำหรับ การพัฒนาบุคลากรให้มีความพร้อมในทุกด้านรองรับ นอกจากผลิตจากสถานศึกษาแล้ว ต้องผ่านการอบรมกันนาน ที่โรงไฟฟ้า SMR ฉางเจียง มีพนักงานปฏิบัติการแยกเป็นฝ่ายต่างๆ ทั้งเดินเครื่องปฏิกรณ์ และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เครื่องกำเนิดไอน้ำ ระบบต่างๆ และเจ้าหน้าที่อาวุโสประจำการ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลต้องผ่านการอบรม 3 ปีในห้อง Simulator 400 ชม.เป็นอย่างน้อย และที่ขาดไม่ได้คือ ความพร้อมของซัพพลายเชน ตั้งแต่เชื้อเพลิง และการผลิตอุปกรณ์โมดูล ซึ่งจีนที่มีการก่อสร้างนิวเคลียร์จริงจัง ก็ไปลงทุนเหมืองยูเรเนียมกันแล้วที่นามีเบีย และมองโกเลีย

มองแล้วความท้าทายของไทยในการมี SMR ไม่ง่าย ที่สำคัญคือบรรทัดสุดท้าย ค่าไฟฟ้า SMR ต้องต่ำให้เห็นๆ มากพอที่จะแลกมากับความเสี่ยงในหลายเรื่อง โดยต้องเทียบกับโรงไฟฟ้าก๊าซฯกันดู “กูรูด้านพลังงาน” ระบุว่า “ประเทศต่างๆ ยังอุบเรื่องค่าก่อสร้างและต้นทุนจริงๆของ SMR โดยบอกว่า ต้นทุนการผลิตหน้าโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติของโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP) 2.99 บาทต่อหน่วย และ SPP 3.59 บาทต่อหน่วย ส่วน SMR ตัวเลขจาก Nuscale 3.887 บาทต่อหน่วย ซึ่งจำเป็นต้องมีกฎหมายลดหย่อนภาษีมาช่วยด้วย เพื่อให้ค่าไฟฟ้าต่ำลง (Inflation Reduction Act : IRA)”

ส่วน ACP100 ประมาณ 3.81 บาทต่อหน่วย ค่าไฟฟ้าของไทยตอนนี้ 4.18 บาทต่อหน่วย “กูรูด้านพลังงาน” บอกว่า “FOAK (First of A Kind) คือสาเหตุโรงไฟฟ้า SMR ที่สร้างเป็นแห่งแรกในเทคโนโลยีชนิดนั้นๆ จะราคาค่อนข้างสูง แต่พอเป็นแห่งที่ 2, 3, 4 ราคาจะต่ำลงมากว่าตัวแรก” โดยแนะนำว่า ควรจะตัดสินใจเมื่อเทคโนโลยีพัฒนามาถึงตัวที่ 4  ซึ่ง “กฟผ.” ก็คงต้องรอดูไปก่อนจนกว่า เทคโนโลยีนั้นๆ จะมีการติดตั้งใช้งานมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 แห่งตามกฎระเบียบ

…………….

คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน

โดย..“ศรัญญา ทองทับ”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img