วันพฤหัสบดี, ธันวาคม 19, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSอะไร?ครอบ“กิจการพลังงาน”โดยสมบูรณ์ “การเมือง”ที่เข้มข้นหรือ“เงาทะมึน”ใคร??
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

อะไร?ครอบ“กิจการพลังงาน”โดยสมบูรณ์ “การเมือง”ที่เข้มข้นหรือ“เงาทะมึน”ใคร??

เป็นอันจบกันไปสำหรับ การรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรอบเพิ่มเติม หลัง สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ได้ประกาศ รายชื่อโครงการที่ผ่านการคัดเลือกไปเมื่อ 16 ธันวาคม 2567 รวม 2,145 เมกะวัตต์ เป็นพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน 64 ราย ปริมาณไฟฟ้าที่เสนอขาย 1,580 เมกะวัตต์ เมกะวัตต์​และพลังงานลม 8 ราย ปริมาณไฟฟ้าเสนอขาย 565.4 เมกะวัตต์

รอบนี้ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” รมว.พลังงาน ยื้อได้พักเดียว โดยมีหนังสือถึง กกพ. ให้ระงับการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรอบนี้เป็นการชั่วคราวก่อน จนกว่าจะตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเสร็จสิ้น​ แต่สุดท้ายก็ต้องปล่อยเลยตามเลย ก็เรื่องเดินหน้ามาก่อนแล้ว ทำได้แค่ยื้อขอปล่อยพลัง ในฐานะ “รมว.พลังงาน” บ้าง

Sun setting behind the silhouette of electricity pylons

มาดูกันว่า รอบนี้ใครได้ไปบ้าง มีการรวบรวมพบว่า บริษัทที่เสนอขายไฟฟ้าเข้าระบบได้เยอะเป็นของ

กลุ่มบริษัท กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) (GUNKUL) 319 เมกะวัตต์

-กลุ่ม SCG 298 เมกะวัตต์

บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) (TPIPP) 281 เมกะวัตต์

บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) 179 เมกะวัตต์

บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) (EGCO) 168 เมกะวัตต์

-บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) 193 เมกะวัตต์

-บริษัท ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (TSE) ของกลุ่มมาลีนนท์ 136 เมกะวัตต์

-บริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (มหาชน) (UBE) 90 เมกะวัตต์

-บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) 90 เมกะวัตต์

-บริษัท บี. กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) 51 เมกะวัตต์

-บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) (WHAUP) 8 เมกะวัตต์

-บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) 7 เมกะวัตต์

-และรายอื่นๆ 326 เมกะวัตต์

รอบนี้กรุบกริบเป็นรอบเพิ่มเติมเอาโครงการที่ผ่านหลักเกณฑ์ในรอบแรก แต่ถูกคัดออกเพราะเต็ม มายื่นเสนอขายในรอบนี้กันใหม่ อย่างว่ารอบไหนๆ ก็เจ้าเติมๆ หน้าเดิมๆ อย่างไรก็ตาม หลายคนไม่เห็นชื่อ “บิ๊กพลังงานเจ้าใหญ่” เข้ารอบนี้ ไม่ใช่อะไร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เขาเข้าวินกวาดขายไฟฟ้าไปเยอะแล้ว ในการเปิดรับซื้อล็อตแรกรวม 34 โครงการ 1,972 เมกะวัตต์ เกือบครึ่งของปริมาณไฟฟ้าที่เสนอขายทั้งหมดในล็อตนั้น 4,852.26 เมกะวัตต์ ส่วน “กันกุล” ก็ได้ไปไม่น้อยเหมือนกัน 1,596 เมกะวัตต์ 

ส่วนการเปิดรับซื้อไฟฟ้ารอบใหม่ที่จะเปิดประมูลเป็นการทั่วไปอีกประมาณ 1,400 เมกะวัตต์ กลุ่มบิ๊กพลังงานทั้งหลายก็คงพาเหรดเข้ามาประมูลและเข้าวินกันไปอีก และเปิดประมูลเป็นการทั่วไปรอบใหม่ ก็น่าจะรวบทัน “กกพ.” ที่นั่งอยู่ในตอนนี้ แม้ว่าจะมี 4 คนหมดวาระไปตั้งแต่ 30 กันยายน 2567 แต่กระบวนการสรรหายังไม่จบ ลากยาวมาถึงตอนนี้ และน่าจะเลยไปถึงปีหน้า กกพ.ชุดนี้ก็คงจะได้มาดำเนินการเปิดประมูลรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรอบใหม่ 1,400 เมกะวัตต์อีก เป็นอันปิดจ็อบ ก็ไม่แน่ใจว่า “พีระพันธุ์” จะได้เข้ามามีบทบาทอะไรหรือไม่

อย่างที่รู้กันอยู่ว่า กิจการไฟฟ้าของประเทศไทย มีเงาทะมืนกำกับควบคุมเส้นทางไปแล้ว ยากที่ใครจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงให้ออกนอกเส้นทางที่เขาวางไว้ได้ ตำแหน่ง “รมว.พลังงาน” ก็สามารถสั่นคลอนได้ หากไปแนะนำติชมอะไรที่ไม่สอดคล้องต้องใจ หรืออาจ “สั่นคลอน” ถึงขั้นการร่วมรัฐบาล…ก็มีโอกาส เห็นจากการที่ “ทักษิณ ชินวัตร” แซะในเวทีสัมมนาพรรคเพื่อไทย ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล หัวหินที่ผ่านมา ก็ด้วยความคิดไม่ตรงกัน บวกด้วยแค้นฝังหุ่นเป็นทุนเดิม

จากการให้สัมภาษณ์ล่าสุดของ “ดร.อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี” ที่เข้ามาช่วยงานด้านกฎหมายให้กับ “พีระพันธุ์” ที่ดูจะออกมาพูดแทน เพื่อให้ประเด็นกระชับขึ้น และทำให้เห็นว่า แนวทางของ “พีระพันธุ์” ไม่ต่างกับ “กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน” (ERS) ที่นำโดยแทคโนแครตสายอนุรักษ์สักเท่าไหร่ เหมือนเข้ามาเป็นกองหนุนยังไงยังงั้น

ทั้งเรื่อง สำรองไฟฟ้า พุ่งมหาศาล โดยระบุตัวเลข 49% ซึ่งเราก็รู้ๆ กันอยู่ว่า ตัวเลขการผลิตไฟฟ้าป้อนเข้าระบบในตอนนี้ ไปอยู่ในมือภาคเอกชนเสียส่วนใหญ่ ณ เดือนตุลาคม 2567 มีกำลังผลิตตามสัญญาทั้งจากโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (ไอพีพี) อยู่ 19,598.5 เมกะวัตต์, โรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (เอสพีพี) 9,065.88 เมกะวัตต์, ซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ 6,234.9 เมกะวัตต์ ส่วนของ “กฟผ.” อยู่ที่ 16,261.02 เมกะวัตต์ รวมๆ กำลังผลิตตามสัญญาของระบบอยู่ที่ 51,160.30 เมกะวัตต์ ขณะที่ ความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุด ณ วันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2567 เท่ากับ 36,477.80 เมกะวัตต์

กำลังผลิตไฟฟ้าที่เข้าระบบเยอะนั้น เป็นภาระต่อระบบจริง เพราะใช้หรือไม่ใช้ ก็ต้องจ่ายเขาตามสัญญา กิจการนี้ถูกการันตีโครงการไม่ขาดทุนแน่นอน สร้างการเติบโตให้หลายๆ บริษัท โดยเฉพาะหากสามารถผลักดันขายไฟฟ้าเข้าระบบให้ได้ทุกล็อตที่มีการเปิดรับซื้อ รับรองมีแต่โตกับโต

การ “รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง” ของ “พีระพันธุ์” รวมถึงการพยายามจะ “รื้อสูตรค่าไฟฟ้า” ด้วย สร้างความหนาวๆ ร้อนๆ ให้ธุรกิจ รวมไปถึงท่าทีของ พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ซึ่ง “ดร.อรรถวิชช์” บอกว่า ถ้าเจรจาไม่จบและหมิ่นเหม่กับเรื่องดินแดนของไทย ก็ไม่เอาด้วย

ตอนนี้ “พีระพันธุ์” มาโฟกัสการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมฝั่งอันดามันแล้ว โดยตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาเป็นเรื่องเป็นราว มี “ดร.อรรถวิชช์” อยู่ด้วย ยกตัวอย่างถึงความคิดไม่สอดคล้องกันแบบนี้แหละ “พรรคโอกาสใหม่” ก็เลยต้องมาเป็นทางเลือกใหม่ในอนาคต

……………….

คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน

โดย….“ศรัญญา ทองทับ”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img