ภายหลังที่ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน นั่งเป็นประธานแทน “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี เมื่อวัน 25 ธ.ค.67 มีมติให้ชะลอการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม สำหรับกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงและขยะอุตสาหกรรม ตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด สำหรับปี 2565-2573 ปริมาณรวม 3,668.5 เมกะวัตต์ ที่ “กพช.” ได้ให้ความเห็นชอบไว้ เมื่อวันที่ 9 มี.ค.66 โดยให้ชะลอการลงนามสัญญารับซื้อไฟฟ้า (PPA) กับ “3 การไฟฟ้าฯ” ไว้ก่อน เพื่อตรวจสอบความถูกต้อง
โดยมติระบุว่า การคัดเลือกรอบนี้ ทำให้เกิดข้อสงสัยกับประชาชน เรื่องความถูกต้องของกระบวนการ และวิธีการดำเนินงานรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนดังกล่าว และเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและราชการ ที่ประชุมจึงได้มีมติให้ชะลอการรับซื้อไปก่อน โดยให้ฝ่ายเลขานุการฯ หารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา ในประเด็นข้อกฎหมายและอำนาจหน้าที่ของ กพช. และให้นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กพช. แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งการซื้อไฟฟ้ารอบนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ได้ประกาศรายชื่อผู้ยื่นผู้ผ่านการคัดเลือกไปแล้วเมื่อวันที่ 16 ธ.ค.67
ซึ่งทาง “กกพ.” ก็ย้ำแล้วย้ำอีกว่า การรับซื้อเป็นไปตามนโยบายที่กำหนดโดย “กพช.” เมื่อปี 2566 ทั้งแนวทาง วิธีการรับซื้อ รวมถึงอัตรารับซื้อ ถ้าจะเปลี่ยนแปลง ก็ต้องมีคำสั่งให้เปลี่ยนแปลง หมายถึงต้องมี “มติ กพช.” มายกเลิกและกำหนดแนวทางใหม่เท่านั้น
การเรียกร้องให้ชะลอการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรอบนี้ โหมโรงเพิ่มความสั่นสะเทือน โดย “สภาผู้บริโภค” ที่จับมือกับ “สมาพันธ์รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์” และ “สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย” เข้ายื่นหนังสือถึง “กกพ.” ให้ยุติโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรอบใหม่ ที่ใช้วิธีคัดเลือกแทนการประมูล
โดยให้เหตุผลว่า อาจสร้างภาระค่าไฟฟ้าสูงถึง 65,000 ล้านบาท นาน 25 ปี เนื่องจากต้นทุนเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์และลม ลดลงอย่างรวดเร็ว แต่ราคารับซื้อของโครงการยังสูงกว่าความเป็นจริง ซึ่งตามมติ กพช. 2565 ได้กำหนดราคาสำหรับโซลาร์เซลล์อยู่ที่ 2.17 บาทต่อหน่วย และพลังงานลมที่ 3.10 บาทต่อหน่วย โดยราคาดังกล่าวคงที่ตลอดสัญญา 25 ปี ซึ่งที่ผ่านมา “สภาผู้บริโภค” ย้ำว่า ได้เคยยื่นมาแล้วตั้งแต่วันที่ 25 ต.ค.67 แต่ไม่มีการตอบกลับจาก กกพ.แต่อย่างใด ซึ่งสอดคล้องกับ “กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน” ที่มีแทคโนแครตเป็นสมาชิก ออกมาติงในเรื่องนี้ไว้ก่อนแล้วว่า การรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ควรจะทำให้ค่าไฟฟ้าที่รับซื้อลดลงตามวิธีการประมูลปกติ ไม่ใช่เป็นการกำหนดราคาตายตัว เพราะต้นทุนพลังงานหมุนเวียนลดลง
มีการระบุถึงข้อมูลจากองค์กร IRENA (International Renewable Energy Agency) หน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ มีการศึกษาประเด็น Renewable Power Generation Costs in 2023 พบว่าในปี 2566 ราคาค่าไฟฟ้าเฉลี่ยจากโซลาร์เซลล์ขนาดใหญ่ทั่วโลกอยู่ที่ 1.53 บาทต่อหน่วย และอาจต่ำกว่านี้เมื่อถึงปี 2569 ขณะที่ข้อมูลจากรัฐบาลอินเดีย โดย SECI (Solar Energy Corporation of India) โครงการโซลาร์เซลล์พร้อมระบบแบตเตอรี่ในประเทศ สามารถเสนอขายไฟฟ้าในราคา 1.44 บาทต่อหน่วย
ในด้านผลกระทบแบบตรงไป-ตรงมาของ การชะลอการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรอบนี้ เกิดขึ้นแน่นอนกับบริษัทเอกชนหลายราย เพราะ “กกพ.” ได้ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกไปแล้ว กระทบความเชื่อมั่นแน่ๆ จากกระดานราคาหุ้นร่วง อาทิ บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) (GUNKUL), บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA), บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC), บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) (BGRIM), บริษัท ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (TSE), บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) (WHAUP) เป็นต้น
ทั้งนี้จะกระทบระยะยาวมาก-น้อยอย่างไร ขึ้นอยู่กับการตรวจสอบข้อเท็จจริง หากตรวจสอบแล้วให้เดินหน้าต่อ ก็กระทบเล็กน้อย แต่หากยกเลิกเลย น่าจะกระทบใหญ่ ส่วนโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนล็อตแรก ที่ประมูลไปแล้วได้มา 4,852.26 เมกะวัตต์จาก 175 ราย ซึ่ง “เจ้าใหญ่” ต่างอยู่ในล็อตนี้ด้วยนั้น ไม่กระทบแต่อย่างใด เพราะผ่านขั้นตอนการทำสัญญารับซื้อไฟฟ้า (PPA ) กับ 3 การไฟฟ้าไปหมดแล้ว จะมารื้อคงยาก เสี่ยงถูกฟ้องร้อง ถือว่าล็อตนั้น “ปล่อยไหล” ไปสบายกว่า…ด้วยประการทั้งมวล
“รมว.พลังงาน” ที่ทำหน้าที่ออกหน้าในเรื่องนี้ มาตั้งท่ากับล็อตนี้ดีกว่า เพราะยังไม่ได้ผ่านขั้นตอนการทำสัญญาซื้อ-ขายไฟฟ้ากับ 3 การไฟฟ้า และทางการเมือง ก็ทำให้ได้เห็นว่า “พีระพันธุ์” มีอำนาจในมือ “ใคร” จะมองข้ามไปไม่ได้ หากรื้อไปจนถึงขั้นยกเลิกการคัดเลือกไปใช้วิธีเปิดประมูล ทำให้ราคาค่าไฟฟ้าลดลงได้ ก็คงได้ใจในทางการเมือง เอาไปโฆษณาได้นาน
“กูรูด้านไฟฟ้า” วิเคราะห์ให้ฟังว่า กรณีเปลี่ยนวิธีการรับซื้อ เป็นการประมูลแข่งขันราคา จะทำให้ค่าไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนลดลงได้แน่นอน เพราะแผงโซลาร์มีราคาลดลง จากตอนนี้เป็นการรับซื้อแบบกำหนดราคาสำหรับโซลาร์เซลล์อยู่ที่ 2.17 บาทต่อหน่วย และพลังงานลมที่ 3.10 บาทต่อหน่วย
แต่การชะลอออกไปก็มีผลเสียเช่นกัน กรณียืนตามวิธีเดิมของ กกพ.ให้ผู้ชนะในครั้งนี้ ทำสัญญา PPA กับ 3 การไฟฟ้าได้ก็จะใช้เวลา 1-3 เดือน แต่สุดท้ายหากเปลี่ยนเป็นวิธีประมูล ไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่จะเข้าระบบต้องล้าช้าออกไปอย่างน้อย 6 เดือน
ดูเหมือนว่าการซื้อไฟฟ้ารอบนี้ “พรรคใหญ่” ก็เปิดทางให้ “พีระพันธุ์” รื้อใหญ่ หมากที่ถูกวางไว้ น่าค้นหา “เบื้องลึก-เบื้องหลัง”
เพราะไม่เคยมีมาก่อน ที่ “นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช” เลขาธิการนายกรัฐมนตรี จะออกมาให้ข่าวเป็นเรื่องเป็นราวก่อนการประชุม กพช.ว่า จะมีการหารือเพื่อทบทวนเรื่องนี้ โดยบอกว่า “เป็นการรับซื้อตามมติ กพช.ปี 2566 ซึ่งไม่ถูกต้อง!” และพอมติออกมาเช่นนั้น ให้ชะลอรับซื้อ กระทู้ของพรรคฝ่ายค้านเพื่อสอบถามในเรื่องนี้ ก็ถูกถอนออกไปด้วยเช่นกัน ต้องติดตามละครการเมืองตอนต่อไปว่า ชะลอแล้วอะไรเกิดขึ้นบ้าง!
………….
คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน
โดย….”ศรัญญา ทองทับ ”
สนับสนุนคอลัมน์ โดย : บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)