วันพฤหัสบดี, มกราคม 9, 2025
หน้าแรกCOLUMNISTSประกาศลดค่าไฟ 3.7 บาท/หน่วย...แสดงพลังอำนาจทางการเมือง!!!
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ประกาศลดค่าไฟ 3.7 บาท/หน่วย…แสดงพลังอำนาจทางการเมือง!!!

กระแสใหญ่ตอนนี้ไม่มีอะไรน่าสนใจไปกว่าเรื่องค่าไฟฟ้าที่นายทักษิณ ชินวัตร ได้ประกาศเมื่อ 5 ม.ค.68ในเวทีปราศรัยระหว่างลงพื้นที่หาเสียงให้ผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงราย พรรคเพื่อไทย ว่า “ปีนี้ค่าไฟจะต้องลงไปอยู่ที่เลข 3 ไม่ใช่ 4 ใจตนอยากให้เหลือหน่วยละ 3.50 บาท แต่คงได้ 3.70 บาท กำลังให้เขาช่วยทุบอยู่ ปีนี้ค่าไฟลงแน่เห็นตัวเลขแล้วทุบได้”

ตอนนี้ค่าไฟฟ้างวดปัจจุบัน (ม.ค.-เม.ย.68) ที่ 4.15 บาทต่อหน่วย หากลดลงเหลือ 3.70 บาทเท่ากับต้องลดไป 0.45 บาท นายทักษิณมีตัวเลขเจาะจงแบบนี้คงมีคนชงเป็นแน่แท้อยู่แล้ว จึงประกาศโกยคะแนนเสียงกร้าวใหญ่คืนจากนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานแห่งรวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ที่โกยคะแนนเสียงเรื่องค่าไฟนำหน้าไปหลายยกแล้ว จากการทำให้ค่าไฟลดได้หลายงวด อย่างงวดก.ย.-ธ.ค.67 เหลือ 4.18 บาทต่อหน่วยจากต้องขึ้นไป 5 บาทกว่า

งวดล่าสุดก็เช่นกันที่เขาเคลมว่าให้ทุกหน่วยงานไปดูว่าจะลดค่าไฟได้อีกหรือไม่ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน ทำให้ค่าไฟลดได้อีกงวดเหลือ 4.15 บาท

ละครการเมืองเข้มข้นเมื่อ นายทักษิณ ประกาศค่าไฟต้องอยู่ที่เลข 3 คะแนนเทไปที่พรรคเพื่อไทย แต่รทสช.ไม่ทิ้งคะแนนให้พรรคเพื่อไทยนาน 3 วันต่อมา 8 ม.ค.68 นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมไม่รอช้า ก็ได้ออกมาพูดในเวที“ปฏิรูปอุตสาหกรรมไทยสู่เศรษฐกิจยุคใหม่” จัดโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ว่า “การที่อดีตนายกรัฐมนตรี และ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประกาศลดค่าไฟ 3.70 บาทต่อหน่วยถ้าช่วยกันจะต่ำกว่า 3 บาท” บลัฟกันไปมา

โดยบอกว่า “กฟผ.ต้องซื้อค่าไฟแพง ต้นทุนเนื้อไฟกว่าจะมาถึงจาก 2 บาทเป็น 4 บาท การปลดล็อกทำให้ไม่ต้องผ่านหลายระบบ หากกฟผ.พัฒนาสมาร์ทกริด แอปพลิเคชั่นสำรองไฟโดยเฉพาะแบตเตอรี่จะสามารถเอาพลังงานเหลือกลางวันมาใช้ในตอนกลางคืนได้ถ้าช่วยกันจะเห็นค่าไฟเลข 2 บาทแน่นอน”

ทางการเมืองแล้ว 2 พรรคที่ผลัดกันรุกผลัดกันรับ เพราะประเด็น “ลดค่าไฟ” ขายง่ายใครๆก็เอาด้วย สำทับด้วยฝ่ายที่ต้องการแสดงบทบาทไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ เอกชนต่างแห่ออกมาบอกเทคนิคลดค่าไฟกันยกใหญ่ ฝันบ้างทำได้บ้าง

ทีนี้ต้องมาตกหนักที่ฝ่ายปฏิบัติ ว่าจะทำให้ได้หรือไม่ น่าหนักใจตรงจะทำงานให้ตรงใจพรรคไหนกันแน่ ระบบคง “พัง” กันละคราวนี้ อย่างไรก็ตาม ทางการเมืองแล้วมีสิ่งมหัศจรรย์เกิดขึ้นได้เสมอในการลดค่าไฟให้ต่ำไว้ก่อนแล้วกวาดต้นทุนที่เกิดจริงไปข้างหลังค่อยมาแก้กัน

กูรูพลังงาน ประเมินว่า วิธีที่ทำได้หากจะลดค่าไฟ ซึ่งก็ทำกันอยู่แล้ว คือ 1.ให้กฟผ.แบกหนี้ค่าไฟคงค้างต่อไปก่อน 80,000 ล้านบาท หมายถึงแขวนหนี้ก้อนนี้ไปก่อน ยังไม่ต้องมาเก็บคืนในตอนนี้ และ 2.เจรจาเลื่อนการจ่ายเงิน “ค่าความพร้อมจ่าย” (Availability payment :AP) ของ IPP, SPP, EGAT ออกไป ในลักษณะเดียวกับ กฟผ. ซึ่งจะได้ตรงนี้จะได้ประมาณ 0.20-0.30 บาท แต่ทั้งสองกรณีอย่าลืมว่าสุดท้ายแล้วเป็นเพียงการเลื่อนจ่ายเงินออกไป ผู้ใช้ไฟก็ต้องจ่าย AP คืนพร้อมดอกเบี้ยให้ IPP,SPP, EGAT ในอนาคต 1-2 ปี

สำหรับฝ่ายปฏิบัติการของกระทรวงพลังงานที่ต้องน้อมรับคำสั่งมาทำ บอกว่า ลดค่าไฟทำได้ แต่ไม่ง่าย เนื่องจาก ตอนนี้ยังมีภาระค่าไฟฟ้าคงค้าง กฟผ. อยู่อีกไม่น้อยประมาณ 80,000 ล้านบาท บวกค่าก๊าซค้างชำระกฟผ.และปตท.อีก 15,000 ล้านบาท จะลดค่าไฟเท่าไหร่อย่างไรต้องเข้าระบบ หมายถึงต้องมาเข้าสูตรคำนวนเป็นค่า Ft ในงวดถัดไป คือ ตั้งแต่งวด พ.ค.-ส.ค.68 เป็นต้นไป ที่ทุกฝ่ายต้องมาประชุมร่วมกัน

ค่าไฟแพง

ฝ่ายปฏิบัติ บอกว่า ในส่วนของค่าไฟฟ้าฐานปัจจุบันอยู่ที่ 3.7556 บาท หากจะทำให้ได้ค่าไฟฟ้าที่ต่ำกว่า 3.7 บาท ค่า Ft จะต้องติดลบเหมือนในอดีต ขณะที่ค่าเชื้อเพลิงหลักที่ใช้ผลิตไฟฟ้าป้อนประเทศในตอนนี้ ทั้งก๊าซและถ่านหินมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หากจะแขวนหนี้ค่าไฟฟ้าคงค้างต้องใช้เงินงบประมาณมาอุ้ม และระยะยาวต้องเจรจาต่อรองปรับสัญญาซื้อไฟฟ้ากับโรงไฟฟ้าเอกชน รวมถึงปรับลดผลตอบแทนในการประกอบกิจการของรัฐวิสาหกิจ ทั้ง ปตท. กฟผ. การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)  และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ซึ่งล้วนแล้วนำส่งรายได้เข้ารัฐติดท็อปเท็นของประเทศ

ส่วนประเด็นการเจรจากับ IPP และ SPP เพื่อปรับลดกำไร ฝ่ายปฏิบัติมองว่า จำเป็นต้องมีมติจากภาคนโยบาย หรือคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) กำหนดกรอบและแนวทางมาให้ก่อน เพื่อให้กฟผ.ซึ่งเป็นคู่สัญญาใช้เจรจาต่อไป คือ อยู่ๆจะให้กฟผ.ไปเจรจากับโรงไฟฟ้าเอกชนลอยๆไม่ได้

อีกประเด็นที่จะทำให้ค่าไฟลดลงได้อีกส่วนหนึ่งจะมาจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในยุคแรกๆที่รัฐต้องใช้มาตรการจูงใจให้เอกชนเข้ามาผลิต ซึ่งจะได้ค่าแอดเดอร์ หรือส่วนเพิ่มราคาค่าไฟฟ้าบวกจากค่าไฟฟ้าขายส่ง ซึ่งกลุ่มนี้เมื่อหมดระยะเวลาที่กำหนดก็จะถูกถอดค่าแอดเดอร์ออกไปเหลือแต่ค่าไฟฟ้าขายส่ง 3 บาทต่อหน่วย

จากข้อมูลพบว่าในส่วนของไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้ที่ได้แอดเดอร์หน่วยละ 8 บาท 10 ปี สัญญาแรกธ.ค. 2554 สิ้นสุดสัญญาส.ค. 2565 ต่อมามีการปรับลดค่าแอดเดอร์เหลือหน่วยละ 6.5 บาท สัญญาแรกจ่ายเดือนธ.ค. 2556 สัญญาสุดท้ายสิ้นสุดมี.ค. 2569

ส่วนไฟฟ้าจากกังหันลม หน่วยละ 3.5 บาท 10 ปี สัญญาแรกเริ่มม.ค. 2555 สัญญาสุดท้ายเม.ย. 2572 ไฟฟ้าจากขยะ หน่วยละ 3.50 บาท 7 ปี สัญญาแรกเริ่มจ่ายส.ค. 2558 สัญญาสุดท้ายเม.ย.2568  ไฟฟ้าจากชีวมวล  (กากอ้อย) หน่วยละ 0.30 บาท 7 ปี สัญญาแรก ก.ย. 2554 สัญญาสุดท้ายพ.ค. 2570

ต่อมา มีการปรับอัตราค่าซื้อไฟฟ้าเป็นรูปแบบ Feed-in tariff (FiT) หรือให้แบบคงที่ตายตัวจบสัญญาก็จบกันไปไม่มีการขายเข้าระบบอีก โดยแสงอาทิตย์ อัตราคงที่ 5.66 บาทต่อหน่วย สัญญาแรกเริ่มธ.ค. 2558 สัญญาสุดท้ายธ.ค. 2583 พลังงานหมุนเวียนประเภท Hybrid Firm ได้ค่า FIT คงที่ 3.66 บาทต่อหน่วยตลอดอายุสัญญา สัญญาแรกเดือนม.ค. 2563 สิ้นสุดธ.ค. 2584

ส่วนราคารับซื้อไฟฟ้าล่าสุดมีการกำหนดราคาตายตัว ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)  เมื่อปี 2565 โดยราคารับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 2.1679 บาทต่อหน่วย ระยะเวลา 25 ปี ไฟฟ้าพลังงานลม 3.1014 บาทต่อหน่วย ระยะเวลา 25 ปี ไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ 2.0724 บาทต่อหน่วย เป็นเวลา 20 ปี และไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม รับซื้อ 6.80 บาทต่อหน่วย เป็นเวลา 20 ปี

มีวิธีมากมายที่ฝ่ายต่างๆแข่งขันนำเสนอในตอนนี้ เช่น ให้ไปตัดโครงการลงทุนที่ต้องใช้งบเยอะๆของ 3 การไฟฟ้าออก ค่าไฟจะเหลือ 3.8 บาทต่อหน่วยได้ เช่น โครงการขยายโครงข่ายสายส่งไฟฟ้า ที่ทำให้ทุกบ้านมีไฟใช้ของกฟภ. หรือตัดงบลงทุนเอาสายไฟฟ้าลงใต้ดินของกฟน. แต่จะตัดอะไรก็ต้องดูให้รอบคอบ เพราะจะกระทบแน่นอนกับการขยายไฟฟ้าเข้าถึงบ้านเรือน จากที่จะโกยเสียงจะเสียฐานเสียงไปเปล่าๆ

มีอีกทางที่มีคนคิดนอกกรอบ คือ นำรายได้จากค่าภาคหลวง และเงินภาษีที่เก็บจากรายได้ของผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมในแต่ละปีที่ต้องส่งกระทรวงการคลังมาใช้ลดค่าไฟเลย เพื่อลดภาระของกฟผ.ไม่ต้องแบกหนี้เพิ่มอีก ก็เหมือนกระเป๋าซ้ายขวา แทนที่ต้องส่งคลังกระจายเป็นงบแผ่นดินก็เอามาลดค่าไฟก็ช่วยประชาขนได้แต่ก็ต้องแก้กฎหมาย

ทั้งหมดทั้งมวลการกลับสู่โลกแห่งความเป็นจริงว่าไม่มีของฟรีในโลกต้องยอมรับกัน ต้นทุนค่าไฟฟ้าของเรายังอิงกับค่าเชื้อเพลิงฟอสซิล ไม่ว่าจะเป็นก๊าซธรรมชาติที่เราใช้ผลิตไฟฟ้าเป็นหลัก หรือถ่านหิน ซึ่งผันผวนตามราคาในตลาด มีก๊าซฯในอ่าวใช้ก็จริงแต่น้อยลงไปทุกวัน ต้องนำเข้าในรูปก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG ) มากขึ้นอย่างที่เราทราบกันดี ยกเว้นจะมีใครหาซื้อ LNG ถูกๆได้ หรือหาแหล่งก๊าซฯในอ่าว หรือจากแหล่งในอันดามันราคาไม่แพงออกมาใช้

อย่างไรเสีย ราคาค่าไฟฟ้าที่สะท้อนต้นทุนดีที่สุด แต่หมายถึงทุกองคาพยพต้องเล่นบทบาทหน้าที่ของตนอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่จะเข้าระบบมากขึ้น ต้องมาพร้อมกับระบบกักเก็บพลังงาน เพื่อให้ไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนพึ่งได้จริงๆ ป้อนเข้าระบบได้ 24 ชม. ไม่ต้องมีโรงไฟฟ้าฟอสซิลมา backup และต้องเปิดช่องให้อัตราค่าไฟสามารถปรับเป็นระยะได้ตามต้นทุนที่ลดลง ที่สำคัญทยอยเข้ามาไม่ต้องผลีผลามให้โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเข้าระบบตามกระแสมากมาย จนลืมคิดถึงความมั่นคงของระบบไฟฟ้าที่ต้องเสถียรด้วย

…อย่าเล่นเกมการเมืองมากเกินไป บลัฟกันไปมาสร้างพื้นที่สื่อแทบจะแจกไฟฟ้าให้ประชาชนทั้งประเทศใช้ฟรี แล้วเอาต้นทุนไปซุกไว้ ให้คนข้างหลังมาแก้ เราจะไปกันไม่รอด…งานนี้ล่ะพังแน่

………….

คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน

โดย….”ศรัญญา ทองทับ ”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
spot_img
spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img