การลดค่าไฟฟ้าให้เหลือ 3.70 บาทต่อหน่วย หรือต่ำกว่าที่นักการเมืองขายตัวเลขให้ประชาชนฝันหวานนั้น จากค่าไฟในปัจจุบันเฉลี่ย 4.15 บาท จริงๆ แล้วใครได้ประโยชน์และทำได้หรือไม่ มาดูกันว่า ตอนนี้ค่าไฟฟ้าจริงๆ ที่เรียกเก็บจากประชาชนเป็นอย่างไร แล้วจะเห็น “ใครอุ้มใครอยู่”
อย่างที่เรารู้กันว่า ค่าไฟฟ้าขายปลีกไม่เท่ากัน แบ่งเป็นตัวเลขการใช้ไฟฟ้า และกลุ่มการใช้ไฟฟ้า ข้อมูลระหว่าง ม.ค.-มิ.ย.67 บ้านอยู่อาศัยเล็กๆ ที่ใช้ไฟฟ้า 150 หน่วยต่อเดือนค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 3.88 บาทต่อหน่วย บ้านอยู่อาศัยใช้ไฟมากกว่า 150 หน่วยค่าไฟ 4.41 บาทต่อหน่วย กิจการขนาดเล็ก 4.57 บาทต่อหน่วย กิจการขนาดกลาง 4.32 บาทต่อหน่วย กิจการขนาดใหญ่ 3.79 บาทต่อหน่วย กิจการเฉพาะอย่าง 3.97 บาทต่อหน่วย อาทิ สูบน้ำเพื่อการเกษตร คิดเป็นค่าไฟฟ้าขายปลีกเฉลี่ย 4.16 บาทต่อหน่วย
สัดส่วนการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลาที่เราพูดถึง เราใช้ไฟฟ้ารวมอยู่ 109,985 ล้านหน่วย บ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟมากกว่า 150 หน่วย มีสัดส่วน 25.62% หรือ 28,177 ล้านหน่วยถือเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ขณะที่บ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 150 หน่วยใช้ไฟสัดส่วน 4.01% หรือ 4,416 ล้านหน่วย
ส่วนผู้ประกอบการกิจการขนาดเล็กใช้ไฟสัดส่วน 11.15% คิดเป็น 12,262 ล้านหน่วย กิจการขนาดกลางสัดส่วนการใช้ไฟฟ้า 15.56% คิดเป็น 17,110 ล้านหน่วย กิจการขนาดใหญ่ใช้ไฟในสัดส่วน 38.82% คิดเป็น 42,695 ล้านหน่วย อัตราค่าไฟอยู่ที่ 3.79 บาทต่อหน่วยถือว่าค่าไฟต่ำกว่ากลุ่มอื่น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการทั้งกิจการขนาดเล็ก กลางและใหญ่ ยังมีมาตรการรัฐมาช่วย ที่เรียกว่า “อัตราตามช่วงเวลาของวัน” (Time of Day Rate : TOD) ค่าพลังงานไฟฟ้าอยู่ที่ 3.1097-3.1751 บาทต่อหน่วยตามระดับแรงดัน และ ช่วงเวลาของการใช้ (Time of Use Rate : TOU) หากใช้ไฟฟ้าช่วง Off Peak เวลา 21.30-08.00 น. ค่าพลังงานไฟฟ้าอัตรา 2.5849-2.6369 บาทต่อหน่วย
เทียบค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 4.15 บาทต่อหน่วย บ้านเรือนที่อยู่อาศัยที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศใช้ไฟมากกว่า 150 หน่วยค่าไฟ 4.41 บาทต่อหน่วยสูงกว่าค่าเฉลี่ย ขณะที่ยังมีมาตรการ TOD และTOU มาใช้อีกกดค่าไฟให้ต่ำลงได้อีกเหลือ 2.5-3.1 บาทต่อหน่วย
ดังนั้นโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าตอนนี้ที่ประชาชนควรรู้ไว้ คือ “ประชาชนตาดำๆกำลังซัปพอร์ตค่าไฟให้ผู้ประกอบการ” ดังนั้นหากนักการเมืองจะเอาใจประชาชน ก็ขอให้ลงรายละเอียดกันสักหน่อย และแก้ไขจุดนี้เสียอย่าพูดภาพรวม ให้ดูว่า กลุ่มไหนต้องแบก กลุ่มไหนได้ประโยชน์ และรื้ออัตราค่าไฟของแต่ละกลุ่มให้เป็นธรรม โครงการส่งเสริมโซลาร์ภาคประชาชนก็ส่วนหนึ่ง เพื่อเปิดทางให้ติดโซลาร์บนหลังคาตามบ้านเรือน แต่ยังมีประชาชนไม่น้อยไม่มีเงินทุนติดโซลาร์ต้องแบกรับโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรมนี้ต่อไปเรื่อยๆ
สำหรับข้อเสนอคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เสนอลดค่าไฟทันที 17 สตางค์ต่อหน่วย ก็ต้องทำด้วย “กกพ.” โยนหินไปยังนายกรัฐมนตรีเมื่อสัปดาห์ที่แล้วยังเงียบ ที่เสนอให้รื้ออัตรารับซื้อไฟฟ้าในกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่เป็นกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) เพื่อให้ค่าไฟฟ้าสะท้อนต้นทุนมากขึ้น เนื่องจากตอนนี้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ หากปรับลดได้ให้ราคารับซื้อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงค่าไฟจะลดได้ 17 สตางค์ต่อหน่วย จากค่าไฟเฉลี่ยที่ 4.15 บาทต่อหน่วยเหลือ 3.98 บาท ประหยัดค่าไฟฟ้าไปได้ 33,150 ล้านบาท จากจำนวนผู้ประกอบการกลุ่มนี้ 533 ราย ไฟฟ้าที่ผลิตเข้าระบบมากถึง 3,940 เมกะวัตต์
ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ได้รับอัตราอุดหนุน ที่เรียกว่า ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) และต่อมาปรับเป็น Feed in Tariff (FiT) ตามนโยบายในอดีตที่ต้องการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน แต่เนื่องจากในปัจจุบันต้นทุนลดลงฮวบฮาบ
ขณะที่โครงการผลิตไฟฟ้าที่ได้ Adder ไม่มีวันสิ้นสุดสัญญาผลิตไฟฟ้าเข้าระบบได้เรื่อยๆ หมายความว่า มีการต่อสัญญาอัตโนมัติทุกๆ 5 ปี แม้จะเป็นโรงเก่าแก่คืนทุนไปนานแล้ว แต่ได้รับการอุดหนุนในอัตราสูง เช่น ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ รับซื้อในอัตราค่าไฟฟ้าขายส่งหน่วยละ 3.1617 บาท บวกกับ Adder หน่วยละ 8 บาท เป็นระยะเวลา 10 ปี รวมแล้วเป็นค่าไฟฟ้าหน่วยละ 11.1617 บาท หลังจาก 10 ปีได้รับการต่อสัญญาอัตโนมัติแต่ Adder ไม่ได้เหลือแต่ค่าไฟฟ้าขายส่งหน่วยละ 3.1617 บาท ส่วนรายใหม่ที่ขายไฟฟ้าเข้าระบบในระยะต่อมาปรับเป็นอัตรา FiT ปี 2565-2573 หน่วยละ 2.1679 บาท
ขณะที่ ปัจจุบันราคาอุปกรณ์การผลิตไฟฟ้าจากแผงพลังงานแสงอาทิตย์ลดลงมาก ราคาไฟฟ้าที่รัฐรับซื้อควรลดลงตามมาด้วยเช่นกัน หรือแม้โครงการผ่าน 10 ปีและเงินอุดหนุน 8 บาทหมดไปแล้ว แต่โรงไฟฟ้ายังเดินเครื่องอยู่และได้รับการต่อสัญญา ราคารับซื้อก็ยังอยู่ที่ 3.1617 บาท แพงกว่าอัตรา FiT 0.9938 บาท เรียกว่า “กำไรแล้วกำไรอีก” ทั้งที่ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ว่ากันว่าเหลือ 1 บาทกว่าต่อหน่วยเท่านั้น
อีกประการที่น่าปวดหัวของกลุ่มที่ได้ Adder พบว่ามีอยู่ 59 โครงการ ประมาณ 59 เมกะวัตต์ที่ได้ Adder แต่ไม่ทำโครงการคาท่ออยู่มาเนิ่นนานหลายปี ซึ่งความเป็นจริงต้อง ยกเลิกเสีย เพราะ ถือแต่ใบอนุญาต ไม่คิดจะพัฒนาโครงการ พอกระทรวงพลังงงานปรับอัตรารับซื้อเป็น FiT ปี 2563 ก็มีอยู่เจ้าเอาเรื่องเข้าศาลซะงั้นฟ้องร้องให้รัฐจ่ายอัตราเดิม คือ ค่าไฟฟ้าขายส่งหน่วยละ 3.1617 บาท บวกกับ Adder หน่วยละ 8 บาท รวม 11.1617 บาท เพราะถือว่าโครงการได้ใบอนุญาตในช่วงให้ Adder “สัญญาต้องเป็นสัญญา” ว่ากันมาหลายศาล
ยื้อมาจนถึงตอนนี้ เล่นเอา “กกพ.” ปวดหัว เพราะรับซื้อในราคานี้ไม่ได้แล้ว แค่ได้เรท FiT ที่ 3.1617 บาทต่อหน่วยก็กำไรแล้วกำไรอีก “กกพ.” เห็นท่าไม่ดี ต้องขอสู้คดีเต็มที่ ล่าสุดอยู่ในชั้นศาลปกครองชั้นต้น เพราะหากเจ้าหนึ่งชนะ จะกลายเป็นบรรทัดฐานทั้ง 59 ราย ต้องมาแบบเดียวกัน ให้ซื้อในเรท Adder หมดที่ 11.1617 บาททำไม่ได้แน่ค่าไฟพุ่ง “กกพ.” บอกใครจะรับซื้อราคานี้ก็เชิญ แต่ กกพ. “ไม่”
ตอนนี้ตัวเลขต้นทุนการรับซื้อไฟฟ้าตามประเภทเชื้อเพลิง (Generation Mixed) ที่เข้าระบบของเรา เช่น ลิกไนต์ 1.52 บาทน้ำ 1.45 บาท ก๊าซ 3.18 บาท เมื่อนำราคาทั้งหมดมาหาค่าเฉลี่ย ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.02 บาท ดังนั้นการนำไฟฟ้าที่มีราคารับซื้อสูงกว่า 3.02 บาทมาเพิ่มในระบบทำให้ค่าไฟเฉลี่ยสูงขึ้นแน่
ดังนั้นการหาช่องทางลดค่าไฟจุดอื่นก็ต้องทำไป ส่วนการจะเจรจากับ SPP และ VSPP ทั้ง 533 รายยังไงก็ต้องเกิดขึ้น แต่จะทำได้ต้องไฟเขียวเป็นนโยบายจากรัฐบาล อยู่ๆกกพ.จะมาตั้งโต๊ะเจรจาคงทำไม่ได้ ดังนั้นนอกจากขายฝันแล้วการทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงต้องเป็นรูปธรรมด้วย ทำตรงไหนได้ก่อนทำ ส่วนการรื้อสัญญากับโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ที่เข้าระบบก็ค่อยว่ากันถ้ากล้าพอ…
…………………………………………
คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน
โดย…“ศรัญญา ทองทับ”
สนับสนุนคอลัมน์ โดย : บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)