วันพฤหัสบดี, กุมภาพันธ์ 13, 2025
หน้าแรกCOLUMNISTSเหตุผลที่ORเลือกลงทุน..‘โตแบบยั่งยืน' กัมพูชาเป็น‘บ้านหลังที่2'คือคำตอบที่ดี!
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เหตุผลที่ORเลือกลงทุน..‘โตแบบยั่งยืน’ กัมพูชาเป็น‘บ้านหลังที่2’คือคำตอบที่ดี!

“เมียนมา” แทบจะไม่สามารถเป็นฐานที่มั่น หรือ “บ้านหลังที่สอง” ของนักลงทุน จากการสู้รบที่มีกันตลอดเวลา เรียกได้ว่าประชาชนไม่รู้จักคำว่า “สงบ” ทั้งยังถูก “แซงก์ชั่น” จากหลายชาติต่อเนื่องนับตั้งแต่มีรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ.2564 ราว 4 ปีติดต่อกัน

แต่ก่อนหน้าก็ใช่ว่าจะสงบ ใช่ว่าจะไม่ถูกแซงก์ชั่น จะมีก็แต่ “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” ที่ใช้ “เมียนมา” ตรง “เมียวดี” เป็นฐานที่มั่น ด้วย 2 ปัจจัยที่เอื้อต่อการเกิดและดำรงอยู่ของ “ธุรกิจสีเทา” คือ การเจรจากับผู้คุมกฎในพื้นที่ลงตัว และระบบแวดล้อมที่ลงตัว

ที่เมียนมา บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ชายแดนติดกันแบบนี้ แทบไม่มีอะไรลงทุนที่นั่น ร้านกาแฟ Café Amazon มีอยู่ 6-7 แห่ง ที่เป็นของ ดีลเลอร์ ของ OR เอง และมีสำนักงานของ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ “ปตท.สผ.” แค่ 1 แห่งก็หยุดแค่นั้น

ส่วน สถานีบริการน้ำมันมีของดีลเลอร์ ที่ใช้โลโก้ ปตท. 1 แห่ง อยู่ตรงชายแดนฝั่งเมียนมา ขณะที่การร่วมทุนกับ บริษัท Brighter Energy (BE) ที่ OR ทำตั้งแต่ปี 2562 สัดส่วนถือหุ้นน้อยลงตามลำดับ ปัจจุบันน้อยกว่า 35% ซึ่งเป็นบริษัทนี้ประกอบธุรกิจค้าส่งและคลังเก็บผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม

เรียกได้ว่าสำหรับเมียนมา OR ขอ Wait and See กันยาวๆ

แต่ก็กระนั้นก็ใช่ว่า เราจะไม่ต้องระวังความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพราะ บริษัท ปตท.สผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (PTTEPI) บริษัทย่อยของกลุ่ม ปตท.สผ. มีสัดส่วนการลงทุนใน โครงการยาดานา ในอ่าวเมาะตะมะ ที่ 62.9630% ที่เหลือเป็น Myanmar Oil and Gas Enterprise (MOGE) ซึ่งผลิตก๊าซฯได้ประมาณ 770 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน ส่งมาไทยประมาณ 570 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน ใช้ในการผลิตไฟฟ้าให้กับพื้นที่ภาคตะวันตก อีกประมาณ 200 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน ใช้สำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าในประเทศเมียนมา

ขณะที่ “กัมพูชา” ดูผ่านๆ จะเป็นประเทศที่มีข้อจำกัดในการลงทุน แต่ OR ก็ปักธงชัดเจน เป็นฐานที่มั่นในการลงทุน หรือ เป็น “บ้านหลังที่ 2” การปักธงเช่นนี้ OR ไม่ใช่ดูกันแค่วันสองวัน แต่ดูมากันหลายๆ ปีติดต่อกัน และมี “บทพิสูจน์” จากการไปทดลองลงทุน ที่ก็เดินมาได้อย่างดีจนถึงทุกวันนี้

หัวใจสำคัญในการพิจารณา ว่าจะเดินไปยาวในประเทศนั้น หรือจำกัดขอบเขตการลงทุน ก็คือ มีกฎระเบียบอะไรที่เป็นข้อจำกัดหรือไม่ในการลงทุนของต่างชาติ และกฎระเบียบต่างๆ มั่นคงหรือไม่ จะมีการหักดิบอะไรในภายหลังหรือเปล่า ซึ่งการลงทุนที่ “กัมพูชา” ไปได้ ตลาดก็ใหญ่ พฤติกรรมผู้บริโภคก็ไม่หนีไปจากไทยมากนัก

ดังนั้นการลงทุนที่ “กัมพูชา” จะเดินหน้าเต็มตัวแบบยกโมเดล OR ที่ไทย ไปแปะที่กัมพูชาเลย แต่ไซซ์อาจจะเล็กกว่าหน่อย

จะดูว่า OR เอาจริงกับพื้นที่ไหน ให้ดูการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ไปลง จะบอกได้ว่าอยู่ยาวไหม ตอนนี้ที่กัมพูชากำลังมีการทำคลังน้ำมันเพื่อซัพพลายให้ PTT Station หรือก่อนหน้านี้ปี 2565 ก็ไปตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อให้บริการเติมน้ำมันอากาศยาน ณ สนามบินนานาชาติแห่งใหม่ในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา โดยถือหุ้นในสัดส่วน 33.33% ข้อมูล ณ ปี 2567 OR มีสถานีบริการ PTT Station อยู่ 170 แห่ง Café Amazon 200 กว่าแห่ง

ส่วนที่ “สปป.ลาว” ที่ดู OR ก็ไม่ได้ตัดเสียทีเดียว แต่ตลาดเล็กไปหน่อย ตอนนี้จึงมุ่งเน้นเข้าไปช่วยยกระดับมาตรฐานมากกว่า เช่น OR ร่วมกับ “กรมการค้าภายใน” สนับสนุนการยกระดับมาตรฐานการวัดปริมาตรน้ำมันเชื้อเพลิงแก่ สปป.ลาว โดยจัดการสาธิตการตรวจสอบมาตรวัดปริมาตรน้ำมันเชื้อเพลิงสถานีบริการ ให้แก่ อธิบดีกรมมาตรฐานและวัดแทก สปป.ลาว เพื่อวัดปริมาตรน้ำมันเชื้อเพลิงให้มีความถูกต้อง เที่ยงตรง น่าเชื่อถือ และเป็นไปตามมาตรฐานสากล และกำลังยกคอนเซ็ปต์ “ไทยเด็ด” ไปช่วยประสานงานระหว่างรัฐ และเอกชนที่นั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นของ สปป.ลาว

มองขยับไปอีกหน่อย “อินโดนีเซีย” และ “เวียดนาม” ค่อนข้างจำกัดการลงทุน เหตุจากมีกฎระเบียบที่เป็นข้อจำกัดในการลงทุนสถานีบริการน้ำมันของต่างชาติ ทำให้เกิดข้อได้เปรียบเสียเปรียบ (Disadvantage) จึงจะหันเหไปโฟกัสที่ผลิตภัณฑ์อื่นๆ แทน ส่วน “ฟิลิปปินส์” OR ลงทุนที่นั่นนานแล้ว แต่ก็ไม่ได้ขยายมากมาย เพราะ ภูมิศาสตร์การเมือง (Geopolitics) ของเขาเอง และคนที่หลากหลาย และพฤติกรรมผู้บริโภคแตกต่างกับไทย

แต่ทุกอย่างมีโอกาสเปลี่ยนแปลงได้หมด ใช่ว่าจะเป็นอย่างนั้นเสมอไป โดยเฉพาะพฤติกรรมผู้บริโภคซึ่งตอนนี้เปลี่ยนเร็วมาก ดังนั้นการลงทุนที่กัมพูชาก็มีโอกาสเปลี่ยน ในทางกลับกันประเทศที่ยังไม่ปักธงก็อาจลงทุนเพิ่มได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่า OR จะไปลงทุนที่ไหน การสร้างความเกลียดชังไม่ส่งผลดี ดังนั้นจึงมุ่งเน้นคอนเซ็ปต์ “เราโต-เขาโต” หมายถึงว่า ต้องโตไปด้วยกัน และ ต้องยั่งยืน ผ่านหลายๆ โครงการ เช่น “ไทยเด็ด” เพื่อพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นซึ่งที่กัมพูชาก็กำลังเริ่มต้น ส่วนที่สปป.ลาว OR ก็ไปซื้อเมล็ดกาแฟที่นั้นมาผลิต และกำลังพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น รวมถึงยกระดับมาตรฐานสถานีบริการน้ำมัน

นอกจากนี้ต้องเป็น Good Citizen ทั้งของไทยและประเทศที่ไปลงทุน แม้ว่าบางประเทศเมื่อไปลงทุนแล้ว อาจจะเห็นอะไรที่ผิดแปลก แต่หากเดินตามแนว Good Governance แล้วเติบโต ได้พิสูจน์ว่าขยายไปได้ในประเทศนั้นๆ

ว่าด้วย ความยั่งยืน ตอนนี้ OR กำลังพิสูจน์บทว่าด้วยความยั่งยืนจริงๆ หมายถึงเติบโตไปด้วยกันกับชุมชน การปรับเปลี่ยนโฉมหน้าสถานีบริการน้ำมันเป็น Living Community ก็ส่วนหนึ่ง แต่ทางกายภาพไม่พอ OR จะลงมาใกล้ชิดประชาชนอีก step หนึ่งได้อย่างไร? ท่ามกลางความท้าทายของการเปลี่ยนผ่านพลังงานจากน้ำมันเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ต้องรอดูกันต่อไป

แต่เห็นแล้วว่า OR กำลังทำหน้าที่วางโครงสร้างพื้นฐานด้าน EV ของประเทศให้เติบโตอย่างหนักแน่น ให้คนกล้าซื้อกล้าใช้ EV แต่ยุคนี้จะไม่ทำอะไรหวือหวาแบบโฉบๆ อีกต่อไป แม้นักลงทุนจะต้องการเห็น OR เติบโตให้เร็วกว่านี้ “แต่เราเห็นว่าความยั่งยืนจะพาประเทศให้มั่นคงได้มากกว่า” ผู้บริหาร OR ย้ำ “และอะไรที่จะช่วยวางรากฐานด้านพลังงานให้กับประเทศได้ เราจะทำ อย่างที่อดีตมีการวางรากฐานมาเป็นอย่างดีจากรุ่นสู่รุ่น จนประเทศไทยได้ชื่อว่ามีระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานที่ดีเมื่อเทียบกับหลายประเทศ อย่างเรามีคลังน้ำมันทั่วประเทศทำให้ระบบ Logistic ด้านน้ำมันไม่ติดขัด”

เทียบง่ายๆ กับการขาดแคลนน้ำมันของ “เมียวดี” หลังจากไทยไม่ได้ส่งออกน้ำมันไป จริงอยู่ว่า “เมียนมา” สามารถส่งน้ำมันจากย่างกุ้งไปที่เมียวดีได้ แต่โลจิสติกส์ไม่ให้ เพราะโครงสร้างพื้นฐานไม่ได้ถูกวางไว้อย่างเป็นระบบ เมื่อต้องรอย่อมขาด และแพงด้วย เป็นต้น

…เขาถึงบอกว่า การทำอะไรแบบ “ยั่งยืน” ต้องดูกันยาวๆ โดยเฉพาะช่วงวิกฤติ จะเห็นชัดว่าทำอะไรแบบ “โฉบๆ” ให้โต กับ “โตแบบยั่งยืน” แบบไหนจะมั่นคงกว่ากัน

…………………………………………

คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน

โดย…“ศรัญญา ทองทับ”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img