วันเสาร์, กุมภาพันธ์ 22, 2025
หน้าแรกCOLUMNISTSจับตา!แยก Pool Gas ลดต้นทุนค่าไฟฟ้า
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

จับตา!แยก Pool Gas ลดต้นทุนค่าไฟฟ้า

ไม่ใช่เพิ่งอยากจะมา รื้อโครงสร้างสูตรค่าไฟฟ้า เพื่อให้ค่าไฟถูกลง ในยุค “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

แต่มีความพยายามมาหลายยุค โดยเฉพาะยุคที่ “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งตอนนั้นราคาพลังงานสูงมาก

“สุพัฒน์พงษ์” ถึงกับตั้งโต๊ะแถลงการณ์เมื่อเดือนธันวาคม 2565 ซึ่งเป็น ช่วงที่สงครามรัสเซียยูเครนกำลังปะทุขึ้น ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ตอนนั้นราคาน้ำมันดิบ ICE Brent เฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 8.47 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 93.95 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สูงสุดในรอบ 7 ปี ส่วน ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) พุ่งไปเกือบ 30 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู ซึ่งตอนนั้น LNG มีบทบาทในการเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าแล้ว เรียกได้ว่าต้นทุนผลิตไฟฟ้าจริง 7-8 บาทต่อหน่วย ขณะที่ใช้ดีเซลปั่นไฟยังถูกกว่า หรือ 5 บาทต่อหน่วย

มีการแก้ไขวิกฤตกันโดยใช้น้ำมันดีเซลปั่นไฟแทนในช่วงวิกฤตหลายล้านลิตรต่อเดือน โดยมีการประสานงานระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) วิ่งรถบรรทุกน้ำมันหลายสิบคัน เอาน้ำมันดีเซลไปป้อนโรงไฟฟ้าแทนก๊าซฯ คิดเป็น 15% ของเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนับตั้งแต่เราเข้าสู่ยุคโชติช่วงชัชวาลย์กันแล้ว เมื่อบวกด้วยต้องตรึงค่าไฟฟ้า

จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ “กฟผ.” แบกภาระค้างรับสูงสุดเกินแสนล้านบาท ไม่นับรวมหนี้ “ปตท.” จากค่าก๊าซฯที่ต๊ะกันไว้อีกหลายหมื่นล้านบาท

ช่วงนั้น “สุพัฒนพงษ์” บ่นภาคอุตสาหกรรมล็อตใหญ่ในงานแถลงข่าว เพราะอยากให้ภาคอุตสาหกรรมลงมาช่วยกันเหมือนตอนโควิด-19 โดยระบุไว้ว่า “ดูเหมือนพวกท่านจะขอกันอย่างเดียว”

เวลานั้น “สุพัฒนพงษ์” ประกาศขอความร่วมมือ และขอหารือกับภาคเอกชนผ่าน คณะกรรมการร่วมภาครัฐเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) และ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมใช้ก๊าซฯราคาเฉลี่ยที่เรียกว่า pool gas หรือ energy pool price  (ราคาเฉลี่ยรวมก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอื่นๆต่างๆ) เหมือนโรงไฟฟ้า และก็ใช้มากขี้นด้วย เพราะเศรษฐกิจกำลังกระเตื้องหลังโควิด

default

ขณะที่ “กฟผ.” และ “ปตท.” ช่วยกันลดการใช้ก๊าซฯ ไปใช้น้ำมันดีเซลปั่นไฟแทน รวมถึงผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงราคาถูกอย่างถ่านหิน เพื่อลดสัดส่วนการใช้ก๊าซฯรวมๆลดไปได้ 20% ช่วยลดการนำเข้า LNG ราคาแพง แต่ภาคอุตสาหกรรมไม่ยี่หระต่อสถานการณ์ประเทศเท่าไหร่ ไม่พยายามไปใช้เชื้อเพลิงอื่นแทนก๊าซฯ

“สุพัฒนพงษ์” ถึงกับบ่นดังๆ ว่า ภาคอุตสาหกรรมยังไม่มีความพยายามจะเปลี่ยนไปใช้น้ำมันเตา ดีเซล หรือ เชื้อเพลิงอื่นแทนก๊าซฯ แต่เขาก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะไปสั่งภาคเอกชนไม่ได้

เขา ถึงกับบอกว่า “อยากเห็นคนรักโลก อยากเห็นภาคเอกชนสมัครใจช่วยประเทศยามวิกฤตพลังงาน ยินดีซื้อ LNG ราคา 1,200 บาทต่อล้านบีทียู แทนที่จะซื้อ pool gas ที่ 400 บาทต่อล้านบีทียู” และยังบอกด้วยว่า “ตอนนี้เป็นวิกฤตพลังงาน ถ้าเอาทุกอย่างมาโยนไว้ให้กฟผ.ถ้าหากเขาไม่แข็งแรงแล้ว ไฟฟ้าดับจะทำอย่างไร ดีที่สุดต้องมาร่วมมือกัน”  พร้อมกับย้ำว่า “อยากให้มาคุยแบบมีทางออกที่จะต้องร่วมมือกัน”

เช่นกันเรื่อง การทบทวนราคาซื้อไฟฟ้ากับกลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรุ่นเก่า ที่ได้ส่วนเพิ่มราคาในรูปของ Adder และ FIT “สุพัฒนพงษ์” ก็มีความพยายามที่จะหารือกับภาคเอกชนผ่าน “สอท.” เช่นกัน ถึงขนาดบอกแนวทางผ่านสื่อตรงๆ ว่า “ลดการรับซื้อไฟฟ้า” เพราะตอนนั้นกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองสูง หรือการลดค่าความพร้อมจ่าย (AP) หรือเลื่อนไม่จ่ายเงิน ส่วนค่าปรับ หรือดอกเบี้ย โดยตัวเขาพร้อมจะเข้าไปช่วยเจรจา “กฟผ.” ก็พร้อมเจรจา เช่นกัน แต่ภาคเอกชน “ไม่พร้อม” เพราะแน่นอนทำให้ขาดรายได้ เขาถึงกับโยนแนวคิดออกไปยัง “กกร.” เพื่อให้สถาบันการเงินเข้ามาช่วยกันแก้วิกฤต ว่าไม่ต้องจ่ายดอกจ่ายเงินต้นคืนสัก 1 ปีได้หรือไม่ ส่วนที่เลื่อนผ่อนชำระหนี้ออกไปก็ให้ลดดอกเบี้ย

แต่อย่างว่า ตอนนั้นเป็นช่วงปลายยุคของ “สุพัฒนพงษ์” แล้ว เป็นธรรมดาของภาคเอกชนหรือฝ่ายปฏิบัติเอง ที่จะไม่ฟุตเวิร์ก หรือตอบสนองทำนอง “สัญญาณบอด ติดต่อไม่ได้”

วรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา กกพ.

ทาง คณะกรรมการกำลังกิจการพลังงาน (กกพ.) เอง ก็จะไม่ทำอะไรจนกว่าจะมีนโยบายลงมา แต่ก็ชงขึ้นไปเพียงบางเรื่องบางครั้งบางคราว อย่างการเสนอให้ทบทวนราคากับโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน โดยใช้จังหวะช่วงที่มีการเปลี่ยนอุปกรณ์เมื่อไหร่ ขอเจรจาราคาใหม่ เพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่ต่ำลง โดยชูตัวเลขว่า ลดค่าไฟได้ 17 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา “วรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา” 1 ใน กกพ. ถึงกับออกตัวแรงถึง “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” ว่า ให้ทำเถิดโดยเสนอให้นำเรื่องเข้าคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อไฟเขียวให้ “กกพ.” ทำ โดยพร้อมจะลุยกับเอกชนถ้ามีการฟ้องร้อง โดยบอกว่า “ถ้าทำแล้วต้องไปสู่ศาล โดนนายทุนฟ้อง ผมก็พร้อมสู้”

แต่อย่างไรเสีย “พีระพันธุ์” ไม่เห็นด้วยกับทางนี้ เพราะกฎหมายไม่เปิดช่องให้แก้ไขสัญญา ไม่ว่า “กกพ.” จะโยนหินถามทาง “พีระพันธุ์” เท่าไหร่ แต่ที่สุดเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา “พีระพันธุ์” เห็นว่า การโหมกระแสออกข่าวของ “กกพ.” จะทำให้ประชาชนสับสน ก็เลยต้องเรียก “เลขาธิการ กกพ.” และตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปหารือ แล้วก็สรุปว่าไม่สามารถทำได้ตามแนวทางที่ กกพ.เสนอ

เนื่องจากเป็นเรื่องของข้อผูกพันทางสัญญาไม่ใช่เรื่องระเบียบ กกพ. โดยให้เลขาธิการ กกพ. ไปแจ้งให้ “กกพ.” ทราบ เพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความสับสน

แนวทางที่ “พีระพันธุ์” กำลังทำไปคนละทางกับ “กกพ.” โดยจะ มุ่งไปที่ Pool Gas โดยเขาบอกว่า “ขณะนี้กำลังพิจารณาหาแนวทางปรับลดค่าไฟงวดต่อไปอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะแนวทางการปรับปรุงระบบ Pool Gas ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงสำคัญที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของพี่น้องประชาชน” หมายถึงเขามุ่งไปที่การบริหารจัดการเชื้อเพลิง

เรื่องนี้เขาเคยอธิบายเมื่อเร็วๆ นี้ไว้ว่า “เนื่องจากประเทศไทยใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟอยู่ 3 แหล่งใหญ่ๆ คือ อ่าวไทย เมียนมา และจากต่างประเทศ โดยเฉพาะตะวันออกกลางที่นำเข้ามาเป็น LNG ซึ่งมีราคาแพง และอิงราคาตลาดโลกที่ผันผวนตลอดเวลา แต่ถ้าหากสามารถปรับพอร์ต Pool Gas ให้เป็นสัดส่วนชัดเจน ระหว่างการนำไปใช้ผลิตไฟฟ้าและการนำไปใช้ในอุตสาหกรรม ก็น่าจะทำให้ค่าไฟลดลงได้อีกถึงเกือบ 40 สตางค์ โดยจะเร่งดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อให้ทันค่าไฟงวดต่อไป”

ณ ปัจจุบันราคา Pool Gas เดือนมกราคม 2568 อยู่ที่ 313.5635 บาทต่อล้านบีทียู ส่วนโครงสร้างราคา Pool Gas ในตอนนี้มีการปรับเปลี่ยนล่าสุดในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 โดยปรับให้ราคาก๊าซฯที่เข้าและออกจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ เป็นราคา Pool Gas ยกเว้นก๊าซฯที่นำไปใช้ในการผลิตก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ให้ใช้ต้นทุนราคาก๊าซฯเท่ากับ ราคาก๊าซฯจากอ่าวไทย (Gulf Gas)  ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 เป็นต้นไป จนกว่าการจัดทำหลักเกณฑ์การกำหนดโครงสร้างราคาก๊าซฯจากอ่าวไทยที่เข้าและออกจากโรงแยกก๊าซฯ ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 จะแล้วเสร็จ

ในสาระสำคัญของแนวทางบริหารจัดการก๊าซฯตามมติกพช.เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 นี้ทำให้ราคา Pool Gas ลดลงมีผลต่อค่าไฟทันที เพราะถือตัวว่ามีโรงแยกก๊าซฯมาเป็นตัวหารมากขึ้น โดยในช่วงแรกที่มีมติ ทำให้ราคา Pool Gas ลดเหลือ 362 บาทต่อล้านบีทียู จากเดิม 387 บาทต่อล้านบีทียู หรือ ลดลง 25 บาทต่อล้านบีทียู มีผลต่อค่าไฟประมาณ 11.5 สตางค์ต่อหน่วย

โครงสร้างนี้กลุ่มคนที่ได้ผลดีไปด้วยคือ โรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม และภาคขนส่ง เพราะต้นทุนก๊าซฯลดลง เนื่องจากกลุ่มนี้ก็ใช้ราคา Pool Gas ด้วย และปัจจุบันมีเอกชนนำเข้า LNG มาใช้ในโรงไฟฟ้าของตนเอง และอุตสาหกรรม

โดยปัจจุบันมีผู้ที่ใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (LNG Shipper) ประกอบด้วย บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นรายเดิม และรายใหม่ 7 ราย ประกอบด้วย 1.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 2.บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) 3.บริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด 4.บริษัท บี.กริม แอลเอ็นจี จำกัด 5.บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก 6.บริษัท PTT Global LNG Company Limited หรือ PTTGL 7.บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG

…………………………………………

คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน

โดย…“ศรัญญา ทองทับ”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img