อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อยู่ในช่วงขาลงมาหลายปีติดต่อกัน และปีนี้ 2568 ก็ยังผันผวน“ณะรงค์ศักดิ์ จิวากานันต์”ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC บอกว่า “อุตสาหกรรมยังคงเผชิญกับความท้าทายในหลายเรื่อง ทั้งภาวะเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน นโยบายสหรัฐฯที่เปลี่ยนแปลง และภาวะอุปทานส่วนเกินในธุรกิจปิโตรเคมี แต่อย่างไรเสีย ก็ต้องรักษาระดับการเติบโต โดยจะ เดินหน้าขับเคลื่อนแผนการดำเนินงาน Holistic Optimization เร่งนำธุรกิจกลับสู่สถานการณ์ปกติท่ามกลางจุดต่ำสุดของอุตสาหกรรม โดยสิ่งที่จะทำก็คือ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การเสริมศักยภาพธุรกิจมูลค่าสูง อย่างเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษ (Specialty Chemicals) และสร้างการเติบโตในธุรกิจที่ยั่งยืน”

ไฮไลท์ของการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของ GC ก็คือ การนำเข้าก๊าซอีเทน (Ethane) จากสหรัฐฯมาใช้ในไทย เพื่อทดแทนวัตถุดิบอื่นๆ โดยได้ลงนามข้อตกลงร่วมกับ ปตท. และพันธมิตรระดับโลก ได้แก่ บริษัทย่อยใน Enterprise Products Partners บริษัท เอ็มไอเอสซี เบอร์ฮาด และ บริษัท ไทยแท้งค์เทอร์มินัล จำกัด เพื่อจัดหาและขนส่งอีเทนคุณภาพสูง 400,000 ตันต่อปี เป็นระยะเวลา 15 ปี มีการก่อสร้างท่าเรือรองรับโดยเฉพาะ โครงการจะเริ่มดำเนินการในปี 2572 ซึ่งตอนนี้ GC ใช้ “อีเทน” เป็นวัตถุดิบอยู่แล้ว 60%
ไม่เฉพาะแต่ GC ทาง เอสซีจี เคมิคอลส์ (SCGC) ก็เพิ่งประกาศข่าวไปเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในการนำอีเทนมาใช้ที่โรงงาน LSP หรือ ลองเซิน ปิโตรเคมิคอลส์ ประเทศเวียดนาม ซึ่งการก่อสร้างจะแล้วเสร็จในปลายปี 2570 ซึ่งคาดว่าจะพอดีกับวัฏจักรขาขึ้นของอุตสาหกรรม ถือเป็นแห่งแรกในอาเซียนที่นำก๊าซอีเทนจากสหรัฐฯมาใช้เป็นวัตถุดิบ โดยบอกว่าช่วยลดต้นทุนได้กว่า 30% เมื่อเทียบกับราคาแนฟทาอีกวัตถุดิบที่ใช้ในโรงงานปิโตรเคมี เงินลงทุนกว่า 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งอีเทนจะเข้ามาเป็นอีกทางเลือกนอกจากแนฟทา ก๊าซโพรเพน

ทั้งหมดก็เพราะ ธุรกิจยุคนี้ต้องการมีทางเลือกวัตถุดิบให้หลากหลายที่สุด สามารถบริหารต้นทุนให้แข่งขันได้มากที่สุดในแต่ละช่วงเวลาได้ ขณะเดียวกัน “ก๊าซอีเทน” ก็ช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิต ซึ่งสหรัฐฯเป็นแหล่งผลิตและจำหน่ายอีเทนรายใหญ่ที่สุดของโลก
เดิมกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของ “กลุ่มปตท.” ใช้วัตถุดิบจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติที่รับก๊าซฯจากอ่าวไทยมาแยกเป็น
1.ก๊าซอีเทน (Ethane) สำหรับใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นต้น ที่ใช้ผลิตเม็ดพลาสติก เส้นใยพลาสติกชนิดต่างๆ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐาน อันจะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีต่อเนื่องในสาขาต่างๆ อย่างกว้างขวาง
2.ก๊าซมีเทน (Methane) สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมันเตาในโรงไฟฟ้า และโรงงานอุตสาหกรรมอื่นๆ ใช้ เป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมปุ๋ยเคมี ผลิตแอมโมเนียและยูเรีย ตลอดจนใช้ผลิตเมทานอลได้ เมื่อนำก๊าซมีเทนไปอัดใส่ถังด้วยความดันสูงก็เป็นก๊าซธรรมชาติอัด (Compressed Natural Gas : CNG) หรือ ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (Natural Gas Vehicles : NGV)
3.ก๊าซโปรเพน (Propane) และ ก๊าซบิวเทน (Butane) ก๊าซโปรเพนใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นต้น เมื่อนำมาผสมกับก๊าซบิวเทนจะผลิตออกมาเป็นก๊าซปิโตรเลียมเหลว (liquefied petroleum gas : LPG) หรือก๊าซหุงต้มใช้ในครัวเรือน รถยนต์ และอุตสาหกรรมบางประเภท เช่น การเชื่อมโลหะ เป็นต้น
4.ก๊าซธรรมชาติเหลว (Natural Gasoline : NGL) ซึ่งถ้านำเข้าโรงกลั่นน้ำมันจะได้ผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูป และสามารถใช้เป็นทำตัวทำละลายได้

โดยก่อนหน้านี้โรงแยกก๊าซฯใช้สูตรราคา Gulf Gas (ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเท่านั้น) ซึ่งราคาต่ำกว่าก๊าซจากเมียนมา และก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่เรานำเข้ามาใช้เพิ่มขึ้นสัดส่วน 29% แล้ว เพราะก๊าซฯในอ่าวกำลังหมดลง ซึ่งในอดีตตั้งแต่เราพบก๊าซฯในอ่าวไทย รัฐบาลขณะนั้นก็มีนโยบายสร้างมูลค่าเพิ่มสูงสุดให้กับก๊าซฯจากอ่าวไทยซึ่งเป็นก๊าซคุณภาพดี (Wet Gas) ในเนื้อก๊าซสามารถแยกไปใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีได้หลากหลายแทนที่จะนำไปเผาเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าทั้งหมด และสนับสนุนให้ปตท.เป็นกลไกของรัฐลงทุนก่อสร้างโรงแยกก๊าซฯขึ้นและนำวัตถุดิบป้อนอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์พลาสติกจากต่างประเทศ
แต่ต่อมาในปี 2566 ได้มีการปรับสูตรราคาก๊าซฯตามข้อเสนอของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่ชงเข้าเป็นมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566 โดยปรับราคาก๊าซฯที่เข้าโรงแยกก๊าซฯ (ยกเว้นส่วนที่นำไปผลิตเป็น LPG สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิง) เปลี่ยนเป็น ใช้ราคา Pool Gas หรือ ราคาเฉลี่ยของก๊าซฯ อ่าวไทย, เมียนมา และ LNG ซึ่งราคาสูงมารวมกัน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นมา ที่ปรับสูตรกันก็เพื่อกดราคา Pool Gas ให้ต่ำลงทำให้ต้นทุนของโรงไฟฟ้าลดลง ค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) ก็ลดลง แต่อีกด้านหนึ่ง อุตสาหกรรมปิโตรเคมีของไทยมีต้นทุนสูงขึ้น ศักยภาพในการแข่งขันต่ำลง ก็ต้องเลือกว่าจะไปทางไหน “มองสั้น” หรือ “มองยาว”
สำหรับราคา Pool Gas ประกาศเดือนมกราคม 2568 อยู่ที่ 313.5635 บาทต่อล้านบีทียู สูงจากเดือนธันวาคม 2567 อยู่ที่ 308.2371 บาทต่อล้านบีทียู ซึ่งค่อนข้างผันผวนตามราคา LNG นำเข้าที่ไทยใช้ในสัดส่วนมากขึ้น โดยสถานการณ์ราคา Spot LNG เดือนธันวาคม 2567 ตามประกาศของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ราคาอยู่ที่ 14.3050 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ 14.2198 ดอลลาร์ ซึ่งปัจจุบันเรามี Shipper ที่ได้รับใบอนุญาตจาก กกพ. ให้เป็นผู้จัดหา และค้าส่งก๊าซ LNG ทั้งหมด 8 ราย

ความผันผวนของราคาวัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี มีความสำคัญมากต่อความสามารถในการแข่งขัน ดังนั้นอะไรที่จะทำให้ความผันผวนลดลง ก็ต้องทำโดยปรับมาใช้วัตถุดิบให้หลากหลายขึ้น GC เองจะรอแต่ก๊าซฯที่ได้ตามสูตรราคา Pool Gas ซึ่งผันผวน และยังขึ้นกับนโยบายรัฐที่อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ทุกเมื่อ ก็เรียกว่า “รอวันตาย” เท่านั้น
ตอนนี้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีของไทยอย่าง SCG ก็ไปลงทุนบิ๊กโปรเจกต์ที่เวียดนามมาหลายปีแล้ว ก็มีแต่ “กลุ่มปตท.” ที่จำเป็นต้องปักหลักมีฐานการลงทุนใหญ่ในประเทศ ที่มาบตาพุด เมื่อยังต้องมีฐานใหญ่ในไทย ก็ต้องรีบปรับตัวให้ทันคู่แข่งขัน
GC จึงจำเป็นต้องนำ “อีเทน” เข้ามาเป็นทางเลือก เพื่อให้บริหารจัดการต้นทุนได้คล่องขึ้นมากกว่าการรอวัตถุดิบจากโรงแยกก๊าซฯอย่างเดียว ตอนนี้ราคาซื้อขายอีเทน (C2H6) อยู่ที่ 15.97 บาท ลดลงจากเดือนก่อนที่อยู่ระดับ 23.27 บาท
อย่าลืมว่า ด้วยลักษณะเฉพาะของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ที่มีทั้งขาขึ้นและขาลง การผลิตต้องมาพอดีกับวัฏจักรขาขึ้นก็จะได้กำไรมากกว่าเข้ามาตอนวัฏจักรขาลง อุตสาหกรรมนี้เป็นอุตสาหกรรมใหญ่ และมีกระบวนการผลิตที่ซับซ้อนต้องใช้เทคโนโลยี ดังนั้นจะทำอะไรต้องใช้เงินลงทุนสูง ใช้เวลานาน ขณะเดียวกันก็มีคู่แข่งขันเป็นจำนวนมากในแต่ละภูมิภาค และก็ไปทางเดียวกันหมด คือทำครบวงจร ก็จะมาตัดราคาผลิตภัณฑ์กัน
ดังนั้น “ต้นทุนการผลิตต่ำ” จะได้เปรียบที่สุด โดยเฉพาะผู้ที่มีแหล่งวัตถุดิบที่มั่นคง เป็นเจ้าของแหล่งยิ่งดี หรืออย่างน้อย ต้องได้ดีลซื้อราคาวัตถุดิบดีๆ ตรงนี้ต้องอาศัยความเก่งกล้าของ “ผู้นำทัพของบริษัท” พอสมควร
นอกจากนี้อัตราการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีก็ยังสัมพันธ์กับอัตราการเจริญเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศสัดส่วน 2 ต่อ 1 หมายถึงว่า หากเศรษฐกิจเติบโตดี ประชาชนมีกำลังซื้อ การใช้สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ซึ่งล้วนทำจากเม็ดพลาสติกจากกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ก็สูงตามไปด้วย การทำอุตสาหกรรมนี้เติบโตอย่างยั่งยืนไม่ง่าย แต่ไทยก็ต้องทำ ไม่เช่นนั้นเราต้องพึ่งคนอื่น นำเข้าจากจีน หรือให้จีนมาตั้งฐานการผลิตอาจทำได้ถูกกว่า แต่ความมั่นคงอยู่ตรงไหนเวลาวิกฤตใครจะเข้ามาซัปพอร์ต
การสร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมไทยโดยเฉพาะผู้ที่ทำหน้าที่ฟันฝ่าบุกเบิกเป็นบทบาทของรัฐบาล ไม่ใช่มุ่งแต่ฉุดรั้งไม่ให้แข็งแรงและเติบโต ใครบุกเบิกมาก่อนก็รับสภาพไป แล้วเปิดทางให้เอกชนรายอื่นๆ ที่มี Connect แข็งแรง…อย่างนั้นหรือ? “พลังงานไทยอยู่ในมือใคร?”
…………………………………………
คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน
โดย…“ศรัญญา ทองทับ”
สนับสนุนคอลัมน์ โดย : บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)
