การอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีจบลงไปแล้ว แต่ การรื้อโครงสร้างค่าไฟฟ้า และ การรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชน เพิ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้น เพราะ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ได้พูดในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมาว่า จะมีการปรับค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payments : AP) และค่าพลังงานไฟฟ้า (Energy Payments : EP) หรือค่าเชื้อเพลิงอย่างแน่นอน
เพราะทั้ง AP และ EP อยู่ในสูตรโครงสร้างค่าไฟฟ้าที่มีข้อเรียกร้องให้ปรับมานาน เพราะโรงไฟฟ้าที่ทำสัญญาขายไฟเข้าระบบจะเดินเครื่องหรือไม่ เราต้องจ่าย AP และ EP ตามสัญญา โดยงานนี้ “พีระพันธุ์” โชว์ขยี้ไปกับฝ่ายค้านที่อภิปรายเลยว่า “เพราะเขาอยู่ตรงนี้ ถึงได้มีการแก้ไข เพราะต้องจ่ายให้โรงไฟฟ้าตลอดอายุสัญญา 25 ปีไม่ว่าจะเดินเครื่องหรือไม่ คิดเป็นตัวเลขถึงระดับล้านล้านบาท”
แม้ว่าจะมีความพยายามของหน่วยงานในกระทรวงพลังงานอธิบายค่า AP และ EP กันมาหลายปี ก็ไม่เป็นผลนัก โดยเปรียบเทียบว่า AP ก็เหมือนค่าเช่ารถที่ต้องจ่ายทุกเดือน ไม่ว่าจะมีการใช้รถหรือไม่ก็ตาม ส่วน EP ก็เหมือนค่าน้ำมันจะจ่ายมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับระยะทางการใช้งาน หมายถึงเป็นค่าเชื้อเพลิงที่โรงไฟฟ้าเอกชน จะได้รับก็ต่อเมื่อศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าสั่งการให้โรงไฟฟ้าเดินเครื่องผลิตพลังงานไฟฟ้าเท่านั้น ถ้าไปลด หรือไม่ให้มี AP และ EP เอกชนจะเข้ามาประมูลขายไฟฟ้าเข้าระบบในราคาสูง เพราะต้องบวกความเสี่ยงเข้าไปด้วย

เรามาดูหลักการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าให้ชัดๆ ข้อมูลจาก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)ได้อธิบายไว้ว่า การเดินเครื่องโรงไฟฟ้าปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ประกอบกิจการพลังงานปี 2550 โดยยึดหลักเกณฑ์การสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าตามลำดับ
ลำดับแรก สั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าประเภทจำเป็นต้องเดินเครื่อง เพื่อรักษาความมั่นคง ที่เรียกว่า Must Run ซึ่งหากไม่เดินเครื่องโรงไฟฟ้าประเภทนี้แล้ว ระบบไฟฟ้าจะเกิดความมั่นคงลดลง อาจทำให้ไฟฟ้าดับได้ เช่น โรงไฟฟ้าในพื้นที่ที่มีการซ่อมบำรุงสายส่งไฟฟ้า
ลำดับสอง จะสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าประเภทจำเป็นต้องรับซื้อขั้นต่ำตามสัญญา ที่เรียกว่า Must Take ทั้ง ได้แก่ โรงไฟฟ้า SPP เพราะหากไม่เดินเครื่องโรงไฟฟ้าเหล่านี้อาจต้องทำให้รัฐจ่ายเงินค่าซื้อไฟฟ้าหรือก๊าซธรรมชาติขั้นต่ำโดยไม่ได้รับพลังงานไฟฟ้า
ลำดับสาม สั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนการผลิตต่ำที่สุดตามลำดับ ที่เรียกว่า Merit Order ได้แก่ โรงไฟฟ้า กฟผ. และโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) เพื่อให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าต่ำที่สุด หลักเกณฑ์ที่กำหนดนี้ทำให้ “กฟผ.” ไม่สามารถเลือกซื้อไฟฟ้าจากเอกชนรายใดรายหนึ่งเพื่อเอื้อประโยชน์ รวมถึงไม่สามารถเลือกเดินเครื่องเฉพาะโรงไฟฟ้าของ “กฟผ.” ด้วย

คำอธิบายนี้ก็มีหลักเกณฑ์รองรับ แต่พอมีการขยี้ให้เห็นว่า AP และ EP ถึงแม้โรงไฟฟ้าจะไม่ได้เดินเครื่อง ของต้องจ่ายหลักหมื่นล้านแล้ว ก็ผลักเข้าไปอยู่ในค่าไฟด้วย จึงไม่แปลกใจที่ประชาชนจะเอาด้วยกับประเด็นให้ลดหรือยกเลิก AP และEP แรงหนุนมาจากการชี้เป้าไปที่ความอู้ฟู่ของ “เจ้าสัวไฟฟ้า” ที่ทำให้คนเห็นว่า จะมีกิจการใดหนอ ที่ทำแล้วไม่มีวันขาดทุน เหมือนกิจการโรงไฟฟ้า และจะมีกิจการไหนหนอ ที่มีการกำหนดมาจากระดับนโยบายกระทรวง เปิดทางให้บวกทุกสิ่งทุกอย่างเข้ามาในค่าไฟฟ้า ที่เรียกเก็บจากประชาชน
เวลาที่จะลดค่าไฟให้ประชาชนสลึง-สองสลึง แสนยาก หากไม่มีนโยบายการเมืองที่ต้องการเอาใจฐานเสียง บี้ให้ลด อย่างค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือ Ft งวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2568 ทำได้เต็มที่คือ เท่าเดิมที่ 36.72 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เป็น 4.15 บาทต่อหน่วยเท่าเดิม ทั้งที่ “การเมือง” ก็แข่งกันโฆษณาจะลดค่าไฟเป็นของขวัญวันสงกรานต์ แต่สุดท้าย “แห้ว”
สาเหตุที่ต้องเลือกตรึง แทนที่จะลด เพราะต้องไปชำระคืนต้นทุนคงค้างให้กับ “กฟผ.” 14,590 ล้านบาท ซึ่งก็ยังไม่หมดเหลืออีก 57,150 ล้านบาท ไม่รวมส่วนต่างราคาก๊าซธรรมชาติที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าที่ค้างจ่ายกันอยู่ 15,084 ล้านบาท ซึ่งเป็นภาระจากการตรึงค่าไฟเมื่อหลายปีก่อน ก็หมายถึงสุดท้ายประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไรเพราะเขามาเก็บย้อนหลัง

ดังนั้น หากใครคิดจะทำให้ค่าไฟลด ต้องไปรื้อตั้งแต่การพยากรณ์ไฟฟ้า และเรื่องราวต่างๆ ที่ใส่ไปในร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ.2567-2580 (PDP 2024) ซึ่งฉบับนี้กำหนดให้มีกำลังผลิตไฟฟ้าเข้าระบบในช่วงสิ้นแผน หรือในช่วงปี 2580 ที่ 112,391 เมกะวัตต์ แต่ค่าพยากรณ์พลังไฟฟ้าสูงสุด (พีค) ตามระบบของ 3 การไฟฟ้าฯในปี 2580 อยู่ระดับ 54,546 เมกะวัตต์ หรือกำลังผลิตไฟฟ้าสูงกว่าความต้องการเท่าตัว ซึ่ง “รมว.พลังงาน” ขอไม่ไหลไปตามฝ่ายประจำ กำลังทบทวนดูใหม่ ทำให้ PDP ฉบับนี้เป็นปีๆ ยังไม่ออกมาใช้จนถึงบัดนี้
การไม่ลงรอยระหว่าง “พีระพันธุ์-รมว.พลังงาน” กับ “ฝ่ายประจำ” ปรากฎชัดขึ้นเรื่อยๆ อย่างที่ “เขา” ระบุในการชี้แจงช่วงอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า “ปัญหาพลังงานในบ้านเราไม่ใช่รัฐบาลทำ แต่ทำโดยฝ่ายประจำ แต่ในฐานะรับผิดชอบก็ต้องดูแล” พร้อมกับย้ำว่า “นายกฯไม่ได้เกี่ยวข้องไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้นายทุน แต่กลับสนับสนุนให้พยายามแก้ไขในหลายเรื่อง ถ้าตนไม่ได้อยู่ตรงนี้ จะเป็นแบบนี้หรือไม่”
เรียกว่า หาก “พีระพันธุ์” ไม่ถูกปรับออก คงได้ฟาดฟันกับ “ฝ่ายประจำ” ถึงพริกถึงขิง เพื่อให้ทุกอย่างที่ “เขา” เห็นว่า ต้องทบทวน “จบลง” ในสมัยของ “เขา” โดยเฉพาะการทำงานกับ “ฝ่ายประจำ” ของกระทรวงพลังงาน ทั้ง “สนพ.” รวมถึง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และ สำนักงาน กกพ. ที่ดูจะเป็น “ไม้เบื่อ-ไม้เมา”
เห็นได้จากการอภิปรายครั้งนี้ ที่ “พีระพันธุ์” หยิบยกกรณีที่ให้เบรกการซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ที่ให้โควตากับผู้ที่เข้าประมูลเฟสแรก 5,200 เมกะวัตต์ แต่ไม่ผ่านเกณฑ์ ซึ่ง “กกพ.” ได้ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณา 72 ราย ปริมาณพลังไฟฟ้าที่เสนอขายรวม 2,145.4 เมกะวัตต์ไปแล้ว

โดย “พีระพันธุ์” ระบุกลางสภาฯว่า “ขณะที่ทำหนังสือให้ชะลอการลงนามสัญญากับ 3 การไฟฟ้าฯไว้ก่อน เพื่อตรวจสอบ แต่ “เขา” ก็ชิงประกาศรายชื่อคนที่ผ่านการพิจารณาก่อน”
ดังนั้น “ความไม่ลงตัวทางความคิด” ระหว่าง “แนวนโยบายของภาคการเมือง” กับ “ฝ่ายประจำของกระทรวงพลังงาน” ก็ทำให้ “ฝ่ายประจำ” ลุ้นอยากเปลี่ยน “รัฐมนตรี” กัน
ก็คงต้องติดตามตอนต่อไปว่า จะจบลงที่ “ใคร” จะไปก่อนกัน เพราะ “ฝ่ายประจำกระทรวงพลังงาน” ก็ล้วนมีที่มา-ที่ไป “ไม่ธรรมดา” งานนี้เดิมพันด้วยการ ลดบทบาทของ “นายทุนพลังงาน” และการเอาประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง จะทำได้หรือไม่ในสมัยนี้ ?
……………
คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน
โดย : ศรัญญา ทองทับ
สนับสนุนคอลัมน์ โดย : บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)
