วันศุกร์, เมษายน 11, 2025
หน้าแรกCOLUMNISTSเมื่อกระทบผลประโยชน์ การปรับ“โครงสร้างค่าไฟ”คงไม่ง่าย
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เมื่อกระทบผลประโยชน์ การปรับ“โครงสร้างค่าไฟ”คงไม่ง่าย

หลังจากการอภิปรายฯผ่านไป แผ่นดินไหวผ่านไป แต่อาจมาได้อีก ก็ดูเหมือนสถานการณ์จะพลิกผัน เมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ไฟเขียวให้ “รมว.พลังงาน-พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” เดินหน้าทำหลายๆ เรื่อง

นอกจากจะ ปรับลดค่าไฟฟ้า ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอเหลือไม่เกินหน่วยละ 3.99 บาท สำหรับรอบเดือน พ.ค.-ส.ค.68 ลดลงจากอัตราหน่วยละ 4.15 บาทในปัจจุบัน ส่วน ภาระคงค้างจากการตรึงค่าไฟที่ผ่านมา ที่รับภาระไป 71,740 ล้านบาท และ ค่าซื้อก๊าซธรรมชาติ ที่ยังติดกันอยู่ 15,084 ล้านบาท รวม 86,824 ล้านบาท ก็ “ต๊ะกันไว้ก่อน”

นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบให้พิจารณาทบทวนตามแนวทางที่กระทรวงพลังงานกำลังทำกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็น การหาแนวทางแก้ไขปัญหาสัญญารับซื้อไฟฟ้า ในรูปแบบส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) และ Feed-in-tariff (FiT) ซึ่งมีการต่อสัญญาไปเรื่อยๆ โดยไม่สิ้นสุดสัญญา

รวมถึง ไฟเขียวให้รื้อทุกสัญญาที่ทำกับโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ทั้ง แก้ปัญหาการชำระค่าความพร้อมจ่าย (AP) และค่าพลังงาน (EP) รวมทั้งเงื่อนไขข้อตกลงอื่นๆ ในสัญญารับซื้อไฟฟ้าระยะยาว ที่ทำให้ “กฟผ.” หรือรัฐเสียเปรียบ หรือมีภาระค่าใช้จ่ายดังกล่าวที่สูงเกินสมควร หรือสูงเกินความเป็นจริง

อีกประเด็นที่ต่อเนื่องจากการรับซื้อไฟฟ้าเอกชนก็คือ ให้ “รมว.พลังงาน” หาแนวทางแก้ไขปัญหา อุปสรรคทั้งในทางการบริหารและตามสัญญารับซื้อไฟฟ้าต่างๆ ที่ทำให้ “ศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า” (SO) ไม่สามารถบริหารจัดการ การสั่งผลิตไฟฟ้า ให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของ “กฟผ.” ลดต่ำลง

อย่างที่เคยนำเสนอตาม พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงานปี 2550 วางหลักเกณฑ์การสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้า เอาไว้ตามลำดับ ประกอบด้วย

หลัก 1 : Must Run ต้องเดินเครื่องโรงไฟฟ้าเพื่อรักษาความมั่นคงของระบบ ถ้าไม่เดินเครื่องเสี่ยงที่ไฟฟ้าอาจดับได้

หลัก 2 : Must Take เดินเครื่องโรงไฟฟ้าประเภทจำเป็นต้องรับซื้อขั้นต่ำตามสัญญา

หลัก 3 : Merit Order คือ สั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนการผลิตต่ำที่สุดก่อนตามลำดับ

หลักที่ต้อง “รื้อ” หนีไม่พ้น คือ หลัก Must Take เพราะ “ศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า” (SO) จำเป็นต้องรับไฟฟ้าของเอกชนตามสัญญาที่กำหนด เช่น สัญญาพลังงานหมุนเวียนไม่ว่าจะผลิตมากหรือน้อย เพียงแต่ต้องไม่เกินปริมาณตามสัญญา นี่แหละที่ไปขัดกับ หลัก Merit Order ที่ต้องสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนการผลิตต่ำที่สุดก่อนตามลำดับ เพราะอย่างที่ทราบต้นทุนของพลังงานหมุนเวียนสูงพอสมควร

จากตัวเลข ณ​ เดือนก.พ.68 ตอนนี้ “กฟผ.” ผลิตเข้าระบบลดลงเหลือ 31.72% รับซื้อจาก “เอกชน” 68.28% จำนวนนี้เราผลิตจากพลังงานหมุนเวียน 4.53% ส่วนก๊าซฯมีทั้ง “กฟผ.” และ “เอกชน” ผลิตสัดส่วน 18.91% และถ่านหิน 8.17%

มาดูต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของแต่ละเชื้อเพลิง พลังงานหมุนเวียนเฉลี่ย 4.94 บาทต่อหน่วย ก๊าซฯ 2.99 บาทต่อหน่วย ถ่านหินนำเข้าของ IPP 2.45 บาท ต้นทุนของโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) 3.59-3.69 บาทต่อหน่วย ลิกไนต์ กฟผ.1.52 บาท ลิกไนต์จากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนหงสา แขวงไชยบุรี สปป.ลาว 2.30 บาท พลังน้ำจากสปป.ลาว 2.11 บาท พลังน้ำกฟผ.1.45 บาท

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า ต้นทุนการผลิตหน้าโรงไฟฟ้าของพลังงานหมุนเวียนสูงสุด 4.94 บาทต่อหน่วย หากแยกเป็นแต่ละเชื้อเพลิง พลังานลม 6.38 บาท, แสงอาทิตย์ 5.92 บาท, ขยะ 5.49 บาท, ชีวมวล 4.11 บาท ดังนั้นพอรับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียนมากๆ เข้า จึงทำให้ “ต้นทุนรวมของระบบ” เพิ่มขึ้น ขณะที่ต้องรับซื้อตามสัญญา ไม่ว่าจะใช้หรือไม่อย่างไร แล้วเราก็ต้องเดินเครื่องโรงไฟฟ้าหลักตามหลัก Must Run เพื่อ Backup ด้วย

อีกเรื่องที่ครม.ไฟเขียวให้ทำ ก็คือ การปรับโครงสร้างราคาก๊าซฯ (Pool Gas) เพื่อให้ราคาก๊าซฯสำหรับใช้ในการผลิตไฟฟ้าให้ประชาชนมีราคาต่ำลง โดยไม่ช้าต้องเห็นผลด้วย ให้ทันการประกาศราคาไฟฟ้า สำหรับรอบเดือนก.ย.-ธ.ค.68 แนวทางที่ครม.ไฟเขียวทั้งหมด จะต้องแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน เพื่อนำเสนอ ครม.

หลายเรื่องกระทบ “เอกชน” แน่นอน ซึ่ง “รมว.พีระพันธุ์” บอกไว้ว่า ได้ประสานงานไปยังประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) แล้ว เพื่อขอความเห็น โดยบอกว่า หากเขาทำเอง เสร็จไปนานแล้ว เพราะเรื่องนี้ผ่านไปไม่ง่ายแน่นอนจาก “ผลประโยชน์ที่เสียไป”

ปฏิกิริยาออกมาทันที โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 2 เม.ย.68 “เอกชน” นัดประชุม คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) และออกแถลงการณ์ถึง “การคัดค้านการปรับ Pool Gas” โดยระบุว่า เป็นแนวคิดที่จะผลักภาระต้นทุนราคาก๊าซฯ ไปให้ภาคอุตสาหกรรม เพื่อทำให้ค่าไฟฟ้าลดลง แต่จะทำให้ราคาก๊าซภาคอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้นเกือบ 60% ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตภาคอุตสาหกรรมสูงถึง 30,000 ล้านบาทต่อปี โดยไม่ได้ชี้แจงที่มาของตัวเลขผลกระทบนี้แต่อย่างใด  

แถลงการณ์ยังระบุว่า “ดังนั้น การปรับโครงสร้างราคาพลังงาน จึงควรมีการศึกษาความเป็นไปได้และผลกระทบของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนอย่างสมดุล ตลอดจนพิจารณาแนวทางการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุของโครงสร้างพลังงาน ไม่ใช่การโยกตัวเลขหรือผลักภาระต้นทุนพลังงานไปให้อีกภาคส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ ขอให้พิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสมในการดำเนินการเพื่อไม่ให้เกิดภาระต้นทุนกับการผลิตของภาคอุตสาหกรรม และยังคงให้ความสำคัญต่อการดูแลค่าไฟฟ้าสำหรับประชาชนกลุ่มเปราะบาง”

งานนี้ “รมว.พีระพันธุ์” เพิ่ม “ศัตรูใหม่” เพราะต้องงัดข้อกับ “ภาคเอกชน” อย่างรุนแรง จึงไม่ง่ายที่จะปรับ Pool Gas ให้ทันใช้ค่าไฟรอบเดือน ก.ย.-ธ.ค.68 แม้ครม.จะไฟเขียวก็ตาม ต้องอาศัยภาคประชาชนมา Backup หนักๆ ไม่งั้นตัวรมว.พลังงาน…อาจไม่รอด

………….

คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน

โดย : ศรัญญา ทองทับ

สนับสนุนคอลัมน์ โดย บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img