วันอาทิตย์, เมษายน 13, 2025
หน้าแรกCOLUMNISTSบทบาท‘ภาคพลังงาน’ในการเอาใจสหรัฐ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

บทบาท‘ภาคพลังงาน’ในการเอาใจสหรัฐ

ตอนนี้…ถนนทุกสายกำลังพุ่งสู่ทำเนียบขาว สหรัฐอเมริกา เพื่อเจรจากับคนสำคัญของโลกอย่าง “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ หลังทำโลกช็อก!! ประกาศขึ้นภาษีศุลกากรแบบยกเข่ง ไปเมื่อวันที่ 2 เม.ย.68 ซึ่ง “ไทย” ถูกจัดเก็บภาษีนำเข้าอัตรา 37% ในฐานะที่ไปเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯติดอันดับ 10 ด้วยมูลค่า 4.15 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐระหว่างเดือนม.ค.-พ.ย.67 ที่ตอนแรกจะมีผลบังคับใช้วันที่ 9 เม.ย.68 แต่ล่าสุดได้มีประกาศเลื่อนการบังคับใช้ออกไป 90 วัน

การประกาศอย่างเด็ดขาดหนักหน่วงของ “ทรัมป์” มีเป้าหมายเพื่อแก้ไขการขาดดุลการค้าและปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐฯให้เกิดผลทันที โดยไม่หวั่นว่า “ประเทศคู่ค้า” จะใช้มาตรการตอบโต้อย่างใด เพราะเขาบอกแล้วว่า จะตอบโต้เช่นกันด้วยการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นอีก

แต่ขณะเดียวกันก็เปิดทางให้ “แต่ละประเทศ” มาเจรจา สุดท้าย…ท้ายสุด ตอนนี้คิวของ “ทรัมป์” ก็แน่นเอี๊ยด ตอนนี้สหรัฐฯก็รับนัด “รัฐบาลไทย” ในการเดินทางไปเจรจาแล้ว ซึ่งมิติการเจรจารัฐบาลไทยบอกว่า จะมุ่งเน้นการสื่อสารกับรัฐบาลสหรัฐฯในฐานะที่ไทยไม่ใช่แค่ผู้ส่งออก แต่คือ “พันธมิตร” และ “หุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ” ที่สหรัฐฯเชื่อถือได้ในระยะยาว ซึ่งสหรัฐฯเองก็ต้องการให้เจรจาอะไรที่นอกเหนือเรื่องการค้าและภาษีศุลกากรด้วย

สำหรับแนวทางการเจรจากับสหรัฐฯอย่างเป็นทางการของไทย ประกอบด้วย

1.ไทยจะลดภาษีสินค้านำเข้าสินค้าบางรายการให้กับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยนำเข้าอยู่แล้ว แต่นำเข้าจากแหล่งอื่นอย่าง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง รวมถึงเพิ่มการลงทุนด้านพลังงานในสหรัฐฯ

2.เพิ่มปริมาณการนำเข้าสินค้าที่ยังไม่เคยนำเข้าจากสหรัฐฯ

3.ลดเงื่อนไขต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการนำเข้าของสหรัฐฯ

ในประเด็น “พลังงาน” นั้น ไทยเข้าไปลงทุนหลายโครงการในสหรัฐฯอยู่แล้ว ล่าสุดทาง “ปตท.” สนใจที่จะเข้าไปลงทุนพัฒนา โครงการ Alaska LNG อีก ซึ่งโครงการนี้จะเริ่มผลิตก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในรัฐอะแลสกาปี 2571 และส่งออกได้ในปี 2574 ซึ่งจริงๆ กระทรวงพลังงานก็มีท่าทีชัดเจนไปก่อนแล้วว่า ไทยสนใจ Alaska LNG ซึ่งจะช่วยเพิ่มการลงทุนในสหรัฐฯ

โดยเมื่อวันที่ 24 มี.ค.2568 นายไมค์ ดันเลวี ผู้ว่าการรัฐอะแลสกา สหรัฐฯ และ คณะผู้แทนภาคเอกชนด้านพลังงานสหรัฐฯ ได้เข้ามาหารือกับ หน่วยงานสังกัดกระทรวงพลังงาน เพื่อพัฒนาโครงการความร่วมมือกับฝ่ายไทยในการพัฒนาโครงการ LNG  ในรัฐอะแลสการูปแบบต่างๆ อาทิ การสำรวจและผลิตก๊าซ การก่อสร้างท่อส่งก๊าซจากแหล่งผลิตไปยังโรงแปรสภาพก๊าซ และการก่อสร้างโรงแปรสภาพก๊าซและโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการส่งออกก๊าซฯจากรัฐอะแลสกาไปยังภูมิภาคเอเชีย เป็นต้น

ซึ่งไทยต้องการ LNG  มาใช้แทนก๊าซฯในอ่าวที่ลดลงอยู่แล้ว ทั้งในภาคไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรม และมีแผนจะยกระดับให้เป็น LNG HUB ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งตลาดหลักๆของเรา คือ ญี่ปุ่น กับเกาหลีใต้

ก่อนหน้านี้ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ก็ประกาศจะนำเข้า “อีเทน” จากสหรัฐฯมาใช้ทดแทนวัตถุดิบอื่นๆ ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ปริมาณนำเข้า 400,000 ตันต่อปี เริ่มนำเข้าในปี 2572 ไม่นับรวมโครงการต่างๆ ที่ ปตท.ได้เข้าไปลงทุนอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในสหรัฐฯอยู่แล้ว ด้วยมูลค่ารวม 1,200 ล้านดอลลาร์ อาทิ ปิโตรเคมี แบตเตอรี่ และเชื้อเพลิงชีวภาพ ทั้งยังอยู่ระหว่างขยายการลงทุนเพิ่มเติม ส่วนภาคเอกชนไทยก็ไปลงทุนไม่น้อยด้านพลังงานในสหรัฐฯมูลค่ารวมกว่า 2,700 ล้านดอลลาร์ ในธุรกิจโรงไฟฟ้า เทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอน และเชื้อเพลิงชีวภาพ

ข้อมูลจากกระทรวงพลังงาน ระบุว่า ในปี 2567 ที่ผ่านมา ไทยนำเข้าพลังงานจากสหรัฐฯพอสมควร โดยเฉพาะน้ำมันดิบที่มีปริมาณการนำเข้ากว่า 33 ล้านบาร์เรล คิดเป็นมูลค่า 3,000 ล้านดอลลาร์ และในช่วงปี 2565-2567 กลุ่ม ปตท. ได้ซื้อ LNG จาก ปริมาณ 1.7 ล้านตัน และล่าสุดยังได้ลงนามในสัญญาซื้อขาย LNG ระยะยาว 15 ปี กับสหรัฐฯ ปริมาณ 1 ล้านตันต่อปี มูลค่ารวม 7,500 ล้านดอลลาร์ด้วย

ทำไม “ไทย” ลงทุนขนาดนี้แล้ว ยังโดนภาษีไป 37% เพราะมาตรการรีดภาษีทั่วโลกของ “ทรัมป์” เป็นการเปิดศักราชสหรัฐฯใหม่ ซึ่ง “ทรัมป์” บอกไว้แล้วว่า อาจเป็นการรีดภาษีถาวร และอาจเป็นการเจรจาต่อรองไปพร้อมกัน เพราะสหรัฐฯต้องการให้ “คู่ค้า” ต้องดำเนินการหลายสิ่ง ดังนั้นข้อตกลงที่ดีกับสหรัฐฯเท่านั้น จึงจะถูกนำมาพิจารณา

เพราะ “ไม่ใช่ข้อตกลงที่ดีสำหรับคนอื่น เพราะตอนนี้อเมริกาต้องมาก่อน” ทรัมป์ ย้ำไว้อย่างนั้น

ดังนั้นการซื้อพลังงานเท่าไหร่ถึงจะพอให้สหรัฐฯลดภาษีศุลกากรให้ต่ำกว่า 37% ได้ ก็ต้องเท่ากับเม็ดเงินที่สหรัฐฯขาดดุลการค้าไทย ง่ายๆ คือต้องซื้อพลังงานเม็ดเงิน 4.15 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี

เหมือนที่ “ทรัมป์” บอกกับ “สหภาพยุโรป” ว่า สหรัฐฯขาดดุลการค้ากับสหภาพยุโรป 350,000 ล้านดอลลาร์ ทางหนึ่งที่จะทำให้ตัวเลขขาดดุลนี้หายวับไปอย่างง่ายๆ และรวดเร็วก็คือ ต้องซื้อพลังงานจากสหรัฐฯด้วยมูลค่าที่สหภาพยุโรปเกินดุล ซึ่งจะทำให้การขาดดุลหายไปใน 1 สัปดาห์


หาก “ไทย” ทำไม่ได้ขนาดนั้น ก็ต้องทำอีกหลายสิ่ง ทั้งขยายการลงทุนในสหรัฐฯ และการสนับสนุนการลงทุนนานากิจการของสหรัฐฯในไทยอย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะเท่าเทียมกับอีกมิตรประเทศอย่าง “จีน” ไม่ว่าจะเป็นกิจการพลังงานที่สหรัฐฯลงทุนอยู่แล้ว หรือกิจการใหม่ อย่างการเปิดสัมปทานรอบใหม่ เป็นแปลงปิโตรเลียมบนบกรอบที่ 25 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือการสนับสนุนกิจการอื่นที่สหรัฐฯยกพลมาที่ไทย อย่าง Data Center และ Cloud Service อุตสาหกรรมยานยนต์ และเกษตรและอาหาร เป็นต้น ตอนนี้กระทรวงพลังงานก็กำลังรอนโยบายจากรัฐบาลว่า จะให้เพิ่มการลงทุนด้านไหนอีก

“ต่อไปนี้อเมริกาต้องมาก่อน” อย่างที่ “ทรัมป์” บอกไว้ ดังนั้น เป้าหมายทางการค้าการลงทุนเพื่อประโยชน์ของประเทศฝ่ายเดียว ทำไม่ได้แน่ๆ แล้ว ต้อง “win win” ทั้งไทยและสหรัฐฯ เพราะเราไม่อาจบอกสหรัฐฯได้ว่า ไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่ต้องได้รับการช่วยเหลือในทางเศรษฐกิจ เพราะไปเกินดุลเขาถึง 4.15 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และนอกจากบาลานซ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนแล้ว ต้องบาลานซ์ความสัมพันธ์ในเรื่องอื่นๆ ไปพร้อมกันด้วย เพราะเราไม่ได้มีอำนาจต่อรองมากนัก

………….

คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน

โดย : ศรัญญา ทองทับ

สนับสนุนคอลัมน์ โดย บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img