ภายในเดือนนี้ และภายใน 15 พฤษภาคม 2568 เป็น วันขีดเส้นตายที่กระทรวงพลังงาน โดย”พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” รมว.พลังงานจะต้องหาคำตอบภายใต้การรื้อโครงสร้างตามคำมั่นสัญญาที่เขาประกาศไว้
เรื่องที่ต้องทำให้เสร็จในเดือนเมษายนนี้เป็นการรื้อโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ในรูปแบบ Feed – in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 ที่ได้มีการเปิดประมูลไป 2 รอบ รอบแรก 5,200 เมกะวัตต์ ซึ่งทำไปตั้งแต่ปี 2565 และรอบสอง 3,600 เมกะวัตต์
โดยเปิดรับซื้อโครงการย่อยไป 2,100 เมกะวัตต์เมื่อเดือนมีนาคม 2566 โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)กำหนดให้สิทธิ์ผู้ที่เคยเข้าประมูลในโครงการ 5,200 เมกะวัตต์ แต่ไม่ชนะการประมูลเป็นผู้มีสิทธิ์ยื่นประมูลก่อน ซึ่งนายพีระพันธุ์ได้สั่งชะลอการรับซื้อล็อตนี้ และตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ โดยเขาเป็นหัวโต๊ะประธานตรวจสอบข้อเท็จจริงเอง ซึ่งบอกจะเร่งสรุปผลภายในเดือนนี้ เพื่อตรวจสอบว่าหลักเกณฑ์ที่ กกพ. กำหนดให้โควตานั้นชอบด้วยกฎหมายหรือมีอะไรนอกในหรือไม่ แม้กกพ.จะได้ประกาศรายชื่อบริษัทที่ผ่านเกณฑ์และขายเข้าระบบเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567 จำนวน 72 ราย แต่ยังไม่ทันทำเซ็นสัญญาซื้อขายกับการไฟฟ้า เพราะถูกเบรกเสียก่อน
นายพีระพันธุ์ ระบุไว้ว่า “คณะอนุกรรมการฯ ได้พบข้อสงสัยหลายประการจากการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้างที่ยังไม่ได้รับรายละเอียดจาก กกพ. ซึ่งต้องมีการหาข้อสรุปว่าดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ และยังต้องมีการพิจารณากฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น กฎหมายป้องกันการสมยอมในการเสนอราคา กฎหมายป้องกันการฮั้วประมูล ซึ่งหากพบว่าขัดหรือแย้งกับกฎหมายเหล่านี้จะต้องมีการดำเนินการยกเลิก หรือดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป”
และยังบอกว่ากรรมการหลายคนในคณะอนุกรรมการตรวจสอบฯ ไม่เห็นด้วยกับราคารับซื้อแบบคงที่ในรูปแบบ FiT ที่ให้กับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม 3.1014 บาทต่อหน่วย และพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน 2.1679 บาทต่อหน่วย และแบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน 2.8331 บาทต่อหน่วยตลอดอายุสัญญา 25 ปี ท่ามกลางต้นทุนพลังงานหมุนเวียนที่ลดลงเรื่อยๆ สำหรับรอบ 2,100 เมกะวัตต์เบรกได้ เพราะยังไม่ได้ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า
ส่วนการประมูลรอบแรก 5,200 เมกะวัตต์ ซึ่งซื้อขายจริง 4,852 เมกกะวัตต์ มีสัญญาทั้งสิ้น 175 ฉบับ แม้นายพีระพันธุ์จะตรวจสอบด้วย แต่อาจจะเบรกลำบากละ เพราะเซ็นสัญญากันไปแล้ว 64 โครงการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2565 ซึ่งทางคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ให้ข้อเสนอแนะแล้วว่า “มีการเซ็นสัญญาไปแล้วหากยกเลิกหรือชะลอการเซ็นสัญญาส่วนที่เหลืออาจจะทำให้เกิดปัญหาข้อกฎหมาย”

อย่างไรก็ตามนายพีระพันธุ์ก็คงเข้าไปตรวจสอบไม่ลดละทั้งการเปิดรับซื้อรอบ 5,200 เมกะวัตต์ และ 2,100 เมกะวัตต์ โดยเขา ประกาศว่า หากมีการตรวจพบความไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือการทุจริต จะต้องมีการดำเนินการในทุก ๆ โครงการอย่างไม่ละเว้น ซึ่งตอนนี้เขาไปสร้างช่องทางให้ยกเลิกสัญญาได้ไว้แล้ว โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพิ่มเงื่อนไขในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ว่า “หากตรวจพบว่าโครงการใดมีความไม่ชอบด้วยกฎหมายทาง กฟผ. สามารถบอกเลิกสัญญาได้”
ตอนนี้นายพีระพันธุ์ ตั้งหน้าตั้งตารื้อและตรวจสอบกระจาย ในส่วนของการตรวจสอบการเปิดรับซื้อรอบ 2,100 เมกะวัตต์จะทำเสร็จภายในเมษายนนี้ ซึ่งก็จะไปเชื่อมโยงกับการบ้านที่ครม.ให้ทำภายใน 45 วันหรือภายใน 15 พฤษภาคม 2568 ใน 3 เรื่อง นั่นคือ
1. หาแนวทางแก้ไขปัญหาสัญญารับซื้อไฟฟ้า ในรูปแบบส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) และ FIT รวมถึงเงื่อนไขที่กำหนดให้สัญญาดังกล่าวมีอายุสัญญาต่อเนื่องโดยไม่มีกำหนดวันสิ้นสุดสัญญา
2. หาแนวทางแก้ไขปัญหา ค่าความพร้อมจ่าย (AP) และค่าพลังงาน (EP) รวมทั้งเงื่อนไขข้อตกลงอื่นในสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชน (IPP) ตามสัญญารับซื้อไฟฟ้าระยะยาว (PPA) ในทุกสัญญาที่มีเงื่อนไขทำให้กฟผ. หรือรัฐเสียเปรียบ หรือมีภาระค่าใช้จ่ายที่สูงเกินสมควร หรือสูงเกินความเป็นจริง
3. หาแนวทางแก้ไขปัญหา และอุปสรรคในข้อตกลงสัญญารับซื้อไฟฟ้าต่าง ๆ ที่ทำให้ศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า (SO) ไม่สามารถบริหารจัดการ หรือสั่งผลิตไฟฟ้าให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.ลดต่ำลงได้
step ต่อไปที่ครม. ให้ทำคือปรับโครงสร้าง ระบบ Pool Gas เพื่อให้ราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับใช้ในการผลิตไฟฟ้าให้ประชาชนมีราคาต่ำลง โดยให้ทันการประกาศราคาไฟฟ้า สำหรับรอบเดือนกันยายน ถึง ธันวาคม 2568
มาดูว่าในส่วนของการบ้านจากครม.ข้อ 2 ที่ให้ไปหาแนวทางแก้ไขปัญหาค่า AP และ EP รวมทั้งเงื่อนไขข้อตกลงอื่นในสัญญารับซื้อไฟฟ้าจาก IPP ว่าโรงไหนที่ทำให้กฟผ. หรือรัฐเสียเปรียบ หรือมีภาระค่าใช้จ่ายที่สูงเกินสมควร หรือสูงเกินความเป็นจริง

ล่าสุดพบว่ามี IPP 6 รายที่ระบบต้องจ่ายค่า AP ฟรีๆทั้งที่ไม่ได้เดินเครื่องเข้าระบบในงวด กันยายน – ธันวาคม 2567 รวมเป็นเงินที่ระบบต้องจ่าย 7,629.17 ล้านบาท ประกอบด้วย
1.บริษัท โกลบอลเพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) 700 เมกะวัตต์ เข้าระบบปี 2543 จ่าย 709.92 ล้านบาท
2.บริษัทโกลว์ ไอพีพี จำกัด (GLOW IPP) 713 เมกะวัตต์ เข้าระบบปี 2546 จ่าย 499.92 ล้านบาท
3.บริษัทกัลฟ์ เพาเวอร์ จำกัด (GPG) 2 โรง กำลังผลิตรวม 1,468 เมกะวัตต์ เข้าระบบปี 2550 และ 2551 จ่าย 1,520.13 ล้านบาท
4. บริษัท ราชบุรีเพาเวอร์ จำกัด (RPCL) 2 โรง กำลังผลิต 1,400 เมกะวัตต์ เข้าระบบปี 2551 จ่าย 1,088.32 ล้านบาท
5.บริษัท กัลฟ์ เจพี เอ็นเอส จำกัด (หนองแซง) (GNS) 2 โรง กำลังผลิต 1,600 เมกะวัตต์ เข้าระบบปี 2557 จ่าย1,882.58 ล้านบาท
6.บริษัท กัลฟ์ เจพี ยูที จำกัด (อุทัย) (GUT) 2 โรง กำลังผลิต 1,600 เมกะวัตต์ เข้าระบบ 2558 จ่าย 1,928.30 ล้านบาท ซึ่งมีโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องมานานจะหมดสัญญาในปีนี้ ได้แก่ โรงไฟฟ้าของ GPSC ซึ่งสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจะครบอายุ 15 สิงหาคม 2568
สาเหตุที่ทั้ง 6 โรงไม่ถูกสั่งเดินเครื่อง เนื่องจากกำลังผลิตไฟฟ้าในบ้านเรา ณ ปัจจุบันเกินความความต้องการไปเกือบเท่าตัว จากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เติบโตตามเป้าหมายหลายปีติดต่อกัน โดย ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2568 มีกำลังผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ 52,107.8 เมกะวัตต์ ส่วนความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) ที่เกิดเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2568 อยู่ที่ 32,882.3 เมกะวัตต์ เรียกว่าตอนนี้มีกำลังผลิตไฟฟ้าเกินความต้องการไปเกือบเท่าตัว

มาดูหลักการสั่งเดินเครื่อง ศูนย์ SO จะสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูง ต้นทุนต่ำก่อนตามหลัก Merit order หมายถึงลำดับแรกจะสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูง ต้นทุนต่ำก่อน หากไฟฟ้าไม่พอความต้องการ จึงมาสั่งให้โรงไฟฟ้าที่อยู่ในลำดับ 2 เดินเครื่อง ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้ากลางเก่ากลางใหม่ มีประสิทธิภาพปานกลาง หากผลิตไฟฟ้าไม่พออีกจึงจะมาให้โรงไฟฟ้าลำดับสุดท้ายเดินเครื่อง ซึ่งเป็นกลุ่มโรงไฟฟ้าเก่าที่มีประสิทธิภาพต่ำ เรียกว่าเป็นโรงเก่าที่เดินเครื่องมาหลายปี ดังนั้นสถานการณ์ตอนนี้เมื่อกำลังผลิตไฟฟ้าเกินความต้องการไปมาก การเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่เพิ่งสร้างใหม่จึงมาก่อน เมื่อเทียบกับ IPP 6 โรงที่เดินมาหลักสิบปี ประสิทธิภาพต่ำ
ทั้งนี้ ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2568 มี IPP ที่มีสัญญาซื้อขายกับกฟผ. ทั้งสิ้น 13 บริษัท มีทั้งโรงเก่าและโรงใหม่ นอกเหนือจาก IPP 6 บริษัทข้างต้นที่ไม่ได้ถูกสั่งเดินเครื่อง ก็มีโรงไฟฟ้าใหม่ของ 7 บริษัทเดินเครื่องอยู่ ประกอบไปด้วย บริษัท ผลิตไฟฟ้าขนอม กำลังผลิตตามสัญญา 930 เมกะวัตต์ ,บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) พลังความร้อน 1,440 เมกะวัตต์ พลังความร้อนร่วมชุดที่ 1,2,3 รวม 2,041 เมกะวัตต์ ,บริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด 1,346.5 เมกะวัตต์ ,บริษัทแก่งคอย เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น จำกัด ในเครือกัลฟ์ 1,468 เมกะวัตต์ ,บริษัท เก็คโค่-วัน จำกัด 660 เมกะวัตต์ ,บริษัท กัลฟ์ เอสอาร์ซี จำกัด ชุดที่ 1-4 กำลังผลิต 2,500 เมกะวัตต์ ,บริษัท กัลฟ์ พีดี จำกัด ชุดที่ 1-4 2,500 เมกะวัตต์ ,บริษัท หินกองเพาเวอร์ จำกัด ชุดที่ 1-2 กำลังผลิต 1,400 เมกะวัตต์ ถือหุ้นโดยกลุ่มกัลฟ์ 49% อีก 51% เป็นกลุ่มราช กรุ๊ป รวมกำลังผลิตทั้ง 13 บริษัท ในตอนนี้ 20,298.5 เมกะวัตต์ คิดเป็น 38.95% ของระบบ ขณะที่กำลังผลิตของโรงไฟฟ้ากฟผ.เพียวๆ 16,261.02 เมกะวัตต์ คิดเป็น 31.21% ที่เหลือเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก 17.87% กำลังผลิตเข้าระบบ 9,313.38 เมกะวัตต์ และซื้อไฟฟ้าต่างประเทศ 11.97% คิดเป็น 6,234.9 เมกะวัตต์

ไม่ได้มีกำลังผลิตเท่านี้ ยังมีโรงไฟฟ้าใหม่ที่เตรียมเข้าระบบเพิ่มเข้ามาอีกในปี 2570 หรืออีก 2 ปีข้างหน้าเป็นของบริษัทบูรพา พาวเวอร์ เจเนอเรชั่น (BPG) ตั้งอยู่ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา กำลังผลิต 540 เมกะวัตต์ เดิมใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงต่อมาขอแก้ไขสัญญาเป็นก๊าซธรรมชาติ เดิมเป็นของบริษัทเนชั่นแนล เพาเวอร์ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) (NPS) ของกลุ่มดับเบิ้ลเอ ต่อมากลุ่มกัลฟ์ได้เข้าถือหุ้นสัดส่วน 35%
จริงอยู่เมื่อ IPP สิ้นสุดสัญญาซื้อขายไฟฟ้าก็ต้องปลดออกจากระบบ และมีโรงใหม่เข้ามาแทนที่ แต่ยังไงเสียเศรษฐกิจจะเติบโตตามเป้าหมายได้เมื่อใด ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าครอบคลุมกำลังผลิตได้เมื่อไหร่ก็ไม่มีใครรู้ได้ แต่ที่แน่ๆผลิตไม่ผลิตระบบก็ต้องจ่าย AP ฟรีไปเรื่อยๆ จนกว่าจะปลดออกจากระบบ ถือว่า 25 ปีของการทำธุรกิจโรงไฟฟ้าและขายเข้าระบบคุ้มการลงทุนสุดๆ ไม่มีทางขาดทุน สถาบันการเงินพร้อมปล่อยกู้แน่นอน ก็อย่างที่เห็นแม้บางช่วงไม่ได้เดินเครื่อง แต่ก็มีรายได้เข้ามาทุกเดือนหลักร้อยล้าน อย่าง 6 โรงที่ไม่ได้เดินเครื่องช่วง 4 เดือน แต่ระบบต้องจ่าย AP รวมๆแล้ว 7,629.17 ล้านบาท เม็ดเงินก้อนนี้บริษัทได้ไป แต่มารวมเป็นต้นทุนค่าไฟที่ประชาชนทุกคนจ่าย แล้วอย่างที่เห็นว่าส่วนใหญ่ IPP เป็นของเจ้าไหนที่ครองระบบอยู่
มีข้อเสนอว่าให้ใช้วิธี “Direct Negotiate” หรือเจรจาตรง คัดเลือก IPP ที่เหมาะสมเข้าระบบแทนการเปิดประมูล เพื่อไม่ให้ IPP ที่กระจุกตัวอยู่กับบางเจ้า ซึ่งก็มีบางประเทศเช่นมาเลเซียใช้การเจรจาต่อรอง เพื่อให้โรงไฟฟ้าที่ดีที่สุดเข้าระบบ แต่จริงๆเราก็เพิ่งใช้วิธี “Direct Negotiate” ไม่กี่ปีมานี้ เพื่อเข้าแทนที่โรงไฟฟ้าโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมไตรเอนเนอจี้ ของ ราช กรุ๊ป ขนาด 700 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่ตำบลหินกอง อำเภอเมือง จังหวัด ราชบุรีซึ่งครบอายุสัญญา PPA 20 ปีไปเมื่อเดือนกรกฎาคม 2563
โดยวิธี “Direct Negotiate” ได้ตกลงให้ราช กรุ๊ป ทำโรงไฟฟ้าใหม่ในพื้นที่เดิม หลังเจรจามาหลายปี ชื่อโรงใหม่ว่า “โรงไฟฟ้าหินกอง” แต่ทำไปทำมาก็ไม่ได้แทนที่ด้วยขนาดเดิม 700 เมกะวัตต์ แต่ให้ทำ 2 โรงเลย รวม 1,400 เมกะวัตต์ อายุสัญญา 25 ปี ซัพพอร์ทด้วยมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) เดือนพฤษภาคม 2562 ที่มี นาย ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในขณะนั้นเป็นประธาน ต่อมาเดือนมกราคม 2563 โรงไฟฟ้าหินกองก็มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น ไม่ใช่ของราช กรุ๊ป เพียงผู้เดียวอีกต่อไปเมื่อกลุ่มกัลฟ์ เข้ามาถือหุ้น 49% ส่วน ราช กรุ๊ป เหลือ 51%
ทั้งหมดทั้งมวลนี่แหละที่ทำให้เกิดข้อเรียกร้องว่าให้เลิก AP เพราะเหมือนไปประกันกำไรเอกชนแบบไม่มีทางขาดทุน แต่ให้ทำเหมือนการลงทุนในธุรกิจทั่วไปที่เอกชนต้องรับความเสี่ยงบ้าง และเรียกร้องให้มีการรื้อระบบที่ฝังรากในพลังงาน ไม่ให้ “Negotiate” กลายเป็นหลักการที่ให้โอกาสกับเจ้าใหญ่เพียงผู้เดียวเสมอ
นอกจากรื้อเรื่อง AP นายพีระพันธุ์อยากจะรื้อมาถึง Pool Gas หรือ ก๊าซฯที่มาขายเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าที่เขาบอกว่ามี 2 บริษัทในประเทศที่กอบโกยผลประโยชน์ของประเทศไปเปล่า ๆ ถึงปีละ 20,000 ล้านบาท ตรงนี้ก็ไม่รู้ใคร? ซึ่งครม.กำหนดให้รื้อ Pool Gas ให้เสร็จนำมาใช้ในการคำนวนค่าไฟฟ้าให้ทันในรอบเดือนกันยายน 2568 …จะออกหัวออกก้อยอย่างไร หรือสุดท้ายไม่มีอะไรในกอไผ่..ก็อยู่ที่ฝีมือท่าน วัดกันในยกสุดท้ายนี้แหละ
…………………………………
คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน
โดย : ศรัญญา ทองทับ
สนับสนุนคอลัมน์ โดย : บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)
