“การรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 5,200 เมกะวัตต์ ไม่ทำให้ค่าไฟแพง” คำพูดของ “วัฒนพงษ์ คุโรวาท” ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เป็นด่านหน้าออกมายืนยันว่า การประมูล 5,200 เมกะวัตต์ที่ทำเมื่อปี 2565 ชอบด้วยกฎหมาย ยืนยันทำถูกต้องแล้ว อีกทั้งก็ได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) แล้วเป็นส่วนใหญ่ บางโครงการได้มีการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว เขาบอกว่าการยกเลิกสัญญาของ RE Big Lot ที่ลงนามไปแล้ว “จึงไม่อาจจะทำได้แน่ๆ”
และหากจะมีการยกเลิกโครงการที่ไม่ลงนามในสัญญาส่วนที่เหลือกว่าสิบสัญญา จะทำให้เกิดข้อขัดแย้งกับสัญญาที่ลงนามไปแล้ว และเป็นการดำเนินการแบบ 2 มาตรฐานระหว่างกลุ่มโครงการที่ได้มีการลงนามในสัญญาแล้ว และโครงการที่ยังไม่ได้ลงนามในสัญญา ซึ่ง “2 มาตรฐาน” เป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ แต่ในความเป็นจริง…มีอยู่จริง!

อย่างไรก็ตาม “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” รมว.พลังงาน ก็ต้องการแสดงบทบาทให้เห็นเป็นการทั่วไปว่า “รมว.พลังงานมีตัวมีตนนะ อย่ามองข้ามกัน” ตอนนี้ผ่านไปเกือบๆ 2 ปี เขายังคงมุ่งรื้อกระจายถึงโครงสร้างและระบบที่ฝังลึกในกระทรวงพลังงานต่อไป ไม่สนใจแรงเสียดทาน และวาระรมว.พลังงานที่จะได้ไปต่ออีก 2 ปีนับจากนี้ เขาน่าจะทำอะไรเป็นรูปเป็นร่างได้ แม้ใครๆ จะไม่อยากให้เขาอยู่ก็ตาม
ในส่วนของการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 5,200 เมกะวัตต์ ที่ทำไปเสร็จตอนปี 2565 ก่อนเขามาเป็นรมว.พลังงาน “พีระพันธุ์” ระบุว่า ก่อนเข้ามาเป็นรมว.พลังงาน ได้ทยอยลงนาม PPA กันไปแล้ว 80 กว่าสัญญา เหลือประมาณ 18 สัญญา ซึ่งล็อตหลังนี้แหละ “มีหนาว” เพราะได้มีการเพิ่มเติมเงื่อนไขไว้ในสัญญาแล้วว่า “หากพบอะไรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บอกเลิกสัญญาได้” ดังนั้นสำหรับล็อตที่เพิ่งมาลงนาม PPA กันตอนหลังกลุ่มนี้จะถือว่า ระยะเวลาแน่นอน 25 ปีของการขายไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเข้าระบบได้กลายสภาพเป็นเรื่องที่ไม่แน่นอนไปเสียแล้ว

สำหรับเรื่องค้างคาใจมานานว่า ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนของไทยสูงนั้น “ผอ.สนพ.” บอกว่า “ไม่สูง” ทั้งยังต่ำด้วยซ้ำไปเมื่อเทียบกับราคาเฉลี่ยที่ กฟผ. ขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย (การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค) 3.18 บาทต่อหน่วย ณ เดือน มีนาคม 2568
โดยราคา RE Big Lot มีต้นทุนรับซื้อไฟฟ้าเฉลี่ยประมาณ 2.7 บาทต่อหน่วย ประกอบด้วย พลังงานแสงอาทิตย์อัตรา 2.18 บาทต่อหน่วย พลังงานลมมีอัตรา 3.10 บาทต่อหน่วย พลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับ BESS (ระบบเดินไฟในแบตเตอรี่) อัตรา 2.83 บาทต่อหน่วย
เมื่อเทียบตัวเลขต้นทุนการผลิตไฟฟ้าช่วงมกราคม-มิถุนายน 2567 พลังน้ำกฟผ.1.45 บาทต่อหน่วย ลิกไนต์ กฟผ. 1.52 บาทต่อหน่วย พลังน้ำจากสปป.ลาว 2.11 บาทต่อหน่วย โครงการลิกไนต์หงสา 2.30 บาทต่อหน่วย ถ่านหินนำเข้า (จากโรงไฟฟ้าเอกชน : ไอพีพี) 2.45 บาทต่อหน่วย ก๊าซธรรมชาติ 2.99 บาท ส่วนต้นทุนหน้าโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่เข้าระบบเฉลี่ยไปแล้วในตอนนี้เท่ากับ 4.94 บาทต่อหน่วย
อย่างไรก็ตาม ต้นทุนที่ว่ากันนั้น จริงแล้วยังมี “ต้นทุนแฝง” ในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เพราะไม่สามารถเดินได้ 24/7 ต้องมีโรงไฟฟ้าฟอสซิลเดินคู่กันไปด้วยเพื่อความมั่นคงของระบบ ดังนั้นแน่ใจหรือต้นทุนพลังงานหมุนเวียนของบ้านเราต่ำอย่างที่ “ผอ.สนพ.” ได้ว่าไว้

แน่นอน RE Big Lot เป็นการช่วยเพิ่มปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในระบบไฟฟ้า ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกตามการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution: NDC) 30-40 % ภายในปี พ.ศ.2573 และบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายใน พ.ศ.2593 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Carbon Emission) ภายในปี พ.ศ.2608 เข้ามารองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดของผู้ประกอบการที่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM)

แต่อย่างไรเสีย การนำโรงไฟฟ้าเข้าระบบในตอนนี้ ไม่จะเป็นโรงไฟฟ้าฟอสซิล หรือพลังงานหมุนเวียน ต้องคำนึงด้วยว่ากำลังผลิตของประเทศเราเป็นอย่างไร ล้นมากน้อยแค่ไหน การรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเข้ามาอีกเรื่อยๆ เราคำนึงถึงภาระของระบบ ที่ประชาชนต้องแบกรับ มากกว่าสร้างการเติบโตให้กับบริษัทเอกชนบางรายหรือไม่
และอย่าลืมว่าโรงไฟฟ้าที่ขายเข้าระบบ หลังๆ มาก็เปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นกันกระจาย ทั้งมาตรงๆ และนอมินี สุดท้ายรวยกระจุก ประชาชนจนกระจายเหมือนเดิมไหม และขอฝากไว้อีกเรื่องก็คือ มาตรฐานของอุปกรณ์ชิ้นส่วนที่ใช้ แล้วพอพังแล้วมีวิธีการจัดการอย่างไร
…………………………………
คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน
โดย : ศรัญญา ทองทับ
สนับสนุนคอลัมน์ โดย : บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)
