วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 1, 2025
หน้าแรกCOLUMNISTSถอดบทเรียน“ไฟฟ้าดับ” ในสเปน-โปรตุเกส-ฝรั่งเศส
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ถอดบทเรียน“ไฟฟ้าดับ” ในสเปน-โปรตุเกส-ฝรั่งเศส

ตอนนี้ทั่วโลกกำลังถอดบทเรียนไฟฟ้าดับครั้งใหญ่ หรือ  Blackout ใน “สเปน-โปรตุเกส” และ “บางส่วนของฝรั่งเศส” ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนหลายล้านคน “ไม่มีไฟฟ้าใช้” ส่งผลให้เกิดความโกลาหลไปทั่วเมือง

กลายเป็นวิกฤติการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ของ “สเปน” ที่สูญเสียการผลิตไฟฟ้าถึง 15 กิกะวัตต์ (GW) ใน 5 วินาที เทียบเท่ากับ 60% ของความต้องการของประเทศ จากเวลาปกติก่อนหน้านี้ ณ เวลา 12.30 น. ผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 25,184 เมกะวัตต์ แต่ 5 นาทีต่อมา ในเวลา 12.35 น. เกิดไฟฟ้าดับบางส่วน เหลือกำลังผลิตประมาณ 12,939 เมกะวัตต์ ส่งผลให้ไฟฟ้าดับในหลายพื้นที่ ไม่เฉพาะสเปนแต่ลามไปประเทศข้างเคียง

ผู้เชี่ยวชาญด้านไฟฟ้าของไทย วิเคราะห์ให้ฟังว่า สเปนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอยู่ 26,113 เมกะวัตต์ คิดเป็น 81.41% และพลังงานอื่นๆ 24,644 เมกะวัตต์ เช่น นิวเคลียร์ 3,387 เมกะวัตต์ ก๊าซธรรมชาติ 982 เมกะวัตต์​ ถ่านหิน 229 เมกะวัตต์ ไม่เท่านั้นสเปนยังส่งออกไฟฟ้าให้เพื่อนบ้านเยอะมากด้วย กว่า 5,302 เมกะวัตต์ ไปที่โปรตุเกส 2,652 เมกะวัตต์ ฝรั่งเศส 868 เมกะวัตต์ โมร็อกโก 782 เมกะวัตต์ จึงไม่ต้องแปลกใจที่เมื่อไฟฟ้าสเปนล้ม จะกระทบไปที่ประเทศข้างเคียง

ตอนเกิดเหตุพบว่า ไฟฟ้าจากฟอสซิลทั้งหลาย หายไปจากระบบเหลือ 0 ทั้งนิวเคลียร์ และถ่านหิน ส่วนก๊าซฯผลิตเหลือ 326 เมกะวัตต์ สเปนก็เลยเบ่งพลังงานหมุนเวียนให้เดินเครื่องอยู่ 12,652 เมกะวัตต์คิดเป็น 91.39% นี่คือสาเหตุ

ผู้เชี่ยวชาญ ระบุว่า โรงไฟฟ้าที่มี Generator หมุน (Spinning Machine) เช่น ไฟฟ้าพลังน้ำ (Hydro Turbine) โรงไฟฟ้าก๊าซฯ (Gas Turbine) หรือ แบบกังหันไอน้ำ (Steam Turbine) จากเชื้อเพลิงฟอสซิล จะมีความเฉี่อย (Inertia) จาก Turbine ทำให้รักษาความถี่ไฟฟ้า (Frequency) ได้สม่ำเสมอ และเมื่อเกิดไฟฟ้าส่วนหนึ่งหลุดหายจากระบบ โรงไฟฟ้ากลุ่มนี้จะชะลอ Frequency ไม่ให้ลดลงอย่างรวดเร็ว

เมื่อเทียบกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ไม่ว่าจะเป็นโซลาร์เซลล์ หรือ ลม จะไม่มี ความเฉื่อย (Inertia) เมื่อไฟฟ้าจำนวนหนึ่งหายจากระบบจะไม่สามารถรักษา ความถี่ไฟฟ้า (Frequency) ไว้ได้ ดังนั้นหากระบบไฟฟ้าของประเทศใด มีพลังงานหมุนเวียนจำนวนมาก จึงสุ่มเสี่ยงต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้า

หากไม่วางโครงสร้างพื้นฐานให้ดี ไทยเองก็มีสิทธิ Blackout ได้ เพราะร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) กำหนดให้ในช่วงสิ้นสุดแผน หรือในปี 2580 เราจะมีสัดส่วนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากถึง 51% จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมจึงไม่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้ไปไกลกว่านั้นและรวดเร็วตามคำเรียกร้องของบางกลุ่ม ก็เพราะสาเหตุที่เราต้องดูแลไม่ให้เกิดความเสี่ยงแบบสเปน

ผู้เชี่ยวชาญ บอกว่า เมื่อพลังงานหมุนเวียนของไทยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น จำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าแบบ Rotating machine เช่น Hydro Turbine, Steam Turbine, Gas Turbine ที่่เป็นโรงที่เดินเครื่องเป็น Spinning Reserve อยู่ให้มากพอ เพื่อทำให้ความเสี่ยงลดน้อยลง เพราะโรงไฟฟ้าที่เป็น Spinning Reserve ต่างๆ นั้น แม้จะเดินเครื่องแค่ 80-90% อีก 10-20% เป็น Spinning Reserve แต่ก็สามารถเพิ่มขึ้นเป็น 100% ได้ในเวลารวดเร็วช่วยรักษา Frequency ให้อยู่ในระดับ +/- 1% ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะเป็นผู้ควบคุมความถี่ของระบบโครงข่ายไฟฟ้า ให้อยู่ในเกณฑ์ 50±0.5 รอบต่อวินาที

จากวิกฤติไฟฟ้าดับในสเปน ผู้เชี่ยวชาญ ชี้ให้ดู การผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ (Hydro Turbine) แบบสูบกลับ (Pump Hydro Storage) ที่มาเป็นพระเอกได้ เพราะส่งผลดีในหลายด้านด้วยกัน ทั้งเป็นพลังงานหมุนเวียนด้วย และช่วยประคับประคองระบบด้วยเช่นกัน เพราะช่วงเวลาที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง จะปล่อยน้ำจากอ่างบนผ่านเครื่องกังหันน้ำมาผลิตไฟฟ้าวนเป็นวงจรแบบนี้ไปเรื่อย เรียกว่าเป็น Energy Storage หรือ ระบบกักเก็บพลังงาน ขนาดใหญ่กว่าแบตเตอรี่ และยังมีความเฉื่อย (Inertia) ช่วยรักษาความถี่ไฟฟ้าให้มีเสถียรภาพด้วย

ในสเปนก็มีพลังน้ำสูบกลับ  “La Muela Pumping Station” ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปด้วยเหมือนกัน สำหรับประเทศไทย ปัจจุบัน “กฟผ.” มีโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ 3 แห่ง คือ เขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี กำลังผลิต 360 เมกะวัตต์, เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก กำลังผลิต 171 เมกะวัตต์ และ โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา จังหวัดนครราชสีมา กำลังผลิต 1,000 เมกะวัตต์

และมีแผนเดินหน้าพัฒนาโครงการพลังน้ำแบบสูบกลับที่ เขื่อนจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิ กำลังผลิต 801 เมกะวัตต์ มีแผนจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ในปี 2577, เขื่อนวชิราลงกรณ จังหวัดกาญจนบุรี ขนาดกำลังผลิต 819 เมกะวัตต์ COD ปี 2579 และ เขื่อนกะทูน จังหวัดนครศรีธรรมราช มีแผน COD ปี 2580 ทั้งหมดถูกบรรจุในร่าง แผน PDP ฉบับใหม่แล้ว

ผู้เชี่ยวชาญ บอกด้วยว่า หากให้ดี ทำให้เร็วกว่าแผนสักหน่อย เพื่อรองรับความผันผวนของการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ และลมที่เข้ามามากขึ้น ซึ่งโรงไฟฟ้าพลังน้ำสูบกลับนอกจากจะมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำแล้ว ยังสามารถเดินเครื่องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้อย่างรวดเร็วโดยใช้เวลาไม่เกิน 15 นาที สามารถผลิตไฟฟ้าทดแทนพลังงานหมุนเวียน ในเวลาที่แสงแดดไม่มี ลมไม่มา หรือในช่วงที่เกิดกรณีฉุกเฉินไฟฟ้าขาดหายไปจากระบบได้ทันการณ์

โดยเฉพาะ “โซลาร์เซลล์” ซึ่งไม่เฉพาะผลิตขายเข้าระบบ แต่ยังมีการผลิตเองใช้เอง ซื้อขายกันเองอยู่พอสมควร เรียกว่า หายไปจากจอเรดาห์ของระบบ ซึ่งกระทรวงพลังงาน และการไฟฟ้าก็ยังกวาดเก็บสถิติกันไม่ครบถ้วน เพราะอย่างที่ทราบว่า พลังงานหมุนเวียนไม่ได้เสถียร ไม่สามารถ 24/7 ได้ กลุ่มนี้พึ่งระบบไฟฟ้าใหญ่ด้วย ทำให้ยากต่อการพยากรณ์ และป้องกันระบบไฟฟ้าใหญ่ของประเทศ ดังนั้นจึงเป็นสาเหตุว่า ทำไมร่าง PDP ฉบับใหม่ จึงต้องค่อยๆเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้า และพยายามส่งเสริมให้พลังงานหมุนเวียนมีระบบกักเก็บพลังงาน และทิ้งไม่ได้กับการมีโรงไฟฟ้าหลักเพื่อเลี้ยงระบบให้มั่นคง

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ “กฟผ.” กำลังถอดบทเรียนไฟฟ้าดับที่สเปน โปรตุเกส และบางส่วนของฝรั่งเศส ซึ่งข้อมูลในเบื้องต้นจาก สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ระบุว่า สาเหตุที่ไฟฟ้าดับที่สเปนมาจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิฉับพลันจาก 15 องศาเป็น 30 องศาภายในวันเดียว ทำให้สายส่งแปรปรวน สปาร์ค และ ทริป (Trip) หรือเกิดการตัดวงจร ซึ่งระบบที่ไม่เสถียรส่วนหนึ่งมาจากการที่สเปนพยายามพึ่งพาพลังงานหมุนเวียนในสัดส่วนสูง หลังจากเกิดสงครามรัสเซียยูเครน ทำให้ระบบของเขาเปราะบางเป็นทุนเดิม

ดังนั้นจำเป็นที่ไทยต้องมีการถอดบทเรียนเกิดขึ้นอย่างจริงจัง เพื่อที่จะทำให้ระบบไฟฟ้าของเราที่กำลังพึ่งพาพลังงานหมุนเวียนในสัดส่วนสูงขึ้นมีความมั่นคง และการที่เรามีพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็เป็นเหตุผลที่ร่างแผน PDP ฉบับใหม่ไม่ได้เอาเรื่องสำรองไฟฟ้ามาเป็นเกณฑ์วัดความมั่นคง แต่เอาเรื่องอัตราไฟฟ้าตกดับมาเป็นเกณฑ์วัดแทน ที่เรียกว่า LOLE (Loss of Load Expectation) หรือดัชนีโอกาสเกิดไฟฟ้าดับ เป็นเกณฑ์ที่ใช้วัดระดับความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศไม่ให้เกิน 0.7 วัน/ปี

ทั้งนี้แม้ประเทศไทยจะไม่มีเหตุการณ์ Blackout  มานาน ตั้งแต่ปี 2521 ที่มาจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพระนครใต้ขัดข้อง ทำให้ไฟฟ้าดับทั่วประเทศ และปี 2556 ไฟฟ้าดับใน 14 จังหวัดภาคใต้ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่เกิดขี้นในอนาคตได้อีก ดังนั้นการนำโรงไฟฟ้าใดๆ เข้าระบบไม่สามารถ “ทำตามใจฉัน” ได้ จำเป็นต้องคำนึงถึง “ความมั่นคงของระบบไฟฟ้า” เป็นสำคัญ ให้ตระหนักกันชัดๆ ว่า ตอนนี้ภัยพิบัติเกิดได้เสมอในทุกจุดของโลก เหมือนตอนแผ่นดินไหวที่เราประสบกันมาแล้วไม่เคยเห็นก็ได้เห็น ไม่เคยเจอก็เจอ…อย่าประมาท

…………………………………

คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน

โดย : ศรัญญา ทองทับ

สนับสนุนคอลัมน์ โดย บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img