โครงสร้างค่าไฟฟ้า ที่อะไรๆ ก็สามารถอัดเข้าไปใน ต้นทุนค่าไฟฟ้า ได้ทั้งหมด ใครจะมารื้อก็ลำบาก เพราะ “ถูกพันธนาการ” ด้วยหลักการทางวิชาการจาก “ผู้คุมกฎพลังงาน” และ “เอกสารสัญญาที่ทำกับเอกชน” พอรัฐบาลจะตรึงค่าไฟฟ้า ก็มักจะทำกันด้วยวิธีง่ายๆ โดยให้รัฐวิสาหกิจอย่าง “การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย” (กฟผ.) รับไปก่อน จนกลายเป็น “ภาระก้อนใหญ่” แตะสูงสุด 1.5 แสนล้านบาทช่วงปี 2564 แต่ผ่านมา 3 ปีทยอยลดภาระไปครึ่งเหลือ 71,000 ล้านบาท
ในงวดหลังๆ มานี้ ชัดเจนว่า “กฟผ.” ขอบอกว่า “พอก่อน” ให้คนอื่นเป็น “เดอะแบก” บ้าง หรือไม่ก็หาวิธีอื่นมาลดค่าไฟ จนต้องไปควานเอา “เงินสะสม” จากการ “เรียกคืนผลประโยชน์ส่วนเกิน” (Claw Back) ประมาณ 12,200 ล้านบาทมาใช้ลดค่าไฟแทน
ซึ่งตาม “กฎเงินสะสม” นี้จะนำมาใช้ได้ ประเทศต้องอยู่ใช้ในสภาวะวิกฤติจริงๆเท่านั้น ซึ่งเคยใช้ในช่วงโควิดที่เศรษฐกิจชะงักจริง แต่ด้วยแรงกดันทางการเมือง ที่ต้องทำให้ค่าไฟฟ้าลดตามค่าเป้าหมายทั้งปีต้องไม่เกิน 3.99 บาทต่อหน่วย ก็ต้องเอา Claw Back มาใช้ ทีนี้ใช้ไปแล้ว 12,200 ล้านบาท เหลืออีกก้อน 7,800 ล้านบาท คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) บอกว่าก้อนที่เหลือขอสงวนไว้ใช้ช่วงวิกฤติจริงๆๆๆ …
ค่าไฟฟ้าเป้าหมายไม่เกิน 3.99 บาทต่อหน่วย อาจจะไม่ใช่ปีนี้ปีเดียว น่าจะกลายเป็นเป้าหมายตลอดไป เงิน Claw Back ก็เอามาใช้ไม่ได้ละ จะให้ “กฟผ.” แบกก็คงเกินรับได้อีก การหาวิธีการให้ค่าไฟลดลงได้ยาวๆ ก็ต้องมาเล่นที่ “โครงสร้าง” ซึ่ง “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ก็ทำไปเจ็บตัวไปอยู่ แต่ด้วยว่า พรรคใหญ่ก็อยากจะทำผลงานด้วย ก็เชียร์ให้ “พีระพันธุ์” บู๊ไป “แก๊งนายใหญ่” ขอดูห่างๆ เล่นหลายบทบาท

สำหรับการ “รื้อโครงสร้าง” ที่จะทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าสมเหตุสมผลมากขึ้น กระทรวงพลังงาน ได้เสนอให้ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) รับทราบเป็นแนวทางไปเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา ถึงหลักเกณฑ์ใหม่ที่ให้ ภาคไฟฟ้า และ ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ใช้ราคา Pool Gas ซึ่งเป็นราคาเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของราคาและปริมาณของก๊าซฯ
โดยเรียงลำดับจากแหล่งก๊าซฯในประเทศที่มีต้นทุนต่ำที่สุด ตามด้วยก๊าซฯจากเมียนมา และก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) นำเข้า ส่วนก๊าซฯสำหรับภาคอุตสาหกรรมให้ใช้ต้นทุนจากราคา LNG เพียวๆ แต่โครงสร้างนี้ก็ยังไม่ลงตัวเสียทีเดียว ต้องผ่านการเจรจากันอีกหลายยก ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.), สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.), กกพ., บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กับ กลุ่มอุตสาหกรรม และ ผู้ประกอบการค้าก๊าซธรรมชาติ
หลายคนสงสัยว่า เมื่อ Pool Gas มี LNG มาเฉลี่ยในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น และราคาก็แพง ค่าไฟจะลดลงได้ยังไง? ก็ว่าอยู่ เพราะเราเปิดให้มีเอกชนได้ใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper License) ออกโดย “กกพ.” ซึ่ง Shipper เหล่านี้จะนำเข้า LNG และขายให้โรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ หรือ IPP และรายเล็ก หรือ SPP ที่ในเครือของตนเองที่เป็นโรงใหม่ และภาคอุตสาหกรรม แต่ปริมาณและราคาที่ขายให้โรงไฟฟ้าที่เข้าระบบจะเข้ามาถูกเฉลี่ยใน Pool Gas ด้วยจากเดิมนำเข้าหลักโดย “กลุ่ม ปตท.” บางบริษัทก็ทำธุรกิจค้า LNG ด้วยทำโรงไฟฟ้าด้วยเรียกว่า ได้ผลกำไรหลายทาง ซึ่งบางเจ้ามีแผนอนาคตจะจัดหาและนำเข้า LNG ในปริมาณทะลุ 7.8 ล้านตันต่อปีเลยทีเดียวเรียกว่าเขาจะเป็นแกนนำขับเคลื่อน HUB LNG ของไทยในวันข้างหน้า

ส่วน “กลุ่ม ปตท.” ที่เคยเป็นผู้นำเข้า LNG หลัก นำมาใช้ผลิตไฟฟ้าให้กับประเทศตอนนี้ป้อนให้กับสัญญาเดิมที่ทำกันมาก่อน ซึ่งด้วยทำมานานและมีเครดิตจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ ก็จะล็อกได้ LNG สัญญาระยะยาว และราคาถูกช่วยให้ราคาเฉลี่ย Pool Gas ไม่กระโดดสูง
แต่ตอนนี้ “กลุ่ม ปตท.” มี LNG สัญญาระยะยาวอยู่ที่ 5.2 ล้านตัน เพิ่มเป็น 6.2 ล้านตันในปี 2569 น้อยกว่าเอกชนบางเจ้าที่จะนำเข้ามาถึง 7.8 ล้านตันต่อปี และเผลอๆ เขาจะขายให้ “กลุ่ม ปตท.” ด้วย
การให้เอกชนไทยเข้มแข็งโตวันโตคืนก็ดีอยู่แล้ว แต่พอถึงเวลาวิกฤติ อยากให้ค่าไฟฟ้าลดลง ก็หนีไม่พ้นต้องใช้กลไกรัฐ ต้องพึงรัฐวิสาหกิจอย่าง “ปตท.” หรือ “กฟผ.” วันยังค่ำ
ตอนนี้ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ “ปตท.สผ.” ก็กำลังเบ่งก๊าซฯในอ่าวไทยเพิ่ม เพราะมีต้นทุนต่ำสุด ล่าสุดก็ป้อนเพิ่มจากแหล่งอาทิตย์ได้อีก 50 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน รวมเป็น 330 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ลดการพึ่งพาการนำเข้า LNG ไปได้ส่วนหนึ่ง
แล้วปตท.ก็หาแหล่ง LNG ที่จะเป็นสัญญาระยะยาวซัพพลายให้ประเทศได้อย่างมั่นคง งานนี้ต้องทำในนามรัฐบาล ล่าสุด “ปตท.” กับ “กระทรวงพลังงาน” จูงมือกันเดินทางไปเจรจาซื้อ LNG ที่อะแลสกา สหรัฐอเมริกา (Alaska LNG) จากก่อนนี้ที่คุยกันในประเทศไทยกันมาแล้ว
เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา “ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ” ปลัดกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วย ผู้บริหารจาก กลุ่ม ปตท., กฟผ. และ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ “เอ็กโก” ในเครือกฟผ.ก็ได้ไปหารือกับ ผู้ว่าการรัฐอะแลสกา กรรมาธิการด้านรายได้และกรรมาธิการด้านทรัพยากรธรรมชาติรัฐอะแลสกา ประธานบริษัท Alaska Gasline Development Corperartion และ ผู้แทนบริษัท Glenfarne ซึ่งทั้งหมดเกี่ยวข้องกับ การพัฒนาโครงการลงทุนเพื่อผลิตและส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลวจากรัฐอะแลสกา สหรัฐอเมริกา
ถือว่าโครงการนี้วินๆ กันไป เพราะสหรัฐฯก็อยากให้เราซื้ออะไรจากเขาเพิ่ม เพราะเราได้ดุลเขา ขณะที่เราก็อยากได้แหล่ง LNG ตามสัญญาระยะยาว ไม่ต้องไปพึ่ง “ตลาดจร” ที่ราคาผันผวนขึ้นๆ ลงๆ
ตามข้อมูลจากกระทรวงพลังงาน บอกว่า แหล่งอะแลสกาเป็นแหล่งผลิตปิโตรเลียมที่มีศักยภาพในเชิงพาณิชย์และเขาได้รับการสนับสนุนเชิงนโยบายจากรัฐบาลสหรัฐ และก็มีปริมาณก๊าซสำรองที่พิสูจน์แล้วในพื้นที่ North Slope กว่า 40 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต สามารถผลิตและส่งออก LNG ได้กว่า 40 ล้านตันต่อปี สามารถส่งออกไปยังภูมิภาคเอเชียในราคาที่แข่งขันได้ เนื่องจากเป็นแหล่งก๊าซที่มีขนาดใหญ่ ต้นทุนเนื้อก๊าซต่ำ มีการใช้เครื่องจักรในการผลิตและการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ วัดกันแล้วสามารถขนส่ง LNG มายังไทยได้ภายใน 10-15 วัน สั้นกว่าขนส่งจากแหล่งในตะวันออกกลางที่ใช้ระยะเวลา 25-30 วัน ซึ่ง ไทยจะนำเข้าอยู่ที่ประมาณ 3-5 ล้านตันต่อปี โดยมี 3 ภาคส่วนร่วมด้วยช่วยกัน ทั้ง “ปตท.-กฟผ.-เอ็กโก ”

เห็นได้ว่า เมื่อถึงเวลาต้องช่วยพยุงเศรษฐกิจ ลดค่าครองชีพประชาชน หรือรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หนีไม่พ้น “รัฐวิสาหกิจ” จะให้ “ภาคเอกชน” ทำ เขาคงไม่มา เพราะต้องอ้าง “กำไร” มาก่อน ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติสำหรับการทำธุรกิจ แต่ไหงการทำกำไรของรัฐวิสาหกิจ กลายเป็นเรื่อง “ผิดปกติ”
การเปิดให้ “ภาคเอกชน” เข้มแข็ง แข่งขันได้ไม่ผิด แต่ผิดตรง “กลไกนโยบาย” เปิดทางให้ “เอกชน” เข้ามาทำกิจการโครงสร้างพื้นฐาน หนำซ้ำเปิดทุกช่องให้ “เขา” ใหญ่ขึ้น ขณะเดียวกันก็มา “ปิดทางรัฐวิสาหกิจเติบโต” แถมทำให้อ่อนแอด้วย เพราะรัฐวิสาหกิจมีหน้าที่เป็น “เดอะแบก” ร่ำไป …น่ากลัวตรงที่ เราไม่อาจรู้ได้ว่า เส้นทางกิจการพลังงานในอนาคตของไทยนั้น เรากำลังอยู่ใน “เกมของใครกัน?”
…………………………………
คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน
โดย : ศรัญญา ทองทับ
สนับสนุนคอลัมน์ โดย : บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)
