ในการแถลงข่าวผลการดำเนินงานในรอบไตรมาส 1 ของปตท.เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา ทำให้เราเห็นว่าธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จะเป็นอีกธุรกิจที่ปตท.กำลังวางกลยุทธ์ครั้งสำคัญภายใต้สงครามเศรษฐกิจโลก
และหลีกหนีไม่ได้กับการที่เราต้องติดตามการวางกฎการเปิดการค้า LNG ซึ่งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ให้ใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (LNG Shipper License) กับเอกชนรายหลาย ซึ่งขณะนี้ภาคเอกชนบางรายก็กำลังมีบทบาทมากขึ้นๆภายหลังไทยใช้ LNG ผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนมากขึ้น
สำหรับการวางกลยุทธ์ของปตท.สเต็ปนี้มุ่งเน้น การเพิ่มสำรอง LNG ในมือด้วยสัญญาระยะยาวรักษาความได้เปรียบ ซึ่งเป็นภารกิจของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) ที่กำลังหาแหล่งก๊าซธรรมชาติในมือเข้าพอร์ตให้ได้มากที่สุด หากเป็น LNG ที่สามารถล่องเรือนำกลับมาขายในภูมิภาคนี้ได้ด้วยยิ่งดี
อย่างล่าสุด ปตท.สผ. เข้าถือหุ้น 10% ใน แปลงสัมปทาน Ghasha หนึ่งในแหล่งก๊าซธรรมชาติใหญ่ที่สุดของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ตั้งอยู่นอกชายฝั่งทะเลทางตะวันตกของเมืองอาบูดาบี ใน UAE ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณการผลิตก๊าซฯอยู่ที่ประมาณ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันภายในปี 2573 และแน่นอนว่า ต้องเคลมได้ว่าเป็นพลังงานสะอาด จึงมีโครงการการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ประมาณ 1.5 ล้านตันต่อปี (MMtpa) เพื่อให้เป็นโครงการผลิตก๊าซฯ ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
นอกจากโครงการดังกล่าวแล้ว ปตท.สผ. ยังมีการลงทุนในโครงการชาร์จาห์ ออนชอร์ แอเรีย เอ และโครงการชาร์จาห์ ออนชอร์ แอเรีย ซี ใน UAE ด้วย ซึ่งอยู่ในระยะสำรวจ รวมทั้งยังมีโครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติแอดนอค (AGP) ที่อยู่ในระยะผลิตด้วย
การจัดหา LNG ราคาถูกในมือ เพราะ ปตท.ดูจะเป็นแกนกลางในการขับเคลื่อนศูนย์กลางการซื้อขาย LNG ในภูมิภาค โดยใช้จุดแข็งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ปตท.วางเป้าหมายนำเข้า LNG รวมปริมาณ 11 ล้านตันต่อปี ครอบคลุมทั้งสัญญาระยะยาวและสัญญาซื้อขายแบบ Spot LNG Hub

ดูจากท่าทีของ CEO ปตท.ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง แล้วปตท.ต้องมีส่วนขึ้นรูป LNG Hub ให้ได้แน่นอน แต่เขาก็บอกเป็นนัยว่า ยุคนี้ไม่ทำอะไรคนเดียว ก็หมายถึงต้องมีพันธมิตรร่วมทุน นอกจากพันธมิตรแล้ว ดร.คงกระพัน ระบุว่า ปัจจัยความสำเร็จในการเป็น LNG Hub ในภูมิภาคของไทยมีด้วยกัน 3 ปัจจัย คือ ต้องมีปริมาณเพียงพอนั้น หมายถึงต้องไปหา LNG มาเข้าพอร์ตอย่างที่ปตท.กำลังทำอยู่ เพื่อให้เป็นผู้เล่นในตลาดระดับโลกให้ได้
2.ต้องมีความยืดหยุ่นพอสมควรในการอ้างอิงสูตรราคาที่หลากหลาย ซึ่งราคาซื้อขาย LNG จะมีการกำหนดราคาที่แตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค ทั้งจากการใช้งานและกำลังการผลิต เช่น อเมริกาเหนือ ใช้ Henry Hub (HH) ซึ่งสะท้อนราคาเนื้อก๊าซที่ส่งผ่านท่อก๊าซฯ แต่ไม่รวมค่าเปลี่ยนสถานะจากก๊าซเป็นของเหลว และค่าขนส่งต่าง ๆ หรือสูตรราคาของเอเชีย ซึ่งราคามาตรฐานที่ใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิง เช่น Japan/Korea Marker (JKM) ซึ่งเป็นราคาสำหรับการซื้อขายในรูปแบบ Spot LNG ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน และไต้หวัน และ 3.ต้องมีการลงทุนที่เหมาะสม
ดร.คงกระพัน ย้ำว่าเวลาที่ปตท.สผ.ไปลงทุนที่ไหนก็ตาม ก็ต้องนึกถึง LNG ที่จะเอากลับมาใช้งานในภูมิภาคนี้ด้วย อย่างที่บริษัท ปตท. ค้าสากล จำกัด (PTTT) ได้ลงนามสัญญาซื้อขาย LNG ระยะยาวร่วมกับ บริษัท โอมาน แอลเอ็นจี แอลแอลซี (Oman LNG L.L.C.) ซึ่งมีระยะเวลาของสัญญาตั้งแต่ พ.ศ. 2568 – 2572 ที่จะมารองรับการเติบโตของตลาด LNG ในภูมิภาคอาเซียนของไทย
ส่วนการนำเข้า LNG จากแหล่งอะแลสกา ซึ่งมีปริมาณก๊าซสำรองที่พิสูจน์แล้วในพื้นที่ North Slope กว่า 40 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต สามารถผลิตและส่งออก LNG ได้กว่า 40 ล้านตันต่อปี สามารถขนส่งมาไทยภายใน 10-15 วัน สั้นกว่าขนส่งจากแหล่งในตะวันออกกลางที่ใช้ระยะเวลา 25-30 วัน โครงการนี้ ดร.คงกระพัน กลับมองว่ายังเป็นโครงการเพิ่งเริ่มต้น แต่ก็ถือว่าน่าสนใจ เพราะสามารถขนส่ง LNG มายังไทยได้ใกล้ อย่างไรก็ตามโครงการนี้จะเป็นการซื้อเท่านั้น ไม่มีการลงทุนแต่อย่างใด เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือกับสหรัฐลดแรงกดดันการขึ้นภาษีของโดนัลด์ ทรัมป์เป็นการเฉพาะ

นับจากนี้ไปเมื่อ LNG Hub มาแน่ ดร.คงกระพัน ให้มองตลาด LNG เสียใหม่จากอดีตซื้อ LNG มาเพื่อใช้ แต่ต่อไปต้องซื้อมาแล้วต้องขายได้ด้วย สามารถนำเข้ามาและส่งไปขายยังตลาดต่างๆได้อย่างคล่องตัว ซึ่งเขาย้ำว่าก็ถือว่าไทยมีที่ตั้งในภูมิภาคที่ดี สามารถเป็นศูนย์กลางซื้อขายได้ แต่เรื่องการค้าขาย LNG ในภูมิภาคเป็นเชิงธุรกิจจะไม่ได้เกี่ยวกับ LNG ที่จะมาใช้ผลิตไฟฟ้าต้องแยกให้ชัด
เมื่อ LNG Hub ต้องมา ดังนั้นสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Terminal) แห่งที่ 3 คงเบรกไม่อยู่มาแน่นอนเช่นกัน ซึ่งมีแผนจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างกลางปี 2568 โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ซึ่งทางการนิคมแห่งประเทศไทย (กนอ.) สนับสนุนเต็มที่ ผู้บริหารกนอ.ได้เคยกล่าวไว้ว่า เป้าหมายหลักของการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การขยายพื้นที่ของท่าเรือฯ แต่เป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนนโยบายพลังงานในภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในกลุ่มประเทศ CLMV รวมทั้งมีคลังและโครงสร้างพื้นฐานพร้อมรองรับ LNG มีความได้เปรียบด้านความต้องการใช้ LNG ในประเทศที่มีปริมาณสูง ซึ่งหลังจากดำเนินการพัฒนาแล้วเสร็จ จะสามารถรองรับสินค้าผ่านท่า ทั้งสินค้าด้านปิโตรเคมีและก๊าซธรรมชาติ) ได้เพิ่มอีกมากกว่า 15 ล้านตันต่อปี นั่นหมายถึง LNG Hub ถูกวางโครงสร้างมาหลายปีแล้ว
ที่บอกว่า LNG Terminal แห่งที่ 3 ต้องมาแน่นอนในปีนี้ เพราะลงนามในสัญญาร่วมทุนระหว่าง ภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership) กับ กนอ.เป็นที่เรียบร้อยเป็นระยะเวลา 35 ปี เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ที่แบ่งงานออกเป็น 2 ระยะ ระยะที่ 1: งานออกแบบและก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ได้แก่ งานขุดลอกและถมทะเลในพื้นที่ ประมาณ 1,000 ไร่ การก่อสร้างแนวกันคลื่น การก่อสร้างท่าเรือบริการ การก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค และงานอื่น ๆ ที่ เกี่ยวข้อง
ระยะที่ 2: งานออกแบบ ก่อสร้าง และประกอบกิจการท่าเทียบเรือก๊าซและสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (Superstructure) บนพื้นที่ถมทะเล ประมาณ 200 ไร่ เพื่อรองรับปริมาณการขนถ่าย LNG ไม่ต่ำกว่า 5 ล้านตันต่อปี (สำหรับท่าเรือก๊าซส่วนแรก) และส่วนขยายไปจนถึง 10.8 ล้านตันต่อปี
ซึ่งดูผู้ถือหุ้นแล้ว แกร่งเกินต้านทาน ดำเนินการโดยบริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินัล จำกัด (GMTP) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมที่ GULF ถือหุ้น ร่วมกับบริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ในสัดส่วน 70% และ 30 % ตามลำดับ นี่แหละที่บอกว่าได้เห็นหน้าค่าตา “พันธมิตร” ในการปั้น LNG Hub ภูมิภาคของไทยกันเห็นๆแล้ว
ในส่วนของปตท.นั้น นอกจากแสวงหา LNG เพื่อสนองการค้าขายตามโครงการ LNG Hub การเพิ่มแหล่งก๊าซฯเพื่อผลิตไฟฟ้าก็ต้องทำคู่กันไปด้วย ตอนนี้ ปตท.สผ.ก็กำลังเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซฯในแหล่งอาทิตย์ เป็น 330 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในโครงการสินภูฮ่อม

อย่างไรก็ตามมีสิ่งที่บ้านเรายังต้องถกใหญ่และลงตัวก่อนจะพัฒนาไปถึง LNG Hub ก็คือสูตรราคาก๊าซธรรมชาติในส่วนที่ใช้เพื่อผลิตไฟฟ้า ที่รัฐบาลต้องการปรับโครงสร้าง เพื่อทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าลดลงในระยะยาว ซึ่งคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีแนวทางปรับจาก Energy Pool Price (EPP) เป็น Single Pool Price (SPP) ซึ่งเรียกง่ายๆว่าจะนำอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมาหารเฉลี่ยในราคาด้วย จากเดิมวัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีจะถูกแยกส่วนคิดราคาออกไป เพราะส่วนประกอบในก๊าซธรรมชาติที่ใช้ผลิตไฟฟ้าและอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเป็นคนละตัวกัน อีกอย่างอุตสาหกรรมนี้เป็นต้นทางของอุตสาหกรรมพื้นฐาน เช่น เม็ดพลาสติก ซึ่งดร.คงกระพัน ย้ำในเรื่องนี้ว่าต้องผ่านการศึกษาโดยสถาบันการศึกษาต่างๆก่อน เพราะแน่นอนว่า Single Pool Price ทำให้ต้นทุนอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเพิ่มขึ้นอย่างมาก
ทะลุมาถึง LNG Hub การขึ้นรูปนั้น มีอีกหลายเรื่องที่ต้องสร้างมาตรฐาน และกฎขึ้นมาใหม่ เพื่อให้การค้า LNG เกิดประโยชน์กับประเทศจริงๆ แยกส่วนจากการผลิตไฟฟ้า เพื่อไม่ให้การค้าเสรีที่มีเอกชนจ๋าๆเข้ามาเล่นในตลาดด้วยไปกระทบกับค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องแบกรับ
…………………………………
คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน
โดย : ศรัญญา ทองทับ
สนับสนุนคอลัมน์ โดย : บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)
