วันอังคาร, กันยายน 17, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSพลังงานลม : ข้อดี ความท้าทาย ในมุมมองไทย
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

พลังงานลม : ข้อดี ความท้าทาย ในมุมมองไทย

Advantages & Challenges of Wind Power

Wind Turbine หรือกังหันลม เป็นอุปกรณ์แปลงพลังงานจลน์ของลมไปเป็นพลังงานไฟฟ้า มันเป็นอีกหนึ่งในพลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน และพลังงานหมุนเวียนที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ..

กังหันลม ผลิตขึ้นในหลายขนาดโดยมีทั้งแกนแนวนอน และแกนแนวตั้ง .. กังหันลมขนาดใหญ่หลายแสนตัวในการติดตั้งที่เรียกว่า ฟาร์มกังหันลม Wind Power Farm ได้สร้างพลังงานได้มากกว่า 740 GW ทั่วโลก โดยเพิ่มขึ้นมากกว่า 60 GW ในแต่ละปีต่อเนื่อง .. มันเป็นแหล่งพลังงานทางเลือก พลังงานหมุนเวียนที่สำคัญมาก และมีการใช้งานอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก เพื่อลดต้นทุนทางพลังงาน และลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล ..

การศึกษาชิ้นหนึ่งในปี 2009 อ้างว่า พลังงานลม ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสัมพัทธ์ต่ำที่สุด ความต้องการการใช้น้ำน้อยที่สุด และมีผลกระทบเชิงบวกทางสังคมดีที่สุด เมื่อเทียบกับแหล่งพลังงานทางเลือกจากเซลล์แสงอาทิตย์ พลังน้ำ ความร้อนใต้พิภพ ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ ..

Offshore Wind Turbine | Photo By IEA

กังหันลมขนาดเล็ก ใช้สำหรับระบบงานแบบแยกย่อย เช่น การชาร์จแบตเตอรี่สำหรับพลังงานเสริมให้กับ เรือ รถบ้าน รถพ่วง Caravan อุปกรณ์ไฟฟ้าในครัวเรือน และเพื่อส่งสัญญาณเตือนการจราจร เป็นต้น .. กังหันลมที่มีขนาดใหญ่ขึ้น สามารถนำไปใช้เป็นแหล่งจ่ายกำลังไฟฟ้าในประเทศได้ ในขณะที่เจ้าของกังหันลมผลิตไฟฟ้า สามารถขายกำลังไฟฟ้าส่วนเกินที่ไม่ได้ใช้กลับไปยังซัพพลายเออร์ยูทิลิตี้ Supplier Utility ผ่านทางกริดไฟฟ้า หรือโครงข่ายระบบสายส่ง ได้อีกด้วย ..

กำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมเพิ่มขึ้นในปี 2020 แม้จะมี Covid-19 ..

กำลังการผลิตไฟฟ้าของพลังงานลมสุทธิเพิ่มขึ้นสูงถึง 93 GW ในปี 2563 มากกว่ากำลังผลิตที่เพิ่มขึ้นในปี 2562 ประมาณกว่า 10% และคิดเป็นกำลังผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานลม อยู่ที่ 743 GW ทั่วโลก สามารถลดการปล่อย CO2 สู่บรรยากาศได้มากกว่า 1.1 พันล้านตันต่อปี ..

มาตรการป้องกันการระบาด Covid-19 ทำให้กิจกรรมการก่อสร้างกังหันลมบนบกชะลอตัวลงตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน เนื่องจากการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน และความท้าทายด้าน Logistics ในหลายประเทศ .. แต่ภาคพลังงานลมนอกชายฝั่ง ได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อยจากวิกฤต Covid-19 เนื่องจากระยะเวลาในการดำเนินโครงการที่ยาวนาน ..

สำหรับปี พ.ศ. 2564 คาดการณ์ว่า จะมีการเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมขึ้นอีก 68 GW บนบก และ 7.3 GW จากแหล่งพลังงานลมนอกชายฝั่ง .. ทั้งนี้ แรงหนุนจากโครงการบนบกที่ล่าช้าในปีที่ผ่านมา ซึ่งเริ่มดำเนินการได้ต่อเนื่องต่อไป เนื่องจากประเทศสำคัญ ๆ ในยุโรป และสหรัฐฯ ได้ผ่านข้อบังคับที่ให้ความยืดหยุ่นสำหรับกำหนดระยะเวลาการว่าจ้างในโครงการเหล่านี้ ..

แม้ว่า การหดตัวของแรงจูงใจในตลาดหลัก ๆ ในสาธารณรัฐประชาชนจีน และสหรัฐฯ ในปีที่ผ่านมา .. แต่ผลกระทบหลักส่วนหนึ่งจากการขยายตัวที่เร็วขึ้นในยุโรป ส่วนแบ่งของกำลังผลิตไฟฟ้าพลังลมนอกชายฝั่งในแผนเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมภาพรวมทั้งหมดในปี 2565 ยังคงสูงกว่าปี 2562 ถึงเกือบ 15% ซึ่งเป็นผลจากการเร่งขยายตัวของตลาดยุโรปที่สำคัญ รวมทั้งกำลังผลิตขนาดใหญ่ที่เริ่มดำเนินการในตลาดเกิดใหม่ เช่น ฝรั่งเศส เกาหลี และเวียดนาม ในขณะที่ตลาดจีนชะลอตัวลง .. อย่างไรก็ตาม คาดว่า สหรัฐฯ จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในตลาดพลังงานลมนอกชายฝั่งที่ใหญ่ที่สุดอีกครั้ง หลังปี 2565 ..

การเพิ่มพลังงานลมทั่วโลกตามแผนงานประจำปี ในปี 2566-2568 อาจอยู่ในช่วง 65 GW ในกรณีแผนงานหลัก และ 100 GW ในกรณีแผนงานเร่งด่วน .. การสนับสนุนด้านนโยบายจากภาครัฐ การลงทุนในระบบกริดที่ชาญฉลาดมากขึ้น และระบบจัดเก็บพลังงานที่กระจายอย่างแพร่หลาย รวมทั้งพัฒนาการของกังหันลมแกนแนวตั้งที่มีศักยภาพมากขึ้นในอนาคต จะส่งผลให้ส่วนแบ่งของแหล่งพลังงานลมนอกชายฝั่ง ขยายตัวด้วยความเร่งทั่วโลก คาดหมายได้ว่า กำลังการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานลมทั่วโลก จะเพิ่มขึ้นอีกในปี 2568 ถึง 20% เนื่องจากการใช้งานมันในตลาดใหม่ได้รับยอมรับอย่างมากในหลายประเทศ ..

Wind Power Farm | Photo Credit: Alta Wind Energy Centre

ตลาดพลังงานลมบนบก ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ายังมีความยืดหยุ่นมากกว่าที่คาดไว้ ..

การเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานลมบนบก สูงกว่า 70 GW ในปี 2563 ซึ่งมากกว่าปี 2562 ถึง 11 % ผู้พัฒนาพลังงานลมบนบก และผู้ผลิตอุปกรณ์ ได้ปรับใช้มาตรการต่าง ๆ ในช่วงการระบาดของ Covid-19 และเร่งรัดการก่อสร้างในเดือนพฤษภาคม หลังจากการชะลอตัวในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ด้วยเหตุนี้ การคาดการณ์จึงได้รับการแก้ไขเพิ่มขึ้น 26 % จากการปรับปรุงข้อมูลเมื่อเดือนพฤษภาคม ..

ประเทศจีน มีความรับผิดชอบมากที่สุดในการแก้ไข โดยคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของการเติบโตของกำลังการผลิตลมบนบกทั่วโลกในปีที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2558 เนื่องจากนักพัฒนากำลังเร่งดำเนินการโครงการให้แล้วเสร็จก่อนที่จะยุติการให้เงินอุดหนุน .. สหรัฐฯ ยังเพิ่มขึ้นกว่า 30% ในปีที่ผ่านมาเช่นกัน ..

การเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานลมบนบก คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกในปี 2564 .. เนื่องจากการเริ่มดำเนินการโครงการที่ล่าช้าในยุโรป ส่วนใหญ่ในฝรั่งเศส เยอรมนี สวีเดน และเนเธอร์แลนด์ และการเติบโตในอินเดีย และ ละตินอเมริกา ไม่ได้รวดเร็วตามคาดนัก ..

ส่งผลให้ ในปี 2565 อัตราการเพิ่มขึ้นจะมีแนวโน้มลดลง การติดตั้งใช้งานทั่วโลกชะลอตัว สาเหตุหลักมาจากอัตราการเพิ่มที่ลดลงในจีน และสหรัฐฯ ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงแผนงานในนโยบายการสนับสนุน ซึ่งจะชดเชยเพียงบางส่วนจากการขยายตัวในยุโรปที่เพิ่มขึ้น การประมูลที่ล่าช้าในบราซิล ชิลี และอาร์เจนตินาในปีนี้ เนื่องจากอุปสงค์ที่ต่ำกว่าที่คาด และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจมหภาค ยังส่งผลกระทบในทางลบต่ออัตราการเพิ่มขึ้นในปี 2565 ด้วย ..

การติดตั้งกังหันลมนอกชายฝั่ง ส่วนใหญ่ยังคงไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต Covid – 19..

การเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานลมนอกชายฝั่ง อยู่ที่ 5.3 GW ในปี 2563 ซึ่งน้อยกว่าการเติบโตในปี 2562 ประมาณ 13% การคาดการณ์ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงจากการปรับปรุงข้อมูลในเดือนพฤษภาคม เนื่องจากอุตสาหกรรมพลังงานลมนอกชายฝั่งได้รับการปกป้อง และไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต Covid-19 เป็นส่วนใหญ่ รวมทั้งปีที่ผ่านมา นับเป็นครั้งแรกที่จีนครองส่วนแบ่งกว่าครึ่งหนึ่งของลมนอกชายฝั่งทั่วโลก ในขณะที่ ส่วนใหญ่ที่เหลือเป็นของประเทศในยุโรป ..

การเพิ่มขึ้นคาดว่าจะแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 7.3 GW ในปี 2564 นำโดยจีน .. โครงการกังหันลมนอกชายฝั่งขนาดใหญ่โครงการแรกในไต้หวัน จะเริ่มดำเนินการ ในปี พ.ศ.2565 .. แม้ว่าจีนแผ่นดินใหญ่จะชะลอตัว แต่กำลังการผลิตนอกชายฝั่งทั่วโลก ก็คาดว่าจะยังคงเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากการใช้งานแหล่งพลังงานลมนอกชายฝั่งเพิ่มมากขึ้นในสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และในตลาดอื่น ๆ ในเอเชีย ด้วยโครงการมากมายที่ได้รับการสนับสนุนจากการประมูล .. สหรัฐฯ คาดว่าจะเป็นหนึ่งในตลาดนอกชายฝั่งที่ใหญ่ที่สุดในปี 2567 ..

พลังงานลม ในกลุ่มประเทศอาเซียน Wind Power in ASEAN ..

เวียดนาม เป็นผู้นำการเพิ่มการใช้แหล่งพลังงานลมของอาเซียน แต่ความไม่แน่นอนของนโยบาย และการเติบโตของค่าตอบแทนขั้นต่ำ รวมทั้งงบประมาณในการลงทุนที่แพงมหาศาล ขัดขวางการเติบโตของการพัฒนาแหล่งพลังงานลมในภูมิภาคอาเซียนโดยรวม ..

กลุ่มประเทศในอาเซียน ติดตั้งกำลังการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานลม อยู่ที่เพียง 0.3 GW ในปี 2563 ซึ่งน้อยกว่าในปี 2562 อยู่ประมาณถึง 57% .. ปัญหาห่วงโซ่อุปทาน และการก่อสร้างล่าช้าเนื่องจากวิกฤตโควิด-19 และการยุติโครงการ FiT ในประเทศไทยในปี 2561 เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้การขยายตัวของการพัฒนาแหล่งพลังงานทางเลือกที่เป็นพลังงานลมลดลง .. เวียดนาม คาดว่า จะเป็นผู้นำในการเติบโตของกำลังการผลิตจากปี 2563-2565 รวม 1.7 GW สำหรับการติดตั้งกังหันลมบนบก และนอกชายฝั่ง โดยมีกำหนดจะขยายแผนงานเหล่านี้ไปอีก จนถึงปี 2566 ..

อัตราการเพิ่มกำลังผลิต คาดว่าจะลดลงหลังจากปี 2566 เนื่องจากการเปลี่ยนนโยบายตามแผนจาก FiT เป็นการประมูลในเวียดนาม .. ในประเทศไทย และอินโดนีเซีย การพัฒนาแหล่งพลังงานลมยังคงหยุดชะงัก พื้นที่ลมแรงที่เหมาะสมทั้งบนบก และในทะเล มีไม่มากนัก และเนื่องจากพื้นที่ที่เหมาะสมมีจำกัด และขาดนโยบายภาครัฐสนับสนุน ในขณะที่ภาครัฐ ให้ความสำคัญต่อการสนับสนุนการพัฒนาแหล่งพลังงานทางเลือกที่เป็นพลังงานแสงอาทิตย์ พลังน้ำ และพลังงานชีวมวลจากภาคการเกษตร และขยะเหลือทิ้ง ที่เหมาะสมกว่าด้วยแนวโน้มขยายตัวอย่างยอดเยี่ยมด้วยความเร่ง ..

ในฟิลิปปินส์ การเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม คาดว่า จะเพิ่มขึ้นจากปี 2565 เนื่องจากโครงการ RPS ที่เปิดตัวในปีนี้ อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ได้ว่า การดำเนินการตามโครงการของฟิลิปปินส์ ยังคงไม่มีความแน่นอนทั้งในส่วนของแผนงาน และงบประมาณ ..

แม้ว่าศักยภาพพลังงานลมนอกชายฝั่งของอาเซียนจะมีอยู่พอสมควร แต่ต้นทุนที่ค่อนข้างสูง ยังคงขัดขวางไม่ให้รัฐบาลของกลุ่มประเทศในภูมิภาคสนับสนุนเทคโนโลยีนี้ การเพิ่มกำลังการผลิตของอาเซียนในช่วงปี 2566-2568 จาก 1.1 GW ตามแผนงานหลักประจำปี เป็น 3.2 GW ด้วยแผนงานกรณีเร่งด่วนด้วย โดยเกือบครึ่งหนึ่งของการเติบโตเกิดขึ้นในเวียดนาม ..

การการสนับสนุนนโยบายของภาครัฐ และการอุดหนุนเพื่อให้ค่าตอบแทนที่มั่นคงในระยะยาวสำหรับธุรกิจพลังงาน และการก่อสร้าง รวมทั้งมาตรการลดความเสี่ยงที่อาจจำต้องเพิ่มการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญในภูมิภาคนี้ในกรณีแผนงานเร่งด่วน โดยภาพรวมกำลังผลิตกำลังไฟฟ้าในกลุ่มประเทศอาเซียน จากแหล่งพลังงานลมทั้งหมดเป็น 16 GW ภายในปี 2568 และส่วนใหญ่เป็นการใช้แผนงานเร่งด่วนเพื่อเพิ่มกำลังผลิตมากกว่าแผนงานปกติประจำปีปกติถึง 6 เท่า ซึ่งมันชี้ให้เห็นถึงความไม่แน่นอนในแผนงาน โครงการ และงบประมาณภาครัฐของประเทศในภูมิภาคนี้ ..

พลังงานลม กับความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าสำหรับประเทศไทย ..

ในปี 2562 ปีเดียว ประเทศไทย มีการติดตั้งสถานีไฟฟ้าพลังงานลมบนบกเพิ่มขึ้น 1.5 GW .. ปัจจุบัน ศักยภาพทางเทคนิค และแนวโน้มกำลังผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลมบนบกของไทย อยู่ที่ 13-17 GW โดยคิดเป็นอันดับที่ 46 ของโลก .. อุตสาหกรรมพลังงานลมของภาคเอกชนไทย สามารถส่งมอบโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลม และขายกำลังไฟฟ้าให้ กฟผ.เข้าสู่โครงข่ายระบบสายส่ง หรือ กริดไฟฟ้าได้ ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า 3 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง ..

ภาพรวมพลังงานลมในประเทศไทยนั้น จากการศึกษาแผนที่ศักยภาพพลังงานลมในประเทศ ซึ่งจัดทำโดยกรมพัฒนา และส่งเสริมพลังงาน พบว่า ประเทศไทยมีศักยภาพด้านพลังงานลมอยู่บ้าง แต่ค่อนข้างน้อย แม้ว่าพลังงานลมเป็นพลังงานค่อนข้างสะอาด แต่พลังงานไฟฟ้าจากกังหันลม เป็นพลังงานไฟฟ้าที่ยังคงพึ่งไม่ได้ ยกเว้นในพื้นที่ที่มีลมพัดอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี และเนื่องจาก ลมมิได้พัดมาแรงเสมอไป ความเร็วของกังหันลม จำเป็นต้องมีการควบคุมตลอดเวลา และถือเป็นแหล่งพลังงานทางเลือกผันแปร จึงต้องติดตั้งระบบจัดเก็บพลังงาน เช่น สถานีไฟฟ้าแบตเตอรี่ Battery Energy Storage System or Station: BESS ไว้พร้อมด้วย หมายถึง ในหลายๆ กรณีจำเป็นต้องมีกำลังไฟฟ้าสำรองเตรียมไว้พร้อมด้วยในกรณีที่ไม่มีกำลังลม หรือลมพัดอ่อนเกินไป ..

สำหรับประเทศไทยแล้ว การพัฒนาเทคโนโลยีกังหันลม ให้มีคุณภาพ และความสามารถมากกว่ากังหันลมที่ใช้งานอยู่ทั่วไปในปัจจุบันนี้ กลายเป็นความจำเป็นสำคัญ .. สำหรับตัวกังหันลมนั้น มันต้องรองรับความเร็วลมเฉลี่ยที่ต่ำกว่า 5 เมตรต่อวินาทีให้ได้ มิฉะนั้น แผนงานภาครัฐในการเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมของไทย อาจเป็นไปไม่ได้ ..

ด้วยเทคโนโลยีกังหันลมปัจจุบัน การใช้แหล่งพลังงานลมในประเทศไทยนั้น สถานที่ติดตั้งกังหันลม ควรพิจารณาจากพื้นที่ที่มีกำลังลมเฉลี่ยทั้งปีไม่น้อยกว่าระดับ 3 หรือ Class 3 คือ 6.4-7.0 เมตร/วินาที หรือ 300-400 กิโลวัตต์/ตารางเมตร ที่ความสูง 50 เมตร เพื่อสามารถผลิตกำลังไฟฟ้าได้อย่างคุ้มค่าการลงทุน .. การสำรวจแหล่งที่มีความเร็วลมดังกล่าว จะอยู่ที่ภาคใต้บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก เริ่มตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลา และปัตตานี และที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นผลมาจากอิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ถึงปลายเดือนมีนาคม เป็นต้น ..

อย่างไรก็ตาม การติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้าจะต้องพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ประกอบด้วย นอกเหนือจากความเร็วของลม เช่น ลักษณะภูมิประเทศ ควรเป็นที่ราบโล่งไม่มีสิ่งกีดขวาง และมีความเร็วลมโดยสม่ำเสมอ เป็นต้น .. เมื่อคำนึงถึงความไม่สม่ำเสมอของไฟฟ้าจากพลังงานลมแล้ว การลงทุนในกังหันลมเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในประเทศไทยในขณะนี้ จึงไม่มีความคุ้มทุนทางการเงิน และมันยังต้องการระบบจัดเก็บพลังงานที่เป็นชุดของสถานีไฟฟ้าแบตเตอรี่บนระบบสายส่ง รวมทั้ง การใช้งานร่วมกับแหล่งพลังงานทางเลือกอื่น ๆ แบบผสมผสานไปพร้อมด้วย ..

ดังนั้น การลงทุนจึงจะเกิดขึ้นได้เฉพาะกรณีที่ภาครัฐให้การสนับสนุนเป็นพิเศษด้วยเหตุผลด้านความต้องการพลังงาน สิ่งแวดล้อม หรืออื่น ๆ เท่านั้น ต่างกับการพัฒนาแหล่งพลังงานแสงอาทิตย์ Solar Power ที่มีความพร้อมที่จะดำเนินการแยกเดี่ยว Stand Alone และมีความเป็นไปได้ในโอกาสทางธุรกิจมากกว่า .. นี่ยังมิได้กล่าวถึงข้อจำกัดต่าง ๆ ของการเชื่อมต่อกับโครงข่ายระบบสายส่งด้วยซ้ำไป ..

สำหรับภาครัฐ โดยสำนักงานนโยบาย และแผนพลังงาน รวมทั้ง กฟผ.ได้เผยแพร่ข้อมูลเรื่องพลังงานลมให้ประชาชนรับทราบ และนับตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา กฟผ.ได้ออกประกาศเชิญชวนให้เอกชนยื่นข้อเสนอในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม และขายไฟฟ้านำเข้าระบบให้แก่ กฟผ.ในรูปของการผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อย หรือ SPP โดยมีเงินสนับสนุนให้ ..

ปัจจุบัน Wind Farm ขนาดใหญ่ ตัวอย่างเช่น โรงไฟฟ้าซับพลูวินด์ฟาร์ม 1 และ 2 รวมทั้งโรงไฟฟ้าวายุวินด์ฟาร์ม โรงไฟฟ้าสราญลมวินด์ฟาร์ม และโรงไฟฟ้ามิตรภาพวินด์ฟาร์ม ของ บริษัท พัฒนาพลังงานลม จำกัด ตั้งอยู่ที่ ต.ห้วยบง อ.ด่านขุนทด กับ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ขนาดกำลังผลิต 8 MW, 2 MW, 50 MW, 60 MW และ 50 MW ตามลำดับ รวมทั้งสิ้น 170 MW เมกะวัตต์  .. นอกจากนั้น ปัจจุบัน ยังมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม ของ บริษัทพลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) อีกจำนวน 8 โครงการ ในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ นครศรีธรรมราช และจังหวัดสงขลา ขนาดกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 386 MW เมกะวัตต์ ..

ทั้งนี้ ยังมีตัวอย่าง Wind Farm ของภาคเอกชนบนบกอีกหลายแห่งในประเทศที่ผลิตกำลังไฟฟ้าส่งเข้าระบบสายส่งของ กฟผ. เช่น Theppana Wind Farm ขนาดกำลังผลิต 6.9 MW, First Korat Wind ขนาดกำลังผลิต 103 MW, Chang Hua Man กำลังผลิต 50 KW , Samut Green Energy กำลังผลิต 1 MW, DEDE: Wind Energy for Generation ขนาดกำลังผลิต 15 MW เป็นต้น ..

อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ.2526 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้เลือกบริเวณแหลมพรหมเทพ จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นจุดที่มีข้อมูลบ่งชี้ว่า มีความเร็วลมเฉลี่ยตลอดปี ประมาณ 5 เมตรต่อวินาที เป็นที่ตั้งของสถานีทดลองการผลิตไฟฟ้าจากกังหันลม ใช้ชื่อว่า สถานีพลังงานทดแทนพรหมเทพ โดยตั้งอยู่ทางทิศเหนือของแหลมพรหมเทพ ประมาณ 1 กิโลเมตร ..

โดยทั่วไป กังหันลมสามารถแบ่งออกตาม ลักษณะการจัดวางแกนของใบพัดได้ 2 รูปแบบ คือ

  • กังหันลมแนวแกนตั้ง Vertical Axis Turbine : VAWT เป็นกังหันลมที่มีแกนหมุน และใบพัดตั้งฉากกับการเคลื่อนที่ของลมในแนวราบ
  • กังหันลมแนวแกนนอน Horizontal Axis Turbine : HAWT เป็นกังหันลมที่มีแกนหมุนขนานกับการเคลื่อนที่ของลมในแนวราบ โดยมีใบพัดเป็นตัวตั้งฉากรับแรงลม

สำหรับสภาพแวดล้อมในประเทศไทย การส่งเสริมติดตั้งกังหันผลิตไฟฟ้าในประเทศช่วงที่ผ่านมา ยังมีอุปสรรค เพราะพื้นที่ที่พอจะมีศักยภาพสำหรับพลังงานลมในประเทศไทย ส่วนใหญ่ 86% อยู่ในภาคอีสาน และมักติดปัญหาในเรื่องที่ดิน เนื่องจากพื้นที่ที่ใช้ติดตั้งกังหันลมส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่สูงอยู่บนภูเขา ซึ่งอาจเป็นที่ดินในเขตสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร หรืออยู่ในพื้นที่ป่าต้นน้ำ พื้นที่มรดกโลก และอุทยานแห่งชาติ ..

การติดตั้งกังหันลมขนาดใหญ่ จะต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA ที่ชาวบ้าน และประชาชนในพื้นที่จะต้องให้ความยินยอมก่อน เพราะอาจมีปัญหาด้านมลพิษทางเสียงจากการหมุนของใบพัดกังหันลม ..

อย่างไรก็ตาม หากจะผลักดันการเติบโตของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมในประเทศไทยนั้น … เพื่อให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้มากขึ้น การผลิตอุปกรณ์กังหันลมคุณภาพที่ดีกว่าปัจจุบันในประเทศซึ่งรองรับการผลิตกำลังไฟฟ้าจากกระแสลมความเร็วต่ำกว่า 5 เมตรต่อวินาทีได้ทั้งแนวตั้งและแนวนอน การพัฒนาระบบจัดเก็บพลังงานด้วยชุดแบตเตอรี่ขนาดใหญ่บนระบบสายส่ง และการปลดล็อคการผูกขาดโครงข่ายระบบสายส่งของภาครัฐ เพื่อให้เอกชนที่มีศักยภาพ เข้ามาร่วมแบกภาระต้นทุนในการประยุกต์ใช้เครือข่าย Smart Grid สำหรับแหล่งพลังงานทางเลือก และการวางเครือข่ายโรงไฟฟ้าเสมือน VPP กระจายสู่ท้องถิ่น และชุมชน กลายเป็นความจำเป็นที่ขาดไม่ได้ ..

จนถึงปัจจุบัน ประเทศไทย มีเพียงกังหันลมบนบก Wind Farm สำหรับการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานลม ในสัดส่วนที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับแหล่งพลังงานทางเลือก พลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ ที่ผลิตกำลังไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังน้ำ และพลังงานชีวมวล ..

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทย ยังคงถือว่ามีศักยภาพที่จะติดตั้งกังหันลมผลิตกำลังไฟฟ้าเพิ่มเติมได้ หากมีการพัฒนาของเทคโนโลยีกังหันลมรูปแบบใหม่ ๆ ที่ดีขึ้นในอนาคต ซึ่งมันต้องสามารถใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ แม้ยามกระแสลมอ่อน ..

ทั้งนี้ กฟผ.ยังได้ดำเนินโครงการกังหันลมผลิตไฟฟ้าลำตะคอง โดยแรกเริ่มติดตั้งกังหันลม จำนวน 2 เครื่องก่อน เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2551 และติดตั้งแล้วเสร็จพร้อมจ่ายกำลังไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2552 .. ทั้งนี้ใช้งบประมาณไปทั้งสิ้น 145 ล้านบาท ถือว่าเป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้า โดยใช้กังหันลมที่มีกำลังผลิตต่อต้นสูงสุดในประเทศ สามารถทดแทนการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงได้ประมาณ 0.82 ล้านลิตรต่อปี และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นสาเหตุของการเกิดภาวะโลกร้อนได้ประมาณ 2,011 ตันต่อปี ..

Wind Turbine at Laem Phromthep, Phuket from a pilot project by EGAT | Photo Credit: EGAT

การเพิ่มกำลังผลิตในเวลาต่อมา โครงการกังหันลม Wind Hydrogen Hybrid ลำตะคอง ด้วยขนาดกำลังผลิต และลักษณะทางเทคนิคนั้น ได้กลายเป็นตัวอย่างความสำเร็จในการใช้งานกังหันลมขนาดใหญ่ ร่วมกับระบบสูบกลับ และระบบจัดเก็บพลังงานไฮโดรเจนกับเซลล์เชื้อเพลิง ในการผลิตกำลังไฟฟ้าสำหรับความเร็วลมต่ำ ขนาดกำลังผลิตสุทธิ 24 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยกังหันลมผลิตไฟฟ้า จำนวน 12 ชุด ชุดละ 2 เมกะวัตต์ ขนาดความสูงของเสา 94 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางใบพัด 116 เมตร พร้อมนำระบบพัฒนาเสถียรภาพในการผลิตไฟฟ้าจากกังหันลม Wind Hydrogen Hybrid ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการกักเก็บพลังงานไฟฟ้าจากกังหันลมในรูปของก๊าซไฮโดรเจน และแปลงกลับมาเป็นพลังงานไฟฟ้าเมื่อต้องการใช้ ด้วยระบบเซลล์เชื้อเพลิง Fuel Cell ขนาด 300 KW ซึ่งระบบดังกล่าวสามารถใช้ทำ Balancing คือการเก็บไฟฟ้าที่ผลิตได้จากกังหันลม ซึ่งมีความไม่แน่นอนแล้วนำมาจ่ายกำลังไฟฟ้าที่เสถียรให้กับอาคารศูนย์เรียนรู้ด้านพลังงาน ซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกัน เพื่อสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนในเชิงประจักษ์ ..

กระทรวงพลังงาน เห็นความสำเร็จดังกล่าวจึงเปิดให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมติดตั้งกังหันผลิตไฟฟ้า มีการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานลมมากขึ้น ..

ปัจจุบันผู้ประกอบการไทยขนาดใหญ่หลายราย ที่มีประสบการณ์ทั้งด้านการผลิต การบริหารจัดการ และความพร้อมของเงินลงทุน ได้ออกไปลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานลมในต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ทั้งในอาเซียน เอเชีย จีน ญี่ปุ่น และยุโรป มีกำลังการผลิตหลายพันเมกะวัตต์ จึงทำให้ไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นำในการผลิตกำลังไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานลมในภูมิภาคนี้ ..

ทั้งนี้ ในปี 2564 กฟผ.มีแผนจะเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานลม จำนวน 270 MW หรือเฉลี่ยปีละ 90 MW กำหนดจ่ายกำลังไฟฟ้าเข้าโครงข่ายระบบสายส่งปี 2565-2567 .. ซึ่งในข้อเท็จจริงแล้ว มันยังน้อยเกินไป และอาจถือเป็นข้อจำกัดเกี่ยวกับศักยภาพของโครงข่ายระบบสายส่งของ กฟผ.ที่จะต้องปรับปรุงให้ดีขึ้นในอนาคต หรือการปลดล็อคการผูกขาดระบบสายส่งของภาครัฐ จะมาถึงได้ในที่สุด ..

แม้ว่า ประเทศไทยจะมิได้ผูกขาดการผลิตกำลังไฟฟ้าไว้กับภาครัฐ แต่ปัญหาจริง ๆ ปัจจุบัน กลายเป็นเรื่องการผูกขาดระบบสายส่ง และหากการปลดล็อคการผูกขาดโครงข่ายระบบสายส่งของภาครัฐโดย กฟผ.ล่าช้า มันจะกลายเป็นอุปสรรคของชาติต่อการพัฒนาแหล่งพลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน และพลังงานหมุนเวียน ในประเทศ รวมถึง กลายเป็นประเด็นปัญหาอุปสรรคต่อนโยบายการกระจายการลงทุนไปสู่ชุมชน ภาคเอกชน และนิติบุคคลที่มีศักยภาพ เกี่ยวกับการวางระบบจัดเก็บพลังงานขนาดใหญ่ และขนาดกลาง บนระบบสายส่ง การวางเครือข่ายโรงไฟฟ้าเสมือน Virtual Power Plant : VPP และเครือข่าย Smart Grid ซึ่งหมายถึงมันกระทบต่อความมั่นคงทางพลังงานของไทยในภาพรวมนั่นเอง ..

ตัวอย่างโรงไฟฟ้าพลังงานลมของบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ Energy Absolute : EA เป็นรูปแบบธุรกิจพลังงานสะอาด โดยภาคเอกชนที่มีศักยภาพในประเทศ .. ทั้งนี้ บริษัทพลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม ร้อยละ 99.97 ผ่านบริษัทย่อยที่เป็น Holding Company ไปแล้วรวม 8 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตรวม 386 MW เมกะวัตต์ ได้แก่ :-

  • โครงการหาดกังหัน 1 ขนาดกำลังการผลิต 36 MW อ.ระโนด จ.สงขลา ก่อสร้างแล้วเสร็จ และเริ่มขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต กฟผ.ตั้งแต่ 3 มีนาคม 2560 ..
  • โครงการหาดกังหัน 2 ขนาดกำลังการผลิต 45 MW อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ก่อสร้างแล้วเสร็จ และเริ่มขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต กฟผ.ตั้งแต่ 10 มิถุนายน 2560 ..
  • โครงการหาดกังหัน 3 ขนาดกำลังการผลิต 45 MW อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ก่อสร้างแล้วเสร็จ และเริ่มขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต กฟผ.ตั้งแต่ 23 มิถุนายน 2560 ..
  • โครงการหนุมาน 1 & 8 ขนาดกำลังการผลิต 90 MW ต.นายางกลัก อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ ก่อสร้างแล้วเสร็จ และเริ่มขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต กฟผ.ตั้งแต่ 25 มกราคม 2562 ..
  • โครงการหนุมาน 5 ขนาดกำลังการผลิต 48 MW ต.โป่งนก อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ ก่อสร้างแล้วเสร็จ และเริ่มขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต กฟผ.ตั้งแต่ 22 มีนาคม 2562 ..
  • โครงการหนุมาน 9 ขนาดกำลังการผลิต 42 MW ต.โป่งนก อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ ก่อสร้างแล้วเสร็จ และเริ่มขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ตั้งแต่ 30 มีนาคม 2562 ..
  • โครงการหนุมาน 10 ขนาดกำลังการผลิต 80 MW ต.บ้านชวน อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ ก่อสร้างแล้วเสร็จ และเริ่มขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ตั้งแต่ 13 เมษายน 2562 ..

อย่างไรก็ตาม ปริมาณกำลังไฟฟ้าที่ผลิตได้ ขึ้นอยู่กับความเร็วของลม ความยาวของใบพัด และสถานที่ติดตั้งกังหันลม บริษัท EA มีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมดำเนินการแล้วเสร็จตามแผนงานรวม 8 โครงการ ขนาดกำลังผลิตรวม 386 MW โดย กฟผ.รับซื้อกำลังไฟฟ้าส่งเข้าระบบสายส่ง ด้วยส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า 3.5 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง โดยมีระยะเวลาสนับสนุน 10 ปี ..

โครงการหนุมาน และโครงการหาดกังหัน ของ EA รวม 8 โครงการ กำลังผลิตไฟฟ้าพลังงานลม 386 MW | By Energy Absolute : EA

แนวโน้มผลประกอบการของบริษัทฯ ยังคงเป็นไปด้วยดีตามที่คาดไว้ หลัก ๆ มาจากกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากโรงไฟฟ้าพลังงานลม “โครงการหาดกังหัน” ที่ COD เมื่อกลางปี และ “โครงการหนุมาน” ที่จะ COD ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นจังหวะที่ดีสำหรับ Wind Farm ที่วงรอบ Cycle ปกติของลมจะพัดแรงในช่วงฤดูฝน หรือระหว่างช่วงไตรมาส 3-4 ส่งผลให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้สูงกว่าครึ่งปีแรก แม้ว่าในช่วงระยะเวลาเดียวกันนั้น โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จะได้รับผลกระทบจากฤดูฝนจนทำให้ผลิตไฟฟ้าได้น้อยลงไปบ้าง แต่เมื่อรวมผลผลิตไฟฟ้าที่ได้จาก Wind Farm แล้ว ยังคงเห็นการเติบโตของรายได้ และกำไรตามที่คาดไว้ ผลักดันให้กระแสเงินสดของบริษัทฯ มีความแข็งแรง และพร้อมที่จะขยายการลงทุนโครงการใหญ่ต่าง ๆ ตามแผนงานที่วางไว้ได้ในอนาคต โดยเฉพาะการเดินหน้าโรงงานแบตเตอรี่ในช่วงแรก ขนาด 1 GWh มูลค่าลงทุน 4,000 ล้านบาท ต่อเนื่องต่อไป ..

สรุปส่งท้าย ..

พลังงานลม Wind Power เป็นแหล่งพลังงานสะอาดชนิดหนึ่งที่นานาประเทศมุ่งพัฒนาให้เกิดประโยชน์มากขึ้น เนื่องจากลมมีศักยภาพในการผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าได้เป็นอย่างดี แต่สถานการณ์ในประเทศไทย อาจดูแตกต่างไปบ้าง เนื่องเพราะพื้นที่ที่เหมาะสมมีค่อนข้างจำกัด ..

การผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลม และการนำลมมาใช้ประโยชน์จะต้องอาศัยเครื่องจักรกลสำคัญ คือ ‘กังหันลม Wind Turbine’ ในการเปลี่ยน พลังงานจลน์จากการเคลื่อนที่ของลม เป็นพลังงานกลก่อนนำไปใช้ประโยชน์ ที่สำคัญพลังงานลม ใช้ไม่มีวันหมด และกระบวนการผลิตไฟฟ้าจากลมยังไม่ปล่อยของเสียที่เป็นอันตรายต่อสภาพแวดล้อม นอกจากมลพิษทางเสียงซึ่งมีแนวโน้มควบคุมได้ง่าย ..

แต่การประยุกต์ใช้พลังงานลมเพื่อการผลิตกำลังไฟฟ้านั้น ความเร็วลมจะต้องสม่ำเสมอ หรือกำลังลม เฉลี่ยทั้งปีไม่ควรน้อยกว่าระดับ 6.4-7.0 เมตรต่อวินาที ที่ความสูง 50 เมตร ถึงจะสามารถให้กำลังผลิตกระแสไฟฟ้าจากกังหันลมได้พอเหมาะ .. ภูมิประเทศที่มีความเร็วลมเหมาะสม ได้แก่ บริเวณฝั่งทะเลแถบยุโรปเหนือ หรือช่องเขาในสหรัฐฯ และทวีปอเมริกา ..

ประเทศไทย ตั้งอยู่ในเขตเส้นศูนย์สูตร ลมที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศของไทย ได้แก่ ลมประจำปี ลมประจำฤดู และลมประจำเวลา .. ลมประจำฤดู และลมประจำเวลา ประจำถิ่น บางพื้นที่เท่านั้น ที่จะมีกำลังลมพอสำหรับการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยเฉพาะ ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ กับลมบก ลมทะเล ลมภูเขา และลมหุบเขาบริเวณที่อยู่ตามชายฝั่งไม่กี่แห่ง และโดยทั่วไปแล้ว พื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานลมของไทยนั้น ถือว่ามีอยู่ไม่มาก ..

ทั้งนี้ ศักยภาพทางเทคนิคกำลังผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานลมบนบกของไทยอยู่ที่ 13-17 GW .. อุตสาหกรรมพลังงานลมของไทยโดยภาคเอกชน สามารถส่งมอบโครงการพลังงานลม และขายกำลังไฟฟ้าให้ กฟผ.เข้าสู่โครงข่ายระบบสายส่ง หรือกริดไฟฟ้าได้ ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า 3 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง .. รวมทั้งมีเป้าหมายการติดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานลมเพิ่มเติมอีกอย่างน้อย 7 GW ในประเทศให้ได้ภายในปี 2570 เพื่อให้เป็นไปตามแผนพัฒนาพลังงานทางเลือก และพลังงานทดแทน 2561-2580 ที่กำหนดเป้าหมายสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนต่อพลังงานขั้นสุดท้าย ไม่น้อยกว่า 30% ภายในปี 2580 และคงเป้าหมายกำลังผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน และพลังงานหมุนเวียน อยู่ที่ 29,411 MW ..

อย่างไรก็ตาม จากภูมิประเทศของประเทศไทย ทำให้ความเร็วลมเฉลี่ยอยู่ที่เพียงในระดับปานกลางถึงต่ำ .. ความเร็วลมเฉลี่ยตลอดทั้งปี ต่ำกว่า 5 เมตร/วินาที ในขณะที่ เทคโนโลยีกังหันลมเพื่อผลิตไฟฟ้าในยุโรปส่วนใหญ่ออกแบบให้ทำงานกับความเร็วลมที่เหมาะสมเฉลี่ยเกินกว่า 8 เมตร/วินาทีขึ้นไป ซึ่งเป็นความเร็วลมเฉลี่ยในพื้นที่ของภูมิภาคแถบยุโรปเหนือ หรือประเทศอื่น ๆ ในเขตหนาวที่มีศักยภาพลมเพียงพอ .. เมื่อเทียบความเร็วลมที่มีในประเทศไทย กับตาราง Power Class พบว่าลมในประเทศไทยส่วนใหญ่อยู่ในระดับที่ 1.1-1.4 มีเพียงพื้นที่ทางชายฝั่งทะเลภาคใต้ตอนล่างเท่านั้น ที่อยู่ Power Class ระดับ 2 ..

ดังนั้น ตราบใดที่กังหันลมแกนแนวตั้งรุ่นใหม่ ๆ และพัฒนาการของเทคโนโลยีตัวกังหันลมที่รองรับความเร็วลมเฉลี่ยทั้งปีต่ำกว่า 5 เมตร/วินาที ยังมาไม่ถึง เมื่อนั้น ศักยภาพการผลิตกำลังไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานลมของไทย ก็ยังถือว่าต่ำกว่ามาตรฐานอยู่มาก ยกเว้นในบางพื้นที่เฉพาะเท่านั้น .. ซึ่งทำให้แผนงานภาครัฐ และการสนับสนุนภาคเอกชน ให้ติดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานลมเพิ่มเติมอีกอย่างน้อย 7 GW ในประเทศให้ได้ภายในปี 2570 นั้น จึงมิใช่เรื่องง่าย ..

ด้วยข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ การพัฒนาแหล่งพลังงานทางเลือกที่เป็นพลังงานลมในประเทศไทยนั้น ปัญหาเรื่องทางเทคนิค และการลงทุน ยังไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่สุด แต่อุปสรรคหลักจริง ๆ อยู่ที่ศักยภาพของลมมากกว่า .. ทั้งนี้ กฟผ.ได้จัดทำโครงการสาธิตทดลองการใช้กังหันลมผลิตไฟฟ้า ขนาด 192 KW ตั้งอยู่ที่แหลมพรหมเทพ จังหวัดภูเก็ต ซึ่งจัดว่ามีลมแรงที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย แต่ก็ยังมีความเร็วลมเฉลี่ยทั้งปีเพียง 5 เมตรต่อวินาที และไม่มีความสม่ำเสมอ .. มันเป็นการศึกษาทดลอง เพื่อนำพลังงานลมมาประยุกต์ใช้ร่วมกับวิธีการผลิตกำลังไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานอื่น ๆ และระบบจัดเก็บพลังงานหลากหลายรูปแบบ เพื่อให้เกิดความมั่งคงในการกระจายกำลังไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น หรือจนกว่าการออกแบบกังหันลมแกนแนวนอน และแนวตั้งที่ดีกว่านี้ จะเข้าสู่ตลาด ..

ดังนั้น การที่กล่าวว่าประเทศไทยมีพลังงานลมอย่างเหลือเฟือ จึงเป็นความเข้าใจที่ผิด และหากจะพิจารณาในการนำพลังงานทดแทนมาใช้ในประเทศไทย ทุกฝ่ายยังมีความเห็นว่า พลังงานลมมีความเป็นไปได้น้อยกว่าพลังงานทางเลือกอื่น ๆ เช่น พลังงานชีวมวล พลังน้ำ และพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น ซึ่งหน่วยงานภาครัฐ และ กฟผ.รวมทั้งเอกชนที่มีศักยภาพ ก็พยายามนำพลังงานทางเลือกเหล่านี้ มาจัดทำโครงการให้สอดคล้องกันกับนโยบายภาครัฐให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยมิให้เป็นภาระแก่ผู้ใช้ไฟฟ้ามากเกินไป แม้ว่าจะมีปัญหาในเรื่องของต้นทุนการผลิตกำลังไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน และพลังงานหมุนเวียนในประเทศ ยังสูงกว่าการใช้ก๊าซธรรมชาติ หรือถ่านหิน ก็ตาม แต่แนวโน้มต้นทุนของมันกำลังลดลงเรื่อย ๆ .. นโยบายการสนับสนุนของรัฐบาล และการปลดล็อคการผูกขาดระบบสายส่งของภาครัฐ ถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อให้แผนงานด้านพลังทดแทนของประเทศ เดินหน้าต่อไปได้ ..

การใช้งานกังหันลม Wind Turbine ให้ได้ประสิทธิผลสูงสุดนั้น เนื่องจากความไม่สม่ำเสมอของความเร็วลมที่แปรผันตามธรรมชาติ เทียบกับความต้องการพลังงานที่สม่ำเสมอ เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานแล้ว จะต้องมีระบบจัดเก็บพลังงาน และใช้แหล่งพลังงานอื่นที่เชื่อถือได้เป็นแหล่งพลังงานสำรอง หรือใช้ร่วมกับแหล่งพลังงานอื่น ๆ ด้วยทั้งระบบการจัดจำหน่าย และระบบแจกจ่ายกำลังไฟฟ้าที่ชาญฉลาดไปพร้อมด้วย เช่น เครือข่าย Smart Grid หรือ เครือข่ายโรงไฟฟ้าเสมือน Virtual Power Plant: VPP ..

ระบบจัดเก็บเก็บพลังงาน Energy Storage มีอยู่หลายชนิด ส่วนมากขึ้นอยู่กับการใช้งาน เช่น พลังน้ำในเขื่อน อ่างเก็บน้ำ ระบบสูบกลับ หรือการกักเก็บพลังงานในรูปแบบก๊าซไฮโดรเจนความดันสูง หรือไฮโดรเจนเหลว เหมือนเช่นที่โครงการของ กฟผ.ที่ลำตะคอง ดำเนินการ โดยหากเป็นกังหันลมเพื่อผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมักนิยมใช้ชุดแบตเตอรี่คุณภาพสูงเป็นตัวกักเก็บพลังงาน ..

อย่างไรก็ตาม ระบบจัดเก็บพลังงานขนาดใหญ่ด้วยสถานีไฟฟ้าแบตเตอรี่บนระบบสายส่ง Utility Scale Energy Storage on Grid ถือเป็นการลงทุนวางระบบที่คุ้มค่า และเหมาะสมที่สุด เพื่อให้สามารถรองรับไม่เพียงกำลังไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานลมที่ผันแปรเท่านั้น แต่มันจะสามารถรองรับกำลังไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทางเลือกรูปแบบอื่น ๆ ซึ่งรวมถึงแหล่งพลังงานแยกย่อยในหมู่บ้าน ชุมชน หลังคาบ้าน อาคารพาณิชย์ สถานที่ทำงาน และทุก ๆ ครัวเรือน ที่ขายกำลังไฟฟ้าเข้าสู่ระบบสายส่งได้อย่างไร้ปัญหา และข้อจำกัด ..

การพิจารณาใช้กังหันลมผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานลม ร่วมกับแหล่งพลังงานอื่น อาจเป็นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซล หรือพลังงานน้ำจากเขื่อน เป็นต้นนั้น สามารถดำเนินการได้ทันที .. อุปสรรคสำคัญของไทยในการใช้พลังงานลม ส่วนหนึ่งมาจากการขาดเทคโนโลยีที่เหมาะสม กับศักยภาพของแรงลมในประเทศ และบุคคลากรผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ก็มิได้มีมากนัก .. อย่างไรก็ตาม การติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้า ยังมีข้อดีที่มันเป็นการลงทุนครั้งแรกครั้งเดียว ไม่มีค่าเชื้อเพลิง ไม่กินเนื้อที่ติดตั้ง และด้านล่างยังใช้พื้นที่เพื่อการอื่นได้อยู่ เพียงแต่พื้นที่ที่มีแรงลมเหมาะสมในประเทศนั้น มักอยู่นอกชายฝั่งทะเล หรือในพื้นที่สูง ห่างไกล เข้าถึงได้ยาก ..

การประยุกต์ใช้แหล่งพลังงานลมเพื่อผลิตกำลังไฟฟ้าของไทยนั้น สามารถใช้ระบบไฮบริด Hybrid รูปแบบผสมผสาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตัวอย่างเช่น กลางคืนใช้กำลังไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานลม กลางวันใช้พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานส่วนเกินที่เหลือใช้ จัดเก็บไว้ในชุดแบตเตอรี่ลิเธี่ยม Lithium Ion Batteries ที่ผลิตในประเทศ เพื่อให้สามารถใช้มันเป็นสถานีจ่ายกำลังไฟฟ้าได้ตลอดทั้งวัน เป็นต้น .. นอกจากนั้น บทบาทของนโยบายภาครัฐ ถือเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญที่สุด ..

กรอบนโยบายที่ชัดเจนในการพิจารณาให้การสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมแก่ผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อยด้วย โดยกำหนดสัดส่วนเพิ่มการรับซื้อกำลังไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานลม และพลังงานทางเลือกอื่น ๆ ด้วยราคาไม่น้อยกว่า 2.50 บาทต่อหน่วย หรือกิโลวัตต์ชั่วโมง และหากเป็นการผลิตกำลังไฟฟ้าในพื้นที่พิเศษ เช่น พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือพื้นที่ห่างไกลที่ระบบสายส่งยังพอจะเข้าถึงได้ เห็นสมควรพิจารณาอัตราเพิ่มพิเศษขึ้นอีกตามความเหมาะสม ระยะยาวอย่างน้อย 10 ปีขึ้นไป กับ การปลดล็อคการผูกขาดโครงข่ายระบบสายส่งของภาครัฐ และการปรับปรุงระบบสายส่งให้ฉลาดขึ้น สามารถรองรับความจุกำลังไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทางเลือกเข้าสู่ระบบสายส่งได้มากขึ้นด้วยต้นทุนลดลง ถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ขาดไม่ได้ ทั้งนี้ เพื่อบรรลุแผนงานความมั่นคงทางพลังงานที่ยั่งยืนของประเทศในอนาคตได้ต่อไป ..

คอลัมน์ Energy Key

By โลกสีฟ้า ..

สนับสนุนคอลัมน์ โดย E@ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)

ขอบคุณเอกสารอ้างอิง :-

Advantages of Wind Power | US DOE

Wind – Renewables 2020 – Analysis | IEA

Wind power and its potential in Thailand | Department of Alternative Energy Development and Efficiency, Thailand

โรงไฟฟ้าพลังงานลม – Energy Absolute

พลังงานลมในประเทศไทย | EGAT

Wind power industry calls for additional 7 GW of wind energy to be installed in Thailand by 2037 | Reve :-

https://www.evwind.es/2019/12/13/wind-power-industry-calls-for-additional-7-gw-of-wind-energy-to-be-installed-in-thailand-by-2037/72474

World Resources Institute and Ørsted: How governments can scale up private sector investment in the renewable energy transition | Reve :-

https://www.evwind.es/2021/06/04/world-resources-institute-and-orsted-how-governments-can-scale-up-private-sector-investment-in-the-renewable-energy-transition/81110

Wind Energy News: Convention Wind and Global Wind Day | Reve

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img