โผทหารคลอดเป็นที่เรียบร้อย ส่วนตำแหน่ง “รมว.กลาโหม” ก็ต้องลุ้นกันว่า “สุทิน คลังแสง” จะทำหน้าที่ได้หรือไม่ ขณะที่ฝ่ายความมั่นคงสอนมวย “การปกครองทหาร” ไม่ใช่เรื่องยาก
@@@…….สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่าน พบกันทุกวันเสาร์กับคอลัมน์ “Military Key” ทางเว็บไซต์ https:// thekey.news ซึ่งตรงกับวันเสาร์ที่ 2 ก.ย.2566 โผทหารคลอดเป็นที่เรียบร้อย แต่ที่ยังพูดไม่จบเห็นจะเป็นตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมของนายสุทิน คลังแสน…แต่ถ้ามองกันให้ดี ๆ ทีมกุนซือของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไม่ธรรมดา…??
@@@…….จะว่าไปแล้วการเข้ามาดำรงตำแหน่ง รมว.กลาโหมของฝ่ายการเมืองที่เป็นพลเรือน ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันในสังคมช่วงนี้นั้น สำหรับเรื่องของการเตรียมกำลังกองทัพ และการใช้กำลังกองทัพนั้น ถือเป็นเรื่องคอขาดบาดตายของประเทศ เกี่ยวข้องกับความอยู่รอดปลอดภัยของชาติ โดยเฉพาะเกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งชาติด้านการป้องกันประเทศ ซึ่งรัฐบาล และฝ่ายบริหารระดับเจ้ากระทรวงที่มาจากฝ่ายการเมืองเอง และไม่ว่าจะเป็นพลเรือน หรือเคยเป็นอดีตนายทหารในกองทัพมาก่อนก็ตาม จึงต้องคิดพิจารณาด้วยความรอบคอบอย่างที่สุดด้วย ไม่มีข้อยกเว้น ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นที่เลื่องลือและได้รับความเคารพ เชื่อถือ และศรัทธา อย่างสูงจากเหล่าทหารหาญในกองทัพเป็นที่ประจักษ์มาแล้ว
@@@…….โดยทั่วไปการปกครองบังคับบัญชาทหาร มิใช่เรื่องยาก เนื่องจาก ทหารทุกคน จะถูกกำกับด้วยกรอบวินัยทหารที่เข้มงวด และมีบทบัญญัติการลงโทษที่รุนแรงตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหม ซึ่งแตกต่างไปจากอีก 19 กระทรวงอย่างมาก เนื่องจาก เหล่าทัพ คือ หน่วยงานภาครัฐที่ถือครองอาวุธสงครามร้ายแรง ดังนั้น การที่ฝ่ายการเมืองที่เป็นพลเรือน จะมาดำรงตำแหน่ง รมว.กลาโหมนั้น จึงมิใช่เรื่องแปลก ความสามารถในการบริหารจัดการ การเรียนรู้ ความซื่อสัตย์ ความจงรักภักดีต่อสถาบัน ความเป็นผู้นำที่เข้าใจผู้ใต้ปกครอง และความเมตตาต่อผู้น้อย และขีดความสามารถในการตัดสินตกลงใจที่เฉียบขาด คือ ประเด็นคุณสมบัติสำคัญของ รมว.กลาโหมที่ต้องการ เนื่องเพราะ รมว.กลาโหมนั้น มิใช่ผู้บังคับบัญชาโดยตรงที่นำทหารออกรบในสนาม แต่ รมว.กลาโหมคือ ผู้รับผิดชอบเชิงนโยบาย รวมทั้งการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ทั้งนี้ การตัดสินใจว่าประเทศชาติ จะทำสงครามหรือไม่นั้น จึงมิใช่หน้าที่ของทหาร แต่เป็นหน้าที่ของฝ่ายการเมืองที่ถือครองอำนาจรัฐซึ่งก็คือรัฐบาลนั่นเอง อย่างไรก็ตาม เมื่อการตัดสินใจของฝ่ายการเมืองว่าจะทำสงครามได้เกิดขึ้นแล้ว การตัดสินใจว่าจะทำสงครามอย่างไร จะกลายเป็นเรื่องของทหาร เป็นเรืองของแม่ทัพล้วน ๆ เท่านั้น ฝ่ายการเมืองจะเข้ามาแทรกแซงไม่ได้ มิฉะนั้น อาจทำให้การปฏิบัติการของกำลังทหารพร้อมรบเผชิญหน้าในสนาม อาจประสบความล้มเหลวได้ในที่สุด
@@@…….สถานการณ์ทางการเมืองในห้วงเวลาที่ผ่านมา สังคมส่วนใหญ่ให้ความสนใจต่อการเปลี่ยนผ่านของฝ่ายบริหาร และการอําลาทําเนียบรัฐบาลของ รักษาการนายกรัฐมนตรี ซึ่งสื่อมวลชนได้มีการนําเสนอผลงานที่ผ่านมาตลอดระยะเวลาการดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรีที่มีท้ังด้านบวกและด้านลบ แต่ในภาพรวมแล้วมีกระแสเชิงบวกค่อนข้างสูง ขณะเดียวกัน ส.ส.ปทุมธานี พรรคก้าวไกล หน่ึงในผู้ต้องคดีตาม ม.112 ได้ใช้พื้นที่รัฐสภาฯ และฐานะทางการเมืองแถลงเรียกร้องให้มีการประกันตัวผู้ต้องหาตาม ม.112 โดยปราศจากเงื่อนไข อย่างมีนัยสําคัญในช่วงนี้ ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวดังกล่าว น่าจะเกิดจากต้องการสร้างความเชื่อมั่นให้กับกลุ่มมวลชนนอกรัฐสภาฯ ที่กําลังพยายามเคลื่อนไหวในขณะนี้ ภายหลังมวลชนมีสภาพถดถอยลงมากจากกรณีที่มีกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ได้ออกมาปฏิเสธความสัมพันธ์กับกลุ่มทะลุวัง อีกทั้งต้องการเบี่ยงเบนกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่มีต่อสมาชิกพรรคก้าวไกล ที่เป็นข่าวเชิงลบทางสังคมในขณะนี้อีกด้วย ทั้งนี้ ฝ่ายความมั่นคง มั่นใจว่าในช่วงเปลี่ยนผ่านการบริหารราชการแผ่นดินของฝ่ายบริหารที่เป็นรัฐบาลชุดใหม่นี้ จะยังไม่มีความวุ่นวายในบ้านเมือง หรือเหตุการณ์ชุมนุมที่ใช้ความรุนแรงผิดกฎหมายบนถนนเกิดขึ้นจนควบคุมไม่ได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับขีดความสามารถของรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศด้วย
@@@…….ทำงานก่อนจะอำลาตำแหน่ง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน (กบฉ.) ครั้งที่ 3/2566 โดยมี รมว.มหาดไทย และ รมช.กลาโหม เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมมูลนิธิอนุรักษ์ ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด และประชุมทางไกลผ่านจอภาพ (Video Conference System) โดยที่ประชุม ได้รับทราบผลการปฎิบัติงานตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ห้วงวันที่ 20 มิ.ย.66 ถึงวันที่ 20 ส.ค.66 ซึ่งมีแนวโน้มของสถานการณ์ ที่มีความสงบเรียบร้อยมากขึ้นตามลำดับ และมีสถิติการก่อเหตุความรุนแรงลดลง สามารถพัฒนาไปสู่การปรับลดพื้นที่ออกจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้มากขึ้น ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร ยังได้กำชับหน่วยงานด้านความมั่นคงในพื้นที่ให้เข้มงวดตรวจสอบโรงงานที่เกี่ยวข้องกับสารประกอบระเบิด พร้อมเร่งรัดการช่วยเหลือ ฟื้นฟูประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์โรงงานพลุดอกไม้เพลิงระเบิด ที่ผ่านมาโดยเร็วด้วย
@@@…….จากนั้นที่ประชุม กบฉ.ได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ปรับลดพื้นที่ อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี ออกจากพื้นที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ เพื่อนำ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรฯมาใช้แทน และขอขยายเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่ จชต. ยกเว้น อ.ศรีสาคร ,อ.สุไหงโก-ลก ,อ.แว้งและ อ.สุคิริน จ.นราธิวาส อ.ยะหริ่ง ,อ.มายอ ,อ.ไม้แก่น และ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี อ.เบตง และ อ.กาบัง จ.ยะลา ออกไปอีกเป็นระยะเวลา 3 เดือน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย.66 ถึงวันที่ 19 ธ.ค.66 โดยเป็นการขยายระยะเวลา ครั้งที่ 73 เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการปฏิบัติงาน ป้องกัน ระงับ ยับยั้งเหตุการณ์ในพื้นที่ให้ได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งจะเป็นประโยชน์ต่อการดูแลรักษาความสงบ และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ด้วย โดยให้ สมช.เสนอเรื่องไปยัง ครม.เพื่อพิจารณาเห็นชอบ ต่อไป
@@@…….ที่กองบัญชาการกองทัพบก พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ รองผู้บัญชาการทหารบก ผู้แทนผู้บัญชาการทหารบกเป็นประธานในพิธีบำเพ็ญกุศล เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันเปิดกองบัญชาการกองทัพบก ครบรอบปีที่ 37 โดยได้ร่วมประกอบพิธีถวายสักการะพระชัยมงคลภูมิ,พิธีถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 5 พิธีตักบาตรพระสงฆ์ บริเวณลานด้านหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่5 และพบปะผู้นำชุมชนเขตพระนคร จากนั้นจึงประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์ และมอบรางวัลข้าราชการดีเด่น ประจำปี 2566 ให้แก่กำลังพลที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความพากเพียร มีความประพฤติดี และมีประสิทธิภาพในการทำงาน จำนวน 71 นาย เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการรับราชการ พร้อมทั้งได้ให้โอวาทแก่กำลังพลที่ปฏิบัติงานในกองบัญชาการกองทัพบก นอกจากนี้ยังได้จัดเลี้ยงอาหารพิเศษมื้อกลางวันแก่กำลังพลในกองบัญชาการกองทัพบก
@@@…….กองบัญชาการกองทัพบก เดิมมีที่ตั้งอยู่ภายในกระทรวงกลาโหม และอีกส่วนหนึ่งบริเวณสวนรื่นฤดี เขตดุสิต กรุงเทพฯ ต่อมากองทัพบกเล็งเห็นว่าสถานที่เดิมค่อนข้างคับแคบ ขณะเดียวกันโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอม เกล้า ซึ่งตั้งอยู่บนถนนราชดำเนินนอก เขตพระนคร กรุงเทพฯ ได้ย้ายไปอยู่ อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก จึงเล็งเห็นว่าสถานที่ตั้งโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าเดิม มีความเหมาะสมอย่างยิ่ง เนื่องจากเคยเป็นแหล่งผลิตนายทหารหลัก ที่สร้างชื่อเสียงเกียรติยศให้แก่กองทัพบกหลายท่าน และมีพื้นที่กว้างขวาง การคมนาคมสะดวก ตั้งอยู่ใจกลางเมืองกรุงเทพฯ และเป็นเส้นทางผ่านของแขกบ้านแขกเมือง พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ผู้บัญชาการทหารบก ในขณะนั้นจึงได้สั่งการให้ใช้สถานที่แห่งนี้เป็นกองบัญชาการกองทัพบก และได้กระทำพิธีเปิดที่ทำการของกองบัญชาการกองทัพบก ครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2529
@@@…….กองทัพเรือ….ช่วงนี้เป็นช่วงของการเดินสายอำลาหน่วย โดย พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชา การทหารเรือ (ผบ.ทร.) พร้อมด้วยนางจตุพร ชมเชิงแพทย์ นายกสมาคมภริยาทหารเรือ และคณะนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพเรือ ได้เดินทางไปเยี่ยมอำลาหน่วย ในพื้นที่ทัพเรือภาคที่ 3 ในโอกาสเกษียณอายุราชการ ณ ดาดฟ้าเฮลิคอป เตอร์เรือหลวงสายบุรี ท่าเทียบเรือฐานทัพเรือพังงา ทัพเรือภาคที่ 3 ตำบลทับละมุ อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา โดยมี พล.ร.ต.กนกพล พิมพ์ทอง ผู้บัญชาการฐานทัพเรือพังงา ทัพเรือภาคที่ 3 ให้การต้อนรับ โดย ผบ.ทร. ให้โอวาทแก่กำลังพล และกล่าวอำลาเกษียณอายุราชการ ใจความสำคัญว่า “ ท่านทั้งหลายปฏิบัติหน้าที่เป็นตัวแทนของกองทัพเรือ ในการสร้างความอบอุ่นใจด้วยการให้ความช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อให้บรรลุตามนโยบายของกองทัพเรือ รวมทั้งปฏิบัติภารกิจตามที่รัฐบาลมอบหมาย การที่ท่านทั้งหลายยังคงปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างเข้มแข็ง จึงเป็นสิ่งที่ผม และข้าราชการกองทัพเรือรู้สึกชื่นชมในความเสียสละของท่านที่มีต่อประเทศชาติของเรา ผมและข้าราชการกองทัพเรือจะอยู่เคียงข้างท่านเสมอ และจะดำเนินการสนับสนุนและช่วยเหลืออย่างสุดความสามารถ และขอให้ทุกท่านยึดมั่นในความเสียสละปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ โดยเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมยิ่งกว่าประโยชน์ส่วนอื่นเพื่อเป็นหลักและเป็นที่พึ่งของประชาชนสืบไป” ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ พล.ร.อ.เชิงชาย ได้เดินสายอำลาตำแหน่งในโอกาสเกษียณอายุราชการ ในพื้นที่ทัพเรือภาคที่ 2 ณ กองบัญชาการทัพเรือภาคที่ 2 อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดภูเก็ต และที่พื้นที่ทัพเรือภาคที่ 3 ในโอกาสเกษียณอายุราชการ ณ กองบัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 ตำบลวิชิต อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต
@@@…….กองทัพอากาศ….พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารอากาศ ในฐานะประธานกรรมการบริหารการใช้ประโยชน์ที่ราชพัสดุที่อยู่ในการปกครองดูแลของกองทัพอากาศ เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการบริหารการใช้ประโยชน์ที่ราชพัสดุอยู่ในการปกครองดูแลของกองทัพอากาศ โดยมีผู้เข้าร่วมการเชิงปฏิบัติการประกอบด้วย คณะกรรมการบริหาร คณะเจ้าหน้าที่ทำงาน และผู้แทนจากกองบิน ณ ที่ตั้งต่างจังหวัด สำหรับการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนความรู้ด้านกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับและคำสั่งให้กับผู้ปฏิบัติงานระดับผู้บริหาร รวมทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวกับการปกครองดูแลและใช้ประโยชน์ที่ราชพัสดุของกองทัพอากาศให้สามารถนำความรู้ไปปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้อง ตลอดจนเป็นเวทีเพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การปฏิบัติงานด้านแผนที่และที่ดินระหว่างกัน เพื่อนำไปสู่การบูรณาการทำงานร่วมกันอันจะเกิดประสิทธิภาพและประโยชน์สูงสุดต่อกองทัพอากาศต่อไป
@@@……ทั้งนี้ กองทัพอากาศมีภารกิจในการกำกับดูแลที่ดินและสนามบินที่อยู่ในการปกครองดูแล จำนวน 155 แปลง คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 235,804 ไร่เศษ โดยกองทัพอากาศอนุญาตให้หน่วยงานภายนอกกองทัพอากาศใช้ประโยชน์พื้นที่และพื้นที่บางแห่งของกองทัพอากาศได้มีการอนุญาตให้ใช้โดยอยู่ในลักษณะของการทำข้อตกลงกับหน่วยงานภายนอก เช่น จังหวัดเชียงราย ในการพัฒนาสนามบินเชียงรายให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ โดยคำนึงถึงภารกิจด้านการช่วยเหลือประชาชนและด้านความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ
………………………………….
คอลัมน์ : “Military Key”
โดย.. “รหัสมอร์ส”