ผบ.เหล่าทัพที่เกษียณ ทยอยส่งมอบหน้าที่ ด้าน กองทัพเรือรับมอบเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง 2 ลำ ได้แก่ เรือ ต.997-ต.998
@@@…….สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่าน พบกันทุกวันเสาร์กับคอลัมน์ “Military Key” ทางเว็บไซต์ https:// thekey.news ซึ่งตรงกับวันเสาร์ที่ 23 ก.ย.66 สถานการณ์การเมืองในยุคของพลเรือนที่ไม่ใช่ทหาร ดูจะเข้าสู่สภาพเดิมๆ ที่เคยเกิดขึ้น รัฐบาลเก่าหาเงินไว้ให้ รัฐบาลใหม่ก็ใช้อย่างไม่เกรงใจกว่าจะหามาได้ หรือแม้แต่โครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนในอนาคต รัฐมนตรีก็สั่งยกเลิกจะไม่ทำต่อเสียอย่างนั้น..??
@@@…….ลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้….พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ รองผู้บัญชาการทหารบก รักษาราชการผู้บัญชาการทหารบก (รรก.ผบ.ทบ.) ลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งแรก เพื่อติดตามสถานการณ์,รับฟังปัญหาข้อขัดข้อง และข้อเสนอแนะในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามนโยบายสำคัญของรัฐบาลและกองทัพบก โดยมี พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้าพร้อมผู้บังคับบัญชาระดับสูงให้การต้อนรับ และเข้าร่วมประชุมฯ รายงานผลการปฏิบัติงานที่ผ่านมา
@@@…….พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ รองผู้บัญชาการทหารบก รักษาราชการผู้บัญชาการทหารบก กล่าวถึงการลงพื้นที่ครั้งนี้เพื่อการติดตามสถานการณ์ รับฟังแนวความคิดในการแก้ไขปัญหาของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า พร้อมรับทราบผลสัมฤทธิ์จากการปฏิบัติงานที่ผ่านมา รวมทั้งรับฟังปัญหาข้อขัดข้องและข้อเสนอแนะของหน่วยขึ้นตรงกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เพื่อผลักดัน และขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาระดับนโยบายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ในปัจจุบันและอนาคต สำหรับแผนปฏิบัติการปรับลด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และแผนปรับลดกำลังทหารนั้น เจ้าหน้าที่ทั้งตำรวจ ทหาร ต้องมีการปรับตัวและปรับใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในการแก้ปัญหาอย่างเหมาะสม เพื่อดูแลพื้นที่ให้ปลอดเหตุ และต้องทำทุกวิถีทางให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์มีความปลอดภัย ส่วนการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่กระทำความผิดก็เป็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถละเว้นการปฏิบัติได้ ยืนยันหากจำเป็นต้องยกเลิกกฎหมายบางฉบับ ควรมีเครื่องมือและกฎหมายอื่นมาทดแทน เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงของรัฐในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป
@@@…….ผลการประชุม ครม.เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาตามข้อเสนอของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มีมติขยายเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ออกไป 1 เดือน ของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นับเป็นการต่ออายุครั้งที่ 73 หลังจากเริ่มประกาศใช้ครั้งแรกเมื่อปี 2548 พร้อมยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพิ่มเติมที่ อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี อีกหนึ่งท้องที่หนึ่ง ทั้งนี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถูกประกาศใช้เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นครั้งแรกตั้งแต่สมัย นายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2548 ซึ่ง พ.ร.ก. กำหนดว่า “ในกรณีที่มีความจําเป็น นายกรัฐมนตรีสามารถขอความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ครม.ประกาศขยายเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นพื้นที่ได้ครั้งละ 3 เดือน” จึงมีการขยายเวลามาเรื่อยๆ ตลอด 18 ปีที่ผ่านมา เพื่อควบคุมพื้นที่ให้อยู่ในความสงบเรียบร้อย ภายใต้สถานการณ์ไม่สงบที่กระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม การขยายระยะเวลาซึ่งนายกฯ ลงนามในประกาศ เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2566 นี้ มีผลเริ่มตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย.-19 ต.ค. 2566 นับเป็นการต่ออายุที่แตกต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมาที่รัฐบาลจะขยายเวลาการบังคับใช้ครั้งละ 3 เดือน
@@@…….การพิจารณาต่ออายุ หรือไม่ต่ออายุ เพิ่มพื้นที่ หรือลดพื้นที่นั้น สมช.จะต้องตรวจสอบข้อมูลข่าวสารการข่าวกรองให้รอบคอบรัดกุม ในอดีต ฝ่ายการเมืองที่ถือครองอำนาจรัฐ ได้เคยทำผิดพลาดมาแล้ว ด้วยการยกเลิก พตท.43 ซึ่งเป็นเครื่อข่ายพลเรือน ทหาร ตำรวจ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ และใช้กลไกปกติของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เป็นตำรวจในการดูแลความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ เมื่อปี 2547 แต่สุดท้ายต้องพบกับความล้มเหลว เสียงปืนแตก สถานการณ์รุนแรงขยายตัวออกไปจนมิอาจควบคุมด้วยกำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายเดียวได้อีกต่อไป เนื่องจากกลุ่มผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ แม้ส่วนหนึ่งจะเกี่ยวข้องกับธุรกิจผิดกฎหมาย แต่ก็มีอีกส่วนหนึ่งซึ่งปฏิบัติการบนพื้นฐานของอุดมคติ และอุดมการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งแยกดินแดนด้วยความเชื่อที่ปลูกฝังมาผิด ๆ รวมทั้งความเชื่อที่มีอคติต่อภาครัฐ ประกอบกับกลุ่มอิทธิพลเหล่านี้ ถือครองอาวุธสงคราม และระเบิดที่พร้อมจะก่อความรุนแรง ความไม่สงบ และสร้างความหวาดกลัวให้แก่ผู้คนในพื้นที่ได้ตลอดเวลา แม้ในปัจจุบันสถานการณ์ความไม่สงบในภาพรวมจะคลี่คลายลงไปมาแล้วก็ตาม แต่การจะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ทันทีทันใดนั้น จะต้องพิจารณาให้รอบคอบ รอบด้าน เนื่องจาก เมื่อยกเลิกแล้ว ฝ่ายหทหารจะมิใช่พนักงานเจ้าหน้าที่หลักอีกต่อไป ดังนั้น การใช้กำลังทหารในพื้นที่เพื่อเผชิญเหตุร้ายแรงที่มีการใช้อาวุธสงคราม ก็จะมีขั้นตอบยุ่งยากซับซ้อนขึ้นไปอีกมาก ทั้งนี้ ฝ่ายความมั่นคง หวังอย่างยิ่งว่า ฝ่ายบริหาร โดยรัฐบาล และ สมช.จะค่อย ๆ ดำเนินการอย่างรัดกุม เพื่อมิให้ความผิดพลาดร้ายแรงที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ย้อนกลับมาอีกครั้ง ความเชื่อมั่นการบริหารงานภาครัฐของผู้คนในพื้นที่ ก็จะไม่เกิดขึ้น
@@@…….วันก่อน นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม เป็นประธานในพิธีปิดการศึกษา หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 65 ประจำปีการศึกษา 2565-2566 ที่หอประชุมวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 65 มีนักศึกษา จำนวนทั้งสิ้น 284 คน ประกอบด้วย ข้าราชการฝ่ายทหาร 96 นาย ข้าราชการตำรวจ 13 นาย ข้าราชการฝ่ายพลเรือน 87 คน พนักงานรัฐวิสาหกิจ และองค์กรอิสระ 24 คน ภาคเอกชน 15 คน นักธุรกิจ และบุคคลทั่วไป 42 คน นักศึกษาจากมิตรประเทศ จำนวน 7 นาย จาก 7 ประเทศ ได้แก่ เครือรัฐออสเตรเลียราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐอินเดีย สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สหพันธรัฐมาเลเซีย สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และสาธารณรัฐสิงคโปร์
@@@…….สำหรับการศึกษาในวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ได้จัดให้มีทั้งการบรรยาย การถกแถลง การแก้ปัญหาเป็นคณะกรรมการ การสัมมนาวิชาการ การดูกิจการและศึกษาภูมิประเทศภายในประเทศ ต่างประเทศ การฝึกแก้ปัญหาแบบจำลองสถานการณ์ระดับชาติ โดยนักศึกษาทุกคนต้องเขียนเอกสารวิจัยส่วนบุคคล การเขียนบทความวิชาการส่วนบุคคล และ บทความวิชาการกลุ่ม โดยในห้วงท้ายของหลักสูตรได้จัดให้มีการแถลงผลการศึกษาเพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติต่อนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 ก.ย. ที่ผ่านมา และสภาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ได้พิจารณาการอนุมัติให้นักศึกษาหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 65 สำเร็จการศึกษา จำนวน 284 คน พิจารณาเอกสารวิจัยของนักศึกษาที่ดำเนินการครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ และข้อกำหนดของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ซึ่งได้ผ่านการคัดเลือกเป็นเอกสารวิจัยระดับดีเด่น – ชมเชย และมอบโล่ที่ระลึกแก่ผู้บรรยาย ครบ 10 ปีการศึกษา และผู้บรรยาย ครบ 5 ปีการศึกษา
@@@…….กองทัพเรือ….พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ เป็นผู้แทนผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธี รับมอบเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง (เรือ ต.997 – ต.998) ณ ท่าเรือแหลมเทียน การท่าเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ตามที่ กองทัพเรือ ได้อนุมัติให้จัดสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.997 – ต.998 จำนวน 2 ลำ เพื่อรองรับการปฏิบัติภารกิจของกองทัพเรือ ตามนโยบายการพัฒนากองทัพ และเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการต่อเรือภายในประเทศ ซึ่งโครงการนี้กองทัพเรือได้ว่าจ้างให้บริษัท มาร์ซัน จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการ โดยความเป็นมาของการสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งนั้น เริ่มจากการที่ กองทัพเรือได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการพระราชทานพระราชดำริและพระบรมราชวินิจฉัยเกี่ยวกับการต่อเรือ เพื่อการพึ่งพาตนเองของกองทัพเรือ
@@@…นับตั้งแต่การสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุด เรือ ต.91 ถึงเรือ ต.99 จำนวน 9 ลำ ระหว่างปี พ.ศ.2510 – 2530 อันเป็นการดำเนินโครงการของกองทัพเรือ ตามพระราชดำริของพระองค์ โดยกองทัพเรือได้จัดหาเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งเรือชุด ต.991 – ต.993 เนื่องในโอกาสมหามงคลที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระชนมายุครบ 80 พรรษา ในปี พ.ศ.2550 ซึ่งโครงการนั้นประสบความสำเร็จด้วยดี ต่อมาในปี พ.ศ.2552 กองทัพเรือจัดทำโครงการการจัดหาเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา ชุดเรือ ต.994 – ต.996 ด้วยเป็นการสนองพระราชดำริ ในเรื่องการพึ่งพาตนเองของกองทัพเรือ และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรพระราชทานทั้งพระราชดำริและพระบรมราชวินิจฉัยเกี่ยวกับการต่อเรือ ซึ่งโครงการเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งเฉลิมพระเกียรติฯ ชุดเรือ ต.994 นี้ได้สร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2554 และสามารถปฏิบัติงานตอบสนองต่อภารกิจได้เป็นอย่างดี
@@@…….สำหรับโครงการจ้างเรือสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ต.997 และ ต.998 จำนวน 2 ลำ ในครั้งนี้ กองทัพเรือ ได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์กองทัพเรือ พ.ศ.2558 – 2567 ที่ได้กำหนดความต้องการเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง จำนวนทั้งสิ้น 16 ลำ เพื่อใช้ในภารกิจต่าง ๆ และทดแทนเรือที่ครบกำหนดปลดระวางประจำการ โดยกองทัพเรือ ได้จัดหาเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งไว้ใช้ในราชการแล้วคือ เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.81 – ต.83 ชุดเรือ ต.991 – ต.996 และชุดเรือ ต.111 – ต.115 รวมเป็นจำนวน 14 ลำ และในส่วนของการจัดหาเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง 2 ลำนี้ กองทัพเรือได้ออกประกาศเชิญชวนยื่นข้อเสนอโดยวิธีคัดเลือก และบริษัท มาร์ซันฯ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้สร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง จำนวน 2 ลำ ตามแบบชุดเรือ ต.994 ของกองทัพเรือ โดยมีรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะทางเทคนิคตามความต้องการของฝ่ายเสนาธิการ และจัดให้มีพิธีลงนามในสัญญา เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2562 รวมทั้งได้ประกอบพิธีวางกระดูกงูเรือเมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2562
@@@…อนึ่ง เมื่อกองทัพเรือได้รับมอบเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ครบตามยุทธศาสตร์กองทัพเรือ พ.ศ.2558 – 2567 แล้ว จะทำให้กองทัพเรือมีเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งเพียงพอต่อการใช้งาน ตอบสนองต่อภารกิจ ตามยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังเป็นการสนองพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการพึ่งพาตนเองของกองทัพเรือ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการต่อเรือภายในประเทศ และเป็นการประหยัดงบประมาณมากกว่าการจัดหาจากต่างประเทศ โดยเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งทั้งสองลำนี้จะเข้าประจำการในกองเรือยามฝั่ง กองเรือยุทธการ มีภารกิจในการตรวจการณ์สกัดกั้น ลาดตระเวน ป้องกันการแทรกซึมทางทะเลและชายฝั่ง คุ้มครองเรือประมงและเรือพาณิชย์ป้องกันและคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติบริเวณชายฝั่งทะเลในอ่าวไทย และทะเลอันดามัน รักษากฎหมายในทะเลตามอำนาจหน้าที่ที่กองทัพเรือได้รับมอบหมาย รวมถึงการถวายความปลอดภัยแด่พระบรมวงศานุวงศ์
@@@…….กองทัพอากาศ…พล.อ.อ. อลงกรณ์ วัณณรถ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) พร้อมด้วยนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ชั้นยศพลอากาศเอก ในตำแหน่ง นายทหารชั้นผู้ใหญ่ ชั้นยศพลอากาศ ที่จะเกษียณอายุราชการในเดือนตุลาคม 2566 นายกสมาคมแม่บ้านทหารอากาศ และสมาชิกสมาคมแม่บ้านทหารอากาศ เข้าร่วมในพิธี ณ ลานจอดอากาศยาน ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 ดอนเมือง โดยมี พล.อ.ต.พิทูร เจริญยิ่ง ผู้บัญชาการโรงเรียนการบิน เป็นผู้กล่าวคำกล่าวสดุดีผู้บัญชาการทหารอากาศ และได้ให้คำมั่นสัญญาว่า จะปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความรู้ ความสามารถ และจะมุ่งมั่นสืบสานเจตนารมณ์ของท่าน เพื่อดำรงไว้ซึ่งศักยภาพกำลังทางอากาศของกองทัพอากาศไทยและพร้อมที่จะสละชีพ เพื่อปกป้องเอกราช อธิปไตย และราชบัลลังก์ รวมถึงผลประโยชน์แห่งชาติไว้ให้คงอยู่อย่างยั่งยืนสืบไป.
………………………………….
คอลัมน์ : “Military Key”
โดย… “รหัสมอร์ส”