วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTS“ฝ่ายความมั่นคง”ชี้“ประจำการเรือดำน้ำ”ล่าช้า คือ“ความเสียหาย”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“ฝ่ายความมั่นคง”ชี้“ประจำการเรือดำน้ำ”ล่าช้า คือ“ความเสียหาย”

ทบ.เข้าร่วมฝึกผสมรหัส JPMRC 24-01 ที่สหรัฐฯ พร้อมเปิดโอกาสให้นายทหารหญิงเข้าร่วมการฝึกในหน่วยดำเนินกลยุทธ์ในต่างประเทศเป็นครั้งแรก

@@@…….สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่าน พบกันทุกวันเสาร์กับคอลัมน์ “Military Key” ทางเว็บไซต์ https:// thekey.news ซึ่งตรงกับวันเสาร์ที่ 28 ต.ค.66  สัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ประเด็น การจัดหาเรือดําน้ำ ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน กลายเป็นที่สนใจของสาธารณะอย่างมาก เนื่องจากมีประเด็น การผนวกโครงการจัดหาเรือฟริเกต และชะลอเรือดำน้ำจีนไว้ก่อน เพราะไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามข้อตกลงเกี่ยวกับการที่ประเทศที่ 3 จะไม่ขายเครื่องยนต์ดีเซลสัญชาติเยอรมันที่ใช้สำหรับขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าให้กับเรือดําน้ําจีน ซึ่งดูเหมือนจะยังไม่ได้ข้อสรุปที่เหมาะสม และยังคงถกเถียงอภิปรายกันอยู่ 

@@@…….อย่างไรก็ตาม เรือดำน้ำ คือ ความต้องการกำลังรบที่สำคัญยิ่งยวดของกองทัพเรือในภารกิจความมั่นคงด้านการป้องกันประเทศ ที่จะต้องปฏิบัติ และไม่อาจปฏิเสธได้ ทั้งนี้ การดำเนินโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องใช้งบลงทุนจำนวนมหาศาลของ 2 โครงการพร้อมๆ กันไป อาจสร้างปัญหางบลงทุนไม่เพียงพอ หรือมีเหลืออยู่ในแต่ละปีน้อยเกินไปจน กองทัพเรืออาจไม่สามารถพัฒนากองทัพในส่วนอื่นๆ ได้ไปอีกนานหลายปีก็เป็นได้ ความเสียหายที่เกิดขึ้นปัจจุบันของกองทัพเรือ มิใช่เฉพาะประเด็นด้านงบประมาณ แต่ความเสียหายจริงด้านความมั่นคงนั้น ได้แก่ การบรรจุประจำการระบบอาวุธที่ใช้ในการปฏิบัติการใต้ผิวน้ำที่เป็นเรือดำน้ำนั้น ต้องล่าช้ายืดยาวออกไป ซึ่งฝ่ายการเมือง จะต้องคำนึงเรื่องเหล่านี้ด้วย 

@@@…….การรบในความขัดแย้งที่มีการใช้กำลังทางทหาร และสงครามสมัยใหม่นั้น บทเรียนที่ผ่านมา พบว่าบทบาทของเรือดำน้ำในสงครามทางทะเลที่ยุทธบริเวณในแปซิฟิก มีลักษณะการเปลี่ยนแปลงไปจากยุทธศาสตร์ทางเรือเดิมที่คล้ายคลึงกันทั่วโลก ตัวอย่างการประเมินความสูญเสียของกองเรือญี่ปุ่นโดยกองทัพสหรัฐฯ พบว่า 48% มาจากการโจมตีจากเรือดำน้ำ 45% มาจากการโจมตีทางอากาศ และความสูญเสียของกำลังทางเรือญี่ปุ่นเพียง 0.45% เท่านั้นที่เกิดขึ้นจากเรือรบบนผิวน้ำ ซึ่งในสงครามก่อนหน้านี้ เรือดำน้ำ แทบจะไม่สามารถจมเรือสำคัญๆ ในการรบทางทะเลได้เลย จนกระทั่งปัจจุบัน บทบาทของเรือดำน้ำในยุทธศาสตร์สงครามทางทะเล ได้เปลี่ยนไป พวกมันแสดงบทบาทนำสำหรับการปฏิบัติการพิเศษทางเรือได้อย่างยอดเยี่ยม และเงียบกริบ ตรวจพบได้ยากอย่างยิ่ง 

@@@…….โดยมาตรฐานทั่วไปของเรือดำน้ำดีเซลแบตเตอรี่นั้น เรือดำน้ำดีเซลแบตเตอรี่ไฟฟ้าปัจจุบัน ใช้การขับเคลื่อนจากมอเตอร์ไฟฟ้าไปหมุนเพลาใบจักร ส่วนเครื่องยนต์ดีเซลใช้สำหรับขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเท่านั้น ไม่มีการต่อเพลาไปขับใบจักร ซึ่งกระแสไฟฟ้าที่ได้จากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจะนำไปชาร์จแบตเตอรี่ เพื่อใช้ขับเคลื่อนมอเตอร์ไฟฟ้า และใช้กับอุปกรณ์อื่นๆ ในเรือดำน้ำ จึงอาจมิใช่ประเด็นสมรรถนะหลักของตัวเรือมากนัก นี่ยังไม่รวมถึง ศักยภาพเรือดำน้ำจีนที่ไทยสั่งต่อ สามารถใช้อาวุธซัดส่ง และยิงขึ้นจากใต้น้ำสู่ฝั่งได้ ซึ่งเป็นศักยภาพที่ไม่มีเรือดำน้ำรุ่นใดในภูมิภาคนี้ทำได้ ซึ่งถือเป็นประเด็นความได้เปรียบ ที่เรียกว่า Cutting Edge ที่ให้ผลในการป้องปรามได้อย่างยอดเยี่ยมอีกด้วย 

@@@…….ดังนั้น บางทีข้อเสนอของกองทัพเรือชั้นต้นที่ยอมรับเครื่องยนต์ของจีนเอง หรือเครื่องยนต์เยอรมันใช้แล้ว ก็ไม่น่าจะทำให้เกิดความเสียหายมากมายแต่อย่างไร เพียงแต่จีนควรจะให้ข้อเสนอพิเศษเพิ่มเติมอื่นๆ หรือลดราคาให้กับไทยอย่างเหมาะสมเป็นที่ยอมรับทั้ง 2 ฝ่ายต่อไป ก็อาจถือว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ ทั้งนี้ ฝ่ายความมั่นคงหวังว่า ไม่ว่าผลลัพธ์สุดท้ายจะออกมาเป็นอย่างไร คณะเจรจาฝ่ายไทยเพื่อปรับปรุงข้อตกลงร่วมกับรัฐบาลจีนที่มาจากรัฐบาล กระทรวงกลาโหม และ กองทัพเรือ จะพิจารณาทุกแง่มุมอย่างรอบคอบ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ รวมทั้งไม่ละเลยความเสียหายที่เกิดจากความล่าช้าของการบรรจุประจำการเรือดำน้ำของกองทัพไทยไปพร้อมด้วย

@@@…….ช่วงที่ผ่านมา นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม ได้ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการปฏิบัติงานให้แก่เหล่าทัพ ล่าสุดตรวจเยี่ยมกองทัพอากาศ โดยมี พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ให้การต้อนรับ ณ กองบัญชาการกองทัพอากาศ ในโอกาสนี้ รมว.กลาโหมได้กล่าวชื่นชมศักยภาพ ประสิทธิภาพ และความพร้อมของกองทัพอากาศ ภายใต้การนำของผู้บัญชาการทหารอากาศ ในการปฏิบัติภารกิจป้องกันประเทศ การรักษาอธิปไตยน่านฟ้าไทยและผลประโยชน์ของชาติ รวมทั้งสนับสนุนรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาของประเทศชาติ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากองทัพอากาศสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยความทุ่มเท เข้มแข็ง เสียสละ มีความสามัคคี เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และเป็นที่เชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนในด้านต่างๆ ซึ่งผลการปฏิบัติที่ผ่านมา สามารถสนับสนุนการปฏิบัติได้เป็นอย่างดีและประสบผลสำเร็จ

@@@…….กองบัญชาการกองทัพไทย….พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) และคณะ ตรวจเยี่ยมหน่วยปฏิบัติการเก็บกู้ทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรม ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ศูนย์บัญชาการทางทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย และองค์การความช่วยเหลือแห่งชาวนอร์เวย์ (Norwegian People’s Aid : NPA) เพื่อให้กำลังใจกำลังพลที่ปฏิบัติ​งานในสนาม​ ในพื้นที่ทุ่งกบาลกะไบ​ เขตรักษา​พันธุ์​สัตว์ป่า​พนมดงรัก​ จังหวัดศรีสะเกษ​ พร้อมทั้งพบปะและมอบสิ่งของอุปโภค​บริโภค​ให้กับพี่น้องประชาชน​ในพื้นที่​ นอกจากนี้ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ยังได้ร่วมกิจกรรมจิตอาสา​ก่อสร้างเตาเผาขยะให้กับ​ ครูนักเรียน​ โรงเรียนบ้านสำโรงเกียรติ​ ตำบลสำโรงเกียรติ​ อำเภอขุนหาญ​ จังหวัดศรีสะเกษ​ ไว้ใช้ในการเผาขยะเพื่อสาธารณประโยชน์​ อีกด้วย 

@@@…….สำหรับการเดินทางตรวจเยี่ยมหน่วยปฏิบัติการเก็บกู้ทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรม ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ศูนย์บัญชาการทางทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย และองค์การความช่วยเหลือแห่งชาวนอร์เวย์ (Norwegian People’s Aid : NPA) ของผู้บัญชาการทหารสูงสุดในครั้งนี้ นอกจากจะได้รับทราบผลการปฏิบัติงานที่ผ่านมาและปัญหาข้อขัดข้องที่เกิดขึ้นซึ่งต้องได้การแก้ไขอย่างเร่งด่วนแล้ว ยังเป็นการเสริมสร้างขวัญและกำลังใจให้กับกำลังพลที่ปฏิบัติหน้าที่ด้านการป้องกันประเทศ และการดูแลทุกข์สุขประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อให้มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการปฏิบัติหน้าที่ด้านการพัฒนาประเทศควบคู่กับการช่วยเหลือประชาชน อันจะก่อให้เกิดความเชื่อมั่น ศรัทธา ของประชาชนจนส่งภาพลักษณ์ที่ดีที่ประชาชนมีต่อกองบัญชาการกองทัพไทยต่อไป

@@@…….กองทัพบก….พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ได้เดินทางไปยังค่ายสุรธรรมพิทักษ์ จังหวัดนครราชสีมา เพื่อตรวจเยี่ยมกำลังพลที่เตรียมเดินทางเข้าร่วมการฝึกผสมรหัส JPMRC 24-01 (Joint Pacific Multinational Readiness Center Rotation 24-01) ) ร่วมกับกำลังพลจาก กองพลทหารราบที่ 25 กองทัพบกสหรัฐฯ ภาคพื้นแปซิฟิก ณ ค่าย Schofield รัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีกำหนดเดินทางในวันที่ 27 ตุลาคม 2566 และเดินทางกลับในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 การจัดกำลังพลเข้าร่วมการฝึกผสมรหัส JPMRC 24-01 ของกองทัพบกในครั้งนี้ เป็นการดำเนินการตามนโยบายด้านการฝึกร่วม/ผสม กับกองทัพมิตรประเทศ ของผู้บัญชาการทหารบกที่มีความมุ่งหมายเพื่อให้เกิดการทบทวนแลกเปลี่ยนการปฏิบัติทางยุทธวิธี และนำความรู้ที่ได้รับจากการฝึกมาประยุกต์ใช้ ตลอดจนปรับปรุงหลักนิยมของกองทัพบก รวมถึงเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ 

@@@…….โดยกองทัพบกไทยได้จัดกองร้อยทหารราบเข้าร่วมฝึกและประเมินผล JPMRC ตั้งแต่ พ.ศ.2562 มาอย่างต่อเนื่อง สำหรับในปีนี้กองทัพบกมอบให้ กองทัพภาคที่ 2 โดยกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 6 เป็นหน่วยหลักในการจัดกำลังพลเข้าร่วมการฝึก และเพื่อเป็นการเสริมสร้างบุคลากรของกองทัพบกอย่างทั่วถึง ผู้บัญชาการทหารบกยังให้จัดกำลังพลจากกองทัพภาคที่ 1, กองทัพภาคที่ 3, กองทัพภาคที่ 4 โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า,โรงเรียนนายสิบทหารบก และนายทหารหญิงที่สำเร็จหลักสูตรส่งทางอากาศเข้าร่วมการฝึกในครั้งนี้ด้วย สำหรับการฝึก และประเมินผล ณ ค่าย Schofield รัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา ประกอบด้วย การฝึกการปฏิบัติการร่วม (Interoperability) และการปฏิบัติผสมนานาชาติ (Multinational Integration) โดยปฏิบัติเป็นส่วนหนึ่งของกองพลน้อยชุดรบ (Infantry Brigade Combat Team : IBCT) รวมถึงเรียนรู้ระบบการจัดการฝึกในรูปแบบเสมือนจริง และการใช้เครื่องช่วยฝึกที่มีความทันสมัย อีกทั้งเรียนรู้เทคนิค ยุทธวิธี และระเบียบปฏิบัติประจำในการรบ (TTPs) ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้กับหลักนิยมของกองทัพบกได้ 

@@@…….ผู้บัญชาการทหารบก ได้กล่าวให้กำลังใจกำลังพลก่อนที่จะเดินทางไปเข้าร่วมการประเมินผล JPMRC 24 – 01 ณ รัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่มีการจัดหน่วยทางทหารที่มีความสมบูรณ์ มียุทโธปกรณ์ทันสมัย รวมทั้งประสบการณ์ทางทหารในภูมิภาคต่างๆ จึงเป็นโอกาสอันดีที่กำลังพลจะได้เก็บเกี่ยวความรู้และประสบ การณ์จากการฝึกให้มากที่สุด เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาตนเอง หน่วย และกองทัพบกในอนาคต การฝึกครั้งนี้ได้เปิดโอกาสให้นักเรียนนายร้อย นักเรียนนายสิบ และนายทหารหญิง 2 นาย เข้าร่วมการฝึกในตำแหน่งพลนำสารและพลวิทยุในกองบังคับการกองร้อย ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้นายทหารหญิงเข้าร่วมการฝึกในหน่วยดำเนินกลยุทธ์ในต่างประเทศเป็นครั้งแรก ขอขอบคุณกองทัพภาคที่ 2 กองพลทหารราบที่ 6 และหน่วยที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนจัดส่งกำลังพลไปฝึกร่วมกับกองทัพบกอเมริกาในครั้งนี้ซึ่งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ขอให้กำลังพลใช้โอกาสนี้ให้เกิดประโยชน์ ตั้งใจทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด สมกับที่เป็นตัวแทนของกองทัพบกและประเทศชาติ

@@@…….กองทัพเรือ…..พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) เป็นประธานในพิธีแสดงความยินดีและมอบโอวาทกับกำลังพลกองทัพเรือ ที่เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 ณ เมืองหางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน โดย พล.ร.อ. อาภากร อยู่คงแก้ว ประธานกรรมการสวัสดิการกีฬากองทัพเรือ ได้นำคณะนักกีฬา ผู้ฝึกสอน และเจ้าหน้าที่ เข้ารับมอบโอวาทจากผู้บัญชาการทหารเรือ ณ ห้องรับรอง กองบัญชาการกองทัพเรือ พระราชวังเดิม ตามที่คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยได้ส่งนักกีฬาทีมชาติไทยเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 19 ณ เมืองหางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน นักกีฬาทีมชาติไทยสามารถสร้างผลงานได้รับเหรียญรางวัลเป็นอันดับที่ 8 ประกอบด้วย 12 เหรียญทอง 14 เหรียญเงิน และ 32 เหรียญทองแดง ทั้งนี้กองทัพเรือมีส่วนร่วมในการสนับสนุนกำลังพลให้กับสมาคมการกีฬาต่าง ๆ จำนวน 38 นายเข้าร่วมการแข่งขัน โดยสามารถทำรางวัลจากประเภทกีฬาดังต่อไปนี้ – ทีมตะกร้อชาย 1 เหรียญทอง – มวย 1 เหรียญเงิน 1 เหรียญทองแดง – เรือใบ 2 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน 1 เหรียญทองแดง – เรือพาย 1 เหรียญเงิน 1 เหรียญทองแดง 

@@@……โอกาสนี้ ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้มอบโอวาทให้แก่นักกีฬา ผู้ฝึกสอน และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทุกคน ที่ได้ทำหน้าที่ของตนได้เป็นอย่างดีจนประสบความสำเร็จ รวมทั้งได้สร้างชื่อเสียง เกียรติประวัติ มาสู่กองทัพเรือและประเทศชาติ โดยนักกีฬาทุกคนล้วนมีความเพียรพยายาม ความมุ่งมั่น และความอดทน ในการฝึกซ้อมอย่างหนัก ซึ่งเห็นได้จากเหรียญรางวัล อันเป็นเครื่องหมายที่แสดงให้เห็นว่าทุกคนสามารถฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ จนประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ผู้บัญชาการทหารเรือได้เน้นย้ำให้กำลังพลกองทัพเรือทุกนาย ไม่ทิ้งหน้าที่หลักซึ่งเป็นงานในส่วนของกองทัพเรือ โดยขอให้ยืนหยัดและปฏิบัติหน้าที่ของแต่ละคนให้ดีที่สุด

@@@……กองทัพอากาศ….พล.อ.อ. วรกฤต มุขศรี ผู้บัญชาการกองบัญชาการควบคุมการปฏิบัติทางอากาศ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานด้านบรรเทาสาธารณภัย ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพอากาศ เป็นประธานในการประชุม เพื่อสรุปผลการปฏิบัติงานช่วยเหลือ และบรรเทาสาธารณภัย ของศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพอากาศ ปี 2566 รวมทั้ง รับฟังสถานการณ์สาธารณภัยที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และการคาดการณ์สาธารณภัยที่จะเกิดขึ้นใน ปี 2567 พร้อมทั้งให้เตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก(PM2.5) ทั้งนี้ ยังสั่งการให้ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพอากาศ ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยโรงเรียนการบิน และศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองบินต่างจังหวัด เตรียมยุโธปกรณ์ และกำลังพล ให้พร้อมในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็วและทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน 

 ………………………………….

 คอลัมน์ : “Military Key”

 โดย ..“รหัสมอร์ส”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img