สถานการณ์ภายในประเทศไทยยังสงบ ขณะที่การสู้รบในเมียนมายังน่าเป็นห่วง ฝ่ายความมั่นคงมองว่าไทยควรแสดงบทบาทนำเกี่ยวกับการปฏิบัติการด้านมนุษยธรรม และวางตัวเป็นกลางต่อสถานการณ์ในเมียนมา
@@@…….สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่าน พบกันทุกวันเสาร์กับคอลัมน์ “Military Key” ทางเว็บไซต์ https:// thekey.news ซึ่งตรงกับวันเสาร์ที่ 4 พ.ค.67 สถานการณ์การเมืองในประเทศยังเป็นไปตามปกติ ทหารทุกเหล่าทัพยังปฏิบัติหน้าที่ของตนเองตามที่ได้รับมอบหมาย แตสิ่งที่น่าเป็นห่วงดูจะเป็นเพื่อนบ้านของไทย
@@@…….การสู้รบในเมียนมา และการแสดงปฏิกิริยาด้วยกำลังของกลุ่มชาติพันธ์ ยังคงน่าเป็นห่วง เมื่อรัฐบาลทหาร ยังไม่สามารถควบคุมพื้นที่ได้ทั้งหมด ในขณะที่กลุ่มชาติพันธุ์ และฝ่ายต่อต้านรัฐบาล เริ่มมีบทบาทและอำนาจมากขึ้น เมียนมาจะบริหารประเทศต่อไปอย่างไร และจะเกิดอะไรขึ้นบ้างในอนาคตจากนี้ไป กลายเป็นประเด็นที่จะต้องจับตาใกล้ชิด เนื่องจากเมียนมา คือหนึ่งในชาติอาเซียนที่มีพรมแดนยาวเหยียดติดชิดกับประเทศไทย….ความขัดแย้งในเมียนมาครั้งนี้แตกต่างจากครั้งก่อนๆ โดยกลุ่มชาติพันธุ์ อาทิ กลุ่มกะฉิ่น กลุ่มอาระกัน (AA) กลุ่มสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (เคเอ็นยู) เริ่มมีบทบาทต่อต้านรัฐบาลทหารมากขึ้น และกลุ่มพันธมิตรอื่นๆ ที่เคยเงียบ มาก่อนหน้านี้ เป็นต้นนั้น ก็เข้ามามีส่วนร่วมในความขัดแย้งครั้งนี้ด้วย
@@@…….ปัจจุบัน รัฐยะไข่ ทางตะวันตกของประเทศที่อยู่ติดกับบังกลาเทศนั้น กำลังมีการสู้รบกันรุนแรง มีกลุ่มเอเอ และพันธมิตร พยายามครอบครองพื้นที่ แต่ก็ต้องเผชิญหน้ากับทหารโรฮิงญาของรัฐบาลเมียนมา ถัดจากทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ จะเป็นรัฐชินที่ติดกับอินเดีย ถือเป็นฐานต่อต้านรัฐบาลทหารในช่วงแรกๆ และตอนนี้ทหารเมียนมาก็ยังควบคุมพื้นที่นี้แบบเบ็ดเสร็จไม่ได้ ถัดจากรัฐชินทางตอนเหนือจะเป็น รัฐสะกาย ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (เอ็นยูจี) มีความพร้อมประกาศเป็นรัฐอิสระแล้ว ส่วน รัฐกะฉิ่น ที่ติดกับจีน เป็นรัฐที่ฝ่ายต่อต้านอาจสามารถดึงมาร่วมขบวนการได้
@@@…….ส่วน รัฐฉาน พื้นที่ทางตะวันออกตอนเหนือของเมียนมา ฝ่ายต่อต้านค่อนข้างควบคุมพื้นที่ได้แล้ว และรัฐฉานตอนใต้ ซึ่งใกล้กับจังหวัดแม่ฮ่องสอน และเป็นพื้นที่ของกลุ่มกะเหรี่ยง ก็พร้อมประกาศการปกครองตนเองได้เช่นกัน ถัดลงมาทางใต้อีกจะเป็น รัฐมอญ ซึ่งรัฐนี้ทหารเมียนมายังคุมพื้นที่ได้อยู่ และในเขตตะนาวศรีทางตอนใต้สุด กลุ่มชาติพันธ์ุครอบครองพื้นที่เป็นส่วนใหญ่ได้ ขณะที่ รัฐฉานทางตอนใต้ เป็นพื้นที่ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด รองลงมา คือพื้นที่รัฐสะกาย ที่กลุ่มชาติพันธุ์ ได้เริ่มเจาะพื้นที่ไข่แดงได้แล้ว ขณะเดียวกันรัฐยะไข่ก็น่าเป็นห่วง เพราะกลุ่มชาติพันธ์ุในรัฐยะไข่ พยายามดึงกลุ่มโรฮิงญาเข้ามามีส่วนร่วมในการสถาปนาพื้นที่เป็นสมาพันธรัฐใหม่ แต่ยังต้องจับตาดูต่อไป เนื่องจากรัฐบาลเมียนมา ก็จ้างทหารโรฮิงญาเข้ามาร่วมรบด้วยเช่นกัน
@@@…….อย่างไรก็ตาม ด้านจีนมีความระมัดระวังในการวางตัวกับรัฐกะฉิ่น จึงเป็นที่น่าจับตาด้านเศรษฐกิจในพื้นที่นี้ ท่ามกลางความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม กองทัพเมียนมาไม่สามารถเข้าควบคุมในหลายพื้นที่ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เป็นเพราะกองทัพยึดได้ แต่ปกครองไม่ได้ ซึ่งอาจมิได้หมายความว่า กองทัพพ่ายแพ้ด้านกำลัง และอาวุธ แต่เป็นเพราะทหารชั้นผู้น้อยยอมแพ้ในการปฎิบัติหน้าที่ หรือเกิดขึ้นจากปัญหาภายในของกองทัพเมียนมาเองส่วนหนึ่งด้วย
@@@…….ทั้งนี้ โอกาสที่กลุ่มต่อต้าน และกลุ่มชาติพันธ์ุจะโจมตีพื้นที่ไข่แดงของเมียนมา เช่น เมืองหลวงเนปิดอว์ และพื้นสำคัญอื่นๆ ยังคงเป็นไปได้ยากมาก แต่พื้นที่ไข่แดงนั้น อาจได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจมากกว่าการยึดพื้นที่ โดยหากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในประเทศ ถดถอยไปมากกว่านี้ อาจส่งผลให้เกิดการการเปลี่ยนแปลงจากภายในเมียนมาเอง หรือบันไดลง และการช่วยเหลืออื่นๆ ประกอบ เช่น การเจรจาสันติภาพ ซึ่งการหาบันไดลงให้เมียนมานั้น คนภายนอกต้องดำเนินการทางการทูตควบคู่กับเศรษฐกิจร่วมด้วย เช่น การให้พื้นที่ปลอดภัยแก่กลุ่มที่อ่อนไหว โดยมีองค์กรนานาชาติเข้ามามีส่วนร่วม และรัฐบาลทหารเมียนมาให้สัญญาว่าจะให้ความร่วมมืออย่างดี ทั้งนี้ ในแง่ประเด็นทางเศรษฐกิจนั้น ภาครัฐและภาคเอกชนในอาเซียน ซึ่งรวมถึงประเทศไทย อาจต้องเข้าไปเจรจา หรือมีข้อเสนอแนะแก่ภาคธุรกิจในเมียนมา แต่ควรมีภาครัฐของไทย เช่น กระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้นำในการดำเนินการไปพร้อมกับการแสวงความร่วมมือกับจีน เพื่อให้การสู้รบคลี่คลายลง และเศรษฐกิจเมียนมา เดินหน้าต่อไปได้บนความปรองดองภายใต้เงื่อนไขที่ตกลงกันได้สำหรับอนาคตจากนี้ไป
@@@…….อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากแหล่งข่าวที่ยืนยันไม่ได้ว่า สหรัฐฯพยายามที่จะขายอาวุธยุทโธปกรณ์ให้แก่กลุ่มชาติพันธุ์ โดยแสวงความมร่วมมือจากภาครัฐของไทย ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศของไทย ได้แสดงท่าทีไม่เห็นชอบด้วยนั้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ “ปานปรีย์ พหิทธานุกร” อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรมว.ต่างประเทศ ตัดสินใจลาออกจากการร่วมในคณะรัฐมนตรีชุดล่าสุด เนื่องจากความเห็นไม่ตรงกับฝ่ายการเมืองที่ทรงอิทธิพลบางส่วน ก็เป็นได้นั้น ซึ่งฝ่ายความมั่นคงมองว่า ท่าทีของไทย สมควรมุ่งไปที่ความสงบเรียบร้อยตามตะเข็บชายแดน และการแสดงบทบาทนำเกี่ยวกับการปฏิบัติการด้านมนุษยธรรม รวมทั้งการวางตัวเป็นกลางต่อสถานการณ์ในเมียนมา พร้อมสนับสนุนเวทีการเจรจาให้เกิดความปรองดองขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านชิดชายแดนไทย มิใช่ “สุมไฟ” ให้การสู้รบดำเนินต่อไป ทั้งนี้เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน จะสามารถทำให้เกิดขึ้นในภูมิภาคได้สำเร็จในที่สุด
@@@…….กลับมาที่บ้านเรากัน จากการที่กองทัพบกได้กำหนดห้วงการรายงานตัวของทหารกองเกินเพื่อเข้ารับราชการเป็นทหารกองประจำการ ณ พื้นที่หน่วยทหารทั่วประเทศ ในวันที่ 1 พ.ค. และวันที่ 3 พ.ค.67 ซึ่งมีขั้นตอนประกอบด้วย การบันทึกประวัติ อาทิ ครอบครัว การศึกษา และทักษะอาชีพ รวมทั้งข้อจำกัดและอาการเจ็บป่วยต่างๆ, การตรวจร่างกายและคัดกรองปัจจัยเสี่ยง ตามมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันโรค COVID-19, การพูดคุยซักถามและประเมินสภาพจิตใจทหารใหม่ เพื่อให้หน่วยได้มีข้อมูลพื้นฐานเบื้องต้น และดำเนินการฝึกให้สอดคล้องกับสภาพบุคคล นอกจากนี้ยังมีการแจกจ่ายของใช้และเครื่องแต่งกายที่จำเป็นในการฝึกอีกด้วย
@@@…….ด้วยความห่วงใยและเข้าใจในทหารใหม่และครอบครัว พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผู้บัญชาการทหารบก ได้มอบหมายให้หน่วยทหารทั่วประเทศจัดกิจกรรมต้อนรับญาติทหารใหม่ ในวันเข้ากองประจำการวันแรก โดยจัดพื้นที่รองรับญาติ พร้อมนำชมบรรยากาศภายในหน่วยฝึก และได้ให้หน่วยประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงสิทธิและสวัสดิการที่ทหารกองประจำการจะได้รับ ทั้งเครื่องแต่งกายประจำตัว การดูแลรักษาพยาบาล โภชนาการ และค่าตอบแทนรายเดือน ตลอดจนขั้นตอนการดำเนินการ ฝึกทหารใหม่ที่กองทัพบกได้พัฒนาและกำหนดขึ้น เพื่อปรับสภาพจากพลเรือนสู่ทหารอาชีพ
@@@…….ขณะเดียวกัน กองทัพบกโดยกรมยุทธศึกษาทหารบก ได้ดำรงความต่อเนื่องของศูนย์อำนวยการและกำกับดูแลการฝึกทหารใหม่ (CCIR) ที่เริ่มดำเนินการครั้งแรกในการฝึกทหารใหม่ผลัดที่2/2566 และได้ถอดบทเรียนการปฏิบัติสู่แนวทางการฝึกในปัจจุบัน โดย CCIR ได้ติดตามความพร้อมของหน่วยฝึก ตั้งแต่การฝึกอบรมและทบทวนครูฝึก ผู้ฝึกและผู้ช่วยผู้ฝึก รวมทั้งประสานกับโรงพยาบาลในสังกัดกองทัพบกทั่วประเทศ และรับทราบรายงานการปฏิบัติประจำวันของแต่ละหน่วย ตลอดจนกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อดูแลทหารใหม่หรือน้องคนเล็กของครอบครัวอย่างเต็มที่และดีที่สุด
@@@…….ที่กองทัพเรือ….พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในการกล่าวต้อนรับคณะผู้นำศาสนา (ดาอี) ประจำปี 2567 จำนวน 30 คน ณ ท้องพระโรง พระราชวังเดิม กรุงเทพมหานคร สำหรับโครงการรวมใจไทยเป็นหนึ่ง กองทัพเรือ ได้มีการดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ 2548 เป็นต้นมา โดยมีวัตถุ ประสงค์ เพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ และเสริมสร้างทัศนคติที่ดีในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรม รวมทั้งปลูกฝังความรักชาติและความภาคภูมิใจในความเป็นคนไทยให้แก่ คณะเยาวชนและคณะผู้นำศาสนา(ดาอี) ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ปฏิบัติงานของหน่วยเฉพาะกินาวิกโยธินกองทัพเรือ ได้แก่ อ.บาเจาะ อ.ยื่งอ อ.ตากใบ และ อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส ซึ่งได้เดินทางมาทัศนศึกษาสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ แหล่งเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมและสถานที่ท่องเที่ยวในพื้นที่ของกองทัพเรือ
@@@…….สำหรับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่ให้การสนับสนุน โครงการฯ ได้แก่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง 3 และมัสยิดยามีอุลค็อยรียะห์ ซึ่งในปีงบประมาณ 2556 กองทัพเรือ ได้อนุมัติขยายกลุ่มเป้าหมายในการดำเนินโครง การฯ โดยเชิญคณะผู้นำศาสนา(ดาอี) ในพื้นที่ปฏิบัติงานของหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินกองทัพเรือ เข้าร่วมโครงการฯ โดยกำหนดการจัดกิจกรรมฯ จำนวน 1 ครั้ง ต่อปี ทั้งนี้ โครงการรวมใจไทยเป็นหนึ่ง กองทัพเรือ ประจำปี 2567 ได้กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 เม.ย.- 6 พ.ค. 2567
………………………………….
คอลัมน์ : “Military Key”
โดย.. “รหัสมอร์ส”