วันอังคาร, กันยายน 17, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSรำลึก 79 ปี''นิวเคลียร์ถล่มญี่ปุ่น''บทเรียนที่ต้องจดจำ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

รำลึก 79 ปี”นิวเคลียร์ถล่มญี่ปุ่น”บทเรียนที่ต้องจดจำ

การใช้อาวุธนิวเคลียร์ หรือ อาวุธที่มีทำลายล้างสูงตามมาตรฐานสากลเหมือนกันทั่วโลก อำนาจในการตัดสินตกลงใจสำหรับการอนุมัติ และการสั่งใช้อาวุธที่มีการทำลายล้างสูง จะอยู่ที่ฝ่ายการเมืองที่ถือครองอำนาจรัฐ และฝ่ายนิติบัญญัติในรัฐสภาฯ

@@@…….สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่าน พบกันทุกวันเสาร์กับคอลัมน์ “Military Key” ทางเว็บไซต์ https:// thekey.news ซึ่งตรงกับวันเสาร์ที่ 10 ส.ค.67 สถานการณ์การเมืองในประเทศขณะนี้ ต้องจับตาดูกันต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้ยุบพรรคก้าวไกล ส่วนสถานการณ์ต่างประเทศคนไทยที่อยู่ประเทศอิสราเอลก็ต้องติดตามข่าวว่าจะเกิดความรุนแรงหรือไม่

@@@…….อย่างไรก็ตาม ทางกองทัพอากาศ โดย พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการกองทัพอากาศร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามสถานการณ์และเตรียมความพร้อมกำลังพล อากาศยาน รวมทั้งหารือการปฏิบัติตามแผนการช่วยเหลือคนไทยในอิสราเอล หากเกิดสถานการณ์รุนเเรง ปัจจุบันกองทัพอากาศมีความพร้อมเต็มกำลังในการเข้าช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบ โดยติดตามสถานการณ์และประสานการปฏิบัติกับกระทรวงการต่างประเทศอย่างใกล้ชิด และพร้อมปฏิบัติการช่วยเหลือทันทีเมื่อรัฐบาลสั่งการ ทั้งนี้ กองทัพอากาศได้จัดเตรียมเครื่องบิน Airbus และ C-130 พร้อมวางแผนเส้นทางการบินไว้เบื้องต้นแล้ว ซึ่งผู้บัญชาการทหารอากาศได้กำชับให้คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติหน้าที่และประชาชนเป็นหลัก

@@@…….สัปดาห์ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นจัดพิธีรำลึกครบ 79 ปี เหตุการณ์ที่สหรัฐฯ ทิ้งระเบิดปรมาณูถล่มเมืองฮิโรชิมา Hiroshima ที่นำมาซึ่งการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะที่ผู้นำญี่ปุ่นเรียกร้องโลกที่ปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ โดยมีการตีระฆังแห่งสันติภาพในเวลา 08.15 น. วันนี้ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งตรงกับเวลาที่ระเบิดของสหรัฐฯ ที่มีชื่อเล่นว่า ‘ลิตเติลบอย Little Boy’ ขนาด 15 KT ถูกทิ้งลงในเมืองฮิโรชิมะ ในวันที่ 6 ส.ค.2488 สังหาร ผู้คนไปราว 140,000 คน ก่อนที่ 3 วันต่อมา สหรัฐฯ ได้ทิ้งระเบิดปรมาณู Fat Man ลูกที่ 2 ขนาด 20 KT ในเมืองนางาซากิ Nagasaki และทำให้มีผู้เสียชีวิตทันทีราว 75,000 คน ส่งผลให้ญี่ปุ่นยอมประกาศยอมแพ้ต่อสงคราม เมื่อวันที่ 15 ส.ค.2488 นับเป็นการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งหมายถึงการเข้าสู่ยุคนิวเคลียร์ที่ทำให้ความมั่นคงของโลกเปลี่ยนไปตลอดกาล ไม่มีทางหวนกลับไปได้อีกต่อไป 

@@@…….สำหรับพิธีรำลึกในปีนี้มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 50,000 คน ซึ่งรวมถึงผู้แทนทูตจาก 109 ประเทศ ณ อนุสรณ์สันติภาพฮิโรชิมะ Hiroshima Peace Memorial Park ขณะที่นายกรัฐมนตรี ฟูมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่น เรียกร้องโลกที่ปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ แม้ว่า ความมุ่งหวังดังกล่าวจะเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง ปัจจุบัน หัวรบนิวเคลียร์เพียงหัวเดียว สามารถสังหารผู้คนได้หลายแสนคนในทันที ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อมนุษย์ชาติ และสิ่งแวดล้อมอย่างยาวนาน การระเบิดอาวุธนิวเคลียร์เพียงลูกเดียวเหนือกรุงนิวยอร์ก อาจทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึงประมาณ 583,160 คน .. เมื่อรวมกันแล้ว รัสเซีย สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส จีน อินเดีย ปากีสถาน อิสราเอล และเกาหลีเหนือ ถือครองอาวุธนิวเคลียร์ มากกว่า 12,000 ลูก ซึ่งส่วนใหญ่มีพลังทำลายล้างมากกว่าอาวุธนิวเคลียร์ที่ทิ้งลงที่เมืองฮิโรชิม่าหลายเท่า นอกจากนี้ ยังมีประเทศอื่นอีก 32 ประเทศที่เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหานี้ โดยมี 6 ชาติมหาอำนาจนิวเคลียร์หลักที่ถือครองอาวุธนิวเคลียร์เป็นจำนวนมาก และมีอีก 28 ประเทศที่สนับสนุนให้ใช้อาวุธฯ ดังกล่าว 

@@@…….ตัวอย่างเช่น หัวรบนิวเคลียร์บนเรือดำน้ำติดอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ เพียงลำเดียว มีพลังทำลายล้างสูงกว่าระเบิดทั้งหมดที่ทิ้งลงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึง 7 เท่า รวมถึงระเบิดปรมาณู 2 ลูกที่ทิ้งลงที่ญี่ปุ่นด้วย และโดยปกติแล้ว สหรัฐฯ จะมีเรือดำน้ำดังกล่าว 10 ลำในทะเลเปิด นอกจากนี้ มหาอำนาจด้านนิวเคลียร์เกือบทั้งหมด รวมถึง สหรัฐฯ รัสเซีย และจีน กำลังขยายคลังอาวุธนิวเคลียร์ของตนอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในด้านขนาด ขีดความสามารถ หรือทั้งสองอย่าง การแข่งขันด้านอาวุธที่เพิ่มมากขึ้นนี้ ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามนิวเคลียร์มากขึ้นจนเป็นที่น่ากังวล โดยเฉพาะในสถานการณ์การสู้รบในภาคพื้นยุโรป และในพื้นที่ตะวันออกกลาง ซึ่งแต่ละชาติในความขัดแย้ง ได้แก่ ยูเครน (Ukrain), รัสเซีย (Russia), อิสราเอล (Israel) และอิหร่าน (Iran) นั้น ต่างถือครองอาวุธนิวเคลียร์ขนาดย่อมลงมา หรือไม่เกิน 200 KT อยู่จำนวนหนึ่ง เป็นต้นอีกด้วย 

@@@…….โดยปกติแล้ว การใช้อาวุธนิวเคลียร์ หรือ อาวุธที่มีทำลายล้างสูงตามมาตรฐานสากลเหมือนกันทั่วโลกนั้น อำนาจในการตัดสินตกลงใจสำหรับการอนุมัติ และการสั่งใช้อาวุธที่มีการทำลายล้างสูง จะอยู่ที่ฝ่ายการเมืองที่ถือครองอำนาจรัฐ และฝ่ายนิติบัญญัติในรัฐสภาฯ ของแต่ละประเทศ ขณะที่ฝ่ายทหาร มีหน้าที่เก็บรักษา ซ่อมบำรุงให้พร้อมใช้งานได้ทันทีเมื่อสั่งเท่านั้น  ทั้งนี้ ฝ่ายความมั่นคง คาดหวังว่า ฝ่ายการเมืองของแต่ละชาติทั่วโลก โดยเฉพาะชาติมหาอำนาจนิวเคลียร์ จะตระหนักรู้ถึงอันตรายร้ายแรงต่อความมั่นคงของมนุษยชาติ และมีความยับยั้งชั่งใจอย่างเพียงพอ รวมทั้งไม่ดำเนินการใด ๆ ที่จะทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งที่มีการใช้กำลังปัจจุบันในหลายภูมิภาคขณะนี้ ขยายตัวไปจนถึงจุดนั้น ทั้งนี้ เพื่อให้ความสงบสุข และสันติภาพของโลก ได้รับการประกันให้เกิดขึ้นให้สำเร็จได้จากนี้ไป 

@@@……นายสุทิน  คลังแสง รมว.กลาโหม เป็นประธานในพิธีส่งมอบต้นแบบรถฐานยิงจรวดหลายลำกล้องอเนกประสงค์ โดยมี พล.อ. ดร.ชรัติ อุ่มสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ เป็นผู้ส่งมอบต้นแบบรถฐานยิงจรวดหลายลำกล้องอเนกประสงค์ฯ ให้กับ พล.ต. วรการ ฮุ่นตระกูล ผู้บัญชาการกองพลทหารปืนใหญ่ เป็นผู้แทนกองทัพบกในการรับมอบ เพื่อนำต้นแบบรถฐานยิงจรวดหลายลำกล้องอเนกประสงค์ฯ ไปทดสอบทดลองใช้งานในกองพลทหารปืนใหญ่ (ป.71 พัน.711) ต่อไป ซึ่งเป็นความร่วมมือในโครงการวิจัยและพัฒนาร่วมต้นแบบรถฐานยิงจรวดหลายลำกล้องอเนกประสงค์ (Multi-Purpose Launcher) ระหว่างสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศกับกองทัพบก

@@@……การส่งมอบต้นแบบรถฐานยิงจรวดในครั้งนี้ นับว่าเป็นกระบวนการสำคัญในการวิจัยและพัฒนายุทโธปกรณ์ให้ได้มาซึ่งผลงานวิจัยที่ได้มาตรฐานของกองทัพบก และนับเป็นก้าวสำคัญในการร่วมกันผลักดัน ผลงานวิจัยเข้าสู่ภาคการผลิต และนำไปสู่การจัดจำหน่ายอันเป็นการลดการนำเข้ายุทโธปกรณ์จากต่างประเทศ นำไปสู่การพึ่งพาตนเองของประเทศได้อย่างยั่งยืน และเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงผลจากการดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงกลาโหมในการผลักดันอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ

@@@…….ที่อาคารอเนกประสงค์ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้บรรยายพิเศษให้แก่คณาจารย์และนักศึกษาหลักสูตรเสนาธิการ รุ่นที่ 65 หลักสูตรเสนาธิการร่วม รุ่นที่ 5 และหลักสูตรการปฏิบัติการร่วม รุ่นที่ 8 ในหัวข้อ “ความท้าทายของกองทัพไทยในปัจจุบัน: ประเด็นการแข่งขันของมหาอำนาจในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ส่งผลกระทบต่อไทยอย่างไร” และการเสวนาหัวข้อ การพัฒนากองทัพให้ทันสมัยสอดคล้องกับภัยคุกคามในอนาคต ซึ่งการบรรยายพิเศษในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักศึกษาได้เพิ่มพูนความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และมีความเข้าใจในบทบาทและภารกิจของหน่วยงานด้านความมั่นคง โดยเฉพาะในประเด็น ความสำคัญของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง รวมทั้งท่าทีของกองทัพไทย กับการวางตัวเป็นกลางภายใต้การแข่งขันของประเทศมหาอำนาจ โดยมุ่งเน้นการเสริมสร้างความสัมพันธ์และร่วมมือกับมิตรประเทศ ไม่ผูกพันการใช้กำลังและการใช้พื้นที่เพื่อการปฏิบัติการทางทหาร ตลอดจนเคารพในอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนตามมาตรฐานสากล และยึดมั่นกฎหมายระหว่างประเทศทั้งในระดับสากลและภูมิภาคอาเซียน

@@@…….จากนั้น ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้ร่วมเสวนาในหัวข้อ การพัฒนากองทัพให้ทันสมัยสอดคล้องกับภัยคุกคามในอนาคต เพื่อให้พร้อมเผชิญความท้าทาย พร้อมวิเคราะห์บทเรียนข้อเสนอแนะ การประเมินแนวโน้มของสถานการณ์ปัจจุบันที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง ความร่วมมือในการสร้างสันติภาพและเสถียรภาพ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ความปลอดภัยตามแนวชายแดน การแก้ไขปัญหาสิ่งผิดกฎหมาย ยาเสพติด การลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย การค้ามนุษย์ อาชญากรรมออนไลน์ สแกมเมอร์ เป็นต้น โดยมีหัวใจสำคัญคือการร่วมกันดูแลประชาชน และรักษาประโยชน์ของประเทศไทยให้ดีที่สุด เพื่อให้นักศึกษาทั้ง 3 หลักสูตรได้นำความรู้และประสบการณ์ดังกล่าวไปปรับใช้เป็นประโยชน์ในการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

@@@…….กองทัพเรือ…พล.ร.อ. อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานการแถลงข่าวการจัดการแสดงกาชาดคอนเสิร์ต ครั้งที่ 50 เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 “ถวายพระพรชัยมงคลด้วยใจภักดิ์ ด้วยรักจากใจราชนาวี” โดยมี นายเตช บุนนาค เลขาธิการสภากาชาดไทย พล.ร.ท. ขวัญชัย  อินกว่าง รองเสนาธิการทหารเรือ สายงานกิจการพลเรือน นาวาเอก ศุภกร  แตงน้อย ผู้บังคับกองดุริยางค์ทหารเรือ ฐานทัพเรือกรุงเทพ และ นางสาววราพรรณ  ชัยชนะศิริ  รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ผู้แทนอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ร่วมแถลงข่าว ซึ่งกำหนดจัดการแสดงกาชาดคอนเสิร์ต ครั้งที่ 50 เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 “ถวายพระพรชัยมงคลด้วยใจภักดิ์ ด้วยรักจากใจราชนาวี” ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ในวันอังคารที่ 27 และวันพุธที่ 28 สิงหาคม 2567 

@@@……การจัดแสดงกาชาดคอนเสิร์ตในครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 50 ซึ่งมีความเป็นมาโดยนับตั้งแต่พุทธศักราช 2504 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีพระราชประสงค์ให้กองทัพเรือร่วมกับสภากาชาดไทย โดยให้วงดุริยางค์ราชนาวีบรรเลงเพลงคลาสสิก เพื่อพัฒนาการดนตรีคลาสสิกของไทยให้เทียบเท่านานาอารยประเทศ และหาเงินรายได้บำรุงสภากาชาดไทย ซึ่งกองทัพเรือได้ดำเนินการตามพระราชประสงค์มาโดยตลอด โดยใช้ชื่อการจัดการแสดงดนตรีว่า “กาชาดคอนเสิร์ต” สำหรับเงินรายได้จากการร่วมบริจาคนั้น สภากาชาดไทยจะนำเงินรายได้ไปช่วยเหลือประชาชนทั่วไปในทุกรูปแบบ เช่น โครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติต่าง ๆ อาทิ โครงการมะเร็งเต้านม กิจการอาสายุวกาชาดเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ศูนย์รับบริจาคอวัยวะต่อชีวิตเพื่อนมนุษย์ และโครงการมอบชีวิตใหม่แด่เพื่อนมนุษย์ ด้วยการบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต เป็นต้น ทั้งนี้ กองทัพเรือจะทำหน้าที่เป็นองค์กรกลางในการดำเนินการและนำรายได้ทั้งหมดโดยไม่หักค่าใช้จ่ายทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายโดยเสด็จพระราชกุศล บำรุงสภากาชาดไทยเพื่อใช้ในภารกิจต่าง ๆ 

……………..

คอลัมน์  : “Military Key”

โดย.. “รหัสมอร์ส”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img