วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSลงทุนพลังงานในพื้นที่ใต้เกาะกูด...ไม่จำเป็นอีกต่อไป???
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ลงทุนพลังงานในพื้นที่ใต้เกาะกูด…ไม่จำเป็นอีกต่อไป???


“….ฝ่ายความมั่นคง เชื่อว่า การเจรจากับกัมพูชาเกี่ยวกับทะเลอาณาเขตนั้น ไม่ได้จบลง หรือยอมกันง่าย ๆ แน่นอน ดังนั้น นอกจากฝ่ายความมั่นคง และฝ่ายทหารจะเตรียมกำลังให้พร้อมไว้แล้วนั้นก็ตาม แต่ฝ่ายความมั่นคงก็คาดหวังว่า รัฐบาล ฝ่ายการเมือง และฝ่ายบริหารของไทย จะพิจารณาในประเด็นเหล่านี้ให้รอบคอบ รอบด้าน….”

@@@…….สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่าน พบกันทุกวันเสาร์กับคอลัมน์ “Military Key” ทางเว็บไซต์ https:// thekey.news ซึ่งตรงกับวันเสาร์ที่ 26 ต.ค.67 สัปดาห์นี้จะมาคุยเรื่องของ “เกาะกูด” โดย สนธิสัญญาสยาม – ฝรั่งเศส และพิธีสารแนบท้าย ค.ศ.1907 ซึ่งไทยใช้เป็นหลักฐานในการปักปันเขตแดนกับกัมพูชา ระบุข้อความในข้อ 2 ว่า “รัฐบาลฝรั่งเศส ยอมยกดินแดนเมืองด่านซ้าย และเมืองตราด กับทั้งเกาะทั้งหลายซึ่งอยู่ภายใต้แหลมสิงลงไปจนถึงเกาะกูดนั้น ให้แก่กรุงสยาม” .. เมื่อพิจารณาหลักฐานดังกล่าวย่อมแสดงว่า เกาะกูดเป็นอธิปไตยของไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2450 

@@@…….การที่สนธิสัญญาฉบับดังกล่าวระบุด้วยว่า “เขตแดนในระหว่างกรุงสยามกับอินโดจีนของฝรั่งเศส เริ่มตั้งแต่ชายทะเลที่อยู่ตรงข้ามยอดเขาสูงที่สุดของเกาะกูด จากแนวพรมแดนจุดนี้ต่อไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ” ทำให้บางฝ่ายตีความเอาเองว่า การเล็งจากหลักเขตแดนสุดท้ายระหว่างไทยกับกัมพูชาบริเวณ จ.ตราด และ จ.เกาะกง ไปยังจุดสูงสุดของเกาะกูด จะทำให้พื้นที่ 2 ใน 3 ของเกาะกูด ตกเป็นของกัมพูชา ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง และสนธิสัญญาสยาม – ฝรั่งเศส ค.ศ.1907 เกี่ยวข้องกับการปักปันเขตแดนทางบกเท่านั้น 

@@@…….อย่างไรก็ตาม พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย – กัมพูชา Overlapping Claims Area: OCA ในอ่าวไทยระหว่างไทย กับกัมพูชา ครอบคลุมเนื้อที่ประมาณ 26,000 ตร.กม. คาดว่าจะมีน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติสำรองมากกว่า 500 ล้านบาร์เรล ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีแนวคิดการเจรจาเพื่อพัฒนาพื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนร่วมกัน โดยไทย และกัมพูชาร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลในไหล่ทวีปเมื่อปี 2544 : MoU 44 กรอบกำหนดแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน คือ พื้นที่ทับซ้อนเหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือขึ้นไป ให้แบ่งเขตทางทะเลอย่างชัดเจนตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ

@@@…….ส่วนพื้นที่ทับซ้อนใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือลงมาให้พัฒนาพื้นที่ดังกล่าวร่วมกัน หรือ JDA เหมือนที่ไทยดำเนินการร่วมกับมาเลเซีย ตั้งแต่ปี 2522 และต้องดำเนินการทั้ง 2 ส่วนควบคู่กัน มีคณะกรรมการร่วมทางเทคนิคไทย – กัมพูชา เป็นผู้รับผิดชอบ ทั้งยังไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอาณาเขต หรือกระทบสิทธิเรียกร้องของไทยอย่างไรก็ตาม พื้นที่ที่มีน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ นั้น เป็นพื้นที่ทับซ้อนซึ่งอาจจะเป็นส่วนของกัมพูชาได้ก็เพียง 10 %  ใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือลงมาเท่านั้น พื้นที่ส่วนใหญ่ ฝ่ายความมั่นคง มิได้มองว่าเป็นพื้นที่ทับซ้อน แต่เป็นดินแดนไทยอย่างชัดเจน ซึ่งต่างชาติจะมาละเมิดนั้น ไม่ได้ .. ดังนั้น การอ้างสิทธิส่งเดชของกัมพูชา อาจนำมาซึ่งการขัดกันด้วยอาวุธสงคราม ซึ่งหมายถึง ฝ่ายความมั่นคง พร้อมใช้กำลังทางทหารในทันที และจะยอมให้มีการละเมิดอธิปไตย และบูรณภาพแห่งดินแดนไทยเกิดขึ้นนั้นไม่ได้นั่นเอง 

@@@…….ทั้งนี้ หากผนวกเรื่อง ความมั่นคงทางพลังงาน มาพร้อมด้วยแล้ว ฝ่ายความมั่นคง มองว่า ความผันผวนของราคาเชื้อเพลิงฟอสซิล Volatility of Fossil Fuel Prices หมายความว่า รายได้อาจผันผวนในแต่ละปี แต่สิ่งสำคัญ คือ น้ำมัน และก๊าซ Oil & Gas จะมีกำไรลดน้อยลง และกลายเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงมากขึ้น ขณะเมื่อการเปลี่ยนผ่านพลังงานไปสู่ศูนย์สุทธิเร่งตัวขึ้น Energy Net Zero Transitions Accelerate โดยทั่วไปราคา และผลผลิต จะลดลง และความเสี่ยงของสินทรัพย์ที่ค้างอยู่ก็สูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจในภาคส่วนกลางน้ำ Midstream Sector ซึ่งรวมถึงโรงกลั่น Refineries และโรงงานแยกแก๊สสำหรับก๊าซธรรมชาติเหลว Facilities for Liquefied Natural Gas เนื่องจากกระบวนการยกเลิกการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล Fossil Fuels จากใต้เปลือกโลก ถ่านหิน และหินภูเขา ของทั่วโลก กำลังจะเริ่มขึ้นแล้ว ซึ่งทำให้ทุกประเทศต้องปรับตัวไปสู่การใช้แหล่งพลังงานสะอาด Clean Energy Transition เพื่อความมั่นคงทางพลังงานบนภูมิรัฐศาสตร์โลกที่เปลี่ยนไปพร้อมด้วย 

@@@…….คาดกันว่า หากบริษัทน้ำมัน และก๊าซ Oil & Gas Companies ไม่ปรับตัวเพื่อเข้าร่วมในกระบวนเปลี่ยนผ่านสู่ศูนย์สุทธิ Net Zero Transition แล้ว อาจส่งผลให้มีบริษัทฯหลายร้อยบริษัททั่วโลก ต้องล้มละลายลง และหากราคาพลังงานหมุนเวียน Renewables ลดลงไปมากกว่านี้อีก จะมีบริษัทฯในธุรกิจน้ำมัน และก๊าซ Oil & Gas Companies ล้มลงมากกว่านี้อีกอย่างมากเช่นกัน ทั้งนี้ อ้างอิงข้อมูลในรายงานล่าสุดของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ International Energy Agency: IEA พบว่า การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในภาคพลังงาน Structural Changes in the Energy Sector กำลังดำเนินไปอย่างรวดเร็วพอที่จะทำให้ความต้องการน้ำมัน และก๊าซ ไปถึงจุดสูงสุด และลดลงได้ภายในสิ้นปีนี้ และจะเริ่มลดลงอย่างรวดเร็วด้วยความเร่ง ตามกรอบนโยบายพลังงานในประชาคมโลกปัจจุบัน ซึ่งหมายถึง การลงทุนขุดเจาะน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติใต้เปลือกโลกใต้ก้นทะเล ด้วยเงินจำนวนมหาศาลนั้น จะเต็มไปด้วยความเสี่ยงอย่างยิ่ง อาจไม่คุ้มค่า และต้องเผชิญกับการล้มละลายขนานใหญ่ โดยเฉพาะเมื่อต้นทุนการพัฒนาแหล่งพลังงานทดแทน และราคาพลังงานหมุนเวียนรูปแบบกระจายแยกย่อย ลดลงเรื่อย ๆ มากกว่านี้อีกใน 2 – 3 ปีข้างหน้าตามที่มีการคาดหมายไว้

@@@…….ดังนั้น แทนที่จะลงทุนกับพลังงานทั้งน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อนทางตอนใต้ของเกาะกูด ซึ่งขอบเขตทะเลอาณาเขต รวมทั้งเขตเศรษฐกิจจำเพาะของไทย และเขมร ยังตกลงกันไม่ได้ ฝ่ายความมั่นคงจึงมองว่า มันสายไปแล้ว ไทยควรจะขุดเจาะน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติในพื้นที่นี้มาใช้ประโยชน์ได้ ตั้งแต่เมื่อ 20 – 30 ปีที่ผ่านมาแล้ว ซึ่งช่วงเวลานั้น ถือเป็นเรื่องจำเป็น ขณะที่ปัจจุบันสถานการณ์ได้เปลี่ยนไปแล้ว ความต้องการ น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ กำลังลดลงด้วยความเร่ง จึงไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป เงินลงทุนจำนวนมาศาล สมควรนำไปใช้สำหรับการเปลี่ยนผ่านพลังงาน Energy Transition เพื่อพัฒนาแหล่งพลังงานหมุนเวียน Renewable Energy Sources เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ Solar PV, พลังน้ำ Hydropower, พลังงานไฮโดรเจน Hydrogen และพลังงานชีวภาพ Bioenergy ที่ประเทศไทยมีศักยภาพสูง เป็นต้นนั้น จะเหมาะสมกว่ามาก สอดคล้องกับยุคสมัยมากกว่า ซึ่งจะส่งผลให้ ความเป็นอิสระทางพลังงานของชาติ และความมั่นคงทางพลังงานในอนาคตของไทยก็จะได้รับการประกันจากนี้ไป 

@@@…….ฝ่ายความมั่นคง เชื่อว่า การเจรจากับเขมรเกี่ยวกับทะเลอาณาเขตนั้น ไม่ได้จบลง หรือยอมกันง่าย ๆ แน่นอน ดังนั้น นอกจากฝ่ายความมั่นคง และฝ่ายทหารจะเตรียมกำลังให้พร้อมไว้แล้วนั้นก็ตาม แต่ฝ่ายความมั่นคงก็คาดหวังว่า รัฐบาล ฝ่ายการเมือง และฝ่ายบริหารของไทย จะพิจารณาในประเด็นเหล่านี้ให้รอบคอบ รอบด้าน ทั้งนี้ การตัดสินตกลงใจการลงทุนขนาดใหญ่ในพื้นที่ด้านใต้ของเกาะกูด อาจมิได้เป็นความจำเป็นยิ่งยวดทางเศรษฐกิจอย่างที่คิดไว้มากนักเหมือนเช่นในอดีต ระบบพลังงานโลกกำลังเปลี่ยนไป ทั้งยังอ่อนไหวด้านความมั่นคงด้านการป้องกันประเทศ และความมั่นคงทางพลังงาน รวมทั้งสวนกระแสโลกที่กำลังมุ่งพยายามยกเลิกการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลจากใต้เปลือกโลก และใต้ก้นทะเลในอนาคตจากนี้ไป ทั้งนี้เพื่อให้ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของไทย จะยังคงได้รับการประกันต่อเนื่องต่อไปได้ในที่สุด

@@@…….ที่กองบัญชาการกองทัพไทย….พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธานในพิธีมอบทุนการศึกษาบุตร กองบัญชาการกองทัพไทย ประจำปี 2567 (เพิ่มเติม) สำหรับบุตรกำลังพลที่เคยได้รับการจัดสรรมอบทุนการศึกษาฯ เฉพาะระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา  โดยทุนการศึกษาดังกล่าวเป็นทุนที่ผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้มอบให้แก่บุตรกำลังพล กองบัญชาการกองทัพไทย เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้กับกำลังพล และสนับสนุนในเรื่องการศึกษาของบุตร ตามนโยบายผู้บัญชาการทหารสูงสุด ที่ได้มอบเจตนารมณ์ และแนวความคิดในการปฏิบัติด้านการพัฒนากำลังพลและครอบครัว (People First) เพื่อให้กำลังพลและครอบครัวของกองบัญชาการกองทัพไทย ในโอกาสนี้ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้พบปะพูดคุยและให้โอวาทแก่ผู้รับมอบทุนการศึกษา นับเป็นการเสริมสร้างขวัญกำลังใจให้บุตรหลานได้มีความมุ่งมั่น มีความเพียรพยายามในการตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ในการแสวงหาความรู้เพื่อเติบโตเป็นกำลังสำคัญในการสร้างสรรค์สังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างยั่งยืน และเป็นอนาคตที่ดีของประเทศชาติต่อไป

@@@…….กองทัพบก…นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี/รมว.กลาโหม และคณะตรวจเยี่ยมกองทัพบกอย่างเป็นทางการ เพื่อรับทราบภารกิจการดำเนินงานและมอบนโยบายการปฏิบัติงาน โดยมี พล.อ. พนา  แคล้วปลอดทุกข์ ผู้บัญชาการทหารบก พร้อมคณะ ให้การต้อนรับ ณ กองบัญชาการกองทัพบก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้ตรวจแถวทหารกองเกียรติยศ และเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์กองทัพบกเฉลิมพระเกียรติ ถวายสักการะพระบรมรูปรัชกาลที่ 5 พร้อมรับมอบเครื่องหมายแสดงขีดความสามารถทางทหารชั้นกิตติมศักดิ์ของกองทัพบก ณ ห้องพระบารมีปกเกล้า

@@@…….จากนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมพร้อมคณะได้กระทำพิธีวางพวงมาลา ณ กำแพงอนุสรณ์กองทัพบก ก่อนจะเดินทางไปถวายสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 5 ด้านหน้าหอประชุมกิตติขจร จากนั้นเยี่ยมชมนิทรรศการ ซึ่งจัดแสดงผลงานที่สำคัญของกองทัพบก อาทิ การสนับสนุนการปฏิบัติในภาวะฉุกเฉินตามแผนบรรเทาสาธารณภัยกระทรวงกลาโหมและแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ, การดำเนินงานที่สำคัญของศูนย์ประสานงานโครงการจิตอาสาพระราชทานกองทัพบก, การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบทหารกองประจำการแบบสมัครใจ, การเตรียมการฝึกและการรับทหารใหม่ของกองทัพบก และผลการดำเนินงานที่ผ่านมาและแผนการดำเนินงานในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 

@@@…….รมว.กลาโหม ได้เข้าประชุมเพื่อรับฟังการบรรยายสรุปภารกิจ และการดำเนินงานที่สำคัญของกองทัพบก พร้อมทั้งมอบนโยบายการปฏิบัติงานว่า ตนมีความมั่นใจว่ากองทัพบกจะยังคงเป็นหน่วยงานหลักด้านความมั่นคงในการขับเคลื่อนและสนับสนุนรัฐบาลในด้านต่าง ๆ อย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปกป้องและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งถือเป็นความเร่งด่วนสำคัญลำดับแรกที่ต้องดำเนินการในทุกโอกาส และขอชื่นชมกองทัพบก ในการพัฒนาขีดความสามารถทางทหารที่มีความต่อเนื่องและเป็นระบบ การปรับปรุงโครงสร้างให้ทันสมัย สอดคล้องกับบริบทสังคมในปัจจุบัน ตลอดจนการสนับสนุนรัฐบาลในการแก้ไขปัญหายาเสพติด การป้องกันการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายตามแนวชายแดนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการที่ได้ริเริ่มการคัดเลือกทหารกองประจำการแบบสมัครใจ

@@@…….โดยขอให้พัฒนาไปสู่การสมัครใจแบบเต็มรูปแบบในอนาคต ควบคู่การลดจำนวนกำลังพล และนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาทดแทนอย่างสมดุล แต่ต้องมีจำนวนที่เพียงพอต่อการรักษาความมั่นคงของประเทศในยามเกิดเหตุการณ์วิกฤต เพื่อให้สามารถรองรับภัยคุกคามในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ ภัยคอลเซ็นเตอร์ ภัยยาเสพติด และคงความพร้อมในการป้องกันประเทศและขอขอบคุณกองทัพบกในการพัฒนาประเทศและการช่วยเหลือประชาชนโดยเฉพาะในกรณีอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือที่ผ่านมาที่มีการดำเนินการที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นหลักประกันได้ว่ากองทัพบกจะเป็นที่พึ่งของประชาชนได้อย่างแท้จริง พร้อมกับเน้นย้ำการดูแลสิทธิกำลังพลทหารชั้นผู้น้อยในด้านต่างๆ โดยขอให้มีการศึกษาถึงความเหมาะสมและรายละเอียดให้ชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรม

……………..

คอลัมน์  : “Military Key”

โดย.. “รหัสมอร์ส”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img