“….การกลับมารอบ 2 ของ “ทรัมป์” แม้จะสร้างความกังวลจากบุคลิกลักษณะส่วนบุคคลของทรัมป์แต่เมื่อพิจารณาโครงสร้างของระบบการเมืองสหรัฐฯก็จะพบว่าอาจแทบไม่มีความเปลี่ยนแปลงใดๆมากนักโดยเฉพาะต่อเอเชียตะวันออก ….”
@@@…….สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่าน พบกันทุกวันเสาร์กับคอลัมน์ “Military Key” ทางเว็บไซต์ https:// thekey.news ซึ่งตรงกับวันเสาร์ที่ 16 พ.ย.67 สัปดาห์ที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกา ชาติยักษ์ใหญ่แห่งฝั่งตะวันตก จัดการเลือกตั้งประจำปี 2567 ผลปรากฏว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน เอาชนะ คามาลา แฮร์ริส จากพรรคเดโมแครต ไปได้ และเป็นว่าที่ประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐฯ ซึ่งนับเป็นการหวนกลับเป็นวาระที่ 2 ของ “ทรัมป์” หลังจากเคยนั่งเก้าอี้ประธานาธิบดี คนที่ 45 ระหว่างปี 2560 – 2564 จากนั้น เขาได้แพ้การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2564 ให้กับ โจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครต
@@@…….อย่างไรก็ตาม การเถลิงบัลลังก์ของทรัมป์ แม้จะสร้างความกังวลจาก “บุคลิกลักษณะส่วนบุคคล” ของทรัมป์ แต่เมื่อพิจารณา “โครงสร้าง” ของระบบการเมืองสหรัฐฯ ก็จะพบว่า อาจแทบไม่มีความเปลี่ยนแปลงใด ๆ มากนัก โดยเฉพาะต่อเอเชียตะวันออก เนื่องจาก สิ่งที่สหรัฐฯ มีความเหนือกว่ามหาอำนาจอื่น ๆ เช่น จีน รัสเซีย หรือสหภาพยุโรป นั่นคือ “การสร้างพันธมิตรถาวรอย่างเป็นระบบ: Systematic Alliances” ทำให้แม้ผู้นำของสหรัฐฯ จะเปลี่ยนหน้าไปมากเท่าไร สหรัฐฯ ยังคงต้องสร้างเสริมอันยาวนานนี้ต่อเนื่องต่อไป ซึ่งจะทำให้เกิดความร่วมมือที่จะสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกันโดยมีสหรัฐฯ เป็นแกนนำ มิใช่จะมุ่งทำให้ชาติใดชาติหนึ่งต้องล่มสลายลงแต่อย่างไร รวมทั้งไม่ต่างไปจากก่อนหน้านี้ที่เขาขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีมากนักนั่นเอง นอกจากนั้น หากทรัมป์ สามารถหยุดความขัดแย้งที่มีการใช้กำลังทางทหารในยุโรป และตะวันออกกลางลงได้ ก็จะถือว่าเป็นผลงานอันยอดเยี่ยมของสหรัฐฯ ตั้งแต่ในช่วงแรกของการรับตำแหน่งอีกต่างหากมาพร้อมด้วย
@@@…….ฝ่ายความมั่นคง มองต่างไปจากผู้สันทัดกรณีหลายสำนัก และเชื่อว่า “ทรัมป์” มิได้น่ากังวลอย่างที่หลายคนคิด เนื่องเพราะที่ผ่านมาได้เคยเห็นแล้วว่า เขาเป็นนักธุรกิจที่สามารถเจรจาพูดคุยได้ สังเกตจากการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์สมัยแรก ภูมิภาคเอเชียตะวันออกมีความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่เหลือเชื่อหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ที่ดีต่อ ชินโซะ อาเบะ นายกฯญี่ปุ่น ที่ทำให้การลงทุนของสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้นในประเทศญี่ปุ่น และไม่เสียดุลการค้ามากนัก แต่ที่น่าตื่นเต้นที่สุด คือ การที่ทรัมป์ยอมเจรจาสันติภาพกับ คิม จอง อึน สุดยอดผู้นำแห่งเกาหลีเหนือ และเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯคนแรกที่ข้ามเส้นขนานที่ 38 แบ่งระหว่างเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ เมื่อปี 2561-2562 อีกด้วย
@@@…….บุคลิกลักษณะส่วนบุคคลของทรัมป์ เมื่อพิจารณาโครงสร้างของระบบการเมืองสหรัฐฯ จะพบว่า แทบไม่มีความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะทิศทางภาพรวมนโยบายต่อเอเชียตะวันออก ขณะที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่มาจากพรรคเดโมแครตนั้น กดดันเอเซียตะวันออก และรวมถึงประเทศไทยอย่างหนักในหลายมิติมาอย่างต่อเนื่องเสมือนไม่เห็นไทยเป็นพันธมิตรใกล้ชิดด้วยซ้ำไป ตัวอย่างเช่น การปฏิเสธการขายเครื่องบินขับไล่ F-35s ของฝ่ายการเมืองทั้งๆ ที่กองทัพสหรัฐฯ และบริษัทฯ ผู้ผลิต เห็นชอบแล้ว ขณะที่ บ.รบ ดังกล่าว นั้น ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้เป็นเครื่องบินขับไล่สมรรถนะสูงราคาถูกสำหรับทำตลาดขายแก่พันธมิตร แต่ฝ่ายการเมืองจากพรรคเดโมแครต แสดงท่าทีไม่ไว้วางใจประเทศไทย ซึ่งหากเป็นรัฐบาลสหรัฐฯ จากพรรครีพับลิกันแล้ว เชื่อได้ว่า กระบวนการจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ F-35s ของไทย คงได้เริ่มขึ้นไปแล้ว เป็นต้น และนั่นหมายถึง ฝ่ายการเมืองสหรัฐฯ จากพรรคเดโมแครตนั้น ไม่เห็นไทยเป็นพันธมิตรใกล้ชิด ดังนั้น การที่ นาย โดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน กำลังจะสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือน ม.ค.2568 จึงมิใช่เรื่องน่ากังวลแต่อย่างไร และไทยควรเตรียมการกำหนดประเด็นพูดคุยหารือกับผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่ได้แล้ว เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงร่วมกันสำหรับอนาคตที่กำลังจะมาถึงนี้
@@@…….ทั้งนี้ ท่ามกลางวิกฤติยังมีโอกาส ซึ่งฝ่ายความมั่นคง เชื่อมั่นว่า สถานการณ์ความมั่นคงมีแนวโน้มดีขึ้น แตกต่างจากสมัยของโจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครต และไทยมีโอกาสดึงดูดการลงทุนได้มากขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูง เช่น อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ไฟฟ้า ขณะเดียวกัน การกีดกันสินค้าจากจีน อาจเพิ่มความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าเกษตร และอาหารจากไทย ซึ่งเป็นสิ่งของจำเป็นที่ชาวอเมริกัน จำเป็นต้องซื้อหามาใช้ไม่ว่ากำแพงภาษีจะเพิ่มขึ้นก็ตาม โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเกษตรแปรรูป และอาหารแช่แข็งซึ่งถือเป็นโอกาสที่สำคัญ รวมถึงไทยยังสามารถขยายการลงทุน และส่งออกในกลุ่มสินค้าพลังงานสะอาด และเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไปพร้อมด้วยได้อีกด้วย
@@@…….นอกจากนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ยังประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2568 จะขยายตัวที่ระดับ 3% โดยยังไม่ได้นำปัจจัยนโยบายด้านการค้าของนายโดนัลด์ ทรัมป์ เข้าไปสู่การประเมิน เนื่องจากมองว่า แม้สหรัฐฯ จะเร่งผลักดันมาตรการด้านเศรษฐกิจออกมา ก็น่าจะยังไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในทันที โดยน่าจะเริ่มเห็นผลในช่วงไตรมาส 1-2 ปี 2568 จากนั้นจะมีการประเมิน GDP ของไทย อีกครั้งเพื่อปรับตัวให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ ดังนั้น ประเทศไทย จึงจำเป็นต้องรอดูผลกระทบจากมาตรการด้านเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่จะมีต่อเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทยว่าจะมาในมิติใดบ้าง ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมของไทย สามารถปรับตัว และบริหารจัดการทรัพยากรอย่างเหมาะสม ซึ่งจะส่งผลให้ความมั่นคงในภาพรวมของชาติ และในภูมิภาคก็จะได้รับการประกันได้สำเร็จในที่สุด
@@@…….ที่สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้เดินทางตรวจเยี่ยมสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) โดยมี พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช.กลาโหม พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม และ พล.อ.ไตรศักดิ์ อินทรรัสมี เลขานุการ รมว.กลาโหม ร่วมคณะตรวจเยี่ยมฯ ทั้งนี้ เพื่อรับทราบภารกิจ ขีดความสามารถ และผลการดำเนินงานที่สำคัญ รวมถึงผลงานวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศ การส่งเสริมสนับสนุนกิจการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทย ตลอดจนการพัฒนาสภาวะแวดล้อมที่เกื้อกูลต่ออุตสาหกรรม โดยมี พล.อ.พอพล มณีรินทร์ ประธานกรรมการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ พล.อ.ดร.ชรัติ อุ่มสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ และคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศให้การต้อนรับ ในโอกาสนี้ พล.อ.พอพล มณีรินทร์ ประธานกรรมการ สทป. ได้มอบเครื่องหมายกิตติมศักดิ์และประกาศนียบัตรผู้บังคับอากาศยานไร้คนขับให้แก่ รองนายกรัฐมนตรี./รมว.กลาโหม เพื่อเป็นเกียรติในโอกาสเยี่ยมชมสถาบัน
@@@…….หลังจากการรับฟังบรรยายสรุป นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี /รมว.กลาโหม ได้กล่าวมอบนโยบายการปฏิบัติแก่เจ้าหน้าที่ โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า รู้สึกเป็นเกียรติและขอขอบคุณสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศที่ให้การต้อนรับในวันนี้ หลังจากรับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับการดำเนินงานและผลงานของสถาบันแล้ว ตนมั่นใจว่า สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญภายใต้กระทรวงกลาโหม คือกลไกสำคัญในการนำพาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยก้าวไปข้างหน้า มีศักยภาพในการพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศที่สามารถตอบสนองความต้องการและความพร้อมรบของกองทัพและหน่วยงานด้านความมั่นคง รวมทั้งการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และพัฒนายุทโธปกรณ์อย่างมีมาตรฐานและเชื่อถือได้ โดยสิ่งเหล่านี้สามารถช่วยแก้ไขปัญหาความท้าทายในด้านต่าง ๆ เช่น ภัยคุกคามในรูปแบบต่างๆ ความปลอดภัยและการเฝ้าระวังภัยพิบัติ ซึ่งมีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ตนเชื่อมั่นว่าสถาบันจะสามารถต่อยอดผลงานไปสู่อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เพื่อส่งเสริมความมั่นคงและความปลอดภัยของประเทศ รวมถึงสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต และลดการพึ่งพาการนำเข้ายุทโธปกรณ์จากต่างประเทศ
@@@…….นอกจากนี้ รมว.กลาโหม ยังได้ให้ข้อเสนอแนะแก่ สทป.ในการจัดตั้งคณะทำงานการศึกษาร่วมกับหน่วยงานต่างๆ รวมถึงทำการวิจัยศึกษายุทโปกรณ์ตามอัตราการจัดยุทโธปกรณ์ของกองทัพเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทและความต้องการของเหล่าทัพ พร้อมกับได้กล่าวชื่นชมในความมุ่งมั่นของ สทป. ที่ได้ทำงานอย่างเต็มที่เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยมีความสามารถในการผลิตและพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยและเป็นการยืนยันศักยภาพที่ไทยสามารถยืนอยู่ในเวทีโลกได้อย่างมั่นคง และยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมป้องกันประเทศไทยสู่ระดับนานาชาติต่อไป
@@@…….ที่กระทรวงกลาโหม….นายภูมิธรรม เวชยชัย รมว.กลาโหม เป็นประธานในการประชุมทีมโฆษกเหล่าทัพและแนวทางการสื่อสารประชาสัมพันธ์งานของกระทรวงกลาโหม ครั้งที่ 1/2567 พร้อมด้วย พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช.กลาโหมและคณะ เข้าร่วมในการประชุม โดย รมว.กลาโหม ได้กล่าวว่า ทีมโฆษกเหล่าทัพเน้นถึงความสำคัญของการดำเนินงานที่จะเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดี และความเข้าใจอันดี ในการเผยแพร่การปฏิบัติภารกิจของกองทัพไทยให้ประชาชนทราบ ทั้งนี้ ทีมโฆษกเหล่าทัพ ต้องร่วมใจกันในการสื่อสารและประสานงานข้อมูลเพื่อชี้แจงต่อสาธารณะในลักษณะ ONE TEAM ให้ทันต่อเหตุการณ์ ซึ่งจะเป็นการระดมความคิดที่ดีและชัดเจนร่วมกัน เพื่อประโยชน์ในงานด้านความมั่นคงและสร้างความเข้าใจต่อสาธารณชนที่มีต่อกองทัพได้ดียิ่งขึ้น
@@@…….กองทัพบกให้ความสำคัญกับการพัฒนากำลังพลผ่านการฝึกอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้จัดกำลังพลเข้าร่วมการทดสอบการยิงปืนทางยุทธวิธีกองทัพบกกลุ่มประเทศอาเซียนครั้งที่ 32 (ASEAN Armies Rifle Meet – 32nd AARM) ณ เมืองตาร์ลัค สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ระหว่างวันที่ 12 – 23 พ.ย. 2567 โดยจัดกำลังพลเข้าร่วมการทดสอบจำนวน 25 นาย พร้อมกับทีมเจ้าหน้าที่และคณะผู้สังเกตการณ์ซึ่งศูนย์การทหารราบเป็นหน่วยรับผิดชอบหลักในการฝึกซ้อมและเตรียมความพร้อมให้กับทีมยิงปืนทางยุทธวิธี
@@@…….โดย พล.อ. ณัฐวุฒิ นาคะนคร รองผู้บัญชาการทหารบก เดินทางร่วมในพิธีเปิด ณ สนามยิงปืน Philippine Army Marksmanship Training Facility (PAMTF) เมืองตาร์ลัค สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ในโอกาสนี้ รองผู้บัญชาการทหารบก ได้ร่วมทดสอบยิงปืน Novelty Shoot ซึ่งเป็นกิจกรรมพัฒนาสัมพันธ์ระหว่างคณะผู้บังคับบัญชาในกลุ่มประเทศอาเซียน พร้อมพบปะให้กำลังใจ และรับประทานอาหารร่วมกับทีมยิงปืนทางยุทธวิธีจากกองทัพบกไทย ทั้งนี้ การทดสอบการยิงปืนทางยุทธวิธีกองทัพบกกลุ่มประเทศอาเซียน จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2534 โดยมีกองทัพบกมาเลเซียเป็นเจ้าภาพ มีประเทศสมาชิก 6 ประเทศ จากนั้นได้มีการเชิญกองทัพบกกลุ่มประเทศอาเซียนเข้าร่วมจนครบ 10 ประเทศ สำหรับในปีนี้จัดการทดสอบ 5 ประเภท ได้แก่ ปืนเล็กยาว, ปืนเล็กสั้น, ปืนพกชาย, ปืนพกหญิง และปืนกล รวมทั้งจัดการทดสอบ Novelty Shoot 2 ประเภท ได้แก่ ปืนพก และปืนเล็กสั้น เพื่อพัฒนาสัมพันธ์ คณะผู้บังคับบัญชาในกลุ่มประเทศอาเซียน
@@@…….กองทัพอากาศ….พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ และคณะ เข้าร่วมงานนิทรรศการด้านการบิน ครั้งที่ 15 China International Aviation & Aerospace Exhibition หรือ Zhuhai Airshow 2024 ระหว่างวันที่ 11 – 14 พ.ย. 2567 ณ เมืองจูไห่ โดยงานนี้มีประเทศที่ได้รับเชิญกว่า 42 ประเทศ และมีผู้บัญชาการทหารอากาศกว่า 20 ประเทศ และผู้บัญชาการทหารอากาศประเทศอาเซียนเข้าร่วมงาน โดยกองทัพอากาศสาธารณรัฐประชาชนจีนมีความยินดีที่จะส่งฝูงบิน August 1st มาเยือนประเทศไทยเพื่อแสดงการบินผาดแผลงให้ประชาชนไทยได้ชมในการจัดงานครบรอบ 88 ปี กองทัพอากาศ ในห้วงมี.ค. 2568 จึงถือเป็นโอกาสสำคัญในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีน และการกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างมิตรประเทศที่ร่วมงาน
…………………..
คอลัมน์ : “Military Key”
โดย.. “รหัสมอร์ส”