“…..สถานการณ์ในพื้นที่จชต. ฝ่ายความมั่นคง เชื่อว่า ในความเป็นจริงแล้ว นอกจาก BRN จะไม่สามารถควบคุมให้ความรุนแรงในพื้นที่ลดลงแล้ว คาดว่า ความแตกแยกทางการเมือง และแนวคิดของแนวร่วม BRN ก็มีมากขึ้นด้วย…”
@@@…….สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่าน พบกันทุกวันเสาร์กับคอลัมน์ “Military Key” ทางเว็บไซต์ https:// thekey.news ซึ่งตรงกับวันเสาร์ที่ 10 พ.ค.68 ในช่วงเวลาที่ผ่านมา สถานการณ์ในพื้นที่ จชต.ดูเหมือนจะรุนแรงมากขึ้น มีผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ขณะที่มี คําแถลงการณ์ของ BRN ซึ่งออกมาจาก “ดร.นิมะ ตุลเลาะห์” โฆษกคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขของ BRN ได้แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ จชต.ส่งผลให้มีผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตได้รับความเดือดร้อน และแสดงความเห็นใจต่อครอบครัวผู้สูญเสีย พร้อมย้ำว่า “BRN ไม่มีนโยบายโจมตีต่อเป้าหมายพลเรือน พร้อมเดินหน้าสู้เพื่อเสรีภาพ และศักดิ์ศรีของประชาชนมลายูปัตตานี โดยยึดมั่นในสิทธิในการกําหนดอนาคตตนเอง และจะดําเนินการต่อสู้ภายใต้กรอบของสิทธิมนุษยชนสากล และกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ” รวมทั้ง BRN ปฏิเสธการใช้ความรุนแรงต่อพลเรือนผู้บริสุทธิ์ทุกรูปแบบ และเรียกร้องให้มีการสอบสวนเหตุการณ์ความรุนแรงอย่างโปร่งใส พร้อมทั้งเชิญชวนให้ทุกฝ่ายทั้งรัฐบาลไทย และกลุ่มติดอาวุธหลีกเลี่ยงการกระทําที่เป็นอันตรายต่อประชาชน
@@@…….อย่างไรก็ตาม จากแถลงการณ์แสดงให้เห็นว่า BRN ได้ออกมาปฏิเสธในการโจมตีต่อเป้าหมายพลเรือนผู้บริสุทธิ์ทุกรูปแบบผ่านสื่อที่เป็นกระบอกเสียงของ BRN และยังคงยึดมั่นต่อสู้ในสิทธิการกําหนดอนาคตตนเอง ภายใต้กรอบของสิทธิมนุษยชนสากล และกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และจากการที่ BRN พยายามออกมาเชิญชวนให้ทุกฝ่าย ทั้งรัฐบาลไทย และกลุ่มติดอาวุธ หลีกเลี่ยงการกระทําที่เป็นอันตรายต่อประชาชนเป็นการแสดงให้เห็นถึง ขบวนการ BRN กำลังสูญเสียมวลชนเดิมที่เคยมีอยู่ และไม่สามารถควบคุมกองกําลังติดอาวุธฯทุกฝ่ายได้ ขณะที่ สมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย ยังคงมีการใช้สื่อเพื่อเป็นการขับเคลื่อนงานทางการเมืองของสมาพันธ์ฯ อีกทั้งมีการขับเคลื่อนงานที่สอดคล้องนโยบายการต่อสู้ทางการเมืองของกลุ่ม BRN และกลุ่มภาคประชาสังคมที่เห็นต่างจากรัฐ ที่พยายามเรียกร้องให้มีการยกเลิกกฎหมายความมั่นคงที่ยังมีการบังคับใช้ ทั้งนี้ จากการตั้งคําถามในการเตรียมเปลี่ยนแปลงจาก “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” ไปสู่ “พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการก่อการร้าย” ที่เป็นการเสนอความคิดเห็นส่วนตัวของกลุ่มสว.ภาคใต้ อาจทําให้สถานการณ์ยิ่งตึงเครียดหรือรุนแรงขึ้นกว่าเดิมนั้น แสดงให้เห็นว่ากลุ่ม BRN มีความกังวลต่อพ.ร.บ.ดังกล่าว ที่อาจส่งผลต่อระบบการควบคุมทางการเงินของกลุ่มได้มาพร้อมด้วย
@@@…….ทั้งนี้ ฝ่ายความมั่นคงเชื่อว่า ในความเป็นจริงแล้ว นอกจาก BRN จะไม่สามารถควบคุมให้ความรุนแรงในพื้นที่ลดลงแล้ว คาดว่าความแตกแยกทางการเมือง และแนวคิดของแนวร่วม BRN ก็มีมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะกับกลุ่มติดอาวุธฯรุ่นหลัง ซึ่งต้องการกลับมาใช้ความรุนแรงรูปแบบเดิม รวมทั้งยังคงมุ่งไปในประเด็นแบ่งแยกดินแดน ซึ่งภาครัฐจะยอมให้เกิดขึ้นไม่ได้ .. ดังนั้นจากนี้ไป ฝ่ายความมั่นคงจะต้องเร่งมาตรการรักษาความปลอดภัยให้เข้มงวดมากขึ้น และเกาะติดเป้าหมาย รวมทั้งดำเนินการต่อเป้าหมายอันตรายเหล่านี้ด้วยความเด็ดขาด ตลอดจนการพิจารณายกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือปรับไปสู่การใช้พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการก่อการร้าย ตามที่มีการเสนอนั้น อาจต้องชะลอออกไปก่อน จนกว่าบรรยากาศการพูดคุยเพื่อสันติสุข จะดีขึ้นไปกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้มั่นใจว่า การพัฒนาทางเศรษฐกิจในพื้นที่ รวมทั้งความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนทุกคนในพื้นที่ จชต.จะได้รับการประกัน

@@@……กองทัพบก….พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ ผู้บัญชาการทหารบก/รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ประจำชุดคุ้มครองตำบลทุ่งพอ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ซึ่งเป็นกำลังภาคประชาชนในส่วนของอาสาสมัครรักษาดินแดน จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัย ควบคู่กับการดำรงความสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจและเสริมภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนในพื้นที่ สนับสนุนภารกิจของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ในพื้นที่ของหน่วยเฉพาะกิจสงขลา
@@@……จากนั้นผู้บัญชาการทหารบกเดินทางไปเป็นประธานในพิธีเปิดจุดตรวจร่วม 36/100 บริเวณหลักเขตแดนที่ 36/100 ต.เขาแดง อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ร่วมกับ พลเอกตัน สรี ดาโต๊ะ วิรา มูฮัมหมัด ฮาฟิสซูดีน บิน จันตัน ผู้บัญชาการทหารบกมาเลเซีย ซึ่งถือเป็นจุดตรวจร่วมในพื้นที่รอยต่อชายแดนไทย-มาเลเซีย ที่ได้มีการประสานการทำงานร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ของทั้ง 2 ประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาและจัดระเบียบพื้นที่ชายแดน เพิ่มประสิทธิภาพในการป้องปรามการกระทำผิดกฎหมายทุกรูปแบบ
@@@……โดย ผู้บัญชาการทหารบก ได้กล่าวในพิธีเปิดว่า รู้สึกภาคภูมิใจและซาบซึ้งใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เดินทางมาร่วมพิธีเปิดฯ โดยจุดตรวจร่วม 36/100 ถือเป็นสัญลักษณ์ของความร่วมมือที่ใกล้ชิดและต่อเนื่องระหว่างหน่วยงานด้านความมั่นคงของทั้ง 2 ประเทศ เป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นหนึ่งเดียว ที่แสดงถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นและเปี่ยมด้วยความไว้วางใจระหว่างกัน โดยขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย ทั้งจากประเทศไทยและมาเลเซีย ที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนและจัดตั้งจุดตรวจร่วมแห่งนี้จนเกิดผลเป็นรูปธรรม ซึ่งนับเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ ที่สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นร่วมกันต่อความมั่นคงในภูมิภาค ร่วมสร้างและรักษาสันติภาพ ดูแลความปลอดภัยของประชาชน และสร้างเสถียรภาพที่เอื้อต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในพื้นที่ชายแดน ซึ่งนอกจากในมิติด้านความมั่นคงแล้ว มีความมุ่งหวังว่าจุดตรวจร่วมแห่งนี้จะสร้างประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อประเทศชาติและประชาชน ในบทบาทสำคัญที่จะเปลี่ยนพรมแดนจากเส้นแบ่งให้กลายเป็นสะพานแห่งการเชื่อมโยง ร่วมสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจในพื้นที่ และอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางให้กับประชาชนของทั้ง 2 ประเทศด้วย”จากนั้นผู้บัญชาการทหารบกได้พบปะให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ และร่วมตรวจฐานปฏิบัติการของทั้ง 2 ประเทศ ก่อนปลูกต้นไม้ แลกเปลี่ยนของที่ระลึก และบันทึกภาพร่วมกัน ในโอกาสครั้งสำคัญนี้

@@@…….กองบัญชาการกองทัพไทย….พล.ต.วิทัย ลายถมยา โฆษกกองบัญชาการกองทัพไทย เปิดเผยว่า ตามที่มีรายงานข่าวและเกิดความสงสัยของประชาชนเกี่ยวกับการพบเห็นอากาศยานไร้คนขับ (UAV) บินอยู่ในพื้นที่อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรีนั้น กองบัญชาการกองทัพไทยขอชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและความมั่นใจแก่ประชาชนว่า อากาศยานดังกล่าวเป็นของ กรมแผนที่ทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย ไม่ใช่อากาศยานจากต่างชาติหรือกลุ่มบุคคลไม่ทราบฝ่ายแต่อย่างใด อากาศยานดังกล่าวคือ UAV แบบ VTOL SUD 60 ซึ่งอยู่ระหว่างปฏิบัติภารกิจสำรวจภูมิประเทศและถ่ายภาพทางอากาศ เพื่อจัดทำแผนที่ในพื้นที่รับผิดชอบของกรมแผนที่ทหาร โดย UAV รุ่นนี้เป็นอากาศยานไร้คนขับที่สามารถขึ้นลงทางดิ่ง (Vertical Take-Off and Landing) และมีขีดความสามารถหลากหลาย เช่น การทำแผนที่ ตรวจการณ์ และสำรวจภูมิประเทศ ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยทหารทั้งนี้ การปฏิบัติภารกิจของ UAV ดังกล่าวเป็นไปตามอำนาจหน้าที่อย่างถูกต้อง และกรมแผนที่ทหารได้คำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่อย่างเคร่งครัด

@@@…….ขณะที่หน่วยควบคุมและแจ้งเตือนทางอากาศ ได้ตรวจพบอากาศยานไม่ทราบฝ่าย มีลักษณะคล้ายเครื่องบินโจมตีแบบ K-8 บินเข้าใกล้เขตแดนไทยบริเวณตรงข้ามอำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี จากสถานการณ์ดังกล่าว กองทัพอากาศได้สั่งการให้เครื่องบินขับไล่แบบ F-16 จำนวน 2 ลำ จากกองบิน 4 จังหวัดนครสวรรค์ ขึ้นบินเพื่อพิสูจน์ฝ่ายและสกัดกั้นอากาศยานไม่ทราบฝ่าย และแสดงท่าทีเชิงป้องปราม และหลังจากนั้นได้ปฏิบัติการบินลาดตระเวนรบทางอากาศ ในบริเวณพื้นที่อำเภอเมือง และอำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ผลการปฏิบัติไม่พบการล้ำอธิปไตย หรือท่าทีคุกคามจากอากาศยานดังกล่าวแต่อย่างใด ทั้งนี้กองทัพอากาศขอยืนยันความพร้อมในการค้นหาอากาศยานไม่ทราบฝ่าย และดำเนินมาตรการบินสกัดกั้นตามขั้นตอนอย่างมืออาชีพ ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญของกองทัพอากาศ เพื่อปกป้องน่านฟ้าไทยให้ปลอดภัย และดำรงไว้ซึ่งอธิปไตยของประเทศ ตามหลักกฎหมายและพันธกรณีระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง

@@@…….พล.อ.อุกฤษฎ์ บุญตานนท์ รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด เดินทางไปยังกรุงเนปิดอว์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เพื่อส่งมอบภารกิจความร่วมมือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติ (Humanitarian Assistance and Disaster Relief–HADR) อย่างเป็นทางการ ภายใต้ “ยุทธการมัณฑะเลย์ 82” ซึ่งกองทัพไทยได้ดำเนินการช่วยเหลือประชาชนชาวเมียนมาที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวขนาด 8.2 ริกเตอร์ มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม-8 พฤษภาคม 2568 โดยรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บังคับบัญชา และกำลังพลที่ร่วมปฏิบัติภารกิจในผลัดที่ 4 ได้เดินทางกลับถึงประเทศไทยโดยสวัสดิภาพ ในเวลา 15.00 นาฬิกา (ตามเวลาประเทศไทย)
@@@…….ทั้งนี้ ตามข้อสั่งการของ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ให้กองทัพไทยจัดตั้ง “ชุดช่วยเหลือเหตุแผ่นดินไหวเมียนมา” โดยมอบหมายให้ หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา เป็นหน่วยหลักในการดำเนินการ HADR ครอบคลุมภารกิจทั้งด้านการแพทย์ การค้นหาและกู้ภัย การฟื้นฟูพื้นที่ และการดูแลจิตใจของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยดำเนินภารกิจภายใต้แนวคิด “Team Thailand” เน้นการบูรณาการความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และอาสาสมัคร เพื่อสนับสนุนประเทศเพื่อนบ้านอย่างเต็มความสามารถ ตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม จนถึงวันที่ 8 พฤษภาคม 2568 แบ่งออกเป็น 4 ผลัดการปฏิบัติงาน สามารถสรุปผลการปฏิบัติงาน ได้ดังนี้

@@@…….ด้านการแพทย์ ทีมแพทย์จากกองทัพไทยและกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้บริการตรวจรักษาประชาชนในพื้นที่ภัยพิบัติ จำนวน 23 จุด รวมผู้รับบริการทั้งสิ้น 5,171 ราย ครอบคลุมผู้ป่วยจากเหตุแผ่นดินไหวโดยตรง อาการทางอ้อม และปัญหาสุขภาพทั่วไป พร้อมทั้งได้ดำเนินการติดตั้ง เครื่องกรองน้ำ ที่โรงเรียนมัธยม 17 และโรงเรียนมัธยม 27 เพื่อส่งเสริมสุขอนามัยในระยะยาว ด้านวิศวกรรม : หน่วยช่างของกองทัพไทย ได้ดำเนินการก่อสร้างที่พักพิงชั่วคราวจำนวน 161 หลัง ครอบคลุม 4 พื้นที่หลัก และซ่อมแซมโรงเรียนในพระราชูปถัมภ์ จำนวน 4 แห่ง รวมถึงโรงเรียนที่ร้องขอเพิ่มเติมอีก 1 แห่ง รวมทั้งสิ้น 5 โรงเรียน พร้อมทั้งติดตั้งระบบไฟฟ้าส่องสว่าง สนับสนุนระบบสื่อสาร และแจกจ่ายสิ่งของช่วยเหลือจากภาครัฐ เอกชน และประชาชนชาวไทย “ยุทธการมัณฑะเลย์ 82” จึงเป็นตัวอย่างของความสำเร็จในการบูรณาการงานด้านความมั่นคงเชิงมนุษยธรรม โดยสะท้อนถึงบทบาทของประเทศไทยในภูมิภาคอาเซียนในฐานะผู้นำด้าน HADR ที่ไม่ทอดทิ้งเพื่อนบ้านในยามยาก
@@@…….กองบัญชาการกองทัพไทย ขอขอบคุณหลายหน่วยงานที่เข้าร่วมภารกิจครั้งนี้ ได้แก่ กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ โดยเฉพาะกองทัพอากาศ ที่สนับสนุนทั้งกำลังพลและการขนส่งสิ่งของจำเป็นต่าง ๆ ตลอดห้วงการปฏิบัติภารกิจ นอกจากนี้ ขอขอบคุณกระทรวงสาธารณสุข ที่ส่งบุคลากรทางการแพทย์ไปร่วมปฏิบัติหน้าที่ ณ เมืองมัณฑะเลย์ ตลอดจน กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการประสานงาน โดยเฉพาะสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง ที่ได้อำนวยความสะดวกในทุกด้าน ณ เมืองเนปิดอว์และเมืองมัณฑะเลย์รวมถึงกำลังพลทุกนาย เจ้าหน้าที่แพทย์ เจ้าหน้าที่สนับสนุน และอาสาสมัครทุกท่าน ที่เสียสละแรงกายแรงใจ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเข้มแข็งและเสียสละอย่างยิ่ง นี่คือพลังของ “Team Thailand” ที่รวมใจเป็นหนึ่งเดียวใต้ธงมนุษยธรรม สร้างรอยยิ้ม ความหวัง และมิตรภาพอันยั่งยืนระหว่างประชาชนไทยและเมียนมา

@@@…….กองทัพเรือ….พล.ร.อ.จิรพล ว่องวิทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ พร้อมด้วยนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพเรือ เดินทางตรวจเยี่ยมการฝึกยิงอาวุธทางยุทธวิธี ของหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง โดยมี พลเรือตรีเอตม์ ยุวนางกูร ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง ให้การรับรอง ณ สนามฝึกยิงอาวุธ เขาลำปี-ท้ายเหมือง อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา การฝึกยิงอาวุธทางยุทธวิธี ของหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกภาคสนาม/ภาคทะเล (FTX) ในการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2568 ซึ่งเป็นการฝึกปฏิบัติจริงของหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง เพื่อทดสอบความพร้อมขององค์บุคคล องค์วัตถุ และองค์ยุทธวิธี ทดสอบความพร้อมและขีดความสามารถในการฝึกยิงอาวุธประจำหน่วย ในการป้องกันฝั่งและการป้องกันภัยทางอากาศ ของหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่งประจำที่ รวมถึง เป็นการฝึกยิงอาวุธทางยุทธวิธีด้วยปืนใหญ่รักษาฝั่ง ปืนต่อสู้อากาศยาน และ อาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานระยะใกล้ IGLA-S สนับสนุนด้วยการตรวจการณ์จากอากาศยานไร้คนขับ (UAS) และการตรวจการทางเรือ ตลอดจนทดสอบขีดความสามารถในการติดตามภาพสถานการณ์ของหน่วยควบคุมบังคับ รวมถึงความพร้อมในการเตรียมการฝึกยิงอาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่อากาศระยะปานกลางแบบ FK-3 สำหรับการโจมตีเป้าหมายทางอากาศ ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามแผนป้องกันประเทศ โดยจำลองสถานการณ์ฝึก เป็นการรับมือ ป้องกัน และโจมตี ฝ่ายข้าศึกที่เข้ามารุกล้ำอธิปไตยของชาติทางทะเล และน่านฟ้า ผลการฝึกยิงอาวุธ เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้
@@@…….สำหรับยุทโธปกรณ์ที่นำมาใช้ในการฝึกยิงทางยุทธวิธีนี้ประกอบด้วย ปืนใหญ่กลางกระสุนวิธีราบ ขนาด 130 มิลลิเมตร ปืนใหญ่กลางกระสุนวิถีโค้ง ขนาด 155 มิลลิเมตร ปืนต่อสู้อากาศยาน ขนาด 37 มิลลิเมตร ปืนต่อสู้อากาศยาน ขนาด 40/70 มิลลิเมตร อาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานระยะใกล้ IGLA-S โดยทำการยิงจากรถ จำนวน 2 ลูก จากหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง และปืนใหญ่กลางกระสุนวิถีโค้ง ขนาด 155 มิลลิเมตร ATMG จากหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน ในส่วนของอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานระยะใกล้ IGLA-S เป็นอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานระยะใกล้ มีหลักการจับเป้าหมายโดยอาศัยการตรวจจับ และรับรังสีอินฟราเรดที่แพร่ออกมาจากแหล่งความร้อนของตัวอากาศยาน อาวุธจะล็อกเป้าหมาย และพร้อมให้พลยิงปล่อยตัวจรวดออกมา เพื่อติดตามทำลายเป้าหมาย และเมื่อจรวดแล่นออกจากท่อยิง การทำงานจะเป็นไปในลักษณะ Fire and Forget โดยเป้าที่ใช้ในการยิงอาวุธครั้งนี้เป็นเป้าฝึก Drone แบบปีกนิ่ง ที่พัฒนาโดยสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหาร กองทัพเรือ

@@@…….ด้านอาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่อากาศระยะปานกลางแบบ FK-3 เป็นระบบอาวุธป้องกันภัยทางอากาศระยะปานกลาง-ไกล ที่สามารถทำงานได้ทุกสภาพอากาศทั้งกลางวัน และกลางคืน ถูกออกแบบมาให้สกัดกั้นเครื่องบินรบ, เครื่องบินปีกตรึง, อากาศยานปีกหมุน รวมถึงเฮลิคอปเตอร์โจมตีติดอาวุธ, อากาศยานไร้คนขับ, จรวดร่อน, ขีปนาวุธทางยุทธศาสตร์ รวมไปถึงอาวุธปล่อยนำวิถีอากาศสู่พื้น สามารถทำงานเป็นระบบ Stand alone เข้าประจำการในหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง ทั้งนึ้ การฝึกกองทัพเรือประจำปี ถือเป็นการฝึกที่มีความสำคัญสูงสุดของกองทัพเรือ โดยใช้แนวความคิดในการฝึกว่า “รบอย่างไร ฝึกอย่างนั้น” ซึ่งในปีนี้เป็นการฝึกป้องกันประเทศโดยกำหนดสถานการณ์ตั้งแต่ในขั้นปกติสถานการณ์วิกฤตไปถึงขั้นป้องกันประเทศซึ่งมีการทดสอบและสร้างความคุ้นเคยทางด้านแนวความคิดหลักการหลักนิยม ไปจนถึงขีดความสามารถของกำลังรบในแต่ละประเภท โดยส่วนต่างๆของกองทัพเรือทั้งในกองอำนวยการฝึกและหน่วยรับการฝึกทุกหน่วยได้มีการเตรียมการ และดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการฝึกอย่างเต็มกำลังความสามารถ
@@@…….โดยนำวัตถุประสงค์การฝึกและหัวข้อการทดสอบที่กองทัพเรือกำหนดไปกำหนดเป็นวัตถุประสงค์เฉพาะ ตามภารกิจของหน่วย และนำไปทดสอบในการฝึกปัญหาที่บังคับการ (CPX) และการฝึกภาคสนาม/ภาคทะเล (FTX) เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายคำสั่งและวัตถุประสงค์การฝึกที่ได้กำหนดไว้ โดยผลลัพธ์ที่จะได้รับจากการฝึกในครั้งนี้ นอกจากกำลังพลที่เข้าร่วมการฝึกจากหน่วยต่างๆ ของกองทัพเรือ จะได้ใช้ยุทธวิธีหลักนิยมในการรบร่วม และทดสอบแนวทางการใช้กำลังของกองทัพเรือให้เป็นไปตามแผนป้องกันประเทศ เพื่อให้เกิดความรู้ความชำนาญเพิ่มขึ้นจากการฝึกจริงแล้ว ยังทำให้กองทัพเรือได้รับทราบถึงขีดความสามารถและข้อจำกัดของกำลังพลในปัจจุบัน รวมทั้งการปฏิบัติการร่วมกันกับหน่วยต่างๆ ของกองทัพเรือ เพื่อนำไปใช้ในการวางแผนพัฒนาขีดความสามารถสำหรับการปฏิบัติภารกิจ โดยเฉพาะในการป้องกันประเทศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
…………..
คอลัมน์ : “Military Key”
โดย..“รหัสมอร์ส”