หากใครได้อ่านบทความของ ศาสตราจารย์พิเศษ ร้อยโท ดร.บรรจบ บรรณรุจิ ราชบัณฑิต เรื่อง แกะรอย “กรานกฐิน” ตามแนววินิจฉัยในอรรถกถาพระวินัย ช่วยยุติความเห็นต่างในสังคมไทยได้ คงพอเข้าใจความเป็นมาของ “ผ้ากฐิน” ได้ว่า นัยของการถวายผ้ากฐินนั้น ซึ่งอาจารย์ได้เกริ่นนำและสรุปไว้ “เปรียญสิบ” ขอนำมาเผยแพร่ต่อโดยสรุปดังนี้
ขอเรียนว่าตามพระวินัย กฐินดั้งเดิมมีแต่ผ้า ไม่มีบริวารกฐิน และผ้ากฐินก็เป็นของสงฆ์ พระตั้งแต่ 5 รูปขึ้นไปมาแต่แรก ดังนั้นพระที่จะเข้าร่วมรับและมอบผ้าต่อให้ใคร รูปใดรูปหนึ่ง ต้องมี 5 เพราะในจำนวน 5 รูปนั้น 1 รูปจะถูกยกให้เป็นผู้รับผ้าและกรานกฐิน ส่วนอีก 4 รูปที่เหลือนี้แหละคือ สงฆ์จริง ๆ ที่จะช่วยดูแลและรับรองให้การกรานกฐินถูกต้องตามพระวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้
ภิกษุที่ร่วมกรานกฐินที่เรียกว่า สงฆ์ มีกี่รูป ?
ร่วมกรานกฐิน ก็คือ ร่วมตั้งแต่เริ่มรับผ้าและพิจารณาตัดสินว่าจะให้ผ้าแก่ภิกษุรูปใดแล้วร่วมช่วยทำด้วย ซึ่งเริ่มตั้งแต่กางหรือขึงไม้สะดึง เพื่อนำผ้าที่จะทำจีวรไปทาบ จากนั้นยังช่วยเอาผ้ามาขึงไม้สะดึงเพื่อเย็บ แล้วก็ช่วยเย็บย้อมจนแล้วเสร็จ ภิกษุที่เข้าร่วมกรานกฐินต้องเป็นสงฆ์คือหมู่ภิกษุกำหนดอย่างต่ำสุด 5 รูป ซึ่งเรียกว่า “สงฆ์ปัญจวรรค” กำหนดสูงสุดไม่จำกัดจำนวน อาจเป็น 10 รูป 100 รูป หรือ 100,000 รูป ก็ได้
ใครร่วมรับกฐินได้? ใครร่วมรับไม่ได้?
ภิกษุเข้าพรรษาแรกจำนวน 5 รูปขึ้นไปร่วมรับกฐินได้ จำนวนต่ำกว่านั้นรับไม่ได้ แต่ว่าเบื้องต้น ต้องทราบว่า การเข้าพรรษามี 2 วาระ คือ
1) เข้าพรรษาแรก มีในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8
2) เข้าพรรษาหลัง มีในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 9
การมีพุทธานุญาตไว้ 2 วาระนั้น สืบเนื่องมาจากว่า ในปีหนึ่ง พระเจ้าพิมพิสาร ทรงบอกกล่าวพระสาวกให้ทูลขอพระพุทธเจ้าให้ทรงเลื่อนการเข้าพรรษาจากวันแรม 1 ค่ำเดือน 8 ไปเป็นวันแรม 1 ค่ำเดือน 9 พระพุทธเจ้าทรงทราบแล้วก็ทรงเหตุจำเป็นจริงจึงทรงอนุญาตตามที่พระเจ้าพิมพิสารทูลขอ โดยตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า “อนุชานามิ ภิกฺขเว ราชูนํ อนุวตฺติตุํ = ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้คล้อยตามพระเจ้าแผ่นดิน”
ในวัดที่มีภิกษุจำพรรษาแรกไม่ครบ 5 รูป พึงปฏิบัติอย่างไร ?
ประเด็นนี้เองที่เป็นปัญหาหลักให้ต้องคิดกันมา น่าจะเกิดขึ้นตั้งแต่หลังพุทธปรินิพพานเรื่อยมา จนมาถึงสังคมไทยจนทำให้มีความเห็นต่างกัน ดังนี้ ความเห็นต่างที่ 1 มีว่า
‘ในวัดที่มีพระจำพรรษาแรกไม่ครบ 5 รูป ให้นิมนต์พระที่จำพรรษาหลังในวัดนั้นเท่านั้น ห้ามนิมนต์พระจากวัดอื่นหรือที่อื่นมาร่วมรับและกรานกฐิน และพระที่จำพรรษาแรกเท่านั้นจะได้อานิสงส์’
ความเห็นต่างที่ 2 มีว่า
‘ในวัดที่มีพระจำพรรษาไม่ครบ 5 รูป สามารถนิมนต์พระมาจากวัดอื่นหรือที่อื่นมารับกฐินได้ และพระในวัดที่จำพรรษาจะได้อานิสงส์ หลังจากกรานกฐินแล้ว’
แนวทางวินิจฉัยเพื่อยุติความเห็นต่าง
ความเห็นต่างทั้ง 2 นี้น่าสนใจ และมีแนวทางให้วินิจฉัยได้โดยดำเนินไปตามขั้นตอนต่อไปนี้
ดูตามมติของอรรถกถามหาปัจจรี ซึ่งมีว่า
“บรรดาภิกษุที่อธิษฐานเข้าพรรษาในการเข้าพรรษาแรกแล้วจำพรรษาไปจนถึงปวารณาออกพรรษาการกรานกฐินได้ ส่วนภิกษุที่ขาดพรรษาในการเข้าพรรษาแรกก็ดี ภิกษุที่อธิษฐานเข้าพรรษาในการเข้าพรรษาหลังก็ดี กรานกฐินไม่ได้ ส่วนภิกษุที่จำพรรษาในวัดอื่นก็ไม่ได้เช่นกัน”
มตินี้น่าจะมีความสำคัญไม่น้อยเลย พระพุทธโฆสะจึงยกขึ้นมาเป็นบทตั้งเพื่อให้ได้หลักว่าพระอรรถกถาจารย์ชาวลังกายุคก่อนท่าน (ก่อนพ.ศ.900) เห็นว่า
1.ภิกษุที่อธิษฐานจำพรรษาแรกครบพรรษาในวัดเดียวกันเท่านั้นจึงมีสิทธิ์รับและกรานกฐินได้
2.ภิกษุที่อธิษฐานจำพรรษาแรกแล้วขาดพรรษากับภิกษุที่อธิษฐานเข้าพรรษาหลังไม่มีสิทธิ์รับและกรานกฐิน
เมื่อได้หลักอย่างนี้แล้ว พระพุทธโฆสะก็อธิบายเสริมว่า
‘ภิกษุที่เข้าจำพรรษาแรกในวัดเดียวกันรูปอื่น ๆ นอกเหนือไปจาก 5 รูปนั้น ที่คุณสมบัติขาดไป คือ ขาดพรรษาบ้าง จำพรรษาหลังบ้าง แม้กรานกฐินไม่ได้ แต่ก็เป็นคณปูรกะ-ร่วมคณะได้อยู่ แต่ไม่ได้อานิสงส์หรือสิทธิพิเศษตามพระพุทธานุญาต ภิกษุที่จำพรรษาแรกและอยู่ครบพรรษาเท่านั้นจึงได้อานิสงส์’
สรุปว่า ความเห็นต่างที่ 1 ใช้ได้ เพราะปฏิบัติกันตามมติของอรรถกถามหาปัจจรีที่คณะสงฆ์ลังกายอมรับปฏิบัติกันต่อ ๆ มา
ส่วนความเห็นต่างที่ 2 ในสังคมไทยที่ว่า‘ในวัดที่มีพระจำพรรษาไม่ครบ 5 รูป สามารถนิมนต์พระมาจากวัดอื่นหรือที่อื่นมารับกฐินได้ และพระในวัดที่จำพรรษาจะได้อานิสงส์ หลังจากกรานกฐินแล้ว’
ความเห็นต่างนี้ก็น่าคิดเช่นกัน การปฏิบัติถือว่ายืดหยุ่นลงจากความเห็นที่ 1 ก็มีคำถามว่าได้แนวคิดมาจากที่ไหน ? ผู้เขียนเข้าใจว่าความเห็นของพระพุทธโฆสะที่กล่าวไว้ต่อไปนี้น่าสนใจ คือ ความเห็นว่า
‘ถ้าบรรดาภิกษุที่จำพรรษาแรกไม่เข้าใจวิธีกรานกฐิน สงฆ์พึงแสวงหาพระเถระผู้ชำนาญขันธกะ-หมวดหมู่ของวัตรปฏิบัติในพระวินัยที่ฉลาดรอบรู้เกี่ยวกับการกรานกฐินมา ท่านมาแล้วจะได้ช่วยประกาศกรรมวาจา-การพูดแนะนำเรื่องทำวินัยกรรมแล้วแนะนำให้กรานกฐินได้ แต่ว่าท่านจะไม่ได้อานิสงส์ แต่ได้แค่ฉันอาหารที่ถวายแล้วก็ไป’
ตรงนี้หมายความว่า พระพุทธโฆสะเปิดทางให้หาพระเถระจากวัดอื่นมาช่วยแนะนำด้านวินัยกรรม ทำตามขั้นตอนพระวินัยได้
สรุปได้ว่า แนวทางการวินิจฉัยของพระอรรถกถาจารย์ดังกล่าวมาน่าจะช่วยยุติความเห็นต่างทั้ง ๒ เกี่ยวกับการปฏิบัติในการรับและกรานกฐินในสังคมไทยลงได้ เรื่องเกี่ยวกับกฐินไม่ใช้เป็นตัวชี้ขาดถึงว่าถ้าทำผิดจะต้องโทษถึงขาดจากความเป็นพระ แต่เป็นวัตรปฏิบัติที่เป็นตัวเสริมและหาทางออกในการเปลี่ยนจีวรของภิกษุ ก็สังคมไทยนี้เองที่ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ว่าวัดจะขาดกฐินไม่ได้แล้วกำหนดให้เป็นประเพณีที่มีรูปแบบเฉพาะเป็นกฐินของชาวพุทธไทย และตอนนี้สังคมไทยกลับถือหนักไปอีกตรงที่ว่า ถือ “เงิน” เป็นหลัก..
……………………
คอลัมน์ : ริ้วผ้าเหลือง
โดย….“เปรียญสิบ” : [email protected]