ช่วงนี้นักการเมืองเริ่มลงพื้นที่หาเสียงกันแล้ว เราจะเห็นพฤติกรรมแปลก ๆ ของนักการเมือง จากคนที่ไม่เคยรักเด็ก ก็รักเด็ก จากคนที่ไม่เคยไปนั่งล้อมวงกินข้าวกับชาวบ้านก็ทำตัวติดดิน
จากคนที่ไม่เคยพูดจาหวาน ๆ ก็เริ่มพูดจาดี จากคนที่ไม่เคยเข้าหาชาวบ้านก็วิ่งเข้าหาชาวบาน และหลายคนพยายาม “ถอดเครื่องแบบ” แต่งตัวให้ชาวบ้านมีความรู้สึกว่า “พวกเดียวกัน”
ขอเตือนประชาชนคนไทย..พึงระวังตั้งสติไว้
โดยเฉพาะวันก่อนเห็น “บิ๊กตู่” นายกรัฐมนตรี ลงไปตรวจราชการที่จังหวัดอยุธยา มี “พระมหาเถระ” รูปหนึ่ง ปรากฏข้างกาย ไม่รู้ว่าเจอกันโดยบังเอิญ หรือร่วมคณะไปด้วย
ตรงนี้ต้องระวัง!! เนื่องจากใกล้เลือกตั้งแบบนี้ อาจเจอข้อคำ “ครหา” ได้ และซ้ำ หมิ่นเหม่อาจขัดคำสั่งของมหาเถรสมาคม
“เปรียญสิบ” ไปเปิดดูข้อห้าม พระภิกษุสามเณรเกี่ยวข้องกับการเมือง มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2491 ตามพ.ร.บ. 2484 และมติมหาเถรสมาคม พ.ศ.2538 และพ.ศ.2563 ตามพ.ร.บ.2505 ให้พระภิกษุปฎิบัติตนอย่างเคร่งครัด และให้เจ้าคณะปกครองสอดส่องดูแล อย่าให้พระภิกษุเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองโดยเด็ดขาด และรวมทั้งในปี 2561 “สมเด็จพระสังฆราช” ลงนามประกาศ ห้ามเจ้าอาวาสยินยอมหรืออนุญาตให้ใช้วัดเป็นสถานที่จัดชุมนุม ประชุม สัมมนา เสวนา หรือให้ใช้จัดกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมือง เว้น การไปไหว้พระเพื่อเป็นสิริมงคล รวมทั้งเมื่อปี 2563 มีมติให้ “สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ” และ “เจ้าคณะปกครอง” สอดส่อง ดูแลหากเจอพระภิกษุสามเณรมีพฤติกรรมดังกล่าว ให้รายการเจ้าคณะปกครองเพื่อดำเนินการตามพระวินัยต่อไป
“คณะสงฆ์” ต้องรู้ทันนักการเมือง อย่าตกหลุมพรางเด็ดขาด..ใครทำอะไรไว้คณะสงฆ์ต้องจดทำ
ยิ่งใกล้ฤดูเลือกตั้งแบบนี้..อย่าเข้าไปเดินติดตามหรือเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง นักการเมืองเด็ดขาด
เว้น!! นักการเมืองคนนั้น ๆ เข้ามาในวัดมาร่วมบุญหรือมากราบ อันนั้นโดยหน้าที่ “เจ้าบ้าน” โดยหน้าที่ “เจ้าอาวาส” เลือกปฎิบัติไม่ได้
“เปรียญสิบ” พูดถึงเรื่องนี้เพื่อเตือน “สติ” พระคุณเจ้าบางรูปที่อาจจะรู้เท่า “ไม่ถึงการณ์” หรือหลงกับ “คำเยินยอ” ของนักบรรดาเลือกตั้ง ทำให้มติมหาเถรสมาคมหรือคำประกาศสมเด็จพระสังฆราช “ไม่ศักดิ์สิทธิ์”
“เชียร์ได้แต่อย่าออกหน้า” เพราะหากออกหน้ามาก ประเภทลงพื้นที่ด้วย แม้จะนำไหว้พระ มีเจตนาบริสุทธิ์ เจตตนาดี พาเข้าวัดก็ตามทีเถอะ
ประชาชนอาจมองว่าพระสงฆ์ “ฝักไฝ่” การเมืองได้ ซึ่งหากเกิดความคิดแบบนี้ใน “หมู่มวลมหาชน” ผลเสียย่อมเกิดแต่สถาบันสงฆ์และผลกระทบที่ตามมาคือ “สถาบันพระพุทธศาสนา”
ผู้นำต้องเป็นแบบอย่าง ผู้นำต้องทำก่อน และสุดท้าย..มติมหาเถรสมาคมก็ดี คำประกาศปี 2561 ซึ่งเปรียบเสมือน “พระบัญชา” ของสมเด็จพระสังฆราชก็ดี
ต้องปฎิบัติให้เท่าเทียม..อย่าให้คนมองว่าเลือกปฎิบัติ
……………………..
คอลัมน์ : ริ้วผ้าเหลือง
โดย…“เปรียญสิบ”: [email protected]