วันเสาร์, กันยายน 21, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSยก!!“พระสังฆราช”ให้มี..แต่“พระคุณ”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ยก!!“พระสังฆราช”ให้มี..แต่“พระคุณ”

ช่วงเทศกาลตรุษจีนมีเวลาว่างหลายวันอ่านบันทึกของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา วันที่ 22 พฤศจิกายน 2544 ความว่า คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อ วันที่ 20 พฤศจิกายน 2544 อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ที่จะแก้กฎหมายยก “ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช” ให้มีแต่ “พระคุณ”

สาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ คือ  ยก สมเด็จพระสังฆราชให้มีแต่พระคุณ ไม่ได้ให้ทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการมหาเถรสมาคม แต่ทรงดำรงตำแหน่ง สกลมหาสังฆปริณายก ทรงปกครองและบัญชาการคณะสงฆ์

และในร่างกฎหมายฉบับนี้กำหนดให้มี “มหาคณิสสร” ทำหน้าที่บริหารแทนมหาเถรสมาคม  และกำหนดให้มี “กองทุนเพื่อกิจการพระพุทธศาสนา” มีสถานะเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการบริหาร การศาสนศึกษา การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแผ่ การสาธารณูปการ และการสาธารณสงเคราะห์ของพระสงฆ์ อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา ส่งเสริมงานวิชาการพระพุทธศาสนา สนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน

อ่านแล้วเข้าท่า…

โดยเฉพาะยก สมเด็จพระสังฆราชให้มีแต่พระคุณ  กรณีนี้รัฐบาลและคณะสงฆ์ตอนนั้นคงพยายามที่ยกย่อง “สมเด็จพระสังฆราช” มิให้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับ “การบริหารกิจการคณะสงฆ์” หรือ “กิจการที่เกี่ยวข้องกับความวุ่นวาย” ของคณะสงฆ์ ดังยุคปัจจุบันหรือก่อนหน้านั้น

ยก…สถานะไว้ให้มีแต่ “พระคุณ

โดยในร่างกฎหมายที่ผ่านการตรวจพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาฉบับนี้ คงยึดหลักการที่รัฐบาลเสนอ กล่าวคือ ยกสมเด็จพระสังฆราชให้มีแต่พระคุณ ไม่ได้ให้ทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการมหาเถรสมาคม แต่ทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายก ทรงปกครองและบัญชาการคณะสงฆ์

สมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งพระราชาคณะจำนวนไม่เกินสิบสามรูปเข้าร่วมเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม

สมเด็จพระสังฆราช ทรงแต่งตั้งกรรมการมหาคณิสสร โดยคำแนะนำของมหาเถรสมาคม

และในการปกครองคณะสงฆ์นั้น แม้จะบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของมหาคณิสสรก็ตาม แต่การปกครองคณะสงฆ์ของมหาคณิสสร นอกจากจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย พระธรรมวินัยแล้ว ยังจะต้องให้เป็นไปตามกฎมหาเถรสมาคมและพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชด้วย สมเด็จพระสังฆราชจึงยังทรงมีอำนาจบัญชาการปกครองคณะสงฆ์ ซึ่งจะทรงตราพระบัญชาเมื่อจำเป็นหรือเมื่อมีเหตุการณ์อื่นใดที่ต้องจัดการให้การปกครองคณะสงฆ์เป็นไปโดยเรียบร้อยได้

ส่วนการปกครองคณะสงฆ์ให้คงอยู่เหมือนเดิม คือ ให้มีเจ้าคณะหนใหญ่ เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล และเจ้าอาวาส

เสียดาย..ร่างกฎหมายฉบับนี้สุดท้ายไปไม่ถึงฝั่ง ไม่รู้ไปตกหล่นอยู่ในขั้นตอนไหน

ความจริง..

 สมเด็จพระสังราช มีสถานะ “สกลมหาสังฆปริณายก” เป็น “สังฆบิดร” ของคณะสงฆ์ทั้งปวง สมควรไม่เกี่ยวข้องกับ “การบริหารกิจการคณะสงฆ์” เปรียบเสมือน พระมหากษัตริย์ ของไทย

และทั้ง…

ไม่ควรจำพรรษาอยู่วัดใดวัดหนึ่ง.. แต่สมควรอยู่จำพรรษาอยู่ ณ พุทธมณฑล ศูนย์กลางพระพุทธศาสนาของประเทศไทย

ที่พุทธมณฑล มีทั้งตำหนักสมเด็จพระสังฆราช..มีทั้งเรือนรับรองพระอาคันตุกะ เสียดายทุกวันนี้..มีแต่ฝุ่นและเก่าทรุดโทรม

หากพระสังฆราชไปพำนักที่พุทธมณฑลได้จริงสลายความรู้สึกระหว่างมหานิกายและธรรมยุติกนิกายลงได้

และทั้งสลายความรู้สึก..พระเธอ พระฉัน ได้อีกด้วย

ที่ประเทศเมียนมา..บรรดามหาเถรสมาคมทุกรูป หากจำไม่ผิด 41 รูป

กรรมการมหาเถรของเขา ทุกรูปเมื่อได้รับแต่งตั้งแล้ว..จะต้องไปจำพรรษาและปฎิบัติศาสนกิจ ณ อารามภายในบริเวณใกล้ ๆ มหาปาสาณคูหา สถานที่สังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 6 กรุงย่างกุ้ง

มิได้จำพรรษา..วัดใครวัดมัน เหมือนกับคณะสงฆ์ไทย

หากเราคิดจะยกย่อง..สมเด็จพระสังฆราชไทย อาจต้อง..ปัดฝุ่นกฎหมายฉบับนี้อีกครั้ง

ส่วนมหาคณิสรรและกองทุนเพื่อกิจการพระพุทธศาสนา วันหลังมาเล่าเท่าที่รู้กันต่อครับ…

คอลัมน์ : ริ้วผ้าเหลือง

โดย  “เปรียญ10” : [email protected]

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img