“เปรียญสิบ” เคยเฝ้าถวายสักการะ “สมเด็จพระสังฆราช” องค์ปัจจุบันเมื่อหลายปีก่อน โดยนำคณะสงฆ์รามัญนิกายและคหบดีชาวมอญ จากประเทศเมียนมา กลุ่มใหญ่ร่วมเฝ้าถวายสักการะ
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก องค์ปัจจุบันเป็นพระภิกษุที่สมถะและเรียบง่าย ใครพบใครได้เฝ้าก็บังเกิดความ “ศรัทธา” เนื่องจากพระองค์มีบุคลิกภาพยิ้มแย้ม สนทนาด้วยน้ำเสียงที่โอนโยนและเมตตา อาจเป็นเพราะพระองค์มีฐานมาจาก พระวิปัสสนาจารย์
ตอนที่พาคณะสงฆ์รามัญนิกายเฝ้าสักการะ เมื่อพระองค์มาถึง ทรงสนทนาด้วยภาษารามัญ แม้จะไม่คล่องแคล่วเหมือนเจ้าของภาษา แต่พูดรู้เรื่อง พระองค์ทรงเล่าถึงเมื่อคราวเดินทางไปเยี่ยมคณะสงฆ์รามัญธรรมยุตของมอญ (นิกายมหาเย็น) ประมาณปี 2493 ว่าตอนนั้นเดินทางโดยรถไฟไปยังเมืองเมาะละแหม่ง รัฐมอญ ไปด้วยความลำบาก ทุกวันนี้ก็ยังคิดถึงอยู่ แต่คงไม่ได้มีโอกาสไปแล้ว เนื่องจากตอนนี้สุขภาพชราแล้ว แต่มีความประทับใจในวิถีชีวิตของชาวพุทธที่มีต่อพระสงฆ์และพระพุทธศาสนาไม่รู้ลืม อยากให้คณะสงฆ์รามัญช่วยกันรักษาภาษา วัฒนธรรมประเพณีของตนเอาไว้ โดยเฉพาะเรื่องภาษาบาลี ต้องช่วยกันรักษา
ในคณะหลายคนถาม “เปรียญสิบ” ว่าพระองค์มีเชื้อสายมอญหรือรามัญหรือไม่ ตอนหลังสอบถามจากหลายคนบอกว่าพระองค์ไม่ได้เป็นคนเชื้อสายรามัญ แต่ประสูติและเติบโตมาจากชุมชนชาวรามัญในจังหวัดราชบุรี
แม้แต่ “สมเด็จชิน” สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ก็สนทนาภาษารามัญได้
คราวหนึ่ง “เปรียญสิบ” ตาม “ปลัดเก่ง” คุณสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ไปทอดกฐินที่วัดกลาง จังหวัดลพบุรี ปลัดเก่งแนะนำว่า “เปรียญสิบ” เป็นมอญ เมื่อเข้าไปรับของที่ระลึก “สมเด็จชิน” ทักทายด้วยภาษามอญว่า มาจากบ้านไหน??
“เจ้าคุณอาชว์” พระราชสารสุธี เจ้าอาวาสวัดตรีทศเทพ ซึ่งพอคุ้ยเคยกันบ้างนั่งอยู่ใกล้ๆ ตอบแทนว่าเป็น “มอญจังหวัดกาญจนบุรี”
ตอนหลังก็ไปถามผู้รู้ต่อว่า “สมเด็จชิน” เป็นคนจังหวัดอยุธยา มีมอญอาศัยอยู่หลายชุมชน ท่านมีเชื้อสายหรือไม่ สรุป “ไม่มี” แต่พูดมอญได้ เพราะพระอุปัชฌาย์ของท่านคือ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก หรือ “สมเด็จพระสังฆราชวาสน์” มีเชื้อสายมอญ เรื่องนี้ข้อเท็จจริงประการใดไม่ทราบได้
แต่เป็นเอาว่า “สมเด็จพระสังฆราช” องค์ปัจจุบันในฐานะ “สังฆบิดร” ของของคณะสงฆ์ไทย และในฐานะ “สกลมหาสังฆปริณายก” พระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสถาปนาขึ้นเป็น “สมเด็จพระสังฆราช” เมื่อปี 2560 ในฐานะ “สังฆบิดร” พระองค์ถือว่าเป็นแบบอย่างที่ดีทั้งในดูแลคณะสงฆ์ โดยไม่ได้ใช้อำนาจอะไรเกินขอบเขตในการดูแลคณะสงฆ์
ในขณะเดียวกันในฐานะพระองค์เป็นพระภิกษุสงฆ์ความด่างพร้อยในพระวินัย ความบกพร่องในความเป็นพระภิกษุสงฆ์ ไม่เคยมีตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน พระองค์จึงเป็นที่เคารพและศรัทธาในหมู่ชาวพุทธไม่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แม้แต่พระมุขสงฆ์นานาชาติ นักปราชญ์ชาวพุทธนานาชาติก็ให้ความเคารพนับถือพระองค์ แต่กิตติศัพท์ความมีพระเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์โดยไม่เลือกชนชาติ ชนชั้นวรรณะ หรือ ศาสนานี้ แผ่กระจายไปสู่ คนต่างศาสนา ด้วย
เนื่องในวโรกาสพระองค์ มีพระชนมายุ ครบ 8 รอบ พระชันษา 96 ปี ใน 26 มิถุนายน 2566 “เปรียญสิบ” ในนามพุทธศาสนิกชนขออวยพรให้พระองค์ทรงมีพระสุขภาพแข็งแรง ทรงเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้แก่คณะสงฆ์และชาวพุทธ ตลอดกาลนานเทอญ..
………………….
คอลัมน์ : ริ้วผ้าเหลือง
โดย “เปรียญสิบ”: [email protected]