“เปรียญสิบ” ดูจากข้อมูลของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดลระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่ “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” เป็นที่เรียบร้อย โดยมีจำนวนประชากรผู้สูงอายุมากถึง 13,458,000 คน ของประชากรทั้งหมดประมาณ 65,994,000 คน และที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือ การขยายตัวของจำนวนผู้สูงวัย จะมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในแต่ละปี
คาดการณ์ว่าในปี 2030 หรืออีก 10 ปี ข้างหน้า ประเทศไทยจะเข้าสู่ “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” หรือ “Super Aged Society” โดยจะมีผู้สูงวัยสูงถึงร้อยละ 28 ของประชากรทั้งประเทศ เช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆ ทั่วโลก
“พระคิลานุปัฎฐาก” ที่ดำเนินการโดยมหาเถรสมาคมฝ่าย สาธารณสงเคราะห์ อันมี “สมเด็จพระมหาธีราจารย์” เป็นประธานคือการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นในสังคมคณะสงฆ์ ที่นับวัด “พระสูงวัย” เพิ่มจำนวนขึ้นทั้งเป็นพระภิกษุที่บวชอยู่เดิมและประชาชนที่เข้ามาบวชในวัยชราหรือวัยเกษียณเพิ่มมากขึ้น
“เจ้าคุณพล” พระเทพเวที เจ้าคณะภาค 6 บอกว่าการเกิดขึ้นของ ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ มีผลมาจาก เมื่อปี 2560 คณะสงฆ์ได้มีแผนปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา และในแผนนี้มีการพูดถึงเรื่องสุขภาพพระสงฆ์ ประจวบเหมาะกับ ทาง สช.หรือ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้มาปรึกษากับทางมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จนจับมือกันทำเรื่องนี้
ต่อมาก็ได้เสนอ “มหาเถรสมาคม” ซึ่งที่ประชุมมหาเถรสมาคมได้มีมติเห็นชอบ และให้อยู่ภายใต้ภารกิจของคณะกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม โดยมีเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ เป็นประธาน เป้าหมายก็เพื่อ หนึ่ง พระสงฆ์ดูแลสุขภาพตนเองตามหลักพระธรรมวินัย สอง ชุมชนและสังคมกับการดูอุปัฎฐากพระสงฆ์ และ สาม บทบาทพระสงฆ์ในการเป็นผู้นำด้านสุขภาวะของชุมชนและสังคม ในธรรมนูญนี้มีคำว่า “พระคิลานุปัฎฐาก” ซึ่งหมายถึง ผู้ปฎิบัติดูแลพระสงฆ์อาพาธ รวมทั้งการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การควบคุมโรค และการจัดการปัจจัยที่คุกคามสุขภาพพระสงฆ์ด้วย
ตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ พ.ศ.2560 ฉบับแรกของประเทศบังคับใช้มาจนถึงปัจจุบัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นฟากฝั่งฆราวาสหรือองค์กรสงฆ์ต่างให้ความสำคัญและตื่นตัวกันเป็นอย่างมาก ต่างได้ช่วยกันขับเคลื่อนงานตามบทบาทและหน้าที่ของส่วนงาน ส่งผลให้การขับเคลื่อนมีความคืบหน้าตามลำดับ อาทิ การพัฒนาระบบฐานข้อมูลพระสงฆ์ พัฒนาพระคิลานุปัฎฐาก วัดส่งเสริมสุขภาพ ชุมชนคุณธรรมด้วยพลังบวร การสื่อสารเพื่อสุขภาพพระสงฆ์ การขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ระดับพื้นที่ โดยมีตัวอย่างและต้นแบบที่ดีงามทั่วประเทศ เป็นต้น ซึ่งตอนนี้กำลังจัดทำธรรมนูญุสุขภาพพระสงฆ์สู่ระยะที่ 2 ต่อไป..
“เปรียญสิบ” ย้อนดูผลสำรวจโรคที่เกิดขึ้นกับพระสงฆ์มากที่สุด จากสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสำรวจไว้เมื่อ ปี 2554-2555 พบว่า พระสงฆ์อยู่ในเกณฑ์อ้วน 45.1% มีโรคประจำตัว 40.2% และพระสงฆ์ที่มีสุขภาพดีแค่ 33.3%
นอกจากนี้มีพระสงฆ์หลายรูปอาพาธหลายโรครุมเร้า ไร้คนดูแล บางรูปป่วยติดเตียง ช่วยตัวเองไม่ได้ ข้อมูล “กรมการแพทย์” ระบุว่า พระสงฆ์มารักษาตัวที่โรงพยาบาลสงฆ์ 5 อันดับแรก 1.โรคไขมัน 2.โรคความดันโลหิตสูง 3.โรคเบาหวาน 4.โรคไตวายเรื้อรัง และ 5.โรคข้อเข่าเสื่อม
สัญญาณเหล่านี้คือ สัญญาณอันตรายที่มหาเถรสมาคม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ รวมทั้งตระกูล ส. ทั้งหลาย ทั้ง สสส. สช. สปสช. กำลังเร่งแก้ปัญหาทำงานร่วมกับคณะสงฆ์อยู่
“พระคิลานุปัฎฐาก” จึงเป็นกลไกหนึ่งที่เกิดขึ้นภายใต้ปฎิบัติการของธรรมนูญสภาพพระสงฆ์ตั้งแต่ปี 2560 มิใช่เรื่องใหม่อะไร หากจำไม่เป็นตอนนี้ “พระคิลานุปัฎฐาก” มีครอบคลุมทุกจังหวัด ทุกตำบลๆ ละ 2 รูป เพียงแต่ภาครัฐอาจต้องเพิ่ม “องค์ความรู้” ด้านการดูแลสุขภาพ พร้อมทั้งประสานกับภาคีเครือข่ายท้องถิ่นจับมือแก้ปัญหาร่วม มิใชเฉพาะ “พระสงฆ์อย่างเดียว” ตอนนี้ชุมชนหมู่บ้าน ก็ประสบปัญหาไม่แพ้กันทั้ง จำนวนผู้สูงวัยที่เพิ่มมากขึ้น ผู้ป่วยติดเตียงไร้คนดูแล เรื่องเหล่านี้ตอนนี้องค์กรปกครองท้องถิ่นหลายแห่งพยายามจะจับมือกับคณะสงฆ์ตั้งศูนย์ดูแลผู้สูงอายุภายในวัด..
ส่วนบัตร Smart Card อันนี้ “เจ้าคุณพล” ก็บอกว่าเป็นแนวคิดที่คณะสงฆ์ทำงานร่วมกับสำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ มานานแล้ว มิใช่เพิ่งเกิด และไม่เห็นด้วยที่จะยกเลิก “หนังสือสุทธิ” เพราะหนังสือสุทธิเกี่ยวข้องกับพระวินัย..เกี่ยวข้องอย่างไรให้ไปถามเจ้าคุณพลหรือ..พระเทพเวที
…………..
คอลัมน์ : ริ้วผ้าเหลือง
โดย…“เปรียญสิบ”: [email protected]