“เปรียญสิบ” ทุกปีจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับสถาบันเรียนเดิมของตนเองคือ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย หรือ “มจร” อย่างน้อย 2 งานคือ หนึ่ง งานวิสาขบูชาโลก ซึ่งงานวิสาขบูชาโลกนั้นถือว่าเป็นงานระดับชาติและโลก ถือว่าเป็นหน้าเป็นตาไม่เฉพาะของ “มจร” เท่านั้นรวมถึงคณะสงฆ์และรัฐบาลไทย ประเทศไทยด้วย
เพราะทุกปีจะมีประมุขสงฆ์ ผู้นำชาวพุทธ นักวิชาการและประชาชน จากประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา เดินทางมาร่วมประชุม 80 กว่าประเทศ รวมจำนวนคนแล้วไม่ต่ำกว่า 1,500 คน เจ้าภาพหลักก็คือ “มจร” เพราะ “พระพรหมบัณฑิต” อุปนายกสภา มจร เป็น..ประธานสภาสากลวันวิสาขบูชาโลก
ส่วนงานที่สอง ที่ร่วมทำงานทุกปี เช่นกันคือ “งานประสาทปริญญา” ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งมีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-10 ธันวาคม 2566 รายละเอียดในวันเสาร์ที่ 9 ธันวาคม 2566 เป็นวันซ้อมใหญ่ทั้งภาคเช้าและบ่าย ส่วนวันที่ 10 ธันวาคม 2566 ภาคเช้าผู้สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี ปริญญาโทและอภิธรรมบัณฑิต จะรับปริญญาบัตร จากผู้แทนสมเด็จพระสังฆราช คือ “สมเด็จพระมหาธีราจารย์” ส่วนภาคบ่าย “สมเด็จพระสังฆราช” จะเสด็จมาประทานปริญญาบัตรให้แก่กลุ่มผู้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ เข็มเกียรติคุณ ปริญญาเอก และสถาบันสมทบ
สำหรับนิสิตผู้สำเร็จการศึกษาในปีการศึกษา 2566 นี้ รวมทั้งสิ้น 4,628รูป /คน จำแนกเป็นปริญญาตรี 3,177 รูป/คน ปริญญาโท 990 รูป/คน และปริญญาเอก 461รูป/คน ใน 4,628 รูป/คนนี้ มีผู้ลงทะเบียนเข้ารับประทานปริญญาบัตรทิ้งสิ้น 3,108 รูป/คน แยกเป็นบรรพชิต 1,671 รูป และคฤหัสถ์ 1,437 คน
อันนี้ไม่นับรวมผู้มีชื่อเสียงทั้งพระสงฆ์และคฤหัสถ์ที่สภา “มจร” อนุมัติปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ เข็มเกียรติคุณ ซึ่งมาจากทั่วโลกอีก 117 รูป/คน โดยแบ่งเป็นปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ 74 รูป/คน และเข็มเกียรติคุณ 43 รูป/คน
อันนี้ข้อมูลเบื้องต้น..อาจขาดหรือเกินจากนี้ในวันรับ “จริง” โดยเฉพาะข้อมูลของผู้รับ
ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มี “พระพรหมวชิราธิบดี” ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัย “พระพรหมบัณฑิต” ดำรงตำแหน่ง อุปนายกสภามหาวิทยาลัย และมี “พระธรรมวัชรบัณฑิต” ดำรงตำแหน่งอธิการบดี จัดการศึกษาแบ่งออกเป็น 5 คณะ ประกอบด้วย บัณฑิตวิทยาลัย คณะพุทธศาสตร์ ครุศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และคณะสังคมศาสตร์ มี 11 วิทยาเขต 30 วิทยาลัย 1 โครงการขยายห้องเรียน และ 1 หน่วยวิทยบริการ
นอกจากนี้ ยังมีสถาบันสมทบในต่างประเทศ 5 แห่ง มีจำนวนทั้งหมด 293 หลักสูตร โดยจำแนกเป็น ปริญญาตรี 170 หลักสูตร ประกาศนียบัตรบัณฑิต 2 หลักสูตร ปริญญาโท 78 หลักสูตร ปริญญาเอก 43 หลักสูตร มีอาจารย์ทั้งหมด 1,351 รูป/คน จำแนกเป็นปริญญาโท 493 รูป/คน ปริญญาเอก 805 รูป/คน และมีตำแหน่งทางวิชาการ จำนวน 473 รูป/คน จำแนกเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ 348 รูป/คน รองศาสตราจารย์ 117 รูป/คน และศาสตราจารย์ 8 รูป/คน ผลิตผลงานวิชาการตีพิมพ์เผยแพร่ 1,276 เรื่อง มีนิสิตทั้งสิ้น 19,704 รูป/คน จำแนกเป็น ปริญญาตรี 14,246 รูป/คน ปริญญาโท 3,427 รูป/คน ปริญญาเอก 2,031 รูป/คน ในจำนวนนิสิตทั้งสิ้นมีนิสิตชาวต่างประเทศ 1,383 รูป/คน จาก 28 ประเทศ
และใน 28 ประเทศนี้ โดยเฉพาะจากนิสิตจาก “ประเทศเมียนมา” มีชนชาติพันธุ์อีกหลายสิบชาติพันธุ์ที่มาเรียนที่ มจร เฉพาะชาติพันธุ์ “ไทใหญ่” มีผู้มาศึกษาที่ มจร มากกว่า 300 รูป/คน
ยิ่งตอนนี้ “สถานการณ์การเมือง” ในประเทศเมียนมา “วุ่นวาย” มีข่าวว่า พระ-เณร สมัครมาเรียน “มจร” กันเป็นจำนวนมาก และไม่เฉพาะพระ-เณร เท่านั้น “คฤหัสถ์” ก็แห่มาเรียนกันเยอะเช่นกัน ตรงนี้ “มจร” ต้องเตรียมสถานที่รองรับให้ดี ทั้งเรื่องคุณภาพของผู้เรียนและสถานที่รองรับ
“เปรียญสิบ” ดูสถิติย้อนหลังของจำนวนนิสิต “มจร” จากสำนักทะเบียนและวัด มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี เช่นปี 2562 มีจำนวน 18,420 รูป/คน ปี 2563 มีจำนวน 19,652 รูป/คน และปี 2566 มีจำนวน 20,346 รูป/คน ในขณะที่นิสิตต่างประเทศก็เช่นกันปี 2563 มีจำนวน 1,294 รูป/คน จาก 28 ประเทศ ปี 2564 มีจำนวน 1,195 รูป/คน จาก 26 ประเทศ ปี 2565 มีจำนวน 1,383 รูป/คน จาก 28 ประเทศ
จากสถิติดังกล่าว “มจร” ไม่มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนจำนวน “นิสิต-นักศึกษา” ที่มหาวิทยาลัยทั่วไทยกำลังเจอกับ “วิกฤติ” จำนวนนิสิตนักศึกษาที่ลดลง
รวมทั้งจากสถิติข้อมูลดังกล่าว “มจร” กำลังส่งนัยว่า “มจร” ของเราต้องมีดี ส่วนจะมีดีอะไรนั้น แน่นอนเรื่อง คุณภาพการเรียน เรื่องค่าเทอม เรื่องบรรยากาศ สภาพแวดล้อม ความเป็นกัลยาณมิตรระหว่างผู้สอนและผู้เรียนมีส่วนสำคัญไม่ใช่น้อย
“เปรียญสิบ” เชื่อว่าตรงนี้คือ “เสน่ห์” ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จึงทำให้มีนิสิตทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มจำนวนเรียนขึ้นทุกปี!!
………………
คอลัมน์ : ริ้วผ้าเหลือง
โดย…“เปรียญสิบ”: [email protected]