วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTS“มติ มส.” กับ “พระบรมราชโองการ” ใครใหญ่กว่ากัน...??
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“มติ มส.” กับ “พระบรมราชโองการ” ใครใหญ่กว่ากัน…??

“เปรียญสิบ” จั่วหัวตั้งคำถามแบบนี้ มิได้หมายความว่าจะให้ “วัด” ไปชนกับ “วัง” แต่ช่วงนี้เกิดความ “สับสน” ในแวดวงคณะสงฆ์ ทั้งในระดับ “มหาวิทยาลัย” และ “ทั่วไป” เรื่องเกี่ยวกับการใช้ชื่อ “สมณศักดิ์” พระภิกษุที่ได้รับโปรดเกล้าแต่งตั้ง เลื่อน หรือสถาปนา “สมณศักดิ์ใหม่” ว่า เริ่มใช้ได้ตั้งแต่เมื่อไร

เปรียญสิบ” ขอยก “มติ มส.” เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2566 เลขาธิการมหาเถรสมาคมเสนอว่า

“ตามที่ได้มีราชกิจจานุเบกษา ประกาศพระบรมราชโองการ สถาปนาสมณศักดิ์พระสงฆ์ เป็นสมเด็จพระราชาคณะ ทรงตั้งสมณศักดิ์ พระราชาคณะ และทรงตั้งพระครูสัญญาบัตรนั้น  สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้รับข้อหารือว่า จะสามารถใช้ชื่อราชทินนามสมณศักดิ์ที่ได้รับการสถาปนาและตั้งใหม่ได้เลยหรือไม่ หรือควรปฏิบัติอย่างไร ซึ่งที่ประชุมมหาเถรสมาคมพิจารณาแล้ว มีความเห็นว่า ตามโบราณราชประเพณีและจารีตของคณะสงฆ์ พระภิกษุที่ได้รับสถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นเป็นชั้นสมเด็จพระราชาคณะ ชั้นเจ้าคณะรอง และได้รับการตั้งสมณศักดิ์ในชั้นพระราชาคณะอื่นๆ และพระครูสัญญาบัตร ถ้ายังไม่ได้ประกอบพิธีรับการพระราชทานสุพรรณบัฏ หิรัญบัฏ และสัญญาบัตรพัดยศ ประจำสมณศักดิ์นั้นๆ ควรใช้ชื่อราชทินนามสมณศักดิ์ในชื่อเดิมไปก่อน..”

มติมหาเถรสมาคมอ้างถึง “โบราณราชประเพณี-จารีตคณะสงฆ์” ให้ใช้ชื่อเดิมไปก่อน จนกว่าจะได้รับ “พัดยศ” ซึ่ง ณ ตอนนี้หลายรูปก็ยังไม่รู้ว่าจะได้รับพัดยศเมื่อไร

เพราะการโปรดเกล้าฯ สมณศักดิ์ ปัจจุบันกับอดีตไม่เหมือนกัน ซึ่งก็เป็น “พระราชอำนาจ” ที่คณะสงฆ์จะต้องปรับตัวตามไปตาม..พระราชอัธยาศัย

ปัจจุบันมีพระภิกษุหลายรูป..จึงแหก “มติ มส.” เพราะคิดว่า “พระบรมราชโองการ” ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ความศักดิ์สิทธิ์ในแง่ของกฎหมายและพระราชอำนาจ น่าจะ “ใหญ่กว่า” มติของมหาเถรสมาคม จึงเลือกที่จะใช้ชื่อใหม่ทันทีหลังราชกิจจานุเบกษาประกาศใช้

มีพระภิกษุและนักวิชาการสายมหาวิทยาลัยหลายท่านบอกว่า เรื่องนี้ “สำนักงานพุทธ” อาจต้องให้ “สำนักงานกฤษฎีกา” คลี่คลาย..??

“เปรียญสิบ” ดูมติมหาเถรสมาคม ท่านอ้างถึง “โบราณราชประเพณี-จารีตคณะสงฆ์” ดูแล้วก็มีเหตุผลของท่าน แต่คำถามก็คือว่า เมื่อไรคณะสงฆ์ที่ได้รับโปรดเกล้าฯใหม่ จึงจะได้ “รับพัดยศ” พวกท่านอย่าลืมว่า “พระภิกษุ” ก็คือ “ปุถุชน” ความอยากมันมี!!

“เปรียญสิบ” ดูจาก “มติมส.” ก็ไม่เป็นเชิงบังคับว่า “ต้องปฎิบัติตาม” เพราะท่านใช้คำว่า..ควรใช้ชื่อราชทินนามสมณศักดิ์ในชื่อเดิมไปก่อน

เรื่องนี้หากมองเป็นเรื่อง “เล็ก” ก็เล็ก แต่หากมองเป็นเรื่อง “ใหญ่” ก็ใหญ่

แต่ตอนนี้ “สับสน” เพราะมีพระภิกษุที่ได้รับโปรดเกล้าฯจำนวนมากใช้ชื่อ…สมณศักด์ใหม่แล้ว

ในขณะที่มีพระภิกษุ “จำนวนน้อย” ที่ไม่กล้าใช้..เพราะมี “มติ มส.” ค้ำคออยู่

“เปรียญสิบ” แตะแค่พัดยส “สมณศักดิ์ใหม่” ยังไม่ได้ว่าด้วยเรื่อง “นิตยภัต” ที่จะตามมา ตามชั้นยศสมณศักดิ์ อีกว่าจะเอามาจากไหน!!..ใช้งบประมาณ “ศาสนสมบัติกลาง” หรือ “กองทุนวัดช่วยวัด” ก็มีเยอะไป “ยืมใช้” ก่อนได้หรือไม่!!

เรื่องนี้ มหาเถรสมาคม สำนักงานพุทธ และ ทำเนียบองคมนตรี..อาจต้องตั้งวงคุยหาทางออก??

…………….

คอลัมน์ : ริ้วผ้าเหลือง

โดย…“เปรียญสิบ”: [email protected]

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img