ตอนนี้พระสงฆ์องค์เจ้าหันมาสนในศาสตร์ของพระราชาตามหลัก ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หรือยุคนี้ฮอตสุดขีดคือทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา” ซึ่งโดยเนื้อหาและเป้าหมายแล้วมันก็คือตัวเดียวกัน อันตั้งอยู่บนฐานของ 4 พ. คือ พอกิน พออยู่ พอใช้ และ พอร่มเย็น
ความจริงเรื่องนี้ภาครัฐทำมานานแล้ว ทำมาทุกกระทรวง แต่ไม่ปังเท่ากับยุคนี้ เหตุผลที่ประชาชนได้รับความนิยมกันมาก อาจมองได้หลายปัจจัย เช่น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมวงศานุวงศ์นำและทำเป็นแบบอย่างในการทำโคก หนอง นา, สังคมเจอกับโควิด
ผู้คนทั้งในสังคมคนออฟฟิศ นักศึกษาและประชาชนทั่วไปพยายามหา “ทางออกที่เป็นทางรอด” ของชีวิตและครอบครัว ในการนำไปสู่ “ความอยู่รอดแบบยั่งยืน” อย่างน้อยหากเป็นผู้นำครอบครัวให้ลูกและภรรยามีข้าวและอาหารผักกิน และประการสุดท้าย กรมพัฒนาชุมชน ประชาสัมพันธ์แบบเข้าถึงประชาชนที่อยากอยู่แล้วซ้ำประจายงบถึงครัวเรือนที่อยากทำโคก หนอง นา กับกรมพัฒนาชุมชน ในการขุดบ่อและช่วยเหลือด้านอื่น ๆ อย่างเอาจริงเอาจัง
โคก หนอง นา จึง ปังฮอตลามเข้ามาสู่วงการคณะสงฆ์ เพราะคำว่า พอกิน พออยู่ พอใช้ และ พอร่มเย็น เวลาเราไปศึกษาลึก ๆ ในการดำเนินงานแล้ว ศาสตร์ของพระราชา สอดคล้องกับหลักธรรมะและจารีตประเพณี บนฐานของพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น
จึงเกิดคำว่า “พระสงฆ์ไม่ทิ้งประชาชน”
“เปรียญสิบ” ตาม คุณสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมพัฒนาชุมชน เข้าหาพระภิกษุสงฆ์บ่อยขึ้น ในฐานะผู้ประสานงานอำนวยความสะดวก ทั้ง ๆ ที่ความจริงอธิบดีท่านนี้สายวัด ลูกศิษย์พระอยู่แล้ว บรรดาพระสงฆ์รู้จักท่านมากว่าเราอีกด้วยซ้ำไป
ตอนนี้เท่าที่ทราบ…“สมเด็จพระวันรัต” มอบที่ดินให้กับกรมการพัฒนาชุมชนไปบริหารจัดการแบ่งสรรปันส่วนจำนวน 200-300 ไร่ ที่อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งที่ดินตรงนี้มีโรงพยาบาลและโรงเรียนกินนอนของนักเรียนประเภทหัวดีอยู่ด้วย
“สมเด็จพระพุฒาจารย์” มอบที่ดินให้กับกรมการพัฒนาชุมชน ประมาณ 100 ไร่ ณ.อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เพื่อทำโคก หนอง นา ทั้งปลูกผักเลี้ยงพระภิกษุสามเณรในศูนย์การศึกษาของวัดและจัดสรรให้กับประชาชนที่ไร้ที่ดินทำกินบริเวนนั้น
อันนี้ไม่นับพระภิกษุสงฆ์อีกหลากหลายพื้นที่ทำโคก หนอง นา ทำเพื่อส่วนตัวบ้างเพื่อวัดบ้าง เพื่อส่วนรวมบ้าง
สรุปความก็คือ “พระไม่ทิ้งประชาชน”
สุดท้ายอันนี้น่าสนใจ “พุทธอารยเกษตร” มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยและวัดมหาจุฬาลงกรณราชชูทิศ
คำว่า “พุทธอารยเกษตร” เป็นพระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
“เปรียญสิบ” ปัญญาความรู้น้อย ไม่อาจอธิบายใจความได้ แต่คงหมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ด้านการเกษตรของประเทศและรวมต่อยอดนอกจากทฤษฎีในหลวงรัชกาลที่ 9 แล้ว อาจหมายรวมถึงวัฒนธรรมจารีตประเพณีอันดีงามของไทยคือ “ความเกื้อกูล” กันด้วย
เท่าที่ฟังจาก “พระเทพปวรเมธี” รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มจร. และคุณสุทธิพงษ์ จุลเจริญ “คิดการใหญ่” เพื่อเฉลิมพระเกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์ของเรา
“พุทธอารยเกษตร” มจร. มิใช่แค่ปลูกผักเลี้ยงพระนิสิตและบุคลากรป้อนเข้าโรงครัวอย่างเดียว
แต่หมายถึงอาจทำเป็นโมเดล “ศูนย์เรียนรู้พุทธอารยเกษตร” ให้ประมุขสงฆ์ ผู้นำศาสนา และนิสิตนานาชาติ ที่สนใจได้มาศึกษาและนำองค์ความรู้ ศาสตร์ของพระราชานำไปสู่ นานาประเทศด้วย
ฟังแล้วเข้าท่า??
เรื่องนี้มหาจุฬาฯและกรมการพัฒนาชุมชน อาจต้องพูดคุยกันบ่อย ๆ เพราะอนาคตอาจต้องมี อาคารจัดตั้งแสดงนิทรรศการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง, ฝีมือลายพระหัตถ์เกี่ยวกับ โคก หนอง นา, ห้องชมวิดีทัศน์หลากหลายภาษา และรวมทั้งอาจต้องตั้งหน่วยอบรมให้กับผู้คนใจทั้งที่เป็นคนไทยและต่างชาติ..
เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่และสำคัญ โมเดล โคก หนอง นา อย่าเก็บไว้เพียงในตู้ แต่ให้ขยายออกไปสู่จิตใจประชาชนและนานาชาติ มิใช่แต่ความรู้อย่างเดียว แต่มันต้องลงมือทำด้วย
เพราะ “เปรียญสิบ” คิดว่า มันคือทางรอดของมนุษย์ยุคปัจจุบัน
…………………..
คอลัมน์ : ริ้วผ้าเหลือง
โดย …“เปรียญสิบ” : [email protected]