วันจันทร์, พฤษภาคม 26, 2025
หน้าแรกCOLUMNISTS“มจร” ความหวังของ “คณะสงฆ์เถรวาท”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“มจร” ความหวังของ “คณะสงฆ์เถรวาท”

“เปรียญสิบ” เพิ่งเสร็จสิ้นการเยือนประเทศลาวร่วมกับคณะผู้บริหาร “มจร” นำโดย “เจ้าคุณประสาร” พระเทพวัชรสารบัณฑิต รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา พร้อมกับผู้บริหารวิทยาเขตในภาคอีสานทั้งหมด ที่มีกำหนดการไปร่วมลงนาม “MOU” กับ สภาแห่งชาติลาว ซึ่งเนื้อหารายละเอียดจะไม่นำมาลง แต่สาระสำคัญของ MOU คือ การตั้ง “กองทุนการศึกษาของพระสงฆ์ลาว”

ประเทศลาว ปัจจุบันมีพระภิกษุสามเณรประมาณ 30,000 รูป วัด 5,000 วัด จำนวนประชากรประมาณ 8 ล้านคน ในส่วนของ มจร มีพระนิสิตลาวและฆราวาส มาเรียนจากข้อมูลของชมรมนิสิตลาว มีอยู่ 237 รูป/คน

“เปรียญสิบ” ในฐานะศิษย์เก่า มจร ภูมิใจและดีใจทุกครั้ง เมื่อเห็น “ศิษย์เก่า” ไม่ว่าจะเป็นพระภิกษุหรือคฤหัสถ์ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศไทยหรือต่างชาติ ประสบความสำเร็จในชีวิตและการงาน โดยเฉพาะเพศคฤหัสถ์ เมื่อจบออกไปแล้วไปรับใช้บ้านเมือง หรือประกอบธุรกิจแล้วประสบความสำเร็จ เพราะ “ความสำเร็จของศิษย์เก่า” มันส่งนัยว่า มจร คือ สถาบันการศึกษาที่มีคุณภาพ “สร้างคนให้เป็นคน” ลืมตาอ้างปากได้ในสังคม เจอคนรวย คนมีอำนาจ  “ไม่ต้องก้มหัว” เพราะอับอายต่อโชคชะตา

และอีกนัยหนึ่ง ต้องยอมรับความจริงที่ว่า ศิษย์เก่ายุคก่อนหรือปัจจุบันล้วนมีฐานะยากจน หนีความจน บวชเรียนแสวงหาโอกาส เมื่อจบออกไป บางรูปก็เป็นกำลังสำคัญของคณะสงฆ์ แต่ส่วนหนึ่งสึกออกไปหรือจบออกไป ก็ไปรับใช้สังคม อดทน อดออม นอกจากตัวเองเป็น “ดอกบัวพ้นน้ำ” แล้ว ยังพยุงครอบครัว ญาติพี่น้องได้อีกระดับหนึ่งด้วยเช่นกัน

“เปรียญสิบ” เห็นข้าราชการในกรมการศาสนา ประเทศลาว อย่างน้อย 2 คนเป็น “ข้าราชการชั้นสูง” ระดับรองอธิบดี คอยดูแลตลอดที่คณะ มจร อยู่ในประเทศลาว ซ้ำพระผู้ใหญ่ระดับผู้บริหารของคณะสงฆ์ลาวและพระเลขา คณะทำงาน ส่วนใหญ่ล้วนจบจาก มจร ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค

“เปรียญสิบ” สอบถามพระรูปลาวรูปหนึ่ง ท่านบอกว่า ประเทศลาวระบบการศึกษายังไม่ค่อยดีนัก คณะสงฆ์ลาว ซึ่งมีเพียงนิกายเดียว คือ “มหานิกาย” ปัจจุบันมีวิทยาลัยสงฆ์ 2 แห่ง ตั้งอยู่ที่ นครเวียงจันทร์ และ แขวงจำปาศักดิ์ ส่วนโรงเรียนพระปริยัติสามัญมีหลายแห่งซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่คณะสงฆ์ จึงดีใจและปลื้มใจมากที่ “มจร” เดินทางมาร่วมลงนามแล้วตั้ง “กองทุนการศึกษา” ขึ้นมา ซึ่งถือว่าเป็นการลงนาม “ระดับชาติ” ซ้ำท่านยังบอกต่ออีกว่า มจร คือ ความหวังของคณะสงฆ์ลาวและคณะสงฆ์เถรวาท

“เปรียญสิบ” คิดถึงประเทศเมียนมา ซึ่งเดินทางไปหลายครั้ง คณะสงฆ์เมียนมา มี 9 นิกาย ประมาณ 4 แสนรูป ยุคหลังมานี้ล้วนมีความประสงค์ต้องการเดินทางมาศึกษาต่อที่ “มจร” มากกว่าไปศึกษาต่อที่ประเทศอินเดียหรือประเทศศรีลังกา ด้วยเหตุผลง่ายๆ คือ “มจร” พร้อมทั้งที่พักและอาหารการฉัน ค่าเทอมไม่แพง และที่สำคัญที่สุดคือ มีแรงงานชาติพันธุ์ตนเองมาขายแรงงานในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ถือเป็น “กำลังสำคัญ” ในการอยู่ดีกินดีของพระนิสิตเหล่านี้

“มจร” ปัจจุบันมีนิสิตนานาชาติจำนวนทั้งสิ้น 2,333 รูป/คน จาก 27 ประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่มีนานาชาติมาเรียนเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศไทย..

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย หรือ “มจร” เป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ ภายใต้การกำกับของ “มหาเถรสมาคม” และอีกสถานะหนึ่งเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ปัจจุบันการจัดการศึกษาในประเทศ ประกอบด้วย 11 วิทยาเขต 28 วิทยาลัยสงฆ์ 3 หน่วยวิทยบริการ และสถาบันสมทบในต่างประเทศอีก 5 แห่ง มีทั้งหลักสูตรภาษาไทยและหลักสูตรอินเตอร์มากกว่า 200 สาขาวิชา เปิดการสอนทั้งในระดับชั้นปริญญาตรี-โท-เอก มีจำนวนนิสิตทั้งสิ้น 20,346 รูป/คน ประกอบด้วยนิสิตปริญญาตรีจำนวน 14,356 รูป/คน นิสิตปริญญาโท 3,748 รูป/คน นิสิตปริญญาเอก 2,242 รูป/คน

“เปรียญสิบ” อยากเห็นบทบาท “มจร” นอกจากเป็นสถาบันการศึกษา เป็นที่พึ่งของสถาบันสงฆ์ในประเทศไทยแล้ว ควรมุ่งเป้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน “ลาว-กัมพูชา-เมียนมา” บ้าง เพราะคณะสงฆ์ทั้ง 3 ประเทศเป็น “เถรวาท” เช่นเดียวกันกับ ประเทศไทย และหากคณะสงฆ์ประเทศเหล่านี้ “เข้มแข็ง” ทั้งศาสตร์เก่าและศาสตร์สมัยใหม่ ถือว่า พระพุทธศาสนา โดยรวมก็มีความเจริญและมั่นคง เป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติเช่นเดียวกัน..

…………….

คอลัมน์ : ริ้วผ้าเหลือง

โดย… “เปรียญสิบ”: [email protected]

- Advertisment -spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img