“เปรียญสิบ” ในฐานะนักบวชเก่าและมีความจงรักภักดีต่อสถาบันศาสนาและพระมหากษัตริย์มาตลอดชีวิต เชื่อเหมือนกับประชาชนคนไทยทั่วไปว่า…
สถาบันพระพุทธศาสนาและสถาบันพระมหากษัตริย์ ดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน เพราะเกื้อกูลซึ่งกันและกัน และเชื่อคำพูดของพระอุปัชฌาย์คือ พระมงคลสิทธิคุณ หลวงพ่อลำไย วัดทุ่งลาดหญ้า จ.กาญจนบุรี ว่า พระมหากษัตริย์ ถือเป็น “สมมติเทพ” พระองค์อยู่ในโลกมนุษย์เพื่อมาบำเพ็ญตนเป็น “พระโพธิสัตว์”
พระมหากษัตริย์ที่ดีในมิติของศาสนาพุทธมักใช้ราโชบาย “พระคุณนำหน้าพระเดช” มีหลักธรรมอย่างน้อย “ทศพิธราชธรรม” เป็นเข็มทิศในการปกครองแผ่นดิน
การที่จะเขียนถึงพระมหากษัตริย์ เป็นเรื่องยากในสังคมไทย เพราะมีคนบางคนบางกลุ่มไปวาดภาพ ไปฉายภาพบทบาทของพระองค์ที่ “ไม่เป็นจริง” และรวมทั้งหากจะกล่าวถึง ทำให้ผู้คนเกรงกลัวต่ออาญาแผ่นดินก็มี
ในฐานะ “เปรียญสิบ” เป็นพสกนิกร ผู้มีความจงรักภักดี เมื่อทราบข่าวว่า พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพุทธมามกะใฝ่ธรรม ไม่เขียนยกย่องเชิดชูพระเจ้าแผ่นดินของเรา แล้วไม่รู้จะแสดงความจงรักภักดี ออกทางไหน ให้สังคมประจักษ์ได้ชัดว่า “พระองค์ทรงใฝ่ธรรม” แต่จะเขียนเท่าที่รู้ เท่าที่ได้ยินมา
“ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ แต่เดิมมาข้าพเจ้าได้มีจิตศรัทธาเลื่อมใสและได้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ด้วยวิธีนั้น ๆ อยู่แล้ว ฉะนั้นบัดนี้ข้าพเจ้าได้เถลิงถวัลราชสมบัติบรมราชาภิเษกแล้ว จึงขอมอบตัวแด่ พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสังฆเจ้า จะได้รับการจัดการให้ความคุ้มครองรักษาพระพุทธศาสนาโดยชอบธรรมตลอดไป ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ขอพระสงฆ์จึงจำไว้ด้วยด้วยดีว่า ข้าพเจ้าเป็นพุทธศาสนูปภัมภกเกิด”
นี่คือพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่พระองค์ประกาศเป็นพุทธศาสนูปถัมภก ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามต่อหน้าประชุมสงฆ์ ตอนเสด็จขึ้นทรงครองราชย์
ตั้งแต่นั้นมา พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชกรณียกิจที่สำคัญ ในฐานะพุทธมามกะหลายประการ อาทิ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอย่างสม่ำเสมอ อันนี้ไม่ต้องพูดถึง เพราะประชาชนคนไทยรับทราบกันทั่วไปอยู่แล้ว
เรื่องการส่งเสริมการศึกษาบาลีของพระภิกษุ-สามเณร อันนี้เป็นที่ประจักษ์มาก รัชสมัยนี้พระองค์ทรงใส่พระทัย เกี่ยวกับการศึกษาพระบาลีของพระภิกษุ-สามเณรเป็นอย่างมาก พวกเราทราบได้จากการสอบบาลีทุกครั้ง พระองค์จะทรงพระบรมราชูปถัมภ์การสอบทั้งเรื่องอุปกรณ์การศึกษาและภัตตาหาร รวมทั้งทรงมีพระราชปุจฉา “จะส่งเสริมการเรียนการสอนพระบาลีอย่างไร..ให้เข้าถึงพระไตรปิฏก”
เรื่องการถวายขวัญและกำลังใจให้กับพระสงฆ์ในฐานะ “ผู้เป็นเนื้อนาบุญ” ทั้งเรื่องการยกย่องพระภิกษุผู้ตั้งอยู่ในพระธรรมวินัย โดยการถวายสมณศักดิ์ ยกย่องเชิดชู ทั้งเรื่องการดูแลพระสงฆ์ที่อาพาธโดยการรับพระภิกษุรูปนั้นไว้เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ และรวมทั้งการถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์ผู้เป็นพระเถระผู้ใหญ่ตามพระอารามต่าง ๆ
แบบนี้ ไม่เรียกว่า “พระมหากษัตริย์ผู้ทรงธรรม-ครองธรรม” แล้วจะเรียกว่าอะไร??? มีพระมหากษัตริย์หรือประมุขที่ไหนในโลกนี้ ทำแบบนี้กับศาสนาที่ตนเองนับถือบ้าง
ในขณะที่พระราชกรณียกิจส่วนพระองค์ “เปรียญสิบ” ฟังจากพระสงฆ์บ้าง อ่านข่าวบ้าง ก็ทราบว่า พระบาทสมเด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงนิมนต์พระภิกษุสายกรรมฐานบ้าง, พระสงฆ์นักปราชญ์ราชบัณฑิตบ้าง สนทนาธรรม ส่วนพระองค์ประจำเกือบทุกวัน, ในขณะที่ทุกวันพระ นิมนต์พระภิกษุสงฆ์ตามพระอารามต่าง ๆ เข้าไปเจริญพระพุทธมนต์ในพระราชวัง เพื่อเจริญพระพุทธมนต์ และพระองค์ก็ทรงร่วมฟังและเจริญพระพุทธมนต์ด้วย
แบบนี้ไม่เรียกว่า “พระมหากษัตริย์ผู้ใฝ่ธรรม” ไม่เรียกว่า “พระมหากษัตริย์ผู้ทรงไว้ซึ่งทศพิธราชธรรม” แล้วจะเรียกว่าอะไร??
………………………………..
คอลัมน์ : ริ้วผ้าเหลือง
โดย …“เปรียญสิบ” : [email protected]
ขอบคุณแหล่งภาพ : คนรัก พลตรีหญิง เจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี,สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ