วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSปม!!..อันตราย
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ปม!!..อันตราย

เป็นประเด็นข้อถกเถียงและวิตกกังวลเล็ก ๆ สำหรับคำพิพากษาศาลปกครองยะลา กรณีโรงเรียนอนุบาลปัตตานี ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่วัดหรือธรณีสงฆ์ สรุปนี้คือนี้ มีผู้ ได้ และผู้เสีย ซึ่งจะกลายเป็นกรณีตัวอย่างและบรรทัดฐานลามไปทั่วประเทศ ในขณะที่เรื่องนี้มีวัดและชาวพุทธจำนวนมากเป็นห่วง และเท่าที่ฟังข่าวคดีนี้อาจมี “การอุทธรณ์” ยึดเยื้อต่อไป

คดีนี้สืบเนื่องมาจากผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลปัตตานีในขณะนั้น ออกคำสั่ง ห้ามนักเรียนสวมใส่ผ้าคลุมผม (ฮิญาบ) ไปโรงเรียนตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค.2561 ต่อมาวันที่ 18 พ.ค.2561 ผู้ปกครองประมาณ 50 คนได้รวมตัวกันเพื่อให้กำลังใจกับนางพารีด๊ะห์ อัลมุมีนี, นางกดาเรีย เหมมินทร์ และนายวันอิดริบ หะยีเต๊ะ ผู้ปกครองของนักเรียน ซึ่งถูกเชิญให้ไปที่โรงเรียนเพื่อรับทราบถึงระเบียบกฎข้อห้ามของโรงเรียนเนื่องจากลูกสาวผู้ปกครองทั้งสามได้สวมฮิญาบไปเรียนเรียนซึ่งโรงเรียนซึ่งตั้งอยู่บนที่ “ธรณีสงฆ์ของวัดนพวงศาราม”

จนมีการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเป็นปัญหายืดเยื้อมานาน โดยทางโรงเรียนไม่อนุญาตให้นักเรียนแต่งกายตามหลักศาสนาได้ ต้องแต่งเครื่องแบบตามระเบียบของโรงเรียนเท่านั้น อ้างว่าโรงเรียนตั้งมา 50 ปี ไม่เคยมีปัญหา และทั้งนักเรียนและผู้ปกครองก็ทราบกฎเหล็กข้อนี้ดีตั้งแต่ก่อนสอบเข้าเรียน จึงต้องยอมรับ ฟ้องร้องยึดเยื้อมา 4 ปีจนศาลปกครองพิพากษาให้นักเรียนหญิงมุสลิมสวมฮิญาบไปเรียนได้

แน่นอน!! เรื่องนี้มีชาวพุทธจำนวนมากไม่พอใจ และมองว่า เมื่อเข้าไปในที่ธรณีสงฆ์ต้องเคารพสถานที่ ต้องเข้าใจซึ่งกันและกัน หากอ้างแต่ระเบียบปฎิบัติทางศาสนาตนเองยังเดียว ทำนองเข้าบ้านท่าน มาอยู่บ้านเขา ก็ต้อง “เคารพเจ้าของบ้าน”

ในขณะที่ผู้ปกครองนักเรียนมุสลิมคนหนึ่ง ก็สะท้อนมุมมองที่น่าสนใจว่า “ถ้าไม่เรียกร้องแบบนี้แล้ว เราจะให้เด็กไปเรียนในโรงเรียนสอนศาสนาของมุสลิม มันทำให้เด็กหายไปจากความเป็นเพื่อน กับคนต่างศาสนา ซึ่งมันเป็นอันตรายในการใช้ชีวิตของเด็ก”

ในหลักทฤษฎีของความขัดแย้ง “ความขัดแย้งทางค่านิยม” ความเชื่อทางศาสนาแบบนี้ “อันตราย” เพราะอาจนำไปสู่ “ความรุนแรง” ได้ หากไม่ “เปิดเวที” พูดคุย ปรับความเข้าใจซึ่งกันและกัน ซี่งกรณีโรงเรียนอนุบาลแห่งนี้อาจ “ต้องผ่านคนกลาง” คอยไกล่เกลี่ยสร้างสร้างความเข้าใจ “มิให้บานปลาย” หรือขยายไปสู่วัดหรือชุมชนอื่นๆ

เพราะหากยึดหลักกฎหมาย ตัดสินของศาลแบบนี้ มันมี “ผู้ได้-ผู้เสีย” พอใจและไม่พอใจ และคำพิพากษาของศาลปกครองครั้งนี้อาจมีคนบางกลุ่ม-บางคณะ อ้างเป็นกรณีศึกษาหรือบรรทัดฐาน เรียกร้องและ “ลามไปสู่โรงเรียนวัด” ที่คนมุสลิมอาศัยเรียนทั่วประเทศ ซึ่งจะก่อให้เกิด “แรงต้าน” ภายในชุมชนและชาวพุทธส่วนหนึ่งที่แม้จะเคารพคำพิพากษาของศาลปกครอง แต่ในใจ “ร้อนรุ่ม”

เรื่องนี้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำนักจุฬาราชมนตรี อย่า “ชะล่าใจ”  

เรื่องเล็กอาจบานปลาย..นำไปสู่ความขัดแย้งและรุนแรงระหว่างศาสนิกได้..??

……………………….

คอลัมน์ : ริ้วผ้าเหลือง

โดย….“เปรียญสิบ” : [email protected]

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img