วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSตามไปดู“โคก หนอง นา”ยะลา-สัมผัสชีวิตหญิงแกร่ง
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ตามไปดู“โคก หนอง นา”ยะลา-สัมผัสชีวิตหญิงแกร่ง

ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา “เปรียญสิบ” เดินทางไปจังหวัดยะลาผู้เดียว โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ “ป้าผิว เสาะสุวรรณ” บ้านเจาะตีเมาะ ต.สะแอ อ.ยะหา จ.ยะลา เพื่อเนื่องจากมีข้อมูลว่า “ป้าผิวคือหญิงผู้ทรนงแห่ง 3 จังหวัดชายแดนใต้” ปี 2541 สามีถูกยิงตาย เป็นแม่เลี้ยงเดียวเลี้ยงลูกเล็ก 3 คน หลังปี 2547 มีคนในหมู่บ้านหนีออกจากพื้นที่  

ป้าผิวไม่คิดย้าย “ปากกัดตีนถีบ” เลี้ยงชีวิตด้วยสัมมาชีพส่งลูกเรียนจนจบ ป้าผิว “ไม่คิดแก้แค้น แต่คิดแก้ไข” ตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนดึง “ไทยมุสลิม-พุทธ” ทำกล้วยน้ำว้าแปรรูป ส่งออกทั่วประเทศ..ทำโคก หนอง นา สร้างแหล่งอาหารให้ชุมชน ภายใต้การสนับสนุนของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย รวมทั้งภาครัฐอื่น ๆ สร้างกิจกรรมสานสัมพันธ์ไทยพุทธ-มุสลิม ผ่าน “กิจกรรมในแปลงโคก หนอง นา”  ปัจจุบันเธอคือ “ฮีโร่” แบบอย่างของคนต้นแบบกระทรวงมหาดไทย แบบอย่างของคนชายแดนใต้ที่ดึง “คนกลับถิ่น” ได้หลายครัวเรือน เธอคือสตรีที่น่ายกย่องเป็น “สตรีต้นแบบแห่งสันติภาพ” ไม่คิดแบ่งแยก มีแต่การแบ่งปันและเกื้อกูลระหว่างคนในชุมชน..

การเดินทางไปจังหวัดยะลาคราวนี้ เดินทางไปด้วยรถยนต์ เนื่องจากต้องวนเวียนไปสำรวจการเป็นอยู่ของประชาชนอีกหลายแห่งในจังหวัดภาคใต้ ขับรถไปเรื่อย ๆ ค่ำไหน นอนนั่น ขับรถชมวิวสองข้างทางไม่คิดว่าไปทำงาน แต่คิดว่าไปเที่ยว อยากแวะอาบน้ำทะเล อยากแวะเที่ยวน้ำตกหรือแวะชมวัด ก็แวะ ไปแบบ “ปล่อยอารมณ์” ซึมซับกับธรรมชาติ ทิวทัศน์ความงามของธรรมชาติ ดูวิถีชีวิต ชมความงามของประเทศไทย

“จังหวัดยะลา” เป็นจังหวัดหนึ่งตั้งอยู่ในภาคใต้ของประเทศไทยมีอาณาเขตทางใต้ติดกับประเทศมาเลเซีย เป็นจังหวัดเดียวในภาคใต้ที่ไม่ติดทะเล และเป็นจังหวัดที่อยู่ใต้สุดของประเทศไทย ดังปรากฏในคำขวัญประจำจังหวัดคือ “ใต้สุดสยาม เมืองงามชายแดน” มีประชากรประมาณ 542,314 คน การปกครองแบ่งออกเป็น 8 อำเภอ 58 ตำบล 341 หมู่บ้าน

จังหวัดยะลาเป็นหนึ่งในสี่จังหวัดของไทยที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม แต่ก็เป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนของผู้ที่นับถือศาสนาพุทธมากที่สุดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีชุมชนชาวคริสต์ขนาดย่อมทั้งนิกายโรมันคาทอลิกและโปรเตสแตนต์ในเขตเทศบาลนครยะลาและเทศบาลเมืองเบตง นอกจากนี้ยังมีชุมชนของผู้นับถือศาสนาซิกข์ขนาดน้อย อาศัยอยู่ในเขตเทศบาลนครยะลา ส่วน ชาวซาไกหันมานับถือศาสนาพุทธโดยให้เหตุผลว่านับถือตามสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี แต่ปัจจุบันยังปะปนไปด้วยความเชื่อพื้นเมือง และแรงงานต่างด้าวชาวพม่าในยะลาที่นับถือศาสนาพุทธและร่วมปฏิบัติศาสนกิจร่วมกับชาวไทยพุทธในท้องถิ่น

จากการสำรวจการนับถือศาสนาเมื่อ พ.ศ. 2542 พบว่า ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามร้อยละ 62.79 ศาสนาพุทธร้อยละ 36.40 ศาสนาคริสต์ร้อยละ 0.14 และการสำรวจใน พ.ศ. 2562 พบว่าประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามร้อยละ 81.46 ศาสนาพุทธลดลงเหลือร้อยละ 18.45 ศาสนาคริสต์ร้อยละ 0.08  ซึ่งสำนักงานสถิติจังหวัดยะลารายงานว่าจังหวัดยะลามีมัสยิด 508 แห่ง วัดพุทธ 52 แห่ง สำนักสงฆ์ 13 แห่ง โบสถ์คริสต์ 9 แห่ง และคุรุดวารา 1 แห่ง (ข้อมูลปี 2560)

เหตุผลสำคัญที่ประชากรชาวพุทธลดน้อยลง เนื่องจากหลังการก่อวินาศกรรมด้วยการวางระเบิดถนนสายหลักในปัตตานีเมื่อ พ.ศ. 2555 ส่งผลให้ชาวไทยเชื้อสายจีนและชาวไทยพุทธจำนวนมากอพยพออกจากยะลา ประชากรที่นับถือศาสนาพุทธจึงหดตัวอย่างเฉียบพลันรวมทั้งวัดหลายแห่งกลายเป็นวัดร้างไม่มีพระสงฆ์เข้าไปจำพรรษา ในพ.ศ. 2563 ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ พยายามฟื้นฟูวัดเหล่านี้ให้มีพระสงฆ์เข้าไปจำพรรษา เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่พุทธศาสนิกชนในพื้นที่เพื่อสนองพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงว่า จะปล่อยให้คนไทยอพยพทิ้งถิ่นฐานไม่ได้ จะต้องรักษาพระพุทธศาสนาให้มีความมั่นคง ให้มีความมั่นคงอยู่ในภาคใต้ เพื่อเป็นที่พึ่งทางใจของราษฎรไทยพุทธสืบไป

เพื่อสนองพระราชเสาวนีย์ “สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง” ที่ทรงห่วงใยและทรงเล็งเห็นถึงความทุกข์ยากของพระสงฆ์และประชาชนชาวไทยผู้บริสุทธิ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงได้พระราชทานพระดำริให้มีโครงการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ โดยโครงการพระสงฆ์นำชัยคุ้มภัยใต้นับเป็นอีกโครงการหนึ่งในหลายโครงการที่อยู่ภายใต้องค์อุปถัมภ์ของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อรับพระสงฆ์อาสาสมัครจากทุกภาคของประเทศไปจำพรรษา ณ วัดใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มหาเถรสมาคม จึงมีมติส่งพระภิกษุสงฆ์จากภาคต่าง ๆ ที่สมัครใจไปจำพรรษาภาคใต้ ทำอยู่หลายปี แต่สุดท้ายโครงการนี้ก็เงียบไป แต่เท่าที่ฟังจากพระเจ้าอาวาสรูปหนึ่งที่อยู่ 3 จังหวัดชายแดนใต้บอกว่า

“พระที่ส่งไปใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ท่านเข้ากับชาวบ้านไม่ได้ เพราะมาจากต่างถิ่น ซ้ำบางรูปไม่เชื่อฟังเจ้าคณะปกครอง พูดอะไรก็ไม่ฟังและไม่ยอมทำตาม เนื่องจากคิดว่าเบื้องสูงส่งมา จะทำอะไรก็ได้..”  นี่คงเป็นมูลเหตุหนึ่งที่ทำให้โครงการพระสงฆ์นำชัยคุ้มภัยใต้” เงียบเหงาและจ่างหายไป

“เปรียญสิบ” ใช้เวลา 2 วันก็ถึงจังหวัดยะลา แต่ถึงพยายามทำการบ้านเรื่องความปลอดภัยและถนนหนทางที่จะต้องใช้เข้าจังหวัดยะลา เมื่อถึงจังหวัดสงขลา ถามเด็กปั้มบ้าง แม่ค้าบ้างหรือบางโอกาสเจอป้อมตำรวจก็สอบถามเส้นทางที่เข้าถึง “สะดวกและปลอดภัย”  แม้กระทั้งเสื้อผ้า ซึ่งเดิมจะใช้ตราสัญลักษณ์ของสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งก่อนเข้าสู่จังหวัดยะลา ซึ่งต้องผ่านจังหวัดปัตตานีก็เปลี่ยน

จากจังหวัดสงขลาผ่านปัตตานีเพื่อไปยังจังหวัดยะลา ถนน 4 เลน กว้างใหญ่ มีรถยนต์สัญจรไปมาตลอดทาง ไม่เหมือน “จินตนาการ” หรือคำ “บอกเล่า” หรือจากการติดตาม “ข่าว” ตามหน้าหนังสือพิมพ์หรือโทรทัศน์อะไรเลย  ดูวิถีชีวิตชาวบ้านก็ใช้ชีวิตปกติ ร้านค้า ร้านอาหารก็เปิดปกติ มีชาวบ้านสัญจรไปมาก็ปกติ จึงพยายามขับรถไปเรื่อย ๆ  ตลอดทาง   แม้จะหิวแต่ก็ยังไม่วายยังหวั่น ๆ อยู่ ไม่กล้าลงไปรับประทานอาหารในร้าน “จิตปรุงแต่ง” ไปต่าง ๆ นานา  จนจะเข้าตัวเมืองจังหวัดยะลา เริ่มเห็นรถตำรวจ มีป้อมปราการตั้งอยู่ริมทาง มีการตั้งด่านตรวจรถยนต์สัญจรไปมา จนถึง “จังหวัดยะลา”

“ศพช.ยะลา” หรือ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนยะลา คือเป้าหมายที่พักและนอนคืนนี้ ภายใต้การอำนวยการของ “สุทธิพงษ์ จุลเจริญ” ปลัดกระทรวงมหาดไทย และการอำนวยความสะดวกของ พัฒนาการจังหวัดยะลา รวมทั้งผอ.ศูนย์แห่งนี้ ซึ่งสถานที่สงบร่มเย็นเหมือนกับโรงแรม 3 ดาวทั่วไป เสียอย่างเดียวคือ ไม่มีร้านอาหาร ร้านกาแฟ เพราะเป็นสถานที่ราชการ

ที่ “ศพช.ยะลา” นอกจากร่มรื่นสะอาดสะอ้านจากการบอกเล่าของผอ.ศูนย์แห่งนี้บอกว่า เดิมศพช.ยะลามีที่ดินนับพันไร่ ตอนหลังมีหน่วยงานภาครัฐมาขอใช้เยอะแม้กระทั้ง ศอ.บต.ปัจจุบันก็ตั้งอยู่

บนที่ดินของ ศพช.ยะลา ที่ตอนนี้เหลือให้ดูแลประมาณ 100 กว่าไร่ นอกจากมีแปลงสาธิตโคก หนอง นา,พระพุทธพัฒนปชานาถ ซึ่งสร้างไว้ เนื่องในวาระครบรอบ 60 ปี กรมการพัฒนาชุมชนแล้ว สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่น่าพูดถึงคือ “เรือนพระประทับ” ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เคยประทับในคราวเยือนเยี่ยมราษฎรชายแดนภาคใต้เมื่อปีพุทธศักราช 2510-2511 และพุทธศักราช 2515 สิ่งสำคัญในปีพุทธศักราช 2511 ทรงรับ “ช้างเผือก” ที่ราษฎรนำถวายด้วยพระองค์หนึ่ง ส่วนในปีพุทธศักราช 2515 มีกรมสมเด็จพระเทพฯ และสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒนฯ ร่วมเสด็จด้วย

คืนนี้ “พัฒนาการจังหวัด” และ “พี่รัตนา”  ผอ.กลุ่มพัฒนการยะลา บอกว่าจะมารับที่พัก ชวนไปทานข้าว ปฎิเสธหลายรอบ แต่คุณพี่ ๆ บอกว่า ปลัดกระทรวงมหาดไทยฝากมาต้องดูแลให้ดี ไม่งั้นเดียวถูกตำหนิ ต้องไปจะพาไปวนเวียนดูบรรยากาศในตัวเมืองจังหวัดยะลาด้วย ไม่น่ากลัวอย่างที่คิดโดยเฉพาะ “ห้าแยกยะลา”

ความรุนแรงภาคใต้ กลับมาหลอน ภาพจินตนาการการวางระเบิด กลับมาวนในหัวอีกรอบ จะปฎิเสธก็ยากแล้ว เมื่อปฎิเสธไม่ได้ก็ต้องไป..หวังว่าความดีและความจริงใจที่มาสื่อสารความดีที่ชาวชายแดนภาคใต้มีอยู่คงเป็นเกราะคุ้มครองความปลอดภัยให้เรา

ตอนหน้าจะมาเล่าสู่กันฟังว่าไป วิถีชีวิตยามค่ำคืนเจอะเจออะไรมาบ้าง  ชีวิตป้าผิววันนี้เป็นอย่างไร และโคกหนองนา นอกจากมีผักแล้ว มีส่วนสร้างความรัก ความสามัคคีให้กับชุมชนมุสลิมและพุทธอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุขได้อย่างไร!!

………………………………..

คอลัมน์ : ริ้วผ้าเหลือง

โดย….“เปรียญสิบ” : [email protected]

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img