วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSอยากเล่า!!
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

อยากเล่า!!

เรื่องที่จะเขียนต่อไปนี้เป็นสิ่งที่อยากเล่าจริง ๆ เนื่องจากเห็นว่า เรื่องนี้มีประโยชน์ไม่เฉพาะต่อประชาชนคนไทยและประเทศไทยเท่านั้น รวมทั้งโลกใบนี้ด้วย

เสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมานี้ “เปรียญสิบ” ได้รับคำชวนจาก “สุทธิพงษ์ จุลเจริญ” ปลัดกระทรวงมหาดไทย ให้เป็น “อนุจร” ไปเปิดดวงตาให้เห็นธรรมเรื่อง “โคก หนอง นา”  2 จังหวัด คือ “จังหวัดสกลนครและจังหวัดขอนแก่น”

เท่าที่ฟังจากปลัดมหาดไทยทำให้รู้ว่า ปัจจุบันสหประชาชาติเรียกร้องให้ทุกชาติเร่งดำเนินการ 17 ข้อ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนหรือภาษาอังกฤษย่อว่า “SDGs”  ให้ได้ภายในปีพุทธศักราช 2573  ขอยกตัวอย่างมาแค่ 3 ข้อแรกที่สหประชาชาติเรียกร้องให้ชาวโลกต้องร่วมกันทำ คือ 1.ขจัดความยากจน 2.ขจัดความหิวโหย และ 3.มีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี

ใครจะเชื่อว่าในโลกนี้ที่มีมนุษย์อาศัยอยู่ประมาณ 7 พันล้านคน มีคนประมาณ 1 พันล้านอยู่ในกลุ่มยากจนและหิวโหย เพราะไม่มีอาหารกินหรือจะมีก็ไม่มีคุณภาพ ไม่ต้องไปพูดถึงข้อที่ 3 เรื่องสุขภาพและการเป็นอยู่ที่ดี เพราะประเทศไทยที่ว่า “อยู่ดีกินดี” แล้ว ทุกวันนี้ปฎิเสธไม่ได้ว่า “คนยากจน” คนไร้บ้าน คนไร้ที่พึ่งยังมีอยู่

การลงพื้นที่ครั้งนี้ทำให้รู้ว่า “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เกษตรทฤษฎีใหม่ และ “โคก หนอง นา” คืออะไร มันสำคัญต่อประเทศไทยและโลกอย่างไร

การลงพื้นที่คราวนี้ทำให้รู้ว่า “สถาบันพระมหากษัตริย์” มีความสำคัญอย่างไรและเป็นห่วงประชาชนมากน้อยแค่ไหนผ่าน “การบอกเล่า” ของ “สุทธิพงษ์ จุลเจริญ” ปลัดกระทรวงมหาดไทย โดยยกทฤษฎีต่าง ๆ ของ “ในหลวงรัชกาลที่ 9” ที่มีมากว่า 40 ทฤษฎี ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีเลี้ยงดินให้ดินเลี้ยงพืช ทฤษฎีบันได 9 ขั้น ทฤษฎีอธรรมปราบอธรรม หรือแม้กระทั้งคำว่า ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เป็นต้น ซึ่งทุกทฤษฎีพระองค์ล้วนคิดค้นสิ่งที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติเพื่อ “ปากท้อง” พสกนิกรของพระองค์

การลงพื้นที่ครั้งทำให้รู้ว่าเกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง” สำคัญมากน้อยแค่ไหน และทำไม “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” จึงใช้คำว่า “อารยเกษตร”

การลงพื้นที่ครั้งนี้ได้เห็นภาพ “สุทธิพงษ์ จุลเจริญ” ผู้บอกว่า ตนเองเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเป็น “แม่บ้าน” ในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับประชาชนเป็นอย่างไร ทั้งดำนา ปลูกต้นไม้ ตากแดด ตากฝน แนะนำ แนะแนว พร้อม “ติวเข้ม” บรรดาข้าราชการให้รู้จักนัยความหมายของคำว่า “โคก หนอง นา” ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสเรียกว่า “อารยเกษตร” สำคัญต่อประเทศและประชาชนอย่างไร

การลงพื้นที่ทั้ง 2 จังหวัดครั้งนี้ ทำให้รู้ว่า “การพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่สู่โคก หนอง นา” หากประชาชนทำจริงอยู่ได้แบบ “มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน” อย่างแท้จริง ผ่านการบอกเล่าของ “คนทำจริง”

หากจะว่าไปแล้วปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงหรือ “โคก หนอง นา” มันคือ “รากเหง้าพุทธศาสนา” อย่างน้อยสอดคล้องกับคำว่า “มัตตัญญุตา” คือ การรู้จักพอประมาณ ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ใช้คำว่า พออยู่ พอกิน พอใช้ และ พอร่มเย็น ในหลักทฤษฎีบันได 9 ขั้น

“โคก หนอง นา” เท่าที่เห็น นอกจากคนทำมีอาหารที่มั่นคงปลอดสารพิษแล้ว โคก หนอง นา จะตอบคำถามได้อีกว่า ได้ทั้งน้ำ ได้ทั้งอากาศดี ได้ทั้งป่า ได้ทั้งอาหารและยาสมุนไพร รวมทั้งนำไปสู่ ความรู้รักสามัคคี ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ

การตามปลัดกระทรวงมหาดไทยลงพื้นที่จริงคราวนี้ ทั้งที่ “โคกหินแห่” จังหวัดสกลนคร และ “โคก หนอง นา” พุทธอารยเกษตร มจร. จังหวัดขอนแก่น ทำให้รู้ว่า ประเทศไทยเราโชคดีแล้ว ที่เรามีสถาบันพระมหากษัตริย์ทรงห่วงใยประชาชน ทำให้รู้ว่า การพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่สู่โคก หนอง นา มันมิใช่สร้างความมั่นคงทางอาหารเฉพาะครัวเรือนหรือชุมชนเท่านั้น หากทำจริง มันสร้างความมั่นคงทางอาหารให้ประเทศไทยด้วย ซ้ำตอบโจทย์สหประชาชาติได้อีกต่างหาก

ลงพื้นที่ได้เห็นแล้วอดชื่นชมไม่ได้ จนต้องนำมาเล่าต่อครับ!!

………………..

คอลัมน์ : ริ้วผ้าเหลือง

โดย….“เปรียญสิบ” : [email protected]

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img