ตามตำรายุทธวิธีสู้รบ ไม่ว่าจะเป็นอดีตหรือปัจจุบัน เวลา แม่ทัพขุนศึกจะออกรบ ต้องมีความพร้อม แสดงอาการมั่นใจให้ไพร่พลไดเห็น เพื่อให้ฝ่ายตรงข้ามเกิดความรู้สึกครั่นคร้าม ถ้าทำได้เท่ากับมีชัยไปเกินครึ่งแล้ว
เช่นเดียวกับสภาพของการเมืองบ้านเรา รวมถึงในต่างแดน ฝ่ายค้านและรัฐบาล ต่างก็ชอบเล่นบท ชิงดีชิงเด่น หวังให้ได้รับการยอมรับจากประชาชน ยิ่งอดีตที่ผ่านมาผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายบริหาร สามารถใช้กลไกตามรัฐธรรมนูญ (รธน.) กำหนดไว้ โดยยื่น ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งหลายครั้งหลายหน นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
แต่ปัจจุบันในสภาวะที่ เพื่อไทย (พท.) รับบทแกนนำพรรคฝ่ายค้าน มาตรการตรวจสอบฝ่ายบริหารที่ทรงพลังมากที่สุด กำลังกลายเป็นเพียง การเล่นจำอวด ทำหน้าที่ไปตามเทศกาล ไม่สามารถทำให้ฝ่ายบริหารตกอยู่ในสภาพบอบช้ำได้ แถมยังช่วยประจานให้เห็นถึง ความล้มเหลวของฝ่ายทำหน้าที่ตรวจสอบ
ที่ผ่านมาถ้าใครติดตามการทำงาน รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งกลับเข้ามาบริหารประเทศในสมัยที่สองติดต่อกัน จะรับรู้ว่าเคยถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจมาแล้ว ซึ่งครั้งนั้นถูกพุ่งเป้าไปที่แกนนำคนสำคัญของรัฐบาล คือ “3 ป.” ทั้ง “บิ๊กตู๋” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีสถานะเป็น “พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์” และ “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ในฐานะ “น้องรอง”
แต่บทสรุปศึกซักฟอกครั้งแรก นำมาสู่ความล้มเหลว นอกจากจะไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ ยังตอกย้ำให้เห็นถึงความขัดแย้ง และรอยร้าวในพรรคฝ่ายค้าน หนักกว่านั้นคือ แกนนำพรรคฝ่ายค้านบางคน ถูกวิจารณ์ว่าเล่นบท มวยล้มต้มคนดู ยอมซูเอี๋ยผู้มีอำนาจฝ่ายบริหาร ส.ส. ฝ่ายค้านบางคนนำข้อสอบ ไปให้ทีมงานรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ
มืออภิปรายที่ชอบโชว์บท “เพชรฆาต” ใช้วิธีอภิปราย ให้กินเวลายาวนาน เพื่อทำให้กระบวนตรวจสอบ ไม่สามารถก้าวล่วงไปไปถึง “แกนนำรัฐบาล” โดยมีงบประมาณในการพัฒนาจังหวัดเป็นสิ่งแลกเปลี่ยน
แต่หนักกว่านั้นคือ นักการเมืองบางคน กล้ารับสินรางวัล เป็นน้ำใจติดไม้ติดมือ แม้กระทั่งนักการเมืองอาวุโสที่มีชื่อเสียงระดับประเทศซีกฝ่ายค้าน ยังเล่นบทยอมงอไม่ยอมหัก หวังให้ทายาทมีอนาคตเติบโตทางราชการ จนทำให้พรรคร่วมฝ่ายค้าน ออกมาตั้งข้อสังเกตุ “พท.” ว่า ชกไม่สมศักดิ์ศรีเล่นบทมวยล้มต้มคนดู
ดังนั้นเมื่อ นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะทำงานเตรียมการการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พท. ออกมาตีฆ้องร้องป่าวถึงความคืบหน้าการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ เลยทำให้หลายคนตั้งข้อสงสัยว่า และเกิดคำถามว่า การทำหน้าฝ่ายตรวจสอบครั้งใหม่ ประวัติศาสตร์จะซ้ำร้อยเดิมหรือไม่
แม้ประธานคณะทำงานเตรียมข้อมูลแกนพรรคนำฝ่ายค้านจะอ้างว่า ประเด็นหลักในการอภิรายไม่ไว้วางใจคือ การแก้สถานการณ์โควิดที่ผิดพลาดของรัฐบาล เกี่ยวโยงไปทั้งการบริหารสถานการณ์ที่ผิดพลาด ปล่อยให้มีการระบาดรอบใหม่ การบริหารเศรษฐกิจที่ผิดพลาดจนประชาชนได้รับความเดือดร้อน
รวมถึงเกี่ยวโยงไปถึงเรื่องความมั่นคง ที่ปล่อยให้มีการลักลอบ นำเข้าแรงงานผิดกฎหมาย นำเชื้อเข้ามาและปล่อยให้มีบ่อนการพนันเป็นแหล่งแพร่เชื้อ
ทั้ง 3 เรื่อง พล.อ.ประยุทธ์ต้องรับผิดชอบไปเต็มๆ เนื่องเพราะคุมทั้ง ศบค. คุมตำรวจ-ทหาร และเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ เอง จะไปโทษคนอื่นไม่ได้ เพราะมันชัดเจนว่านายกฯบริหารล้มเหลวจนชาวบ้านเดือดร้อน
อีกทั้งยังระบุว่า นอกจากเรื่องโควิดแล้ว ยังจะมีการอภิปรายเกี่ยวกับ การทุจริตของรัฐบาล อาทิ โครงการอีอีซี และ การต่อสัญญารถไฟสายสีเขียว ส่วนใครจะเป็นผู้อภิปรายนั้นคงต้องหารือกับพรรคร่วมฝ่ายค้านอื่นก่อน เพื่อดูเนื้อหาที่แต่ละพรรคจะอภิปรายว่า มีเรื่องไหนเกี่ยวโยงกันหรือไม่ แล้วใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งพรรคร่วมฝ่ายค้านจะประชุมเรื่องนี้กันวันที่ 15 ม.ค.ที่จะถึงนี้ แล้วจะยื่นญัตติสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ม.ค.
แต่อย่าลืมว่า เพิ่งเกิดเหตุการณ์ สะท้อนให้เห็นถึง เอกภาพในการทำงานของฝ่ายตรวจสอบ และปัญหาใน พท. เมื่อสมาชิกพรรคร่วมฝ่ายค้านได้ร่วมกันลงชื่อ ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ (ศาลรธน.) เพื่อให้วินิจฉัยคุณสมบัติของ นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ว่า สถานภาพ ส.ส. สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ (รธน.) มาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(10) หรือไม่
กรณีนายสิระเคยต้องคำพิพากษาของศาลแขวงปทุมวัน กระทำความผิดอาญา ฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ซึ่ง ส.ส. 50 คน ผู้เข้าชื่อเสนอคำร้อง เห็นว่า ผลคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ทำให้นายสิระเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้าม ตามรธน.มาตรา 98(10) เป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส. สิ้นสุดลงตาม รธน.หรือไม่ และขอให้มีคำสั่งให้นายสิระหยุดปฏิบัติหน้าที่
ทั้งนี้ตามรธน. มาตรา 82 ระบุว่า สมาชิกต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมด เท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ขณะยื่นคำร้องและคำร้องเพิ่มเติมนั้น สภาผู้แทนราษฎรมี ส.ส. จำนวน 487 คน
และต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องเพิ่มเติม แจ้งต่อศาลรธน.ว่า มี ส.ส.จำนวน 2 คน ขอถอนชื่อออกจากการเข้าชื่อเสนอคำร้อง ฉบับลงวันที่ 28 ธ.ค. 63 มีผลให้จำนวน ส.ส.ที่เข้าชื่อ เหลือเพียง 48 คน ซึ่งเป็นจำนวนน้อยกว่าหนึ่งในสิบ ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎ ตามที่รธน. มาตรา 82 วรรคหนึ่งบัญญัติ
ดังนั้น คำร้องนี้ไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามรธน. มาตรา 82 วรรคหนึ่ง จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องนี้ไว้พิจารณา
สำหรับรายชื่อ ส.ส.ของพรรคพท. สองคนคือ นางอนุรักษ์ บุญศล และ นางอาภรณ์ สาราคำ โดยได้ยื่นคำร้องเพิ่มเติม ฉบับลงวันที่ 29 ธ.ค. 63 ขอถอนชื่อออกจากผู้เข้าชื่อเสนอคำร้องกรณีดังกล่าว และขอให้รับหนังสือขอถอนชื่อดังกล่าวไว้ สำหรับประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรธน.
ด้าน นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการ พท. ออกมายอมรับว่า ยังมี ส.ส.ของพท.อีก 10 คน รวมแล้วมีจำนวน 12 คน ที่ขอถอนรายชื่อออกไป ทำให้มีจำนวนรายชื่อไม่ครบตามกฎหมายที่กำหนดไว้จนศาลรัฐธรรมนูญไม่รับเรื่องไว้พิจารณาดังกล่าว
”ซึ่งการตรวจสอบข้อเท็จจริงของพรรค พบว่า มีข้อมูลและเหตุผลอันควรเชื่อได้ว่า ส.ส. ของพรรคที่ไม่ได้ร่วมลงชื่อ 1 คน ทำการโน้มน้าว ส.ส.ในพรรคเป็นรายบุคคลให้ถอนรายชื่อจากคำร้อง การกระทำการดังกล่าวของ ส.ส.คนนี้ ย่อมเป็นการกระทำที่เล็งผลได้ว่า จะทำให้รายชื่อไม่ครบตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเมื่อผลการสอบสวนเป็นที่ยุติอย่างเป็นทางการพรรค จะพิจารณาลงโทษ ส.ส.ผู้นี้อย่างเด็ดขาด”
สำหรับการร่วมเข้าชื่อครั้งนี้ตรวจสอบสถานภาพ “นายสิระ” มาจากคำเชิญของสมาชิกพรรคร่วมฝ่ายค้าน คือ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย (สร.) ให้ ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้านลงชื่อ เป็นรายบุคคล จำนวนรวม 62 คน โดยเป็นส.ส.ของพท. 24 คน ร่วมลงชื่อ ยื่นคำร้องต่อศาลรธน.เพื่อให้ให้พิจารณาสมาชิกภาพของนายสิระ
ขณะที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ออกมาให้ความเห็นกรณีส.ส.พรรคพท. ถอนชื่อออกจากญัตติวินิจฉัยคุณสมบัตินายสิระว่า ประธานสภาไม่เคยบอกตนในฐานะผู้รวบรวมรายชื่อว่ามีปัญหาอะไรจะได้เร่งแก้ไข และมีข้อกังขาเกี่ยวกับ ผู้ที่ตรวจลายมือชื่อของ ส.ส.2 คนว่าไม่ตรงกัน
แทนที่จะสอบถามกับเจ้าตัวก่อน หรือต้องมาแจ้งตน ในฐานะผู้รวบรวมรายชื่อด้วย ส่วน ส.ส.ที่ถอนชื่อโดยสมัครใจ ถือเป็นเอกสิทธิ์ อาจจะกลัวคำขู่หรือมีผลประโยชน์ เช่น รับเงินมาหรือไม่ ก็ให้ประชาชนพิจารณาว่าบุคคลเหล่านั้นสมควรเป็น ส.ส.อยู่หรือไม่
ต้องยอมรับพฤติกรรมส.ส. พรรคพท. ครั้งนี้ กระทบการทำงานร่วมกับพรรคฝ่ายค้านไปเต็มๆ ยิ่งเกิดในช่วงจะมีการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ และถึงแม้ว่าในที่สุด จะสามารถรวบรวบรายชื่อส.ส. ยื่นเรื่องให้วินิจฉัยคุณสมบัติ “นายสิระ” ได้ก็ตาม
มิหหนำซ้ำยังได้เห็น ร่องรอยความขัดแย้ง ความแตกแยกของแกนนำพรรคฝ่ายค้าน ส.ส.พรรคพท. บางคนกล้าเล่นบท “งูเห่า” ให้สังคมเห็น แม้จะอ้างง่า การเข้าชื่อครั้งนี้ ไม่ใช้มติพรรคพท. เป็นเพียงการร้องขอจาก “หัวหน้าพรรค สร.” ทำให้บางคนคาดเดาไปว่า เมื่อถึงคราวทำศึกซักฟอก จะมีนักการเมืองนำข้อสอบไปเร่ขายฝ่ายตรงข้าม ส.ส.ฝ่ายค้านบางคนใช้กลเกม เพื่อหวังช่วยเหลือรัฐมนตรีบางคนหรือไม่
หรือว่าการตกอยู่ในสภาพ “ฝ่ายค้าน” เป็นเวลานาน เลยทำให้สมาชิกพท.บางคนเกิดอาการถอดใจ มองไม่เห็นอนาคต แต่ที่กลายเป็นปัญหามากกว่านั้นคือ แกนนำบางคนเลือกไปเกาะหลัง “ม็อบสามนิ้ว” เลยยิ่งเกิดอาการ “กระทงหลงทาง” ไปไม่เป็น กลับบ้านไม่ถูก
…………………………..
คอลัมน์: ล้วง-ลับ-ลึก
โดย : แมวสีขาว