วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSไลฟ์สด'ธนาธร'พ่นพิษแรง ติดบ่วงคดีความ 'ก้าวไกล'ระส่ำหนัก
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ไลฟ์สด’ธนาธร’พ่นพิษแรง ติดบ่วงคดีความ ‘ก้าวไกล’ระส่ำหนัก

ถ้าไม่รวมเรื่องเป็นสปอนเซอร์หลักให้ “นิตยสารฟ้าเดียวกัน ซึ่งมีเนื้อหาพาดพิงสถาบัน ต้องยอมรับว่า การออกมาไลฟ์สดของ “เสี่ยเอก” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ผ่านเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 18  มกราคม 2564 ตั้งหัวข้อเรื่อง “วัคซีนพระราชทานฯ : ใครได้-ใครเสีย?” สร้างผลกระทบด้านลบให้กับนักเคลื่อนไหวหนุ่มอย่างรุนแรงมากสุด นับตั้งแต่ทายาทตระกูล “จึงรุ่งเรืองกิจ” ก้าวเข้าสู่เส้นทางการเมือง  

นอกจากจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย  หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม สั่งการให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เช็คบิลแล้ว ในความผิดต่อพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ อีกทั้งยังมีนักการเมืองและภาคประชาชนทยอย แจ้งความดำเนินคดีแกนนำคณะก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะข้อหาล่วงละเมิดสถาบัน

แม้ “นายธนาธร” จะอ้างว่า สิ่งที่พยายามสื่อสาร เป็นเพียงต้องการตั้งคำถาม “บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด” และ “บริษัทในเครือ” ซึ่งมีผลประกอบการขาดทุนมาตลอด โดยก่อตั้งมาแล้วกว่า 10 ปี ด้วยทุนจดทะเบียน 4,800 ล้านบาท และมีการขาดทุนสะสมกว่า 581 ล้านบาท 

ทำไมถึงได้รับการคัดเลือกจากรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์เพียงรายเดียว ในการผลิตวัคซีนโควิด-19 ที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจาก “บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด” ซึ่งมีบริษัทแม่อยู่ที่ประเทศอังกฤษ โดยไม่มีการเจรจากับผู้ผลิตรายอื่น 

การออกมาตั้งคำถามครั้งนี้ของ “เสี่ยเอก” ส่งผลให้บรรดาบุคลากรทางการแพทย์ ต่างออกมาชี้แจงถึงความร่วมมือครั้งนี้ ซึ่งช่วยตอกย้ำจุดยืน และท่าทีแกนนำคณะก้าวหน้า ที่มีต่อสถาบันหลักของชาติได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น  

เริ่มตั้งแต่ “นพ.นคร เปรมศรี” ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ตอนหนึ่งว่า การจองซื้อวัคซีนกับ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ไม่ใช่การจองซื้อทั่วไป แต่มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้ไทย

ซึ่งแอสตร้าฯได้เลือกบริษัทที่มีความพร้อม มีคุณสมบัติตามที่ต้องการคือ บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งพร้อมที่จะรองรับการถ่ายทอดจาก มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด แม้แต่ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ของไทยก็ยังไม่มีศักยภาพเพียงพอ โดยต้องผลิตให้ได้ 200 ล้านโดสต่อปี

“เราซื้อวัคซีนจากแอสตร้าเซเนก้าฯ เป็นการจ้างผลิต และ ถ่ายทอดเทคโนโลยีแบบให้เปล่า ขายให้แบบไม่มีกำไรแต่ไม่ขาดทุน คิดราคาทุนเท่านั้น ค่าจ้างหรือค่าผลิตเป็นราคาทุน เสมือนสยามไบโอไซเอนซ์ต้องผลิตตามคำสั่งแอสตร้าเซเนก้า ผลิตในราคาทุน ขายให้ไทยและประเทศอาเซียนในราคาทุน

เงินทุนที่สถาบันวัคซีนสนับสนุนให้ บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ 600 ล้านบาท เขียนไว้ในสัญญาชัดเจนว่าเมื่อผลิตวัคซีนได้แล้ว จะคืนวัคซีนให้เท่ากับจำนวนทุนที่ได้รับให้กับรัฐบาล การให้ทุนจึงไม่ใช่การให้เปล่า เป็นการสนับสนุนให้มีศักยภาพเพื่อผลิตให้ได้ ข้อกล่าวหาที่เลื่อนลอยและคลาดเคลื่อนควรหมดไป และ ไม่ควรนำโยงกับสถาบัน ที่เราเคารพรัก ประเด็นของวัคซีนการรีบร้อนอาจทำให้เกิดผลเสีย ไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะผลข้างเคียงที่รุนแรง…”

ด้าน “ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ” หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า การตัดสินใจสายกลางเป็นวิธีที่ดีที่สุด ปีหน้า ตลาดวัคซีนจะเป็นของผู้ซื้อ มีการผลิตออกมาเป็นจำนวนมาก เราก็สามารถที่จะเลือกซื้อได้ ในตัวที่ดีที่สุดและราคาถูกที่สุด เชื่อว่าการประเมินที่ 26 ล้านโดสแรก น่าจะมีความเหมาะสม รอเวลาที่จะ เลือกวัคซีนตัวดีที่สุด ราคาเหมาะสมเข้ามาเสริมในระยะสุดท้าย ดีกว่าที่จะทุ่มเงินมัดจำไปทั้งหมด แล้วในที่สุดก็ไม่สามารถจะเลือกชนิดวัคซีนได้”

ซึ่งก็เป็นที่ทราบกันดีว่า วัคซีนโควิด-19 จัดเป็นยาชีววัตถุคล้ายคลึง (Biosimilars) มีต้นทุนทางเทคโนโลยีในการผลิตสูงมากกว่ายาทั่วไป และอาศัยเทคโนโลยีในการผลิตที่ซับซ้อนมากกว่า จึงไม่แปลกที่สยามไบโอไซเอนซ์ ผู้สามารถผลิต Biosimilars แห่งเดียวในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากล จะได้รับการคัดเลือกจากแอสตร้าเซเนก้า…

อย่าลืมว่า “บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์” มาจากพระราชปณิธาน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยทรงพระราชทานพระราชดำรัสเรื่องสุขภาพของประชาชน ด้วยทรงเห็นว่า “คน” เป็นปัจจัยสำคัญที่จะพัฒนาประเทศ สร้างความพอมี พอกิน และทรงให้ความสำคัญในการฟื้นฟูปัญหาสุขภาพของประชาชน เพื่อการพัฒนาประโยชน์สุขให้เกิดกับส่วนรวมและประเทศชาติ

cr / บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์

โดยบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ฯ ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2552 โดย สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ถือหุ้น 100% ด้วยทุนจดทะเบียน 5,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 2 บริษัทหลักคือ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด และบริษัท เอเพ็กซ์เซล่า จำกัด

น่าสังเกตุว่า หลังการไลฟ์สดของ “นายธนาธร” จากนั้นสมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม หนึ่งในแกนหลักของคณะราษฎร โผล่ไปชูป้าย ข้อความพาดพิงสถาบัน ในประเด็นเดียวกับ “ประธานคณะก้าวหน้า” บริเวณลานด้านหลังห้างไอคอนสยาม จนเกิดเหตุกระทบกระทั่งกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของห้างดัง

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2564 ที่หน้าอาคารศรีจุลทรัพย์ ถนนพระราม 1 “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, น.ส.เบนจา อะปัญ แกนนำกลุ่มราษฎรระดับฮาร์ดคอร์ ได้เดินทางมาทำกิจกรรมอ้างว่า “กระชากหน้ากากสยามไบโอไซเอนซ์” หลังจากกระแสสังคม ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ การไลฟ์สดของ “นายธนาธร” ในแง่ลบ แถมยังถูกแจ้งความดำเนินคดี งานนี้เลยช่วยตอกย้ำว่า ใครเป็นจอมบงการ “ม็อบสามนิ้ว” ตัวจริง

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีแนวร่วมออกมาสนับสนุน การเคลื่อนไหวของ “แกนนำคณะก้าวหน้า” ในเรื่องวัคซีน แต่ก็เริ่มมีสัญญาณลบให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งล่าสุด “แกนนำพรรคร่วมรัฐบาล” ออกมาเปิดเผยว่า  มีส.ส.ในระบบเขตพื้นที่หลายคนของพรรคก้าวไกล (กก.) ได้ติดต่อขอสมัครเป็นสมาชิก หากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ด้วยเกรงว่าภาพลักษณ์ของพรรค ไปเชื่อมโยงว่า มีปัญหากับสถาบัน

โดยเฉพาะผลการเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และ สมาชิกอบจ. ที่ผ่านมา  นอกจากบุคคลที่คณะก้าวหน้าและพรรค กก.ให้การสนับสนุน จะพ่ายแพ้อย่างหมดรูป แต่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ หลายพื้นที่ถูกต่อต้านจากประชาชน โดยการหยิบยกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันมาโจมตี

นอกจากนี้ “นายธนาธร” ยังออกมาให้เห็นเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโควิด-19 จนถูกแจ้งความดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 ที่สำคัญกระแสสังคมส่วนใหญ่ยังออกมาต่อต้าน ไม่เห็นด้วยกับการตั้งคำถาม กรณีบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์พรรค กก. ดังนั้น ส.ส.ของพรรคน้องใหม่จึงเห็นว่า การทำงานการเมืองหนทางข้างหน้ามีแต่ตีบตัน

อย่าลืมว่า ภายหลัง ศาลรัฐธรรมนูญ (ศาลรธน.) ตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) และตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) จำนวน 16 คน ในจำนวนนี้ 11 คนเป็นส.ส. ทำให้ พรรคเหลือส.ส. 65 คน ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (10) ส.ส.เหล่านี้จะต้องหาสังกัดใหม่ภายใน 60 วัน

แต่ ส.ส. 9 คนของพรรคได้ประกาศย้ายไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย (ภท.) และพรรคชาติไทยพัฒนา (ชพน.) 1 คน ทำให้ ยอดส.ส.อดีตพรรค อนค. เหลือ 55 คนไปสังกัดพรรค กก. 

และอย่าลืมว่านอกจากคดีความของประธานคณะก้าวหน้า ยังมีเรื่องข้อกล่าวหาในกรณีคนในครอบครัวที่กระทำผิดกฎหมาย เช่น นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ถูกกล่าวหาเรื่องรุกป่าสงวน นับพันไร่ นายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ น้องชายถูกระบุว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการติดสินบน จำนวน 20 ล้าน เพื่อแลกกับการใช้ประโยชน์กับที่ดินทำเลทองย่านเพลินจิต ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

จึงไม่ใช้เรื่องแปลก เมื่อส.ส.พรรค กก.บางคน จะเริ่มหาหนทางให้ เพื่ออนาคตทางการเมือง ไม่ต้องเดินเกาะหลัง “ม็อบสามนิ้ว” และไม่ต้องเผชิญข้อหาที่เกี่ยวข้องกับ “ล่วงละเมิดสถาบัน” บางทีการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นในระดับเทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) อีกไม่กี่วันข้างหน้า จะเป็นคำตอบที่ทำให้ส.ส. พรรคกก.จะเริ่มหาหนทางใหม่

…………………………..

คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก

โดย …แมวสีขาว

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img