วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSทำคลอด!! “พ.ร.บ.สร้างเสริมสันติสุข” ใบสั่ง“ผู้มีอำนาจ”ช่วยล้างผิด“กปปส.”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ทำคลอด!! “พ.ร.บ.สร้างเสริมสันติสุข” ใบสั่ง“ผู้มีอำนาจ”ช่วยล้างผิด“กปปส.”

ยังไม่ละความพยายาม กับการผลัดดันกฎหมายล้างผิด หลังจากก่อนหน้านี้ “นพ.ระวี มาศฉมาดล” ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ (พธม.) เตรียมเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร แต่ไม่มีกระแสตอบรับเท่าที่ควร

ทั้งในส่วนรัฐบาลและฝ่ายค้าน โดยเฉพาะ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี ที่ออกมาให้ความเห็นในลักษณะตักเตือนว่า ต้องถามว่ายังไม่เข็ดอีกหรือ เนื่องจากเคยมีความคิดทำเรื่องนี้มาแล้ว แล้วก็เป็นเรื่อง!!

“ในส่วนท่าทีของรัฐบาล ไม่เคยได้ยินใครพูดถึงเรื่องนี้เลย และเสนอเรื่องดังกล่าวมาในช่วงปลายสมัยของรัฐบาล ส่วนตัวมองว่าน่าจะ เป็นผลลบมากกว่าบวก เพราะจะถูกการเมืองนำไปตีความต่างๆ และยิ่งมาทำใกล้ช่วงนี้น่าจะเป็นลบ”วิษณุ ระบุ

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

ด้าน “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ก็ออกมาตั้งข้อสังเกตุว่า การเสนอพ.ร.บ.นิรโทษกรรม เคยมีข้อสังเกต และมีประสบการณ์กันมาแล้ว เพราะตอนที่เกิด พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย ทำให้บ้านเมืองเสียหายในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา จนกระทั่งถึงปัจจุบัน คนยังกลัวกันอยู่ เพราะเริ่มต้นหลักการไม่มีอะไร แต่สุดท้าย ไปบานเอาตอนปลาย จากต้นซอยกลายเป็นสุดซอย มีประชาชนออกมาต่อต้านเป็นล้าน มหาศาลที่สุดยุคหนึ่งในประวัติศาสตร์ของประเทศ

“เราได้บทเรียนมาแล้ว ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ต้องย้อนกลับไปดูว่าเป็นอย่างไร ประกอบการพิจารณา แต่ไม่ได้แปลว่าครั้งนี้จะเป็นอย่างที่ผ่านมา แต่เราเคยมีบทเรียน เพราะฉะนั้นต้องตระหนัก ต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง มิฉะนั้นจะกลายเป็นขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ พอเหลาลงไปกลายเป็นบ้องกัญชา อันนี้ต้องระวัง และไตร่ตรองให้รอบคอบ” จุรินทร์ ระบุ

ขณะที่ตัวแทนจาก พรรคเพื่อไทย (พท.) ก็ไม่กล้าออกมาให้ความเห็นเรื่องนี้มากหนัก เนื่องจากใน สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เคยผลักดันร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่มีเนื้อหาล้างผิดแบบสุดซอย ทั้งทุจริต ใช้ความรุนแรง เผาสถานที่ราชการ ก็ได้อานิสงส์หมด จนทำให้มีประชาชน เรือนแสน-เรือนล้าน ออกมาต่อต้าน เป็นจุดกำเนิดของ “ม็อบกปปส.” จนที่สุดรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็มีอันเป็นไป กลายเป็นบาดแผลทางใจ ที่ตัวแทนจากพรรคแกนนำฝ่ายค้าน ไม่กล้าหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดคุย  

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย

โดย “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรค พท. ให้ความเห็นว่า “ต้องดูในรายละเอียดว่ามีประเด็นอะไร ครอบคลุมในเรื่องใด และ เนื้อหาสาระเป็นอย่างไรก่อน และไม่เกี่ยวข้องกับการพานายทักษิณ ชินวัตร และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กลับประเทศไทย เพราะว่าคดีที่ฟ้องนายทักษิณ และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้ฟ้องด้วยคดีทางการเมือง แต่เป็น การกล่าวหาว่าทุจริต ซึ่งจะไม่ครอบคลุมในการได้รับนิรโทษกรรม”

จากนั้นเรื่องก็เงียบหายไป แต่เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.ที่ผ่านมา “นพ.ระวี” ออกมากล่าวถึงร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสันติสุข ว่า ได้ยื่นร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสันติสุขแล้ว เพื่อนิรโทษกรรมคดีการเมืองทั้งหมดไม่ว่าจะมาจากแดง เหลือง หรือส้ม ทั้งรุ่นเก่าทั้งรุ่นใหม่ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย.49-30 พ.ย.65

แต่มีข้อยกเว้นอยู่ 3 ประการ คือ 1.ไม่นิรโทษคดีทุจริตคอร์รัปชั่น 2.ไม่นิรโทษคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ 3.ไม่นิรโทษความผิดคดีอาญาที่รุนแรงที่ทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต หากสภารับร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ก็จะไม่สามารถนิรโทษกรรมสุดซอยได้

นพ.ระวี กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังกำหนดให้รมว.ยุติธรรม ตั้งคณะกรรมการกลั่นกรอง ผู้ที่จะได้รับการนิรโทษกรรม จำนวนไม่เกิน 7 คน ภายใน 60 วัน หลังจากที่พ.ร.บ.ผ่านการพิจารณา และกำหนดเวลาการทำงาน 10 เดือน

นพ.ระวี มาศฉมาดล

นอกจากนี้ยังกำหนดว่า ผู้ใดก็ตามที่ได้รับการนิรโทษกรรมแล้วไปกระทำผิดซ้ำ จะไม่ได้รับการรอลงอาญา และต้องถูกลงโทษตามที่ได้รับการพิพากษา จากนี้ตนจะกลับประสานกับส.ส.พรรคต่างๆ ทั้งจากฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาลว่าจะมีเสียงสนับสนุนจำนวนเท่าใด ถ้าพิจารณาไม่ทัน ก่อนวันที่ 28 ก.พ.66 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของสมัยประชุมนี้ หรือได้ ส.ส.ไม่เกินครึ่งสภา ก็ยากที่จะทำให้จบภายในสภาชุดนี้

อาจจะมีบางคนตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมหัวหน้าพรรคการเมืองที่มีเสียงเดียวในสภาฯ มีความมุ่งมั่นที่จะผลักดันกฎหมายล้างผิด ให้ผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ หรือได้ “รับใบสั่งจากใครมา” เพราะก่อนหน้านั้น เคยมีข่าวแกนนำ กปปส.บางคน ไม่พอใจท่าทีหัวหน้ารัฐบาล หลังต้องเผชิญปัญหาเรื่องคดีความ จนในที่สุดต้อง หลุดจากการเป็นรัฐมนตรี และเมื่อไม่นานมานี้ ก็พาส.ส.พื้นที่เมืองหลวง ไปสังกัดพรรคที่กำลังมาแรง แม้จะมีข่าวหัวหน้ารัฐบาลโทรศัพท์ไปชวนมารวมกับ “รวมไทยสร้างชาติ” (รทสช.) แต่ก็ได้รับปฏิเสธ เพราะมองว่า หัวหน้ารัฐบาลไม่มีความจริงใจ

ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 24 ก.พ.2564 ศาลอาญาพิพากษา ให้จำคุก “สุเทพ เทือกสุบรรณ” อดีตกกปส. และ จำเลยคนอื่น ๆ รวม 26 คน รวมถึงรัฐมนตรี 3 คน คือ “พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” รมว.ดิจิทัลฯ “ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ” รมว.ศึกษาธิการ และ “ถาวร เสนเนียม” รมช.คมนาคม เป็นเวลาตั้งแต่ 4 เดือน ถึง 11 ปี ในข้อหาหลักคือ ยุยงปลุกปั่น จากการชุมนุมทางการเมือง เพื่อขับไล่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อปี พ.ศ.2556-2557 โดยล่าสุด ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว สุเทพและพวก รวม 8 คน โดยขอให้รอฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์พิจารณา

ในคดีนี้ พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส. และจำเลยคนอื่น ๆ รวม 39 คน ซึ่งในวันนี้จำเลยมาศาล 37 คน เสียชีวิตแล้ว 1 คน อยู่ระหว่างการคุมขัง 1 คน ในหลายข้อหา เช่น ความผิดฐานกบฏ, ร่วมกันก่อการร้าย, กระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หรือวิธีอื่นใดที่ไม่ใช่การกระทำในความมุ่งหมายตามรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือความไม่สงบในราชอาณาจักรฯ, อั้งยี่, ซ่องโจร, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองโดยมีอาวุธ โดยเป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการ 

เจ้าพนักงานสั่งให้เลิกการกระทำนั้น แต่ไม่เลิก, ยุยงให้ร่วมกันหยุดงาน การร่วมกันปิดงานงดจ้าง เพื่อบังคับรัฐบาล, ร่วมกันบุกรุก, ขัดขวางการเลือกตั้งฯ ซึ่งโจทก์ขอให้ศาลลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113, 116, 117, 209, 210, 215, 216, 362, 364, 365, พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ. 2550 มาตรา 76, 152 ซึ่งศาลใช้เวลาในการอ่านคำพิพากษานานกว่า 6 ชั่วโมง

“ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในส่วนความผิดฐานกบฏ และ ก่อการร้าย พฤติการณ์ชุมนุมไม่มีการใช้กำลังประทุษร้ายบุคคลใด เพื่อล้มล้างการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ นิติบัญญัติ อำนาจบริหาร จึงไม่เป็นความผิดฐานกบฏ และก่อการร้าย” ตอนหนึ่งของคำพิพากษา ระบุ

อดีตแกนนำ กปปส.

ด้าน “สุเทพ เทือกสุบรรณ” และจำเลยอื่นๆ รวม 26 คน ศาลตัดสินจำคุก ในความผิดฐานยุยงให้เกิดการหยุดงานเพื่อบังคับรัฐบาล, ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา, ร่วมกันมั่วสุม 10 คนขึ้นไป, ร่วมกันบุกรุกสำนักงานผู้อื่นในเวลากลางคืน, ร่วมกันบุกรุกอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น และร่วมกันกระทำการโดยไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย

โดยพิพากษาจำคุก “สุเทพ เทือกสุบรรณ” เป็นเวลา 5 ปี จำคุก “ชุมพล จุลใส” เป็นเวลา 9 ปี 24 เดือน จำคุก “พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” เป็นเวลา 7 ปี จำคุก “ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ” เป็นเวาลา 6 ปี 16 เดือน จำคุก “อิสสระ สมชัย” เป็นเวลา 7 ปี 16 เดือน จำคุก “ถาวร เสนเนียม” เป็นเวลา 5 ปี จำคุก “สุวิทย์ ทองประเสริฐ” หรือ “พุทธะอิสระ” เป็นเวลา 4 ปี 8 เดือน และจำคุก “เรือตรีแซมดิน เลิศบุศย์” เป็นเวลา 4 ปี 16 เดือน รวมทั้งสิ้น 8 คน

จากคำพิพากษาดังกล่าว เป็นผลให้ คุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรี ของ “พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” รมว.งดิจิทัลฯ “ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ” รมว.ศึกษาธิการ และ “ถาวร เสนเนียม” รมช.คมนาคม สิ้นสุดลง

ต่อมาช่วงค่ำ ศาลอาญามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว สุเทพ เทือกสุบรรณ และพวกรวม 8 คน โดยให้ส่งเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาคำร้องการ ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว มีผลทำให้คุณสมบัติความเป็นส.ส.สิ้นสุดลงเช่นกัน

บางที “ผู้มีอำนาจในรัฐบาล” อาจต้องการช่วยเหลือ “แกนนำกปปส.” โดยเฉพาะการผลักดันกฎหมายล้างผิด เพราะมีส่วนสร้างเงื่อนไขให้เกิดรัฐประหาร และทำ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมานานถึง 8 ปี และกำลังจะขอไปต่ออีก 2 ปี 

ดังนั้น การช่วยเหลือ “มิตรที่รบ” เพื่อนที่ร่วมต่อสู้กันมา บางทีก็เป็นสิ่งจำเป็น ไม่ใช้ยิ่งทำงานกองเชียร์เริ่มหาย กองหนุนเริ่มหนีห่าง 

………………

คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก

โดย.. “แมวสีขาว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img