ไม่ว่าจะเป็นคอการเมือง หรือไม่ได้สนใจความเป็นไปของบ้านเมือง แต่เชื่อได้เลยวันที่ 13 ก.ค.66 สายตาของคนไทยหลายล้านคู่ ต้องติดตามความเคลื่อนไหวที่อาคารรัฐสภา หลัง “พรพิศ เพชรเจริญ” เลขาธิการรัฐสภา ได้ออกหนังสือ ด่วนมากที่ สผ 0014/ร1 ถึง ส.ส. และส.ว. เรื่องการประชุมร่วมรัฐสภา
เนื่องด้วยประธานรัฐสภา ได้มีคำสั่งให้นัดประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) ในวันที่ 13 ก.ค.2566 เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชั้น 2 เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ (รธน.) แห่งราชอาณาจักรไทย
อย่างที่ทราบกัน “พรรคก้าวไกล” (ก.ก.) กับ พันธมิตรร่วม 8 พรรค มีเสียงรวม 312 เสียง ประกาศสนับสนุน “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เป็นนายกฯ โดยมีเอ็มโอยู 8 พรรคเป็นตัวผูกมัด แต่กว่าจะได้บทสรุปถึงตำแหน่ง ประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็เกือบโค้งสุดท้าย ก่อนวันนัดประชุมสภาฯ เพื่อสรรหาประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ เพราะ “ก.ก.” กับ “เพื่อไทย” (พท.) ตกลงกันไม่ได้ จนในที่สุดเก้าอี้สำคัญ ก็มาตกกับคนกลาง “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” อดีตหัวหน้าพรรคประชาชาติ (ปช.) ที่ได้รับเลือกให้เป็นประธานสภาฯ
ขณะที่ “วันมูฮะหมัดนอร์” กล่าวถึงการเสนอชื่อนายกฯว่า จะต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ (รธน.) และข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ส่วนกรอบเวลาการประชุมเป็นไปตามรธน.และข้อบังคับอยู่แล้ว ส่วนรายละเอียดอื่นๆ หากพูดล่วงหน้าอาจจะไม่ตรงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งการประชุมโหวตเลือกนายกฯ ในวันที่ 13 ก.ค.66 นี้ หวังว่าจะดำเนินด้วยความเรียบร้อย
ทั้งนี้หากการประชุมไม่เสร็จสิ้น ได้หารือกับ “พรเพชร วิชิตชลชัย” ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ให้เปิดประชุมอีกครั้งในวันพุธที่ 19 ก.ค.66 เนื่องจากเป็นวันที่เหมาะสมที่สุด เว้นไว้หนึ่งสัปดาห์ให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ทำหนังสือเชิญมาประชุมอีกครั้ง
“การประชุมเลือกนายกฯจะเสร็จสิ้นเรียบร้อยหรือไม่อยู่ที่ที่ประชุม หน้าที่ของรัฐสภาตามรธน. คือเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่เลือกนายกฯเพื่อไปบริหารประเทศต่อไป เราต้องทำหน้าที่เพื่อให้ได้นายกฯให้ได้ เพราะประเทศจะไม่มีนายกฯไม่ได้ เนื่องจากปัญหาของประชาชนและประเทศรอคอยรัฐบาลใหม่ ดังนั้นหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ต้องสนับสนุนให้การบริหารประเทศต่อไปได้ ในเวลาที่เหมาะสม ที่ประชาชนต้องการ” วันนอร์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า 8 พรรคร่วมรัฐบาล จะมีคะแนนเสียงเกินครึ่งของสภาผู้แทนราษฎร (500 เสียง) อยู่มากพอสมควร แต่อุปสรรคสำคัญการโหวตเพื่อสรรหานายกฯ เป็นการประชุมร่วมรัฐสภา ซึ่งประกอบด้วยส.ส. 500 คน และ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 เสียง
นั่นหมายความว่า บุคคลที่จะเป็นนายกฯได้ ต้องได้เสียงกึ่งหนึ่ง คือ 376 เสียง ซึ่งพรรค 8 ร่วมรัฐบาล ยังขาดอยู่อีก 64 เสียง ซึ่งเป็นหน้าที่ของพรรคก.ก. ที่ต้องหาเสียงมาสนับสนุน “พิธา” ซึ่งแม้จำนวนจะไม่มาก แต่ก็เป็นเรื่องยากของพรรค ก.ก.
เนื่องจากมีนโยบายในการเสนอ แก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่บัญญัติไว้ว่า ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี
ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ส.ว.หลายคน ยืนยันที่จะไม่โหวตให้ “พิธา” เป็นนายกฯ แม้จะยื่นเงื่อนไขให้พรรคก.ก. เปลี่ยนแปลงแนวทางการแก้ไขมาตรา 112 แต่แกนนำพรรคสีส้มก็ยืนยันว่า เป็นนโยบายที่หาเสียงไว้ และ จะไม่เปลี่ยนหลักการ เพียงแค่ต้องการอำนาจ
ขณะที่ “ศิริกัญญา ตันสกุล” ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรค ก.ก. ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าเจรจากับส.ว. หลังบางคนระบุจะเปลี่ยนใจไม่โหวตให้หัวหน้าพรรคก.ก.เป็นนายกฯ โดยยังมั่นใจว่า วันที่ 13 ก.ค.จะได้เสียงส.ว.สนับสนุนยกมือโหวตให้นายพิธาเป็นนายกฯ ครบถ้วนในครั้งแรก แต่ยังต้องทำงานอย่างต่อเนื่อง หากมี ส.ว.คนใดเปลี่ยนใจ จะได้มีการสำรองไว้ เพราะเราไม่ทราบว่าจะเกิดอะไรขึ้นหน้างาน
เมื่อถามว่า มีความกังวลว่าส.ว.จะเปลี่ยนใจหรือไม่ “ศิริกัญญา” กล่าวว่า การพูดต่อหน้าสาธารณะและการพูดคุยเจรจา อาจจะไม่ตรงกันก็ได้ ซึ่งยินดีและยอมรับในสิทธิ์ของส.ว.ที่จะให้ข่าวหรือชี้แจงต่อสาธารณะ
อย่างไรก็ตาม ท่าทีของแกนนำพรรคก.ก. แตกต่างจาก ท่าทีของ “พิธา” ที่ดูเหมือนไม่มั่นใจ เพราะก่อนที่จะถึงวันโหวต 13 ก.ค. หัวหน้าพรรคก.ก. เดินสายไปพบปะมวลชนที่สนับสนุน อ้างว่าไปขอบคุณ ประชาชนในพื้นที่ต่างๆอย่างถี่ยิบ โดยเฉพาะในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร (กทม.) และ ปริมณฑล ซึ่งถูกมองว่า หวังใช้มวลชนมากดดันสภาสูง เพราะไม่มั่นใจกับเสียงสนับสนุนจากส.ว.
สอดคล้องกับกระแสข่าวเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของ ส.ว. ในการประชุมรัฐสภา วันที่ 13 ก.ค.นี้ ที่มีวาระโหวตนายกฯ ตามที่ 8 พรรคร่วมรัฐบาล ยืนยันเสนอชื่อ “พิธา” เป็นนายกฯ ว่า ส.ว.ได้เช็คเสียงกันเป็นการภายใน พบว่า ส่วนใหญ่จะลงมติ “งดออกเสียง” เกือบ 90% มีเพียง 5-10 คน ที่ยืนยันโหวต “พิธา” เป็นนายกฯ และมีส.ว.อีกไม่กี่เสียงที่จะลงมติไม่สนับสนุน “พิธา”
ส่วนการโหวตนายกฯรอบสอง วันที่ 19 ก.ค.นั้น ในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ที่มี “เสรี สุวรรณภานนท์” ส.ว. เป็นประธานกมธ.ฯ มีความเห็นว่า ตามข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภา ข้อ 41 ที่ระบุว่า ญัตติใดที่เสนอที่ประชุมรัฐสภา หากไม่ได้รับความเห็นชอบถือว่า “ตกไป” และห้ามนำญัตติซึ่งมีหลักการเดียวกันขึ้นเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน เว้นแต่ญัตติที่ประธานรัฐสภาจะอนุญาต เมื่อพิจารณาเห็นว่าเหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นกมธ. จึงมองว่า กรณีที่รอบแรก “พิธา” ไม่ได้รับเลือกจากรัฐสภา จะไม่สามารถเสนอชื่ออีกในการโหวต ครั้งที่ 2
รายงานข่าวระบุอีกว่า แต่หากมีคนเสนอชื่อ “พิธา” กลับมาอีกในวันที่ 19 ก.ค.นี้ จะมีส.ว.คัดค้านกับที่ประชุมรัฐสภา โดยไม่ยอมให้เสนอชื่อ “พิธา” เป็นนายกฯ โดยอ้างอิงข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 41 ซึ่งหากประธานรัฐสภา ยังยืนยันให้เสนอชื่อ “พิธา” ก็จะต้องรับผิดชอบในกรณีที่มีผู้ยื่นเรื่องต่อศาลรธน.ให้ตีความข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อ 41
สุดท้ายจะขึ้นอยู่กับประธานรัฐสภาใช้ดุลยพินิจของตนเอง หรือลงมติในที่ประชุมเพื่อตัดสินเพื่อชี้ขาด
นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า ในวันที่ 19 ก.ค.นี้ ซึ่งนัดโหวตนายกฯ รอบสองนั้น ขอให้จับตาว่า จะมีผู้เสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯจากพรรคการเมืองอื่น แข่งขันกับ “พิธา” ด้วย
ขณะเดียวกันเรื่องกระบวนการตรวจสอบ การถือครองหุ้นสื่อ ของ “พิธา” ด้านองค์กรที่มีหน้าที่รับผิดชอบอย่างคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็เริ่มขยับ โดยที่ประชุมกกต.มีมติให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพส.ส.ของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ส.ส. บัญชีรายชื่อและแคนดิเนตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) ประกอบมาตรา 101 (6) หรือไม่ จากเหตุมีชื่อถือครองหุ้นสื่อบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น รวมทั้งมีคำขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ส.ส.ไว้ จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย หลังจากที่ประชุม ใช้เวลากว่า 3 วัน รับฟังและพิจารณาผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของสำนักงานกกต.แล้วเห็นว่า มีข้อมูลพยานหลักฐานเพียงพอให้เชื่อว่ามีเหตุตามที่มีการยื่นคำร้องจริง โดย “อิทธิพร บุญประคอง” ประธานกกต.ได้ลงนามในคำร้องและมอบหมายให้เจ้าหน้าที่สำนักงานฯนำไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญทันที
ซึ่งประเด็นนี้ จะกลายเป็นเงื่อนไขให้ส.ว. ใช้ในการไม่ยกมือให้แคนดิเดตนายกฯจากพรรค ก.ก. เพราะถือเป็น สินค้ามีตำหนิ อาจมีปัญหาอย่างหนึ่งอย่างใดในอนาคต
โดย “เสรี สุวรรณภานนท์” ส.ว. ให้สัมภาษณ์กรณีกกต.ส่งเรื่องให้ศาลรธน.ตรวจสอบ คุณสมบัติของ “พิธา” กรณีถือครองหุ้นสื่อที่จะส่งผลต่อการโหวตเลือกนายกฯหรือไม่ว่า เราต้องพิจารณาคุณสมบัติด้วยอยู่แล้ว การที่กกต.ยื่นศาลรธน. ถือเป็นแนวทางที่สร้างความชัดเจน ช่วยแก้ปัญหาความเห็นต่างๆ กกต.จึงเป็นทางออก เมื่อสอบสวนไต่สวนชัดเจนแล้ว สามารถสรุปเสนอต่อศาลรธน.ได้ก็เป็นแนวทางที่จบปัญหา ถ้าทำเสร็จจริงก็ควรส่งไป
เมื่อถามว่า อาจถูกมองว่าเป็นการสกัด “พิธา” ไม่ให้เป็นนายกฯหรือไม่ “เสรี” กล่าวว่า มันไม่ใช่เรื่องสกัดหรือไม่สกัด ถ้าใช้คำนั้น เหมือนตั้งใจไม่ให้ “พิธา” เป็นนายกฯ แต่เป็นเรื่องของบทบัญญัติรธน.ที่กำหนดให้ นายกฯต้องมีคุณสมบัติ และ ไม่มีลักษณะต้องห้าม โดยกำหนดอยู่ในรธน.มาตรา 272 ที่ให้ ส.ส. และ ส.ว. โหวตเลือกนายกฯ ส่วนมาตรา 159 ส.ส. และ ส.ว. ต้องเลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติไม่มีลักษณะต้องห้ามคือห้ามถือหุ้นสื่อ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ผิดในตัวเองอยู่แล้ว แต่การส่งศาลรธน. เพื่อหาข้อยุติให้ชัดเจน เพราะการถือหุ้นคือเหตุ ส่วนผลคือรอศาลตัดสิน แต่ขัดรธน.หรือไม่นั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ดังนั้น ส.ส. และ ส.ว. ต้องทำตามบทบัญญัติในมาตรา 159 ให้ชัดเจน
“ผมเป็นห่วง 8 พรรคที่เซ็นเอ็มโอยู ว่าจะกล้าตัดสินใจเลือกคนที่คุณสมบัติไม่ครบถ้วนตามรธน.หรือไม่ หากเลือกคนขัด รธน. คนขาดคุณสมบัติ ทั้งหมดจะเหมือนปลาในข้องเดียวกัน จะมีปัญหากับพรรคเหล่านั้นได้ จึงอยากฝากไปพิจารณาบทบัญญัติของรธน.เหล่านี้ด้วย การที่แต่ละพรรคจะโหวตนายพิธา ดูรธน.มาตรา 159 หรือยัง ว่าต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม แต่ละพรรคท่านต้องไปดู มิเช่นนั้นจะกลายเป็นท่านทำขัดรัฐธรรมนูญเอง จะกลายเป็นท่านล้มล้างการปกครองหรือไม่ เพราะขัดมาตรา 159 ซึ่งจะไปไกลถูกตีความอีกเยอะ สุดท้ายจะทำร้ายตัวคุณเอง อาจจะไปไกลถึงถูกยุบพรรค” เสรี กล่าว
ดูความเห็นของสมาชิกสภาสูงแล้ว ไม่แปลกใจทำไม “พิธา” เดินสายไปขอกำลังใจจากบรรดา “ด้อมส้ม” อย่างถี่ยิบในช่วงนี้ นอกจากนี้ในวันโหวตสรรหานายกฯ “วันมูฮะหมัดนอร์” ก็ประสานกับ กทม. จัดพื้นที่ให้ บรรดากองเชียร์ หัวหน้าพรรคก.ก. ได้ใช้ปัดหลักในการชุมนุม ซึ่งอยู่ใกล้อาคารรัฐสภา ซึ่งคาดจะรองรับมวลชนได้นับหมื่น ซึ่งก็ต้องจับตาดูว่าจะสร้างแรงกดดันให้กับสภาสูงมากแค่ไนหน
แต่เหนืออื่นใด “เอ็มโอยู” 8 พรรค ยังมัดแน่นอีกต่อหรือไม่ เพราะพรรค พท.ซึ่งมีคะแนนห่างกับ ก.ก. เพียง 10 เสียง ก็คงหวังลุ้นกับการ พลิกบทมาเป็นแกนนำ
แต่ก่อนอื่นต้องบอกว่าฝันของ “ก.ก.” ที่เชื่อว่าผลโหวตวันที่ 13 ก.ค. จะส่งผลดีต่อ “พิธา” น่าจะเป็นพวกมองโลกสวย จนลืมมองจุดอ่อนของ “พรรคสีส้ม”
……………………………………..
คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก
โดย.. “แมวสีขาว”