ตีคู่มากับข่าวจัดตั้งรัฐบาล ที่มี “พรรคเพื่อไทย” (พท.) เป็นแกนนำรัฐบาล หนีไม่พ้นความเคลื่อนไหวของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีสถานะเป็น “นักโทษหนีคดี” ตามหมายจับของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ประกาศเดินทางกลับประเทศไทย ในวันที่ 10 ส.ค.66 หลังต้องพลัดพรากจากบ้านเกิดเมืองนอนไป 17 ปีเต็ม
ก่อนหน้านั้น มีข่าวในช่วงเดินทางมาฉลองวันคล้ายวันเกิดที่เกาะฮ่องกง เมื่อวันที่ 28 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมี “นักการเมืองมากหน้าหลายตา” จากหลากหลายพรรคเดินทางเข้าพบ “ทักษิณ” ซึ่งระยะหลังโปรดปรานการใช้ชื่อ “โทนี่ วู้ดซัม” โดยมีรายงานข่าวว่า การเข้าพบนักการเมืองบางคน เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งรัฐบาล หรือที่เรียกกันติดปากว่า “ดีลลับ”
แม้กระทั่ง “เดชอิศม์ ขาวทอง” ส.ส.สงขลา และรักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ภาคใต้ ยังมีข่าวเดินทางไปฮ่องกงเพื่อพบ “ทักษิณ” แต่มีรายงานข่าวว่า การเจรจาไม่ลงตัว เนื่องจากมีการแจ้งว่า มีส.ส.เพียง 16 คน ที่พร้อมจะเข้ารวมรัฐบาล ไม่ได้มาทั้งหมด เนื่องจากกลุ่ม “ชวน หลีกภัย” และ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ไม่สนับสนุนให้เข้าร่วมรัฐบาล ดังนั้น “ทักษิณ” จึงขอให้รองหัวหน้าพรรคปชป. กลับไปหาข้อยุติในพรรคปชป. หากจะมาต้องครบทั้ง 25 คนและมีมติพรรครับรอง
นอกจากนี้ยังมีเสียงวิจารณ์ ถึงการเข้ามามีบทบาทในการจัดตั้งรัฐบาลของ “ทักษิณ” มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอน เพราะมีความพยายามผลัก “พรรคก้าวไกล” (ก.ก.) ให้เป็นฝ่ายค้าน และดึงพรรคจากขั้วรัฐบาลเดิมเข้ามาร่วม โดยเฉพาะ “พรรคพลังประชารัฐ” (พปชร.) ที่มี “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เป็นหัวหน้าพรรค และ “พรรครวมไทยสร้างชาติ” (รทสช.) ที่เคยมี “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีมีบทบาทสำคัญ
โดยต้องการดึง “พท.” มาเป็นตัวแทนฝ่ายอนุรักษ์นิยม เพื่อช่วยต่อต้านแนวคิดในการเปลี่ยนแปลงประเทศ แบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือของ “ก.ก.” โดยเฉพาะแนวทางในการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการปกป้องสถาบัน
อย่าลืมว่า “ทักษิณ” มีชนักติดหลังอยู่ โดยเฉพาะบทลงโทษตามคำพิพากษาคดีของศาลฎีกาฯ มีคดีที่ถูกพิพากษาไปแล้ว 4 คดี มีโทษจำคุกรวม 12 ปี หากกลับประเทศไทย จะมีโทษถูกจำคุกทันที แต่ปัจจุบัน 1 ใน 4 คดีหมดอายุความแล้ว ทำให้เหลือเพียง 3 คดี และ โทษจำคุกเหลือ 10 ปี ประกอบด้วย….
คดีนายทักษิณสั่งการให้ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) อนุมัติเงินกู้สินเชื่อ จำนวน 4,000 ล้านบาท แก่รัฐบาลเมียนมา โดยมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าต้นทุน เพื่อนำเงินกู้ดังกล่าวไปใช้ในการซื้อสินค้าและบริการของ บริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) อันเป็นการเอื้อประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่น
ศาลฎีกาฯพิพากษาจำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา เมื่อวันที่ 23 เม.ย.62 และให้ออกหมายจับนำตัวมาบังคับคำพิพากษา รวม 2 หมายจับ
–คดีให้บุคคลอื่น หรือนอมินี ถือหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) แทน โดยบริษัท ชินคอร์ปฯ เป็นคู่สัญญา ต่อหน่วยงานของรัฐ และเข้าไปมีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นในกิจการโทรคมนาคม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 157 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 100 โดยศาลฎีกาฯพิพากษา จำคุก 5 ปี ไม่รอลงอาญา
–คดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือ คดีหวยบนดิน ศาลฎีกาฯ ตัดสินจำคุกนายทักษิณ 2 ปี ไม่รอลงอาญา เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.2562 และให้ออกหมายจับนำตัวมาบังคับคำพิพากษา รวม 2 หมายจับ
ส่วนคดีที่หมดอายุความแล้ว คดีที่ยกฟ้อง และคดีที่ยกคำร้อง ประกอบด้วย…คดีทุจริตการจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก ที่มีการกล่าวหา คุณหญิงพจมาน ชินวัตร (นามสกุลขณะนั้น และเป็นภริยานายทักษิณ) และนายทักษิณ ในการจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก จำนวน 33 ไร่ 78 ตร.ว. ราคา 772 ล้านบาท จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 ต.ค.2551
ก่อนศาลฎีกาฯ จะตัดสินโทษนายทักษิณ ไม่มารับฟังคำตัดสินและได้หลบหนีออกนอกประเทศ โดยอ้างว่าเดินทางไปดูการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ประเทศจีน ศาลฎีกาฯจึงอ่านคำพิพากษาลับหลัง สั่งตัดสินจำคุกนายทักษิณ 2 ปี และออกหมายจับ เมื่อวันที่ 21 ต.ค.51 เพื่อให้นำตัวมาบังคับตามคำพิพากษา คดีดังกล่าวหมดอายุความแล้ว
คดีกล่าวหานายทักษิณ อนุมัติให้กระทรวงการคลังเข้าไปบริหารจัดการแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TPI ต่อมา ศาลฎีกาฯได้ยกฟ้อง จากนั้นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้เป็นโจทก์ยื่นอุทธรณ์ แต่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ยืนยกฟ้องตามเดิม
คดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้ให้กับกลุ่มกฤษดามหานคร วงเงิน 11,585 ล้านบาท ศาลฎีกาฯตัดสินยกฟ้องนายทักษิณ จำเลยที่ 1 เนื่องจากไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ผู้ที่อ้างว่าเป็นผู้สั่งการคือ นายทักษิณ พร้อมทั้งเพิกถอนหมายจับในคดีนี้ ขณะที่จำเลย คนอื่นๆ ถูกตัดสินจำคุกรวมกว่า 860 ปี
คดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) อีก 4 สัญญา สมัยรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือคดีข้าวจีทูจีล็อต 2 โดย ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหานายทักษิณเพิ่มเติมว่า มีบทบาทและอยู่เบื้องหลังในการสั่งการให้มีโครงการระบายข้าวจีทูจี โดยอ้างหลักฐานเป็นการสนทนาผ่านวิดีโอลิงก์ ที่โรงแรม เอส.ซี.ปาร์ค แต่เมื่อเดือนธ.ค.65 สำนักงาน ป.ป.ช. มีมติไม่ชี้มูลความผิดนายทักษิณ และยกคำร้อง
คดีกล่าวหานายทักษิณกับพวก อนุมัติสั่งซื้อเครื่องบินแอร์บัส แบบ A340-500 และ A340-600 ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ระหว่างปี 2545-2547 ทำให้การบินไทยมีหนี้สิน เพิ่มมากขึ้น ล่าสุด ป.ป.ช.มีมติไม่ชี้มูลความผิดนายทักษิณ และ ยกคำร้อง
นอกจากนี้ ยังมีอีก 1 คดีคือ คดีกองทัพบก ยื่นฟ้องนายทักษิณ หมิ่นประมาท กรณีเมื่อวันที่ 19-20 พ.ค.58 ซึ่งได้มีการเผยแพร่คำสัมภาษณ์ของนายทักษิณจากประเทศเกาหลีใต้ เกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองและการยึดอำนาจการปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งกระทบถึงกองทัพบก
คดีนี้ศาลอาญาออกหมายจับนายทักษิณ เนื่องจากไม่มาศาล เมื่อวันที่ 12 ต.ค.58 และจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว หากได้ตัวมาดำเนินคดีแล้วจะขอรื้อคดีขึ้นมาใหม่
จากวิบากกรรมที่เกิดขึ้นแต่หนหลัง ทำให้การเดินทางกลับมา ตามขั้นตอนก็ต้องมารับโทษตามกฎหมาย ดังนั้นจึงไม่ใช้เรื่องแปลก เมื่อหลายคนเชื่อ ถ้า “ทักษิณ” ไม่มั่นใจว่า “พท.” จะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล หรือมีส่วนในการยึดครองอำนาจรัฐ คงไม่มีวันเลือกเดินทางกลับประเทศไทยในช่วงนี้แน่ เพราะถึงแม้ต้องเข้าไปอยู่เรือนจำหรือที่คุมขัง ก็ยังสามารถใช้อำนาจรัฐอำนวยความสะดวกบางอย่างให้ หรือใช้ขั้นตอนทางกฎหมายช่วยเหลือไม่ให้ ต้องติดคุกตามโทษที่กำหนดไว้
แต่ที่น่าสังเกตในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันมี 2 บุคคล ที่เห็นตรงกัน ว่าวันที่ 10 ส.ค. “ทักษิณ” อาจยังไม่เดินทางกลับ แม้จะมีคำยืนยันจาก “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และแคนดิเดตนายกฯพรรค พท.ว่า บุพการีจะเดินทางมาตามกำหนดการเดิม…คือ
“จตุพร พรหมพันธุ์” วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน ที่เฟซบุ๊คไลฟ์รายการ “ประเทศไทยต้องมาก่อน” เมื่อวันที่ 30 ก.ค. ตอน “ผิดพลาด!!” โดยระบุวาว่า ดีลตั้งรัฐบาล พร้อมเงื่อนไขเดินทางกลับไทยอย่างเท่ๆ ของทักษิณ ชินวัตร ในวันที่ 10 ส.ค.นี้ ได้จบสิ้นลงแล้ว เนื่องจากไม่แน่ใจกรณีติดคุกค้างคืน จะได้รับอภัยโทษคดีทุจริต จึงเป็นความผิดพลาดไม่รู้จักจำกับการดีลถึง 20 ครั้งในรอบ 17 ปีที่พยายามหาทางกลับบ้าน
“จตุพร” กล่าวอีกว่า ทักษิณกลับไทยเพื่อมาติดคุกนั้น คุกไม่ใช่เรื่องน่ากลัว แต่ต้องตัดใจได้และไม่คิดอะไรมาก ขอเพียงให้มีจิตใจผ่องแผ้ว จะได้รับรู้ถึงเวลาในคุกเดินทางได้รวดเร็ว หากตัดใจไม่ได้ การประกาศกลับบ้านกี่ครั้งก็เหมือนเดิม อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อว่าวันที่ 10 ส.ค.นี้ ทักษิณจะไม่มาตามที่ประกาศเอาไว้
พร้อมยกกรณีอดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 2 คนที่ติดคุก เคยขออภัยโทษก็ไม่เคยได้รับ ถ้าเป็นชาวบ้านธรรมดาก็ได้รับอภัยโทษเร็วขึ้น สิ่งสำคัญคือ คดีทุจริตถึงจะยื่นไปก็ตาม แต่ยังไม่เคยได้รับอภัยโทษด้วย ดังนั้น ทักษิณกลับบ้านแบบเท่ๆ ติดคุกคืนเดียวจึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
อีกทั้งย้ำว่า ในวันที่ 10 ส.ค.นี้ วันที่ทักษิณประกาศจะกลับบ้าน แม้ตนเห็นใจคนในครอบครัวชินวัตร แต่ถ้าทักษิณตัดสินใจไม่อีนังขังขอบก็กลับมา หากตนประเมินผิดพลาดก็ให้เครื่องบินลงที่สนามบินดอนเมือง ส่วนรถทัวร์มาลงที่ตนได้ และพร้อมรับ
ส่วน “ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์” อดีตนักการเมืองให้ความเห็นว่า แม้นักโทษเด็ดขาดชายในคุกมีสิทธิ์ยื่นขอ แต่ไม่มีใครได้ ยกเว้นโทษที่เป็นความผิดต่อตัวพระองค์ท่าน คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือ ม.112 นั่นเอง เมื่อมีการพระราชทานอภัยโทษส่วนบุคคลให้ มีธงนำเปิดทางไปที่คุก ได้รับอิสรภาพ ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ที่ “ในหลวง” มีให้ต่อผู้ที่กระทำผิดต่อพระองค์ท่านเท่านั้น คนทำผิดคดีทุจริต ปล้น ฉ้อโกง ทุกคดี แม้ยื่นขอได้ แต่ไม่เคยได้รับพระราชทานอภัยโทษส่วนบุคคล หากมีใครไปบอกทักษิณว่า ทำได้ ก็ต้องเป็นแผนหลอกให้ทักษิณเคลิ้ม
ในช่วงนี้ “พท.” เป็น “ตัวแปร” หากเทไปข้างไหน ขั้วเก่า-ขั้วใหม่ ก็ย่อมได้อำนาจ!!
คนระดับอดีตนายกฯ จากบ้านไป 16-17 ปี ย่อมต้องการกลับมาบ้านเกิดเป็นเรื่องปกติ แต่ครั้นจะกลับมาโดยไม่มีอำนาจ คงกลับมานานแล้ว ไม่ต้องมากลับเอาช่วงนี้ เกมแห่งอำนาจ แลกเปลี่ยนผลประโยชน์ หากไม่มั่นใจ “ทักษิณ” ไม่กลับแน่นอน จึงบอกได้ว่า 4 ส.ค. ต้อง “ยื้อ” ดึงเช็งสุดฤทธิ์ ตอนนี้ขอถอยไปตั้งหลักก่อน ยกเลิกแผนกลับไทยไม่มีกำหนด จนกว่าจะตั้งรัฐบาลลงตัว
“ส่วนใครว่าผม “เพ้อเจ้อ” ผมไม่โกรธหรอกครับ เข้าใจดีว่าคุณอุ๊งอิ๊ง อยากให้คุณพ่อกลับบ้าน เป็นเรื่องของความกตัญญู ส่วนผมพูดในฐานะคนไทยคนหนึ่งเท่านั้น”
ทั้ง “จตุพร” และ “ชูวิทย์” เห็นตรงกันว่า คนทำผิดคดีทุจริต แม้จะยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ แต่ที่ผ่านมาไม่เคยได้รับการอภัยโทษ ซึ่งอาจทำให้อดีตนายกฯไม่กล้าเดินทางกลับมาประเทศไทยในวันที่ 10 ส.ค. รวมทั้งก่อนหน้านั้นมีข่าว “ข้าราชการระดับสูง” ถูกลงโทษในฐานะปฏิบัติเกินอำนาจหน้าที่
ท่ามกลางกระแสข่าวการพบปะกันของ บุคคลสำคัญที่มีบทบาทในบ้านเมือง ต่อสถานการณ์การเมือง เดินทางเมื่อช่วงต้นเดือนพ.ค. ไปที่เกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย ต่อมามีการชี้แจงว่า เป็นการเดินทางไปพบปะแกนนำกลุ่มก่อความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามที่มีการนัดหมายไว้ เพื่อคลี่คลายปัญหาและสนับสนุนให้การเจรจาเดินหน้าไปได้ด้วยดี
แต่ในที่สุดเชื่อว่า การเดินทางกลับของ “ทักษิณ” คงรอผลการประชุมรัฐสภาวันที่ 4 ส.ค. เพื่อโหวตคัดเลือกนายกฯ
ถ้าหากเป็นเป็นไปด้วยความราบรื่น และบุคลากรของพรรค พท. ได้รับการคัดเลือกให้เป็นนายกฯ อาจยึดแนวทางเดิมคือวันที่ 10 ส.ค. เพราะการที่อำนาจรัฐอยู่ในฝากฝั่งเดียวกัน ก็ช่วยสร้างความมั่นใจได้บ้าง หากต้องเดินเข้าสู่กระบวนยุติธรรม
……………
คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก
โดย…“แมวสีขาว”