วันพุธ, มิถุนายน 26, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSจับตา‘บิ๊กต่อ’ฝ่าด่านทดสอบแม่ทัพสีกากี เปิดแผนสกัด‘บิ๊กโจ๊ก’ไม่ให้ขึ้นเบอร์หนึ่ง
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

จับตา‘บิ๊กต่อ’ฝ่าด่านทดสอบแม่ทัพสีกากี เปิดแผนสกัด‘บิ๊กโจ๊ก’ไม่ให้ขึ้นเบอร์หนึ่ง

แม้จะเข้ามารับตำแหน่งสำคัญไม่ถึงเดือน แต่หลายคนก็จับตามอง “บิ๊กต่อ-พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล” ผบ.ตร.คนที่ 14 อย่างไม่วางตา เพราะ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ถือเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญ และมีภารกิจที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ทั้งดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ และบังคับใช้กฎหมาย ให้เกิดความเท่าเทียมกันในสังคม

อย่าลืมว่า ในการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร) ซึ่งมีวาระแต่งตั้งแม่ทัพสีกากีคนใหม่ ต้องถือว่า “บิ๊กต่อ” มีอาวุโสในอันดับ 4 ถือว่ารั้งท้ายเมื่อเทียบกับบรรดารองผบ.ตร.ทั้ง 4 คน ซึ่งประกอบด้วย พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร.อาวุโส อันดับ 1 พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร.อาวุโสอันดับ 2 พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร.อาวุโสอันดับ 3 และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์

แต่ด้วยมีผู้มากบารมี คอยเป็นเป็นแบ็คอัพให้ เลยทำให้ “พล.ต.อ.ต่อศักดิ์” ไปถึงฟากฝัน แต่ภายหลังการแต่งตั้งผบ.ตร.ผ่านพ้นไป ในเวลาต่อมา “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส” อดีตสส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย (สร.) และยังเป็น อดีต ผบ.ตร. ได้ยื่นร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้สอบสวนเอาผิด “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ในฐานะประธานก.ตร. และ ก.ตร.คนอื่นๆ รวมแล้ว 10 คน กรณีแต่งตั้ง “พล.ต.อ.ต่อศักดิ์” เป็น ผบ.ตร.โดยมิชอบ เนื่องจากไม่ได้คำนึงถึงหลักอาวุโส ตามที่กฎหมายกำหนด แม้ “เศรษฐา” จะงดออกเสียง แต่ก็ถือว่ามีความผิด เพราะเป็นคนเสนอชื่อ “พล.ต.อ.ต่อศักดิ์” ให้ที่ประชุมเลือก

พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล

ดังนั้นต้องจับตาบทสรุปจากการตรวจสอบขององค์กรอิสระ ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร แต่ในขณะที่ยังไม่มีความชัดเจน หลังจากมีการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง “บิ๊กต่อ” ต้องถือว่ามีผลทางกฎหมายอย่างสมบูรณ์ สามารถปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ ผบ.ตร.ได้อย่างเต็มที่

นอกจากนี้ หลังจากได้รับการคัดเลือกเป็นแม่ทัพสีกากี “พล.ต.อ.ต่อศักดิ์” ก็เรียก “บิ๊กโจ๊ก-พล.ต.อ.สุรเชษฐ์” มาพูดคุย เพื่อสยบกระแสข่าวความขัดแย้ง มีการปล่อยภาพผ่านทางสื่อมวลชน หลังก่อนหน้านั้น มีความเคลื่อนไหวตอบโต้กันไปมา ลักษณะเป็นสงครามตัวแทนของทั้งสองฝ่าย จากนั้นคดีความของทีมงาน “บิ๊กโจ๊ก” ก็ดูเงียบไป ไม่มีการให้ข่าวผ่านสื่ออีก

ต่อมาเมื่อวันที่ 2 ต.ค. พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ได้มีคำสั่งแบ่งมอบหน้าที่ระดับ รอง ผบ.ตร. โดยให้ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รับผิดชอบงานกฎหมายและคดี, พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รับผิดชอบงานความมั่นคง, พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รับผิดชอบงานป้องกันและปราบปราม, พล.ต.ท.ธนา ชูวงศ์ รับผิดชอบงานสืบสวนและสอบสวน, พล.ต.ท.สราวุฒิ การพานิช รับผิดชอบงานบริหาร และ พล.ต.ท.ไกรบุญ ทรวดทรง รับผิดชอบงานจเรตำรวจ

โดยมีข่าวว่า ผบ.ตร.ได้เปิดโอกาสให้รองผบ.ตร.ที่อาวุโสสูงสุด ได้เลือกงานที่ต้องการรับผิดชอบไปก่อน ซึ่งน่าสังเกตว่า “บิ๊กโจ๊ก” ได้รับผิดชอบงานด้านความมั่นคง จากเดิมรับผิดชอบด้านการสอบสวน ซึ่งต้องเผชิญแรงเสียดทานอย่างมาก แต่คนที่จะก้าวขึ้นมาเป็น “แม่ทัพสีกากี” หลายคนก็ผ่านการดูแลงานความมั่งคง ดังนั้นคงต้องรอดูว่า “รองผบ.ตร.อาวุโสลำดับ 2” ซึ่งจะก้าวขึ้นเป็นอาวุโสลำดับ 1 ในปี 67 จะสร้างผลงานเป็นที่ยอมรับหรือไม่ 

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล

เนื่องจากมีข่าว มีขบวนการเตะตัดขา “บิ๊กโจ๊ก” ไม่ให้ขึ้นเบอร์หนึ่งของ ตร. เพราะถ้าได้รับการผลักดันให้เป็นแม่ทัพสีกากีในปีหน้า จะอยู่ในตำแหน่งถึง 6 ปีเต็ม จะส่งผลทำให้นายตำรวจระดับ รองผบ.ตร.หลายนาย ต้องพลาดลุ้นเก้าอี้ “แม่ทัพสีกากี” จึงอาจมีการเดินเกมสกัด “พล.ต.อ.สุรเชษฐ์” ในรูปแบบต่างๆ ดังนั้นต้องจับตาดูว่า การทำงานขององค์กรสีกากี จะมีคลื่นใต้น้ำ ที่รอวันกลายเป็นคลื่นยักษ์ จนทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนขึ้นอีกมาอีกเมื่อไหร่ก็ได้

เพราะไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองหรือข้าราชการประจำ ตำรวจ ทหาร ก็ล้วนต้องการไขว่คว้าแสวงหาอำนาจ ต้องการเป็น “ผู้นำองค์กร” แม้บางครั้งจะรู้ว่าอำนาจที่ได้มา อาจทำให้ตนเองต้องมีปัญหา ถูกตรวจสอบ ถูกจ้องจับผิดในรูปแบบตางๆ

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า การใช้อำนาจ “ผบ.ตร.” ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำโผโยกย้ายนายตำรวจระดับ รองผบ.ตร.ถึงผู้บัญชาการ (ผบ.ช.) “พล.ต.อ.ต่อศักดิ์” ได้รับเสียงชื่นชมมากเลยที่เดียว เพราะยึดตามหลักอาวุโส ซึ่งเป็นไปตามพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565

หากย้อนไปเมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา “เศรษฐา” ได้เป็นประธานการประชุมก.ตร. ครั้งที่ 11/2566 โดยมีวาระสำคัญ คือการพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการตำรวจซึ่งมีรายงานว่า วาระการคัดเลือกแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ โดยพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ได้เสนอบัญชีรายชื่อแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับ “นายพล” ตำแหน่ง รองผบ.ตร.ลงไปถึงผบช. วาระประจำปี 2566 ซึ่งมีตำแหน่งว่าง จำนวน 24 ตำแหน่ง ประกอบด้วย รอง ผบ.ตร.ว่าง 3 ตำแหน่ง ผู้ช่วยผบ.ตร.ว่าง 5 ตำแหน่ง และ ผบช.ว่าง 16 ตำแหน่ง

สำหรับ ระดับรอง ผบ.ตร. 3 ตำแหน่ง เป็นการพิจารณาเรียงตามลำดับอาวุโส ดังนี้ พล.ต.ท.ไกรบุญ ทรวดทรง เลื่อนเป็น จเรตำรวจแห่งชาติ, พล.ต.ท.สราวุธ การพานิช เลื่อนเป็นรอง ผบ.ตร. รับผิดชอบงานบริหาร และพล.ต.ท.ธนา ชูวงศ์ เลื่อนเป็น รองผบ.ตร. รับผิดชอบงานสืบสวนสอบสวน

ระดับผู้ช่วย ผบ.ตร. 6 ตำแหน่ง พิจารณาเรียงตามลำดับอาวุโส ดังนี้ พล.ต.ท.โสภณรัชต์ สิงหจารุ นายแพทย์ใหญ่ (สบ8) โรงพยาบาลตำรวจ, พล.ต.ท.ภาคภูมิภิภัทฒ์ สัจจะพันธ์ ผบช.สตม., พล.ต.ท.ธนายุตม์ วุฒิจรัสธำรงค์ ผบช.ภ.7, พล.ต.ท.อัคราเดช พิมลศรี ผบช.ภ.6, พล.ต.ท.อิทธิพล อัจฉริยะประดิษฐ์ ผบช.สพฐ.ตร. และพล.ต.ท.ณพวัฒน์ อารยางกูร จเรตำรวจ (สบ 8) เลื่อนเป็น รองจตช. (สบ 9)

ระดับ ผบช.ว่าง 16 ตำแหน่ง อาทิ พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น. เลื่อนเป็น ผบช.ภาค 1, พล.ต.ท.สมประสงค์ เย็นท้วม ผบช.ภ.3 โยกไป ผบช.ภ.2, พล.ต.ต.ฐากูร นัทธีศรี รอง ผบช.ภ. 3 เลื่อนเป็น ผบช.ภ.3, พล.ต.ท.สรายุทธ สงวนโภคัย ผบช.ปส. โยกไป ผบช.ภ.4, พล.ต.ต.กฤตธาพล ยี่สาคร รอง ผบช.ภ.5 เลื่อนเป็น ผบช.ภ.5, พล.ต.ต.กิติศักดิ์ ดุรงควิบูลย์ รอง ผบช.ภ.1 เลื่อนเป็น ผบช.ภ.6, พล.ต.ท.นัยวัฒน์ ผะเดิมชิต ผบช.สยศ. โยกเป็น ผบช.ภ.7, พล.ต.ต.ปิยะวัฒน์ เฉลิมศรี รอง ผบช.ภ.9 เลื่อนเป็น ผบช.ภ.9, พล.ต.ท.อิทธิพล อิทธิสารรณชัย ผบช.2 โยกไป ผบช.สตม., พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.กมค โยกเป็น ผบช.สพฐ., พล.ต.ต.ยงเกียรติ มนปราณีต รอง ผบช.ตชด. เลื่อนเป็น ผบช.ตชด.,
พล.ต.ท.คีรีศักดิ์ ตันตินวะชัย ผบช.สง.ผบ.ตร. (ทำหน้าที่ที่ปรึกษาสถาบันวิชาการป้องกันประเทศฯ)โยกเป็น ผบช.ปส., พล.ต.ต.ศิร์ธัชเขต ครูวัฒนเศรษฐ์ รอง ผบช.ก. เลื่อนเป็น จเรตำรวจ (สบ 8)

พล.ต.ต.สยาม บุญสม รอง ผบช.น. ขึ้นเป็น จเรตำรวจ (สบ 8), พล.ต.ต.อภิชาติ สุริบุญญา รองผบช.ทท. ขึ้นเป็น ผบช.กมค., พล.ต.ต.พฤทธิพงษ์ ประยูรศิริ รอง ผบช.ภ.5 ขึ้นเป็น ผบช.ประจำสง.ผบ.ตร.(ทำหน้าที่นายตำรวจประจำ สมช.), พล.ต.ต.กฤษกร พลีธัญญวงศ์ รอง ผบช.ศ. ขึ้นเป็น ผบช.สตส., พล.ต.ต.ศักย์ศิรา เผือกอ่ำ รอง ผบช.ภ.8 ขึ้นเป็น ผบช.ทท., พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง ผบช.ประจำสง.ผบ.ตร.เป็น ผบช.ประสง.ผบ.ตร. (ทำหน้าที่ประสานงานสำนักนายกฯ)

พล.ต.ท.ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ (สบ 8) โยกเป็น นายแพทย์ใหญ่ (สบ 8), พล.ต.ท.ธนพล ศรีโสภา จเรตำรวจ (สบ 8) โยกเป็น จเรตำรวจ (สบ 8) (หัวหน้าจเรตำรวจ), พล.ต.ท.อุดร ยอมเจริญ ผบช.ประจำ สง.ผบ.ตร.(ทำหน้าที่ประสานงานสำนักนายกฯ) โยกไป ผบช.ประจำ สง. ผบ.ตร. (ทำหน้าที่ที่ปรึกษาสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ), พล.ต.ต.นิตินันท์ เพชรบรม รอง ผบช.น. เลื่อนเป็น จเรตำรวจ (สบ 8), พล.ต.ต.พิสิฐ ตันประเสริฐ รอง ผบช.ก. เลื่อนเป็น ผบช.สงป.

พล.ต.ต.ไพบูลย์ เจียมอนุกูลกิจ รองนายแพทย์ใหญ่ (สบ 7) เลื่อนเป็น นายแพทย์ (สบ 8) รพ.ตำรวจ, พล.ต.ต.วัชรินทร์ พิภพมงคล รองนายแพทย์ (สบ 7) รพ.ตำรวจ เลื่อนเป็น นายแพทย์ (สบ 8) รพ.ตำรวจ, พล.ต.ต.วัฒนา ยี่จีน รอง ผบช.ภ.7. เลื่อนเป็น ผบช.ศ., พล.ต.ต.สิทธิชัย โล่กันภัย รอง ผบช.ภ.7 เลื่อนเป็น ผบช.สยศ.ตร., พล.ต.ต.สุนทร เฉลิมเกียรติ รอง ผบช.ตชด. เลื่อนเป็น จเรตำรวจ (สบ 8)

มีรายงานว่า ในการแต่งตั้งโยกย้ายครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกภายหลังพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 มีผลบังคับใช้ โดยในระดับ “ผบช. ถึง ผบก.” ใช้หลักอาวุโสร้อยละ 50 ขณะเดียวกัน “รอง ผบช.” ที่มีอาวุโส 8 ลำดับแรก ต่างได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสำคัญ อาทิ พล.ต.ต.จิระสันต์ เลื่อนเป็น ผบช.ภ.1 พล.ต.ต.ฐากูร เลื่อนเป็น ผบช.ภ.3 พล.ต.ต.กิติศักดิ์ เลื่อนเป็นผบช.ภ.6 พล.ต.ต.กฤษกร เลื่อนเป็น ผบช.สตส. พล.ต.ต.กฤตธาพล เลื่อน ผบช.ภ.5 พล.ต.ต.ยงเกียรติ เลื่อนเป็น ผบช.ตชด.

ด้าน “พล.ต.อ.ต่อศักดิ์” กล่าวถึงการแต่งตั้งโยกย้ายระดับ รองผบ.ตร.-ผบช.วาระประจำปี 2566 ว่า เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยยึดหลักอาวุโสความรู้ความสามารถควบคู่กัน โดยในที่ประชุม ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ มีการอธิบายถึงคุณสมบัติบางนาย ซึ่งก็ได้มีการชี้แจงและเตรียมนำมาปรับปรุงพิจารณาเพื่อให้เป็นประโยชน์มากยิ่งขึ้น ส่วนบัญชีรายชื่อที่ได้รับการแต่งตั้ง ยอมรับว่ามีการเปลี่ยนแปลงบ้างเล็กน้อยจากบอร์ดกลั่นกรองเมื่อวันที่ 15 ก.ย.66 แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าใครไปตำแหน่งไหน ต้องรอการโปรดเกล้าฯ ก่อน

โดยในวันนี้ (16 ต.ค.) จะลงนามในคำสั่งให้ผู้ที่มีรายชื่อทั้งหมด ไปรักษาราชการแทนในตำแหน่งเพื่อเตรียมพิจารณารายชื่อแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับ รองผบช.-ผบก. จะมีการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจหรือ ก.ตร. พร้อมกับยืนยันว่าการแต่งตั้งวาระประจำปี 66 เป็นการแต่งตั้งตาม พ.ร.บ.ตำรวจใหม่ฯ ที่มีการพิจารณาจากระดับล่างขึ้นไป ไม่เหมือนแต่ก่อนที่ระดับ ตร.จะลงไป

ต้องยอมรับว่า หลังจากรายชื่อการแต่งตั้งโยกย้ายนายตำรวจปรากฏออกไป ก็มีเสียงชื่นชม “ผบ.ตร.ต่อศักดิ์” ว่ายึดมั่นตามข้อกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยคำนึงถึงหลักอาวุโส ดังนั้นหลายคนเลยคาดการณ์การแต่งตั้ง นายตำรวจระดับรองผบช-ผบก. ซึ่งจะมีการประชุมก.ตร.วันที่ 26 ต.ค. เพื่อพิจารณาเรื่องนี้ จะยึดหลักการเดียวกับการแต่งตั้งรองผบ.ตร.-ผบช. ยิ่งนายตำรวจระดับ “ผบก.” ถือเป็นกลไกสำคัญ ในการดูแลพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะ “ผู้การจังหวัดต่างๆ” ซึ่งต้องทำงานใกล้ชิดกับประชาชน ถ้าหากได้นายตำรวจที่มีศักยภาพ ก็ช่วยแก้ปัญหาให้กับประชาชนได้  ช่วยทำให้สังคมไทย มีแต่เรื่องดีๆเกิดขึ้น

จากนี้ต้องจับตามองว่า ตลอด 1 ปี ในการรับตำแหน่ง “ผบ.ตร.” พล.ต.อ.ต่อศักดิ์จะสามารถปฏิบัติหน้าที่ในความรับผิดชอบ ให้ได้รับเสียงชื่นชมอย่างต่อเนื่องหรือไม่ ขณะที่การบริหารงานบุคคล ซึ่งต้องจัดเตรียมบุคลากร มารองรับในเก้าอี้ “แม่ทัพสีกากี” ก็คงถูกจับตามองไม่น้อย แม้ “บิ๊กต่อ” จะเป็นผู้เสนอชื่อให้ ก.ตร.ให้ความเห็นชอบ แต่การเมืองก็ต้องมีส่วนเข้ามาเกี่ยงข้องด้วย เพราะ องค์กรสีกากีมีบทบาทสำคัญ ให้คุณ-ให้โทษ มีส่วนได้-ส่วนเสีย กับการดูแลการเลือกตั่ง

เรียกว่า หนึ่งปีของ “บิ๊กต่อ” จะเป็นบททดสอบครั้งสำคัญ จะฟันฝ่าอุปสรรค เพื่อจบชีวิตการเป็น “ผบ.ตร.” อย่างสวยงาม หรือจะหนีไม่พ้นข้อครหา มีเรื่องแปดเปื้อน จึงต้องจับตามองแบบไม่กระพริบตาเลยทีเดียว

……………………………..

คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก

โดย… “แมวสีขาว”

 

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img