วันจันทร์, พฤศจิกายน 25, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTS“พรรคประชาธิปัตย์”รุกปรับทัพกู้วิกฤติ จะ“ฟื้นศรัทธา”...หรือ“เกิดรอยร้าวซ้ำ”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“พรรคประชาธิปัตย์”รุกปรับทัพกู้วิกฤติ จะ“ฟื้นศรัทธา”…หรือ“เกิดรอยร้าวซ้ำ”

แม้จะอยู่ในสภาพที่ตกต่ำ พรรคมีส.ส.เพียงแค่ 25 คน แต่การเป็นพรรคการเมืองที่มีอายุยาวนานมากที่สุดกว่า 70 ปี ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับ “ประชาธิปัตย์” (ปชป.) ก็อยู่ในความสนใจ คนที่ติดตามการเมืองบ้านเรา ยังหวังให้หัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ชุดใหม่ นำพาพรรคให้กลับมายิ่งใหญ่ได้อีกครั้ง เหมือนในอดีตที่ผ่านมา

เมื่อวันที่ 14 พ.ย. ภายหลัง การประชุมกก.บห.ชุดรักษาการ ใช้เวลาร่วม 4 ชั่วโมง ในการถกเถียงข้อกฎหมาย และข้อบังคับพรรค  ที่เกี่ยวข้องกับกำหนดวันเลือกหัวหน้าพรรค และกก.บห.ชุดใหม่นั้น จากนั้นที่ประชุมกก.บห.ชุดรักษาการ มีมติให้ จัดการประชุมใหญ่วิสามัญของพรรคประชาธิปัตย์ ในวันที่ 9 ธ.ค.2566 รวมทั้งการแก้ไขข้อบังคับให้เพิ่มองค์ประชุมอีก 150 คน

ซึ่งมาจากตัวแทนสมาชิกพรรคในแต่ละภาค ภาคละ 30 คน เพื่อสำรองกรณีองค์ประชุมไม่ครบ โดยกรณีของ 150 คนนี้ ให้สมาชิกพรรค สมัครเข้ามาด้วยตนเอง และหากสมัครเกินจำนวน ให้ใช้วิธีจับสลาก ขณะเดียวกัน ที่ประชุมได้แต่งตั้งคณะกรรมการ 5 คน มาทำหน้าที่พิจารณาคุณสมบัติสมาชิกพรรคที่จะมาเป็นองค์ประชุม ประกอบด้วย ชนินทร์ รุ่งแสง, ผ่องศรี ธาราภูมิ, น.ต.สุธรรม ระหงษ์, ธนา ชีรวินิจ และ ขนิษฐา นิภาเกษม ตัวแทนสาขาพรรค

เฉลิมชัย ศรีอ่อน

นอกจากนี้ที่ประชุมมีมติตั้ง “บิ๊กต่อ-เฉลิมชัย ศรีอ่อน” รักษาการเลขาธิการพรรค ให้เป็น รักษาการหัวหน้าพรรคอีกหนึ่งตำแหน่งแทน “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” ที่ลาออกจากตำแหน่งรักษาการหัวหน้าพรรค โดย “เฉลิมชัย” สามารถรักษาการได้ทั้ง 2 ตำแหน่ง เพราะข้อบังคับพรรคไม่ได้ห้ามไว้ ขณะที่บรรยากาศในที่ประชุมไม่ได้มีการพูดคุย ถึงกรณีที่ “จุรินทร์” ลาออกจากรักษาการหัวหน้าพรรค

สำหรับเหตุผลในการลาออกของอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง มีการระบุชื่อ “นราพัฒน์ แก้วทอง” รักษาการรองหัวหน้าพรรค เป็นรักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีเอกสารอัปเดตสถานะพรรคการเมืองแจ้งมา แม้ว่าล่าสุดทางกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง จะเปลี่ยนแปลงข้อมูลให้แล้ว

แต่เพื่อไม่ให้มีข้อสงสัยในประเด็นข้อกฎหมาย และให้การจัดประชุมใหญ่วิสามัญพรรคราบรื่น “จุรินทร์” จึงตัดสินใจลาออก จากรักษาการหัวหน้าพรรค อย่างไรก็ตามมีรายงานข่าว แม้ “จุรินทร์” จะไม่ลาออก แต่มีข่าว “กลุ่มเฉลิมชัย” ก็เตรียมเดินเกม ปลดให้พ้นจากการรักษาการหัวหน้าพรรค เพราะมองว่า อยู่ฝ่ายตรงข้าม ไม่ต้องการให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการจัดการประชุมใหญ่ จึงอาจเป็นสาเหตุทำให้ “จุรินทร์” เลือกลาออก เพื่อไม่อยากให้ตนเองต้องถูกปลดออก เพราะเกรงว่าจะกระทบกับภาพลักษณ์และเสียเครดิต ในฐานะที่เคยเป็นผู้นำพรรคมาก่อน

ขณะที่ “สาธิต ปิตุเตชะ” รักษาการรองหัวหน้าพรรค ดูแลภาคกลาง ได้เสนอชื่อ “องอาจ คล้ามไพบูลย์” รักษาการรองหัวหน้าพรรค เป็นรักษาการหัวหน้าพรรค แต่ “องอาจ” ขอถอนตัว จึงทำให้ที่ประชุมลงมติเลือก “เฉลิมชัย” เป็นรักษาการหัวหน้าพรรค  

ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 14 พ.ค.66 “จุรินทร์” ประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค เพื่อแสดงความรับผิดชอบ  หลังจากนำพาพรรค พ่ายแพ้ในการเลือกตั้งอย่างยับเยิน ได้สส.น้อยกว่าปี 62 ซึ่งครั้งนั้นได้จำนวน 52 ที่นั่ง จากนั้นวันที่ 9 ก.ค. มีการจัดการประชุมใหญ่วิสามัญ เพื่อเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และ กก.บห. แต่การประชุมต้องล่มไป เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ

ต่อมามีการนัดหมาย จัดประชุมใหญ่อีกครั้งในวันที่ 6 ก.ค.66 แต่การประชุมก็ต้องล่มอีกครั้ง ด้วยปัญหาองค์ประชุมไม่ครบเช่นกัน

ซึ่งสาเหตุของการประชุมล่มไป 2 ครั้ง เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งเกิดขึ้นในพรรคเก่าแก่ โดย ขั้วอำนาจใหม่ ซึ่งมี “เฉลิมชัย” เป็นแกนนำ กับ “กลุ่มผู้อาวุโสภายในพรรค” นำโดย “ชวน หลีกภัย-บัญญัติ บรรทัดฐาน” มีความเห็นต่างกัน 

โดย “กลุ่มบิ๊กต่อ” ต้องการผลักดัน “นราพัฒน์ แก้วทอง” เป็นหัวหน้าพรรค และ “เดชอิศม์ ขาวทอง” ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค แต่กลุ่มผู้อาวุโสไม่เห็นด้วย ต้องการผลักดัน “อภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ” เข้ามาทำหน้าที่ผู้นำพรรค

และจากความเห็นต่าง จึงนำมาสู่การเดินเกมให้องค์ประชุมไม่ครบ จนทำให้การประชุมต้องล่มไปถึง 2 ครั้ง และไม่สามารถจัดประชุมได้ ในที่สุดก็มาได้ข้อยุติ จะจัดให้มีการประชุมในวันที่ 9 ธ.ค.นี้

รวมทั้งการผลักดันให้แก้ไขข้อบังคับ เพิ่มองค์ประชุมอีก 150 คน เพื่อป้องกันไม่ให้การประชุมใหญ่ต้องล่มลงอีก ซึ่งอาจแปลความได้ว่า กลุ่มเฉลิมชัยสามารถคุมสภาพพรรคได้เบ็ดเสร็จ สามารถกำหนดทิศทางของพรรค หลังผ่านพ้นการประชุมใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะตำแหน่ง หัวหน้าพรรค และ เลขาธิการพรรค

อย่างไรก็ตาม ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง “เฉลิมชัย” หลุดปากไปว่า หากทำให้พรรคได้น้อยกว่าเดิม จะขอเลิกเล่นการเมืองตลอดชีวิต ดังนั้นเชื่อว่า รักษาการหัวหน้าพรรคปชป.คงไม่กล้ารับตำแหน่งผู้นำพรรคเอง เพราะถือว่าผิดคำพูด อาจถูกโจมตีว่า ตระบัดสัตย์ 

ดังนั้น “เฉลิมชัย” คงเลือกที่จะผลักดันคนที่ไว้วางใจขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคแทน เพราะมีสส.อยู่ในความดูแล 21  คน ซึ่งจากข้อบังคับพรรค กำหนดให้คะแนนเสียงสส. ถือเป็น 70% ของคะแนนทั้งหมด ส่วนสมาชิกส่วนอื่นๆ ถือเป็นคะแนนเพียง 30% แม้จะมีความพยายามของสมาชิกบางพรรคบางคน เสนอให้แก้ไขข้อบังคับพรรค หนึ่งคนหนึ่งเสียง แต่กลุ่มเฉลิมชัยไม่เห็นด้วย เพราะคุมความได้เปรียบในการกำหนดทิศทางพรรค

จากนี้ต้องติดตามดูว่า กลุ่มเฉลิมยังจะผลักดัน “นราพัฒน์” ขึ้นทำหน้าที่เป็นหัวหน้าพรรคและ “เดชอิศม์” เป็นเลขาธิการพรรคอีกหรือไม่ แต่แม้ “นราพัฒน์” จะยืนยันถึงความพร้อมในการถือธงนำ และ “เดชอิศม์” ต้องการทำหน้าที่เป็นแม่บ้าน แต่บุคคลทั้งสองก็มีปัญหา โดย “นราพัฒน์” ภาพลักษณ์ไม่โดดเด่น ทั้งฐานะในการทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร และบทบาทการเป็นฝ่ายค้าน ส่วน “เดชอิศม์” เรื่องภาพลักษณ์แต่ภูมิหลังก็มีปัญหา 

หากเข้ามารับตำแหน่งสำคัญในพรรค อาจถูกขุดคุ้ยอดีตหนหลังขึ้นมาโจมตี  ซึ่งอาจมีผลต่อ การขับเคลื่อนพรรค  เพราะในขณะที่ “ประชาธิปัตย์” ต้องการการฟื้นฟูพรรค ให้กลับมาได้รับการยอมรับและแข็งแกร่ง พร้อมต่อสู้ทางการเมืองกับคู่แข่งอย่าง “พรรคเพื่อไทย” (พท.) และ “พรรคก้าวไกล” (ก.ก.) ซึ่งมีความโดดเด่น และมีแนวโน้มจะเป็นพรรคที่ช่วงชิงการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งหน้า การเลือกบุคคลเข้ามาถือธงนำพรรค จึงมีความสำคัญมาก

อย่าลืม นอกจากพรรคเก่าแก่ จะได้สส.เพียง 25 ที่นั่ง น้อยสุดตั้งแต่ตั้งพรรคมา ในส่วนสนามกรุงเทพมหานคร (กทม.) ก็สูญพันธุ์ ไม่ได้สส.เลยซักคนเดียว คะแนนมหาชน (ป็อบปูลาร์โหวต) ต่ำกว่าล้านเสียง โดยได้เพียง 9.2 แสนคะแนน รวมทั้งในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งเป็นฐานที่มั่นทางการเมืองของพรรค ก็ถูกพรรคอื่น กินส่วนแบ่งในพื้นที่ภาคใต้มากที่สุดถึง 5 พรรค รวม 43 ที่นั่ง โดยปชป.เหลือเพียง 17 ที่นั่ง จากทั้งหมด 60 ที่นั่ง

นอกจากนี้ในการทำหน้าที่ฝ่ายค้าน ความโดดเด่นกลับตกอยู่กับ “พรรคก้าวไกล” ทั้งเรื่องการออกมาให้ข้อมูลในเรื่องโครงการแจกเงินดิจิทัล วอลเลต 1 หมื่นบาท และการติติงฝ่ายบริหารในเรื่องต่างๆ ทั้งๆ ที่เป็นบทถนัดของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งในช่วงการจัดตั้งรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์ก็เป็นพรรคหนึ่งที่ถูกทาบทามให้เข้าร่วม แต่บรรดากลุ่มอาวุโสภายในพรรค ออกมาคัดค้าน เพราะต้องการให้พรรคกลับมาทำหน้าที่ฝ่ายตรวจสอบ เพื่อกอบกู้ภาพลักษณ์ จนกลายเป็นจุดที่สร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นกับพรรคเก่าแก่

เนื่องจากในช่วงการจัดตั้งรัฐบาล “เดชอิศม์” ได้บินไปพบ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีบทบาทในการชี้นำพรรคเพื่อไทย ถึงการร่วมจัดตั้งรัฐบาล แม้กระทั่งการโหวตให้ความเห็นชอบ “เศรษฐา ทวีสิน” เป็นนายกรัฐมนตรี ก็มีสส.พรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 16 คน โหวตให้ตัวแทนพรรคเพื่อไทย จนถูกวิจารณ์ว่า พรรคเก่าแก่พร้อมเป็นอะไหล่ทางการเมือง ให้กับพรรคแกนนำรัฐบาล หากเกิดปัญหาทางการเมืองขึ้น พร้อมเข้าร่วมรัฐบาล 

ดังนั้น “กลุ่มเฉลิมชัย” จึงต้องการเข้ามามีบทบาท ในการบริหารพรรค แม้จะต้องขัดแย้งกับ “ชวน” ซึ่งเป็นอดีตหัวหน้าพรรค ซึ่งได้เป็นนายกฯสองสมัย และเปรียบเสมือนปูชนียบุคคลของพรรค แต่ “เฉลิมชัยและพวก” ก็ไม่สนใจ  พร้อมจะลดบทบาทอดีตหัวหน้าพรรค ไม่ให้เข้ามามีบทบาท ชี้นำเรื่องต่างๆ โดยมองวา “หมดยุคนายชวนแล้ว”  ขนาดในพื้นที่จ.ตรัง ซึ่งเป็นฐานที่มั่น ก็ไม่สามารถรักษาที่นั่งสส.ไว้ได้ ไม่ว่า “ชวน” จะสนับสนุนใคร ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค ก็ไม่สามารถชี้นำได้ เหมือนในอดีตที่ผ่านมา

แต่มีความเป็นไปได้สูงในวันที่ 9 ธ.ค. สูตรที่ “เฉลิมชัยและพวก” วางไว้คือ “นราพัฒน์” เป็นหัวหน้าพรรค และ  “เดชอิศม์” เป็นเลขาธิการพรรค  อาจต้องเปลี่ยนแปลงไป ทำให้มีชื่อ “มาดามเดียร์-วทันยา บุนนาค” ซึ่งในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ได้รับมอบหมายให้ช่วยดูแลพื้นที่ กทม. โดยก่อนหน้านั้นได้ลาออกจากสส.ระบบบัญชีรายชื่อ  พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) มาทำงานทางการเมืองร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง “มาดามเดียร์” สร้างการยอมรับให้กับกลุ่มต่างๆ ภายในพรรค เดินสายไปช่วยหาเสียงทุกพื้นที่ แสดงบทของความเป็นนักสู้ ที่ทุ่มเทให้กับพรรคอย่างเต็มที่

แม้จะยังเป็นสมาชิกพรรคไม่ครบ 5 ปี ไม่สามารถลงสมัครเป็นหัวหน้าพรรคได้ แต่ถ้าทุกฝ่ายสนับสนุน ก็สามารถยกเว้นข้อบังคับพรรคดังกล่าวได้ โดยใช้เสียงในที่ประชุม 2 ใน 3 ขององค์ประชุม ซึ่งไม่น่าปัญหาใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าทุกฝ่ายเห็นพ้อง 

ชัยชนะ เดชเดโช

ขณะที่เลขาธิการพรรคมีชื่อ “ชัยชนะ เดชเดโช” สส.นครศรีธรรมราช รักษาการองหัวหน้าพรรค ซึ่งในการเลือกตั้งที่ผ่านมา พาสส.ในทีมเข้ามาในสภาฯได้พอสมควร อีกทั้งมีบทบาทในสภาฯในการอภิปรายเรื่องต่างๆ นอกจากนี้ยังอยู่ใน “กลุ่มเฉลิมชัย” ซึ่งถือเป็นการรอมชอม กับทุกกลุ่มในพรรค เมื่อหัวหน้าพรรคเป็นคนกลาง ส่วนเลขาธิการพรรคก็เป็นตัวแทนของขั้วอำนาจ ที่คุมสส.ในพรรคไว้มากที่สุด ส่วนที่มีชื่อ “อภิสิทธิ์” ก่อนหน้านั้น แต่อดีตหัวหน้าพรรครายนี้ กลับไม่เคลื่อนไหวอะไรเลย ทำให้กลุ่มที่ต้องการสนับสนุนไม่พอใจ เพราะเห็นว่า “อภิสิทธิ์” ต้องการรอให้คนทำให้แค่นั้น จึงหันไปชู “มาดามเดียร์” ขึ้นมาแทน

จากนี้ไปคงต้องรอวันที่ 9 ธ.ค. บทสรุปที่เกิดขึ้นกับพรรคการเมืองที่เก่าแก่มากที่สุด เคยมีบทบาทสำคัญ ทั้งการเป็นแกนนำรัฐบาล และ แกนนำฝ่ายค้าน จะอาศัยจังหวะการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารพรรค หล่อหลอมจิตใจสมาชิกพรรค  ให้กลับมาช่วยหันฟื้นฟูพรรค เพื่อให้มีบทบาททางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้น หรือรัฐบาล ซึ่งถ้าหากยังตกลงกันไม่ได้ ยังมีปัญหาขัดแย้งกันเรื่อยๆ “ประชาธิปัตย์” อาจกลายเป็นพรรคต่ำสิบ รวมถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคเก่าแก่ก็ยังเป็นแค่ไม้ประดับ เพราะ “เพื่อไทย” กับ “ก้าวไกล” ก็ยังชิงธงนำ กับการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

……………………..

คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก

โดย “แมวสีขาว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img