ยังไม่แผ่วเลยจริงๆ กับ กระแสความนิยมของพรรคก้าวไกล (ก.ก.) รวมถึงตัว “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” อดีตหัวหน้าพรรค แม้จะถูกพักการปฏิบัติหน้าที่ อันเนื่องมาจากถูกตั้งข้อกล่าวหา กรณีถือหุ้นไอทีวี ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญ (รธน.) นัดวินิจฉัยกลางเดือนม.ค.67 ซึ่งจะมีผลต่ออนาคตทางการเมืองของ “พิธา”
ถ้ารอดจากการตรวจสอบ ไม่พบความผิด ก็คงกลับมาทำงานในสภาผู้แทนราษฎรต่อไป และคงกลายเป็น คู่ท้าชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ที่น่ากลัวเป็นอย่างยิ่ง ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ไม่ว่าคู่ต่อสู้จะเป็น “เศรษฐา ทวีสิน” หรือ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) เพราะผลสำรวจของสองโพลในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน “พิธา” ยึดครองความนิยมไว้ทั้งสองโพล
โดยเมื่อวันที่ 24 ธ.ค. ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสํารวจของประชาชน เรื่อง “การสำรวจคะแนนนิยมทางการเมืองรายไตรมาสปี 2566” ทําการสํารวจระหว่างวันที่ 13-18 ธ.ค.66 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษาอาชีพ และรายได้ทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น 2,000 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับคะแนนนิยมทางการเมืองปรากฎผลดังนี้…
เมื่อถามถึงบุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกฯในวันนี้ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 39.40 ระบุว่าเป็น “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” (พรรคก้าวไกล) เพราะมีความเป็นผู้นํา เป็นคนรุ่นใหม่วิสัยทัศน์ดีบุคลิกดี และเข้าถึงประชาชน อันดับ 2 ร้อยละ 22.35 ระบุว่าเป็น “เศรษฐา ทวีสิน” (พรรคเพื่อไทย) เพราะมีความรู้ความสามารถ ตรงไปตรงมา และชื่นชอบพรรคเพื่อไทย อันดับ 3 ร้อยละ 18.60 ระบุว่า ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้
อันดับ 4 ร้อยละ 5.75 ระบุว่าเป็น “แพทองธาร (อุ๊งอิ๊ง) ชินวัตร” (พรรคเพื่อไทย) เพราะเป็นคนรุ่นใหม่ ชื่นชอบพรรคและนโยบายพรรคเพื่อไทย และชื่นชอบผลงานในอดีตของตระกูลชินวัตร อันดับ 5 ร้อยละ 2.40 ระบุว่าเป็น “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” (พรรครวมไทยสร้างชาติ) เพราะมีความรู้ความสามารถ มีความน่าเชื่อถือ ตรงไปตรงมา และมีความซื่อสัตย์สุจริต
เมื่อถามถึงพรรคการเมืองที่ประชาชนจะสนับสนุนในวันนี้พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 44.05 ระบุว่าเป็น พรรคก้าวไกล อันดับ 2 ร้อยละ 24.05 ระบุว่าเป็นพรรคเพื่อไทย อันดับ 3 ร้อยละ 16.10 ระบุว่า ยังหาพรรคการเมืองที่เหมาะสมไม่ได้ อันดับ 4 ร้อยละ 3.60 ระบุว่าเป็นพรรคประชาธิปัตย์ อันดับ 5 ร้อยละ 3.20 ระบุว่าเป็นพรรครวมไทยสร้างชาติ
จะเห็นว่าคะแนนนิยม “พิธา” สูงมาก เมื่อเทียบกับคู่แข่งสำคัญอย่าง “เศรษฐา” รวมทั้ง “แพทองธาร” ขนาดที่ว่านำคะแนนตัวแทนพรรคเพื่อไทยสองคนมารวมกัน ยังได้น้อยกว่าตัวแทนพรรคก้าวไกล ซึ่งในทางการเมืองถือว่า เป็นเรื่องอันตรายมาก สำหรับพรรคแกนนำรัฐบาล
ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา ก่อนหน้าจะมีพรรคก้าวไกล ต้องยอมรับพรรคเพื่อไทยยืนหนึ่งมาโดยตลอด เพิ่งจะเกิดขึ้นในการเลือกตั้งเมื่อเดือนพ.ค.66 ที่พรรคเพื่อไทยต้องพ่ายแพ่ต่อพรรคก้าวไกล ได้ สส.เพียง 140 กว่าที่นั่ง ทั้งที่ๆ ตั้งเป้าว่าจะต้องแลนด์สไลด์ได้จำนวน สส.เกินครึ่ง (250 ที่นั่ง) แต่กลับได้ สส.ต่ำกว่าเป้า และตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้เป็นครั้งแรก แต่ด้วย “ดีลลับ” ทำให้พรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำรัฐบาล ผลักพรรคสีส้มให้กลายเป็นแกนนำฝ่ายค้าน
ซึ่งคะแนนนิยมที่สูงขึ้นของ “พรรคก้าวไกล” และ “พิธา” อาจเป็นเพราะกระแสความเห็นใจ เพราะเห็นว่า ทั้งๆ ที่ได้คะแนนเสียงมาเป็นอันดับหนึ่ง แต่ก็ต้องตกอยู่ในสภาพเป็นฝ่ายค้าน อีกทั้งการที่ “พรรคเพื่อไทย” หันไปจับมือกับพรรคการเมืองข้ามขั้ว ก็ยิ่งทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งผิดหวัง หันไปเทความนิยมให้พรรคก้าวไกล
แม้หลังจาก “เศรษฐา” เข้ามาทำหน้าที่นายกฯ ก็พยายามผลักดันมาตรการช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งลดค่าน้ำมัน ลดค่าไฟฟ้า ชูธงในเรื่องการแก้หนี้นอกระบบ ส่วนนโยบายแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท ซึ่งยังมีปัญหาในข้อกฎหมาย ต้องเลื่อนไปบังคับใช้ในเดือนพ.ค.67 ถ้าหากการผลักดันพ.ร.บ.เงินกู้ 500,000 แสนล้านบาท ไม่มีปัญหา แต่ถ้าดูตามโพลที่สำรวจล่าสุด ก็พบว่าคะแนนนิยมของหัวหน้ารัฐบาล และพรรคแกนนำรัฐบาลก็ยังไม่ดีขึ้น
ขณะที่ผลสำรวจในโลกโซเชียลโดย “Line Today” ซึ่งเปิดโหวตในหัวข้อ Line Today Poll of the Year 2023 ที่เปิดให้โหวตตั้งแต่วันที่ 4 ธ.ค.-20 ธ.ค.66 สำหรับ ข่าวแห่งปี มีผู้เข้าร่วมโหวตราวๆ 6,100 คน อันดับ 1 ได้แก่ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ที่ไม่ได้เป็นนายกฯ แต่โดนคดีหุ้นไอทีวี ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ 28.03%
ส่วน นักการเมืองแห่งปี มีผู้ร่วมโหวตถึง 16,000 คน อันดับ 1 ได้แก่ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” 5,897 คะแนน ที่ 36.35%, อันดับ 2 “เศรษฐา ทวีสิน” 16.5% ที่ 2,677 คะแนน และอันดับ 3 “วราวุธ ศิลปอาชา” 13.4%
นั่นหมายความว่า ผลสำรวจทั้งรูปแบบการซักถาม และโหวตผ่านโลกโซเชียล “อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล” คว้าคะแนนนิยมทั้งสองโพล ซึ่งถือเป็นเรื่องอันตรายสำหรับคู่แข่งทางการเมือง ยิ่งในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเปิดการประชุมสมัยสามัญ เปิดโอกาสให้พรรคฝ่ายค้านได้ทำงานอย่างเต็มที่ ไล่ตั้งแต่การพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 67 พ.ร.บ.เงินกู้ 500,000 ล้านบาท และกฎหมายที่สำคัญอีกหลายฉบับ ที่รัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านผลักดันให้สภาฯพิจารณา
แต่ประเด็นสำคัญที่สุด คงหนีไม่พ้น ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งขณะนี้เรื่องที่ร้อนที่สุด และกำลังถูกจับตามองคือ สถานะของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ ซึ่งมีสถานะเป็น “นักโทษชาย” และพักรักษาตัวอยู่ที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจเกิน 120 วัน ซึ่งขั้นตอนต่อไปคือรอให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์ รายงานให้ “พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” รมว.ยุติธรรม รับทราบ ซึ่งถูกวิจารณ์และตั้งคำถามว่า อดีตนายกฯป่วยจริงหรือไม่ รวมทั้งขั้นตอนต่างๆ ทั้งเรื่องการพักโทษ หรือระเบียบต่างๆ ที่เปิดโอกาสให้นำนักโทษไปคุมขังนอกเรือนจำได้ จึงกลายเป็นประเด็นร้อน นำมาสู่เสียงเสียงวิจารณ์อย่างกว้างขวาง
ถ้าฝ่ายค้านชกเต็มหมัด ตรวจสอบเต็มที่ ทั้ง “ก้าวไกล” และ “ประชาธิปัตย์” (ปชป.) ต้องนำไปอภิปรายไม่วางใจแน่ๆ ติดอยู่ที่ทั้งสองพรรคมีเงื่อนไขบางอย่าง ซึ่งอาจไม่นำเอาประเด็นร้อน ที่เกี่ยวข้องกับสถานภาพของ “ทักษิณ” ไปอภิปรายในสภาฯ
ในส่วนของพรรคสีส้ม เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานคณะก้าวหน้า ได้ออกมายอมรับ ได้เดินทางไปพบ “ทักษิณ” ที่เกาะฮ่องกง ในระหว่างมีการจัดตั้งรัฐบาลจริง และยอมรับด้วยว่า ทั้ง “ก้าวไกล” และ “เพื่อไทย” ถือเป็นพันธมิตรทางการเมืองกัน จนทำให้ที่ผ่านมา พรรคสีส้มตรวจสอบปม “ทักษิณ” แบบไม่รุนแรงและไม่มีน้ำหนัก จนทำให้สังคมเกิดคำถาม
รวมถึงหากมีการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็ไม่แน่ใจว่า แกนนำพรรคฝ่ายค้านจะนำปมร้อน ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของกรมราชทัณฑ์และกระทรวงยุติธรรม ไปตั้งคำถามและตรวจสอบหรือไม่ ซึ่งหากไม่มีการนำไปซักฟอก อาจมีคนในสังคมบางส่วน ตั้งข้อสงสัยว่า ทั้งสองพรรคซูเอี๋ยกัน ชกไม่สมศักดิ์ศรี ไม่ทำทำหน้าที่ตรวจสอบอย่างเต็มที่ ทั้งๆ ที่ เกี่ยวข้องกับการทำงานของกระบวนยุติธรรม เป็นเรื่องของความเหลื่อมล้ำของนักโทษและผู้ต้องขัง
เหมือนวลีที่ว่า “คุกมีขังคนจน” ดังนั้นต้องจับตาดูว่า ในช่วงเปิดสมัยประชุมสภาฯ บทบาทของพรรคก้าวไกล จะทำให้คะแนนนิยมพุ่งเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่
ในขณะที่ พรรคประชาธิปัตย์ ฝ่ายค้านอีกพรรคหนึ่ง ซึ่งมี สส.เพียง 25 คน ก็ถูกจับตามองหลังเปลี่ยนแปลงผู้บริหารพรรค ได้ “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” มาเป็นหัวหน้าพรรค และมี “เดชอิศม์ ขาวทอง” เป็นเลขาธิการพรรค ก็ถูกจับตามมองเช่นเดียวกัน ว่าจะทำหน้าที่ตรวจสอบอย่างเข้มข้นหรือไม่ เพราะในช่วงการจัดตั้งรัฐบาล “เดชอิศม์” ได้เดินทางไปพบ “ทักษิณ” ที่เกาะฮ่องกงเช่นกัน อีกทั้งในวันที่โหวตให้ความเห็นชอบ “เศรษฐา” เป็นนายกฯ สส. 16 คน ที่อยู่ความดูแลของ “เฉลิมชัย” ก็แหกมติพรรค ไปยกมือสนับสนุนตัวแทนพรรคเพื่อไทย ให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ จึงไม่ใช่เรื่องแปลก หลังมีการเปลี่ยนแปลงในพรรคสีฟ้า หลายคนจะจับตามองการขับเคลื่อนของพรรคนี้ ว่าจะทำหน้าที่ฝ่ายค้านอย่างเต็มที่ หรือรอเพียงลุ้นเข้าร่วมรัฐบาล
นั่นหมายความว่า บทบาทในสภาฯ จะมีผลต่อคะแนนนิยมของทั้งฝ่ายและรัฐบาล แม้อาจจะไม่ถึงขึ้นทำให้ “รัฐบาลเศรษฐา” ต้องมีอันเป็นไป แต่การเมืองไทยไม่มีอะไรแน่นอน นอกจากจะวัดความอยู่รอดกันด้วยเสียงในสภาฯ ยังมีกลไกในการตรวจสอบ ผ่านทางทางองค์กรอิสระ ถ้าหากฝ่ายบริหารทำงานไม่รอบคอบไม่ละเอียด มีความผิดพลาดทางกฎหมาย รัฐบาลอาจต้องสะดุด ถึงขั้นคว่ำลงไปแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวก็ได้ จึงเป็นเรื่องต้องจับตามองแบบไม่กระพริบตา อีกทั้งในปีหน้า “ทักษิณ” จะพ้นโทษ กลับมาได้รับอิสรภาพ คงไม่ปล่อยให้ทายาทหญิง “แพทองธาร” ซึ่งหมายมั่นปั้นมือให้เป็นนายกฯของประเทศ ต้องตกเป็นรองพรรคก้าวไกล ซึ่งถือเป็นคู่แข่งสำคัญในการเลือกตั้งครั้งต่อไป
เพราะถ้าหากปล่อยให้กระแสความนิยม ตกอยู่กับพรรคสีส้มมากขึ้นเรื่อยๆ บางทีการเลือกตั้งครั้งต่อไป ที่หลายคนหวาดหวั่นว่า “ก้าวไกล” จะคว้าเสียง สส.ได้เกินครึ่งของสภาฯ ก็อาจเป็นไปได้ ซึ่งเมื่อถึงวันนั้น สังคมไทยอาจมีการเปลี่ยนแปลงแบบที่คาดไม่ถึง เพราะแม้กระทั่งการเลือกคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) ทีมผู้สมัครที่คณะก้าวหน้า ซึ่งเป็นเครือข่ายเดียวกับพรรคก้าวไกล ยังคว้าชัยชนะถึง 6 คน
นั่นหมายความว่า “เครื่องจักรสีส้ม” ยึดความนิยมทั้งจากคนรุ่นใหม่ และผู้ใช้แรงงานซึ่งถือเป็นรากหญ้า โดยเฉพาะการประกาศจะผลักดันสิทธิ์ประโยชน์ต่างๆ ของผู้ประกันตนผ่านทางบอร์ดประกันสังคม จนประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง
คงต้องรอดูว่า จากนี้ไป “พรรคเพื่อไทย” จะปรับยุทธศาสตร์อย่างไร เพราะแม้คะแนนนิยมจะเป็นรอง “พรรคก้าวไกล” แต่ก็ยังได้เปรียบ เนื่องจากยึดครองอำนาจรัฐ มีโอกาสสร้างผลงาน ทำไห้เกิดกระแสตอบรับในทางบวกได้ หากทำให้ประชาชนพอใจ ยิ่งปีหน้า “ทักษิณ” จะพ้นโทษ ออกมาเป็นคนธรรมดาทั่วไป คงจะเร่งฟื้นคะแนนเพื่อให้ทายาท “แพทองธาร” ได้กลับมาแคนดิเดทนายกฯอันดับหนึ่งอีกครั้งหนึ่ง แม้พรรคสีส้มพร้อมเป็นพันธมิตรพรรคสีแดง ในการทำงานกันในฐานะฝ่ายบริหารในอนาคตก็ตามที
………………………………
คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก
โดย…“แมวสีขาว”