วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTS‘อุ๊งอิ๊ง’ดึงพ่อทักษิณฟื้นศรัทธา‘เพื่อไทย’ เร่ง‘โชว์ผลงานในอดีต’หวังข่ม‘ก้าวไกล’
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘อุ๊งอิ๊ง’ดึงพ่อทักษิณฟื้นศรัทธา‘เพื่อไทย’ เร่ง‘โชว์ผลงานในอดีต’หวังข่ม‘ก้าวไกล’

ในที่สุดวันที่ ครอบครัว “ชินวัตร” รอคอย ก็เดินทางมาถึง เมื่อ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เข้าสู่กระบวนการ “พักโทษ” เมื่อวันที่ 18 ก.พ.67 หลังต้องเผชิญวิบากกรรม นับตั้งแต่เกิดรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.พ.49 นับได้เกือบ 17 ปีเต็ม ก่อนจะเคลียร์เรื่องคดีความต่างๆ ที่ติดตัว นับตั้งแต่พ้นจากตำแหน่งทางการเมือง

ส่วนกรณีที่ สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) แถลงความคืบหน้า คดีนายทักษิณ ถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยระบุว่า คดีนี้ เมื่อวันที่ 16 ก.พ.59 สำนักงานอสส.ได้รับสำนวนคดีการกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร จากพนักงานสอบสวน กองกำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) เป็นผู้กล่าวหา ข้อหาร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ

โดยเหตุเกิดเมื่อวันที่ 21 พ.ค.58 ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ และประเทศไทยเกี่ยวพันกัน อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยคณะทำงานพนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้อง

เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีความผิดซึ่งมีโทษตามกฎหมายไทย ได้กระทำลงนอกราชอาณาจักรไทย จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของ “อสส.” เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินคดี ซึ่ง “ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร” อสส. (ในขณะนั้น) ได้มีความเห็นเมื่อวันที่ 19 ก.ย.59 เห็นควรสั่งฟ้อง “ทักษิณ” ตามข้อกล่าวหา แต่เนื่องจากขณะนั้น ผู้ต้องหาหลบหนี “อสส.” จึงแจ้งให้พนักงานสอบสวนออกหมายจับ และพนักงานสอบสวนได้มีคำขอต่อศาลอาญา และออกหมายจับเรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 19 ก.พ.ที่ผ่านมา “ทักษิณ” ได้เดินทางมารายงานตัวกับสำนักงานอสส. อีกทั้งได้ยื่นขอความเป็นธรรมต่อ “อสส.” ผ่านพนักงานสอบสวน ในขณะเข้าแจ้งข้อกล่าวหา ทาง “อสส.” จึงมีคำสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติม  และนัดให้มาพบอัยการในวันที่ 10 เม.ย.67 

ทั้งนี้ ตามระเบียบ-ขั้นตอนของนักโทษที่ได้รับการพักโทษ หน่วยงานที่จะมารับผิดชอบดูแลนักโทษแทนกรมราชทัณฑ์คือ “กรมคุมประพฤติ” ซึ่งมีหลักเกณฑ์หลักๆ ที่ใช้ปฏิบัติกับนักโทษที่ได้รับการพักโทษก็คือ ช่วงระหว่างการคุมประพฤติ จะมีเจ้าพนักงานคุมประพฤติหรืออาสาสมัครคุมประพฤติ ไปเยี่ยมที่บ้านของผู้ที่ได้รับการปล่อยตัว เพื่อให้คำปรึกษาแนะนำ ดูแลช่วยเหลือสงเคราะห์เมื่อมีปัญหา โดยที่ผู้ถูกคุมประพฤติจะต้องประพฤติปฏิบัติตามเงื่อนไข 8 ข้อที่กำหนดไว้ หากประพฤติผิดเงื่อนไข จะถูกนำตัวกลับมาคุมขังไว้ในเรือนจำตามเดิม และจะถูกลงโทษทางวินัยด้วย โดยเงื่อนไข 8 ข้อดังกล่าวคือ…

1.จะต้องพักอาศัยอยู่ ตามที่อยู่ที่แจ้งไว้กับเรือนจำ 2.ห้ามออกนอกเขตท้องที่ ที่อาศัยโดยไม่ได้รับอนุญาต 3.ห้ามประพฤติตนเสื่อมเสีย เช่น เล่นการพนัน กระทำผิดอาญา 4.ประกอบอาชีพโดยสุจริต 5.ปฏิบัติตามลัทธิศาสนา 6.ห้ามพกพาอาวุธ 7.ห้ามไปเยี่ยมบ้าน หรือติดต่อกับนักโทษอื่นที่ไม่ใช่ญาติ 8.ให้ไปรายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติเรือนจำ เจ้าพนักงานปกครอง หรือหัวหน้าสถานีตำรวจทุกเดือน

อย่างไรก็ตาม ข้อครหาในการพักโทษ “อดีตนายกฯรายนี้” ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เพราะนับตั้งแต่ “ทักษิณ” เดินทางกลับประเทศไทย ยอมเข้ารับความผิดในกระบวนยุติธรรม เมื่อวันที่ 22 ส.ค.66 และถูกส่งตัวเข้าเรือนจำช่วงกลางดึก จากนั้นเกิดอาการป่วย ต้องถูกส่งเข้ารักษาตัวที่ชั้น 14 อาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา โรงพยาบาลตํารวจ เนื่องจากความดันขึ้นสูง มีอาการป่วยหนัก และ นับจากวันนั้น จนกระทั่งถึงวันที่ได้รับการพักโทษ “อดีตนายกฯรายนี้” พักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจมาโดยตลอด ท่ามกลางเสียงวิจารณ์เป็น “นักโทษเทวดา”

ขณะที่ผลพวงดังกล่าว ได้มี “ภาคประชาชน” ไปยื่นร้องให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สอบสวน “กรมราชทัณฑ์-แพทย์โรงพยาบาลตำรวจ-ฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง” ว่า มีพฤติการณ์หรือการกระทำที่ผิดประมวลจริยธรรมของข้าราชการหรือนักการเมือง และกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อเอื้อประโยชน์หรือไม่ ซึ่งต้องรอดูบทสรุปจะจบลงอย่างไร

ส่วน “ปรีชา สุดสงวน” อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา ระบุว่า ที่เห็นควรให้ปล่อยตัวทักษิณชั่วคราว หลังจากอดีตนายกฯเดินทางเข้ามารายงานตัวจากคดีมาตรา 112 นั้น เนื่องจากขณะที่พูดคุยกับนายทักษิณประมาณครึ่งชั่วโมง ปรากฏว่า มีอาการป่วยขั้นวิกฤต เพราะต้องนั่งรถวีลแชร์มา เดินไม่ไหว ไม่ค่อยมีเสียงพูด มีการล็อคดามคอมา เดินไม่ไหว ดูแล้วป่วยจริงและวิกฤติ ไม่ค่อยมีเสียง ดูท่าทางมีการป่วยหนัก และมีการสวมที่ดามคอมาด้วย

แต่ที่หลายคนคาดเดากันว่า การเมืองบ้านเราจะมีความเข้มข้นมากขึ้น เพราะนับตั้งแต่มีการก่อตั้ง “พรรคไทยรักไทย” (ทรท.) จนกระทั่งขณะนี้กลายมาเป็น “พรรคเพื่อไทย” (พท.) “ทักษิณ” จะมีอิทธิพลมาโดยตลอด แม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในประเทศไทย แต่ก็สามารถเข้ามาสั่งการและครอบงำ รัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยได้ตลอด โดยเฉพาะฝ่ายบริหารชุดปัจจุบัน ที่มี “เศรษฐา ทวีสิน” เข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งถ้าไม่ได้รับไฟเขียวจากคนชื่อ “ทักษิณ” เชื่อว่า อดีตนักธุรกิจที่เคยทำงานเกี่ยวกับด้านอสังหาริมทรัพย์ ไม่มีทางได้เป็น “ผู้นำประเทศ” แน่

จึงไม่ใช่เรื่องแปลก เมื่อหลายคนจะเชื่อว่า ต่อจากนี้ “ศูนย์กลางบัญชาการรัฐบาล” นอกจาก “ทำเนียบรัฐบาล” แล้ว ยังมี “บ้านจันทร์ส่องหล้า” อีกแห่ง ที่บรรดานักการเมืองจาก พรรคเพื่อไทย-พรรคร่วมรัฐบาล-ข้าราชการ-ภาคธุรกิจ จะวิ่งเข้าหา “ทักษิณ” ซึ่งในช่วงแรก อาจยังไม่เห็นภาพเหล่านี้ เพราะอดีตนายกฯอยู่ในช่วงการพักฟื้น แต่เมื่อสภาพร่างกายแข็งแรง คงต้องมีบรรดาบุคคลต่างจากหลายสาขาอาชีพเข้าพบแน่ ยิ่งมีข่าว ในเดือนพ.ค.นี้ พรรคเพื่อไทยอาจมีการปรับครม. เพื่อหมุนเวียนบุคคลต่างเข้ามาทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร เนื่องจากเป็นพรรคใหญ่ หรือมีการประเมินผลงานครม.ของพรรค ว่าทำงานเข้าตาประชาชนหรือไม่

ยิ่งคู่ต่อสู้ของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งหน้า คงหนีไม่พ้น “พรรคก้าวไกล” (ก.ก.) ซึ่งหมายมั่นปั้นมือ จะเข้ามาเป็นแกนนำรัฐบาลให้ได้ หลังในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา แม้ได้จำนวนสส.มากที่สุด แต่ต้องอยู่ในสภาพเป็นแกนนำพรรคฝ่ายค้าน เพราะ ชูนโยบายแก้ไขมาตรา 112 ทำให้บรรดาพรรคการเมืองต่างๆ ไม่มีใครเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาล จนกระทั่งพรรคเพื่อไทยพลิกขั้วมาเป็นแกนนำรัฐบาล ท่ามกลางกระแสข่าว “ดีลลับ” โดย ฝ่ายอนุรักษ์นิยม หวังพึ่งพรรคแกนนำรัฐบาล ให้เป็นตัวแทนในการปะทะกับเครื่องจักรสีส้ม เพราะ มีหลายนโยบายที่ทำให้ “คนรุ่นเก่า” วิตกกังวล ซึ่งเชื่อว่า พรรคเพื่อไทย และ “อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร” ทายาททางการเมืองของ “ทักษิณ” ก็คงหวังพึ่งพิง “บารมี” และ “กระแสศรัทธา” ในตัว “บุพการี” มาช่วยหนุนส่ง เพื่อให้ตนเองก้าวไปสู่ การเป็น “ผู้นำหญิงคนที่ 2 ของประเทศไทย”

แพทองธาร ชินวัตร

โดยเฉพาะจากการจับท่าทีการให้สัมภาษณ์ “แพทองธาร” ก่อนที่ “ทักษิณ” จะได้รับการปล่อยตัว ที่ระบุว่า “อิ๊งค์คิดว่าความยุติธรรมหลายอย่างสำหรับคุณพ่อ เป็นสิ่งที่ควรจะได้ และได้ใช้ชีวิตที่เหลืออย่าง มีความสุขจากประโยชน์ที่ท่านได้ทำให้กับประชาชน หวังว่าท่านไปที่ไหน ก็จะมีแต่คนรอรับ อย่างที่ท่านเคยตั้งหวังว่า จะกลับมาเจอพี่น้องประชาชนคนไทยอีกครั้ง ซึ่งหากพ้นโทษแล้ว ก็หวังว่าทุกอย่างจะราบรื่นดี”

นั่นหมายความว่า ในอนาคต “หัวหน้าพรรคเพื่อไทย” อาจพา “คุณพ่อ” เดินสายไปพบปะกับประชาชนในพื้นที่ต่างๆ  หลังพ้นครบกำหนดการพักโทษ และเคลียร์คดีความต่างๆ เรียบร้อยแล้ว เพราะยังมีคนรักและศรัทธา “ทักษิณ” เป็นจำนวนมาก ดูได้จากผลการเลือกตั้งในอดีตที่ผ่านมา พรรคที่อดีตนายกฯให้การสนับสนุนจะชนะเลือกตั้งทุกครั้ง จะมีเพียงการเลือกตั้งเมื่อเดือนพ.ค.66 ซึ่งพรรคเพื่อไทยพ่ายแพ้ให้กับพรรคก้าวไกล แต่ด้วยเงื่อนไขพิเศษ พรรคเพื่อไทยก็ได้กลับมาเป็นแกนนำรัฐบาล 

ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ต้องมีความเข้มข้นมากขึ้น เพราะ “ทักษิณ” คงหวังผลักดัน “บุตรสาวคนเล็ก” ให้มีโอกาสนั่งเก้าอี้นายกฯ เหมือนที่กเคยประสบความสำเร็จ  จากการผลักดันน้องสาว “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ให้ก้าวขึ้นมาเป็น “ผู้นำหญิงคนแรก” มาแล้ว

ส่วน บทบาทของ “เศรษฐา” เชื่อว่า “ทักษิณ” จะไม่มีการเปลี่ยนตัว หรือเปลี่ยนม้ากลางศึก เพราะที่ผ่านมาก็มีความสัมพันธ์อันดีกับ “แพทองธาร” อีกทั้งในสถานการณ์ประเทศขณะนี้ ต้องได้บุคคลที่มีความรู้ทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งอดีตนายกฯที่อยู่ในช่วงภาวะพักโทษ คงไม่โหดร้ายกับ “เศรษฐา” เหมือนกับสมัยที่ไม่สนับสนุน “สมัคร สุนทรเวช” ให้กลับมาเป็น “นายกฯรอบสอง” หลังจากหลุดจากตำแหน่ง เพราะจัดรายการ “ชิมไปบ่นไป” เพราะครั้งนั้น ทักษิณ” เห็นว่า สั่งการ “สมัคร” ไม่ได้ อีกทั้งไปร่วมมือกับแกนนำพรรคภูมิใจไทย (ภท.) เลย “ไม่สนับสนุน” ให้กลับเข้ามาผู้นำประเทศอีก ซึ่งเชื่อว่า สถานการณ์ปัจจุบันยังไม่ถึงขั้นที่เรียกว่า “ประวัติศาสตร์จะซ้ำร้อย”

 

ชัยธวัช ตุลาธน

ท่าที “หัวหน้าพรรคเพื่อไทย” ที่หวังจะใช้ “บารมี” และ “ผลงาน” ของ “คุณพ่อ” มาเป็นกระดานเดินเกมทางการเมือง ก็หนีไม่พ้นสายตาของ “บิ๊กต๋อม-ชัยธวัช ตุลาธน” ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรและหัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่ออกมากล่าวถึงกรณี “ทักษิณ” ได้รับการพักโทษในวันที่ 18 ก.พ.นี้ว่า สภาพดังกล่าวจะเหมือนกับการมี “นายกฯ 2 คน” ถ้าไม่ระมัดระวัง และจะมีปัญหาในการบริหารงานของรัฐบาล

“พรรคก้าวไกลให้ความสำคัญกับการเสมอภาค ของกระบวนการยุติธรรม แน่นอนว่ายังมีคำถามอีกมาก เช่น สิทธิที่นายทักษิณได้รับในการรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล โดยไม่ต้องอยู่ในเรือนจำแม้แต่วันเดียว ซึ่งโดยหลักการ พรรคก้าวไกลสนับสนุนสิทธิการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของผู้ต้องขังอย่างเหมาะสม แต่กรณีนี้ ก็เกิดคำถามว่า ได้รับอภิสิทธิ์เหนือนักโทษคนอื่นหรือไม่”

“ถ้าคืนนั้นเลยเที่ยงคืน จะกี่นาทีไม่ทราบ สามารถออกจากโรงพยาบาลได้ทันที ก็หมายความว่า เหตุผลที่เป็นข้ออ้างว่า มีความจำเป็นจะต้องอยู่โรงพยาบาล ก็ไม่เป็นความจริง นี่ยังไม่ต้องนับว่า อีกสักพักจะมีกำลังวังชาขึ้นมา พร้อมที่จะเดินสายไปพบประชาชนทั่วประเทศ อันนี้ก็ไปกันใหญ่” ชัยธวัช กล่าว

จะสังเกตว่าก่อนหน้านั้น แกนนำพรรคก้าวไกลจะหลีกเลี่ยง ไม่ออกมาวิจารณ์ กรณี “ทักษิณ” พักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ ทั้งยังมีข่าว “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานคณะก้าวหน้า เดินทางไปพบ “ทักษิณ” ที่เกาะฮ่องกง ในช่วงการจัดตั้งรัฐบาล ยิ่งตอกย้ำความสัมพันธ์ของผู้ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) กับอดีตนายกฯ ซึ่งเป็นตัวกำหนดของพรรคก้าวไกล หลายคนยิ่งเข้าใจถึงความสัมพันธ์ของ 2 พรรค แต่มาถึงวันนี้ เมื่อผลประโยชน์ทางการเมืองเหนือสิ่งอื่นใด จึงจำเป็นต้องแยกทางกัน

การที่ “หัวหน้าพรรคเพื่อไทย” ยังจะนำ “บุพการี” เดินสายไปทั่วประเทศ ใครก็มองออกว่า หวังสร้างคะแนนนิยมให้กับพรรคต้นสังกัดโดยตรง เลยทำให้ “ชัยธวัช” ต้องรีบมาจุดประเด็น เพื่อดิสเครดิต “นายกฯคนปัจจุบัน” และต้องการให้สังคมจับตามองความเคลื่อนไหวของ “ทักษิณ” ซึ่งถือเป็นทั้งจุดอ่อนและจุดแข็ง เพราะยังมีประชาชนบางกลุ่มคอยเคลื่อนไหว และเรียกร้องให้องค์กรอิสระตรวจสอบ

ภูมิธรรม เวชยชัย

“ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ถึงเสียงวิจารณ์ของพรรคก้าวไกล ถึงการพักโทษ “ทักษิณ” และได้กลับมาอยู่บ้าน ขณะนี้เหมือนมี “นายกฯ 2 คน” ว่า “อย่าย้อนยุค อย่าย้อนอดีตเลย” นายทักษิณตัดสินใจจะอยู่กับครอบครัว และเคยบอกว่า ถ้าสิ่งใดเห็นว่าเป็นประโยชน์ จะออกมาแสดงความคิดเห็น หรือขึ้นอยู่กับว่า ใครจะรับฟัง และนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ ในฐานะที่นายทักษิณเป็นผู้มีประสบการณ์ อย่างน้อยสังคมก็ยอมรับว่า รัฐบาลของท่าน เคยแก้วิกฤตการณ์สำคัญหลายเรื่อง เช่น ไข้หวัดนก หนี้ไอเอ็มเอฟ และเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าจะออกมาให้ความคิดเห็นเมื่อประเทศเกิดวิกฤต

“อย่าไปกังวลเรื่องการเสนอความคิดเห็น และขออย่าไปผูกกับประเด็นการเมือง ว่าจะครอบงำ หรือมีนายกฯ 2 คน อย่ากังวล รัฐบาลจะตั้งใจทำงานให้ดี” ภูมิธรรม กล่าวย้ำ

จากนี้ไปความเคลื่อนไหวของ “ทักษิณ” จะอยู่ในความสนใจของสังคม และสื่อตลอดเวลา ในฐานะที่เคยมีบทบาททางการเมืองตลอด 20 ปีที่ผ่านมา เพราะการเข้ามาคุมกลไกรัฐ ก็ถือเป็นเรื่องที่ทุกพรรคปรารถนา แม้กระทั่ง “พรรคก้าวไกล” ซึ่งเคยเป็นพันธมิตรทางการเมืองกับ “พรรคเพื่อไทย” ยังต้องออกมาตีกัน “ทักษิณ” ไม่ให้มีบทบาททางการเมือง ด้วยเกรงจะกระทบกับพรรค เพราะ “เครื่องจักรสีส้ม” เชื่อว่า หนทางที่จะได้เป็นรัฐบาล คือต้องได้เสียงสส. เกินกึ่งหนึ่ง คือ 250 เสียงขึ้นไป

ดังนั้นถ้า “พรรคคู่แข่ง” มี “อดีตนายกฯ” มีเป็นกำลังสำคัญ ยิ่งจะทำให้หนทางพรรคก้าวไกล กับการได้พิสูจน์ตนเองในฐานะฝ่ายบริหาร ยิ่งยากขึ้นไปอีก การต่อสู้ระหว่าง “พรรคเพื่อไทย ”กับ “พรรคก้าวไกล” คงจะดุเดือดและเข้มข้นมากกว่าเดิมแน่ๆ

………………………………..

คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก 

โดย… “แมวสีขาว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img