วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTS“ก้าวไกล”ยอมรับสภาพโดน“ยุบพรรค” รอปรับกระบวนทัพใหม่-มั่นใจไม่มีป่วน
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“ก้าวไกล”ยอมรับสภาพโดน“ยุบพรรค” รอปรับกระบวนทัพใหม่-มั่นใจไม่มีป่วน

แม้คำให้สัมภาษณ์ของ แกนนำพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ดูเหมือนไม่ยอมจำนนต่อวิบากรรมครั้งใหม่ หลัง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติให้ส่งสำนวนยุบพรรคก้าวไกล ให้ ศาลรัฐธรรมนูญ (รธน.) โดยเห็นว่า มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคก้าวไกลกระทำการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 

และมีกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามมาตรา 92 วรรค (1) และ (2) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมืองพ.ศ.2560 โดยมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) ระบุไว้ว่า (1) กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ (2) กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ผลพวงจากการวินิจฉัยเรื่องดังกล่าว มีผลสืบเนื่องมาจาก ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ วินิจฉัยว่า การกระทำของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” และ “พรรคก้าวไกล” เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง และสั่งการ “เลิกการกระทำ-เลิกการแสดงความคิดเห็น” เพื่อให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อีกทั้งไม่ให้มีการแก้ไขมาตรา 112 ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย

สำหรับมาตรา 49 วรรคหนึ่ง (1) บัญญัติไว้ว่า บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้

ด้าน “พิธา” ในฐานะที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุว่า มาตรา 49 ที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินไปเมื่อวันที่ 31 ม.ค. และมาตรา 92 อันหนึ่งเป็นมาตรฐานที่ไว้ใช้ป้องกัน อีกอันเป็นมาตรฐานที่ใช้ประหารพรรคการเมือง น้ำหนักมันคนละอนุมาตรากัน สมมุติแม้จะมีคำว่าล้มล้างเหมือนกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าโทษจะได้สัดส่วนเหมือนกัน

“เราจะต้องมีดุลยพินิจว่า มาตราหนึ่งมีไว้แค่ตักเตือน บอกให้หยุดการกระทำ แต่อีกมาตราหนึ่งมีไว้เพื่อที่จะยุบพรรค และนำไปสู่การลิดรอนสิทธิทางการเมืองในการลงเลือกตั้งครั้งต่อไป เชื่อว่าศาลจะให้ความยุติธรรม และให้น้ำหนักมากกว่าเรื่องของมาตรา 49″

ส่วน “ชัยธวัช ตุลาธน” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์หลัง “กกต.” มีมติส่งคำร้องยุบพรรคก้าวไกลให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กรณีเสนอแก้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นการล้มล้างการปกครองว่า พรรคก้าวไกลอยู่ระหว่างเตรียมเรื่องการต่อสู้คดี ยืนยันว่าทำทุกวันให้ดีที่สุด ต่อสู้เต็มที่ แม้ว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะต่อสู้ได้ยาก แต่ก็ยังคงทำอย่างเต็มที่ และอย่างน้อยที่สุดศาลรัฐธรรมนูญจะต้องเปิดโอกาสให้พรรคก้าวไกล ได้แก้ข้อกล่าวหา และนำเสนอข้อเท็จจริงทั้งพยานผู้เชี่ยวชาญ เพื่อต่อสู้คดี และเมื่อศาลเห็นข้อเท็จจริงเพียงพอแล้วก็สามารถยุติการแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมได้ การให้ข้อเท็จจริงให้ได้มากที่สุด ถือเป็นหน้าที่ของพรรคก้าวไกล

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่  18 มี.ค. “แสวง บุญมี” เลขาธิการ กกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ซึ่งได้รับมอบหมายจาก “กกต.” ให้เป็นผู้ยื่นคำร้องและดำเนินคดี ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้พิจารณาสั่งยุบพรรคก้าวไกล และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) โดยเป็นการยื่นผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ E-filing ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนด 

จากนี้ต้องรอดูว่า การประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ปกติจะมีการประชุมประจำสัปดาห์-ทุกวันพุธนั้น ในวันนี้ พุธที่ 20 มี.ค.จะมีคำร้องดังกล่าวจะเข้าสู่การพิจารณาหรือไม่ และศาลจะมีคำสั่งรับคำร้องนี้ ไว้วินิจฉัยหรือไม่ หากจะมีคำสั่งให้ดำเนินการอย่างไรต่อไป

ขณะที่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานจากพรรคก้าวไกล ระบุว่า บรรดาแกนนำพรรคได้ประเมินถึงสถานการณ์ภายหลัง “กกต.” มีมติเอกฉันท์ เสนอเรื่องพร้อมความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคก้าวไกล และตัดสิทธิ “กก.บห.” จากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์วินิจฉัย ว่าการกระทำของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์”และ “พรรคก้าวไกล” เสนอแก้ไข มาตรา 112 ใช้เป็นนโยบายในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 

แกนนำพรรคก้าวไกล ประเมินฉากทัศน์ว่า คาดว่าจะเกิดการยุบพรรคก้าวไกลในช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ เดือนเม.ย. เนื่องจากเป็นช่วงที่ประชาชนอยู่ในบรรยากาศของเทศกาล ทำบุญ รดน้ำดำหัว และเป็นวันครอบครัว แต่ไม่มีปัญหาสำหรับพรรคก้าวไกล เพราะได้เตรียมแผนรับมือทุกฉากทัศน์ เช่น หากยุบพรรคในช่วงก่อนสงกรานต์จริงๆ การปรับกระบวนทัพจะไม่วุ่นวาย เพราะลงล็อกการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ที่จะเกิดในเดือนเม.ย.67 ต้องเลือกตั้ง กก.บห.ชุดใหม่ พอดิบพอดี


สำหรับ “ดาบสอง” ที่ตามซ้ำ กรณีที่มีผู้ไปร้อง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ฟันจริยธรรมร้ายเเรง “พิธา” และ 44 สส.พรรคก้าวไกล ที่ร่วมกันลงชื่อยื่นร่างแก้ไข มาตรา 112 ดังกล่าวนั้น แกนนำพรรคก้าวไกล มองว่า ขั้นตอนในชั้นศาลฏีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ใช้เวลาค่อนข้างนาน ไม่น่าจะรวดเร็ว การพิจารณาคดีจะเเตกต่างกัน เป็นไปตามพฤติกรรมรายบุคคล และดูพฤติกรรมแยกเป็นกรณีๆ ไป

เพราะในคำวินิจฉัยฉบับเต็มของศาลรัฐธรรมนูญ มีการระบุเรื่อง การลงชื่อแก้ไขโดยชอบตามรัฐธรรมนูญเอาไว้ ประเด็นคือ ดูพฤติการณ์อย่างไรถึงลงชื่อแก้ไขกฎหมายโดยชอบ พร้อมยกตัวอย่างจะดูพฤการณ์ต่อเนื่อง เช่น สส. “ก.” ลงชื่อแก้ไขมาตรา 112 อย่างเดียว โดยไม่มีพฤติกรรมไปเป็นนายประกันให้ผู้ต้องหาคดีเกี่ยวกับมาตรา 112 แบบนี้รอด

แต่หาก สส. “ข.” มีพฤติกรรมไปเป็นนายประกัน ผู้ต้องหาคดีเกี่ยวกับคดีมาตรา 112 แบบนี้มีความเสี่ยงสูงที่จะโดนเอาผิดเรื่องจริยธรรม

แกนนำพรรคก้าวไกล ยังได้มีการประเมินว่า ขณะนี้มีขบวนการใช้กรณีนี้ ต่อรองทางการเมือง โดยอ้างว่าหากตกลงย้ายพรรคตามเงื่อนเวลาที่ตกลงกันไว้ จะเป็นหลักประกันว่า มีโอกาสสูงไม่ถูกฟันจริยธรรมร้ายแรง ทั้งนี้แม้มีขบวนการดังกล่าวต่อรองจริง แต่อย่างไรเสีย จะไม่มี 44 สส.ก้าวไกลย้ายพรรคแน่นอน

ถ้าประเมินจากท่าทีดังกล่าว นั่นหมายความว่า แกนนำพรรคก้าวไกลคงรับสภาพว่า ในที่สุดศาลรัฐธรรมนูญต้องมีคำวินิจฉัยยุบพรรคก้าวกล เพราะเคยวินิจฉัยว่า การเสนอแก้ไขมาตรา 112 พฤติกรรมของพรรคเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง

อีกทั้งความเห็นของนักกฎหมาย นักวิชาการและนักการเมืองหลายคน ต่างฟันธงว่า “เครื่องจักรสีส้ม” ไม่น่าจะรอด วิบากกรรมครั้งใหม่ ซึ่งถือเป็นครั้งที่สองหลังก่อนหน้านั้น “พรรคอนาคตใหม่” (อนค.) ที่เปรียบเสมือนเป็นพรรคพี่ ก็ถูกยุบไปก่อนหน้านี้

ก่อนหน้านั้นพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ก็เคยถูกศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ให้ยุบพรรค ตามพ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (2) ซึ่งเป็นมาตราเดียวกันกับที่พรรคก้าวไกลถูกยื่นคำร้องยุบพรรค ด้วยมติ 6 ต่อ 3 ให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของ “กก.บห.” ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่ 8 ก.พ.2562 ซึ่งเป็นวันที่มีการกระทำความผิดตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (2) แต่กำหนดระยะเวลาไว้ 10 ปี นับจากวันที่ศาลมีคำสั่งยุบพรรค เนื่องจากเห็นว่า “เป็นการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ยังไม่ถึงขนาดมีเจตนาจะล้มล้างการปกครอง” เพราะเป็นขั้นตอนหนึ่งในการได้มาซึ่งนายกฯ ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรง ต่อระบอบการปกครอง อีกทั้งพิจารณาความสำนึกรับผิดชอบของ กก.บห.ที่น้อมรับพระบรมราชโองการเหนือเกล้าฯ ทันทีที่ทราบ เห็นว่าพรรคไทยรักษาชาติยังมีความเคารพต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

สำหรับคดียุบพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งเป็นพรรคสาขาของเพื่อไทย (พท.) ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 เคยสร้างสถิติไว้ว่า เป็นคดียุบพรรคที่ใช้เวลาสั้นที่สุด คือแค่ 25 วัน นับจาก “กกต.” มีมติให้ส่งคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อ 13 ก.พ.2562 ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ยุบพรรคไทยรักษาชาติ เมื่อวันที่ 7 มี.ค.2562 และมาถึงปัจจุบัน  

ดังนั้นหลายฝ่ายเลยจับตามองว่า คดียุบพรรคก้าวไกลจะใช้เวลานานแค่ไหน หลังก่อนหน้านี้มีการออกมาคาดการณ์ว่าอาจใช้เวลาไม่ถึง 2 เดือน นับจากวันที่ กกต.มีมติเมื่อ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ด้าน “สมชัย ศรีสุทธิยากร” อดีต กกต. โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า “กรณีเลวร้ายสุด (Worst Case Scenario) เมื่อ กกต. ส่งคำร้องยุบพรรคก้าวไกล คือ

1.ศาลรัฐธรรมนูญน่าจะใช้เวลาในการวินิจฉัย ไม่เกิน 2 เดือน เนื่องจากแทบไม่ต้องไต่สวนใหม่ แต่อาจมีการเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงเพิ่มเติมได้

2.คำร้องยุบพรรค เป็นการยุบจากกรณีพรรคการเมืองกระทำความผิด มาตรา 92(1) และ (2) ของ พ.ร.ป. พรรคการเมือง กระทำการล้มล้างและเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองฯ ซึ่งนอกจากยุบพรรคแล้ว กก.บห.มีโทษถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิตด้วย

3.กก.บห.ที่ถูกตัดสิทธิ คือ กก.บห.ตามข้อบังคับพรรคก.ก.ข้อ 20 ที่มีตำแหน่ง หัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค เหรัญญิกพรรค นายทะเบียนสมาชิกพรรค และกก.บห.คนอื่นๆ รวม 10 คน (ไม่มีตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค)

4.ส่วนกรณี 44 สส.ที่เข้าชื่อเสนอร่างแก้ไข ม.112 นั้น ไม่เกี่ยวกับกรณียุบพรรค แต่เป็นการร้อง ป.ป.ช. กรณีผิดจริยธรรมร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 234(1) ซึ่งหาก ป.ป.ช.ลงมติว่าผิด ต้องส่งศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย หากศาลประทับรับฟ้อง ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่

หากศาลฎีกาวินิจฉัยว่าผิด มีโทษตามมาตรา 235 วรรคสาม ให้พ้นจากตำแหน่ง สส. ตั้งแต่วันยุติปฏิบัติหน้าที่ เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต และอาจจะพ่วงเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่เกิน 10 ปีด้วยหรือไม่ก็ได้

ขั้นตอนในขั้น ป.ป.ช. ถึงจบศาลฎีกา น่าจะใช้เวลาอีก 1 ปี และไม่ว่าบุคคลดังกล่าวจะอยู่พรรคใหม่ใด ถ้าผิดก็ถือว่าผิด ครับ”

สำหรับ รายชื่อกก.บห.ในยุคที่ “พิธา” เป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล ประกอบด้วย 1.พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค 2.ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค 3.ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ เหรัญญิกพรรค 4.ณกรณ์พงศ์ ศุภนิมิตตระกูล นายทะเบียนสมาชิกพรรค 5.ปดิพัทธ์ สันติภาดา กก.บห.สัดส่วนภาคเหนือ 6.สมชาย ฝั่งชลจิตร กก.บห.สัดส่วนภาคใต้ 7.อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล กก.บห.สัดส่วนภาคกลาง 8.อภิชาติ ศิริสุนทร  กก.บห.สัดส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 9.เบญจา แสงจันทร์ กก.บห.สัดส่วนภาคตะวันออก 10.สุเทพ อู่อ้น กก.บห.สัดส่วนปีกแรงงาน

จากนี้ไปต้องมาลุ้นกันว่า พรรคใหม่ที่เตรียมรองรับ หากพรรคก้าวไกลถูกยุบจะใช้ชื่ออะไร บรรดา สส.จะถึงคราวแตกกระสานซ่านเซ็นหรือไม่ ซึ่งถ้าหากเป็นไปตามที่แกนนำพรรคสีส้มประเมินไว้ นั่นหมายความจะใช้เวลาเพียง 1 เดือน ซึ่งถือว่าเร็วพอสมควร รวมทั้งแกนนำรุ่นที่สาม ใครจะเข้าแบกรับภาระอันหนักอึ้ง ซึ่งต้องเผชิญแรงเสียดทาน และความกดดันมาเลยทีเดียว  เมื่อย้อนไปดูแนวทางในการขับเคลื่อนบางเรื่อง นับตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่ ต่อเนื่องมาจนถึงพรรคก้าวไกล

………….

คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก

โดย…“แมวสีขาว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img