ในที่สุด “ข่าวปล่อย” ก็กลายเป็น “ข่าวจริง” หลังก่อนหน้านี้มีการคาดหมายว่า ภายในเดือนพ.ค.นี้ จะมีการ ปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) เนื่องจากเมื่อไหร่ก็ตามที่ “พรรคเพื่อไทย” (พท.) ซึ่งมีรากเหง้ามาจาก “พรรคไทยรักไทย” (ทรท.) เข้าไปเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล มักจะมีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงในฝ่ายบริหารทุก 6 เดือน
สาเหตุสำคัญมาจาก สส.พรรคเพื่อไทยมีจำนวนมาก มีบุคคลสำคัญ ซึ่งอยู่ทั้งในและนอกพรรค คอยช่วยเหลือและให้การสนับสนุน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องหมุนเวียน สับเปลี่ยนเข้ามาเป็นรับตำแหน่งในฝ่ายบริหาร เป็นไปตามสำนวน “สมบัติผลัดกันชม” หรืออาจเป็นเพราะการทำงานของรัฐมนตรีบางคน สร้างผลงานไม่เป็นที่น่าพอใจ ไม่สนองตอบความพอใจ “เจ้าของพรรคตัวจริง” จึงจำเป็นต้องมีการปรับครม.
ยิ่งปีนี้ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ กลับมาพำนักอยู่ในประเทศ และเดินสายกลับไปบ้านเกิดจ.เชียงใหม่มา 2 ครั้ง ส่งสัญญาณเคลื่อนไหวทางการเมือง ยิ่งเป็นตัวแปรสำคัญ ที่เชื่อมโยงกับความเป็นไปของรัฐบาล ในฐานะที่เป็นผู้นำด้านจิตวิญญาณของพรรคเพื่อไทย มีอิทธิพลชี้เป็นชี้ตาย ภายในพรรคแกนนำรัฐบาลมากพอสมควร
ก่อนหน้านั้น ในช่วงก่อนเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ มีรายงานข่าวออกมาจากพรรคเพื่อไทยเกี่ยวกับกระแสข่าวการปรับครม. ระบุว่า หลังจากรัฐบาลทำงานมาร่วม 7 เดือน ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า การปรับครม.จะเกิดขึ้นหลังเทศกาลสงกรานต์ โดยจะมีทั้งการปรับเข้า ปรับกระทรวง บางตำแหน่งเป็นคนใหม่เข้ามา เช่น “พิชัย ชุณหวชิร” ที่ปรึกษานายกฯและประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) มีแนวโน้มสูงที่จะเข้ามานั่งตำแหน่ง “รมว.คลัง” ที่ “เศรษฐา ทวีสิน” นั่งควบอยู่ ทำให้ “เศรษฐา” ต้องเปลี่ยนกระทรวงไปนั่งควบกระทรวงอื่น ซึ่งมีกระแสข่าวว่าจะไปนั่งควบ “กระทรวงกลาโหม” แทน “สุทิน คลังแสง” รมว.กลาโหม
เนื่องจากสังเกตได้จากการประชุมหน่วยงานความมั่นคง เพื่อรับมือสถานการณ์เมียนมา แต่ “รมว.กลาโหม” ไม่ได้เข้าร่วม ซึ่ง “สุทิน” อาจต้องไปรับหน้าที่ดูแลงานในสภาผู้แทนราษฎร ให้กับพรรคเพื่อไทย เหมือนกับ “ไชยา พรหมา” ที่อาจต้องหลุดจากตำแหน่ง “รมช.เกษตรและสหกรณ์” เพราะทำงานไม่เข้าเป้าในช่วงที่ผ่านมา ส่วนกระทรวงที่มีแนวโน้มสลับกัน โดย “สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล” รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา มีโอกาสที่จะสลับตำแหน่งกับ “เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช” รมว.วัฒนธรรม
นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า “สมศักดิ์ เทพสุทิน” รองนายกฯ จะเปลี่ยนไปรับตำแหน่ง “รมว.สาธารณสุข” แทน “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” และ “สุริยา จึงรุ่งเรืองกิจ” รมว.คมนาคม จะควบตำแหน่งรองนายกฯ ส่วนที่คาดว่าจะหลุดออกจากตำแหน่งเพิ่มเติมคือ “พวงเพ็ชร ชุนละเอียด” รมต.ประจำสำนักนายกฯ และ “เกรียง กัลป์ตินันท์” รมช.มหาดไทย แต่รายชื่ออาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ตามพลังล็อบบี้ของแต่ละคน
แม้ในช่วงแรกที่ปรากฏเป็นข่าว การเปลี่ยนแปลงในฝ่ายบริหาร “เศรษฐา” จะออกมาปฏิเสธกระแสข่าวดังกล่าว แต่ในที่สุดก็ออกมา “ยอมรับ” พร้อมระบุว่า “จะหารือกับบรรดาพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อพุดคุยว่าจะมีการปรับเปลี่ยนไป ในคราวเดียวกันหรือไม่ เป็นการให้เกียรติเพื่อนร่วมงาน” พร้อมทั้งยืนยันว่า “ถ้ามีการปรับครม.ก็ปรับให้ถูกหน้าที่ ต้องสร้างระบบรัฐสภาให้มีความแข็งแกร่ง ในฐานะที่มีส่วนในการผลักดันกฎหมาย ที่เป็นกลไกสำคัญของฝ่ายบริหาร เนื่องจากในช่วงสมัยประชุมสภาฯที่ผ่านมา รัฐบาลผลักดันกฎหมาย ให้ผ่านกระบวนการสภาฯได้เพียงฉบับเดียว”
ส่วนที่ว่าจะมีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่นายกฯจะควบตำแหน่งรมว.กลาโหม “เศรษฐา” กล่าวว่า ทุกออฟชั่นมีความเป็นไปได้หมด ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม เอาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนเป็นที่ตั้ง เอาการทำงานของคน ให้ถูกฝาถูกตัวเป็นที่ตั้ง ตรงนี้มีความเป็นไปได้หมด แม้แต่สื่อมวลชนเองก็บอกว่า บางคนทำงานยังไม่ถูก ยังไม่ดีพอ อ่อนในหลายด้าน รวมถึงการสื่อสาร ด้านการประสานงาน ทุกข้อคิดเห็นตนนำมาพิจารณาหมด หากจะมีการปรับ ครม.ซึ่งก็คงปรับเรื่อยๆ ไม่ใช่ครั้งสุดท้าย
จะเห็นว่าการให้สัมภาษณ์ของ “หัวหน้ารัฐบาล” สอดคล้องกับกระแสข่าวที่ออกมา พร้อมทั้งยืนยัน ถ้ามีการปรับครม.ก็ปรับให้ถูกหน้าที่ ต้องสร้างระบบรัฐสภาให้มีความแข็งแกร่ง รวมถึงความเป็นไปได้ที่จะไปนั่งควบตำแหน่ง “รมว.กลาโหม” แต่ก็มีคำถามตามมาคือ ทำไมหัวหน้ารัฐบาลถึงจะปล่อยมือจากกระทรวงการคลัง??? ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการดูแลปัญหาเศรษฐกิจ ผลักดันนโยบายแจกเงินหมื่น ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต ซึ่งถือเป็น “เรือธง” ของพรรคเพื่อไทย และตั้งเป้าหมายที่จะผลักดัน ให้เป็นรูปธรรมในช่วงไตรมาสที่ 4
หรือ “หัวหน้ารัฐบาล” ต้องการ “หนีปมร้อน” ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายแจกเงินหมื่น เนื่องจากแนวทางที่จะผลักดันโครงการนี้ แม้ว่ารัฐบาลจะไม่ใช้วิธีออกพ.ร.บ.เงินกู้ 500,000 ล้านบาท แต่ก็ยังมีเสียงวิจารณ์ตามมาหลังรัฐบาลจะนำเงินส่วนหนึ่งจาก ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มาใช้ อีกทั้งในระหว่างที่ “เศรษฐา” ออกมานั่งแถลง ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 10 เม.ย.67 เวลามีนักข่าวซักถามในประเด็นต่างๆ หัวหน้ารัฐบาลจะโยนให้ “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” รมช.คลัง เป็นผู้ชี้แจงตลอด
ขณะที่ “ลวรณ แสงสนิท” ปลัดกระทรวงการคลัง ได้ชี้แจงถึงแหล่งที่มาของเงิน ที่นำมาใช้ในโครงการดิจิทัล วอลเล็ต โดยระบุว่า วงเงิน 5 แสนล้านบาท สามารถบริหารจัดการผ่านกระบวนการงบประมาณได้ทั้งหมด โดยเป็นการจัดการงบประมาณในปี 67 และปี 68 ควบคู่กันไป จะแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1.งบประมาณปี 68 จำนวน 152,700 ล้านบาท ซึ่งได้มีการ ขยายกรอบวงเงินในปี 68 เรียบร้อยแล้ว
2.จะมาจากการดำเนินการผ่านหน่วยงานของรัฐ จำนวน 172,300 ล้านบาท รายละเอียดตรงนี้จะใช้มาตรา 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ โดยให้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดูแลกลุ่มประชาชนที่เป็นเกษตรกรจำนวน 17 ล้านคน ผ่านกลไกมาตรา 28 ของปีงบประมาณ 68
3.มาจากการบริหารจัดการเงินงบประมาณของปี 67 ของรัฐบาลเอง จำนวน 175,000 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณปี 67 เพิ่งใช้ ยังมีเวลาที่รัฐบาลจะต้องพิจารณาว่ารายการไหนสามารถปรับเปลี่ยนได้ รวมถึงงบกลาง อาจจะมีการนำมาใช้เพิ่มเติมในส่วนนี้ถ้าวงเงินไม่เพียงพอ
จากนั้น “ชญาวดี ชัยอนันต์” ผู้ช่วยผู้ว่าการสายองค์กรสัมพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ โฆษก ธปท. ได้ออกมาให้ความเห็นว่า “ธปท.ได้แสดงความห่วงใยเกี่ยวกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตในหลายประเด็น โดยเฉพาะกรณีที่แหล่งที่มาของเงินในการดำเนินโครงการจากมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ซึ่งในฐานะ ธปท. ต้องให้แน่ใจว่าวงเงินที่ได้ และใช้ในโครงการต้องครบถ้วน เพื่อให้เป็นไปตามพ.ร.บ.เงินตรา การใช้มาตรา 28 เป็นเรื่องที่ต้องกังวล ควรต้องผ่านกระบวนการหลักเกณฑ์ถูกต้องครบถ้วน มองทั้งเรื่องเสถียรภาพ สภาพคล่องที่ต้องพิจารณา ซึ่งการให้ธ.ก.ส.เป็นผู้ดำเนินการ หลังจากนี้ก็ต้องคุยตามขั้นตอนต่อไป ถ้าดำเนินการได้ตามปกติ ต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.เงินตรา ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ ธปท.มองไว้”
ด้าน “ศิริกัญญา ตันสกุล” สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ก็ให้ความเห็นว่า การใช้เงิน ธ.ก.ส.ยังมีประเด็นในเรื่องของข้อกฎหมาย เพราะว่าตามวัตถุประสงค์ของ ธ.ก.ส.ที่ระบุไว้ตามกฎหมายสามารถทำได้ ในการช่วยให้เกษตรกรเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย แต่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ข้อใดที่จะไปทำให้มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร โดยการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งตอนนี้ก็ยังเป็นประเด็นกันอยู่ว่าจะต้องส่งคณะกรรมกฤษฎีกาตีความ เหมือนกับกรณีของธนาคารออมสินหรือไม่ แต่มีความเทาๆ ที่จะสามารถตีความให้เข้าข้างรัฐบาลก็สามารถทำได้
“การละเลยที่จะมีการให้กฤษฎีกาช่วยตีความก่อน ก็เป็นสิ่งที่น่ากังวล ที่สำคัญคือจะทำอย่างไรให้มีเงินมาใช้จ่ายให้เต็มที่ เพราะ ธ.ก.ส.ยังติดเกณฑ์ของกรอบวินัยการเงินการคลัง รัฐบาลก็พูดย้ำหลายรอบว่าไม่มีการขยายแน่นอน ก็ต้องมารอดูว่าโครงการไหนจะไปก่อน เพราะพักหนี้เกษตรกรจะทำต่อจนครบ 3 ปีหรือไม่ หรือว่าโครงการไร่ละ 1 พันจะยังคงเดินหน้าไปต่อได้หรือไม่ อันนี้ก็เป็นข้อกังวลสำหรับการใช้เงินของธ.ก.ส.” ศิริกัญญา กล่าว
นอกจากนี้ “กรณ์ จาติกวณิช” อดีต รมว.คลัง ยังได้ออกมาโพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า พรรคประชาธิปัตย์ออกมาตำหนิแผนการกู้จาก ธ.ก.ส.เพื่อมาแจกเงินดิจิทัล บอกว่าซํ้ารอยจำนำข้าวในการสร้างหนี้สะสมมหาศาล จนถึงวันนี้รัฐบาลยังไม่ได้ชำระคืนให้ ธ.ก.ส. ส่วนพรรคเพื่อไทยสวนกลับทันทีว่า ทีพวกคุณแจกเงินโครงการประกันรายได้ คุณก็ใช้เงิน ธ.ก.ส. วันนี้ใช้เงินคืนหรือยัง ซึ่งถูกทั้งคู่ แต่ไม่ตรงประเด็น เพราะจะผิดจะถูกอย่างไร ทั้งจำนำข้าว และประกันรายได้ ล้วนเป็นเรื่องโครงการที่ตรงกับภารกิจตามกฎหมายของ ธ.ก.ส. ถึงแม้จะมีปัญหาอื่นตามมา
เพราะตามกฎหมาย ธ.ก.ส.นั้นในหมวด 2 มาตรา 9 ได้ระบุวัตถุประสงค์ไว้ถึง 17 ข้อ ซึ่งทั้งจำนำและประกันรายได้ เข้าเกณฑ์ตั้งแต่ข้อที่ 1 คือการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เกษตรกรสำหรับการประกอบอาชีพเกษตรกรรม และเป็นวัตถุประสงค์หลัก แต่ไม่มีข้อไหนเปิดให้ ธ.ก.ส.ปล่อยกู้ให้รัฐบาลนำมาแจกประชาชนได้ แม้บางคนมีอาชีพเป็นเกษตรกรก็ตาม เพราะวัตถุประสงค์การแจกเงินดิจิทัลประกาศไว้ชัดว่า เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเพื่อการบริโภค ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการเกษตร
“ตั้งแต่ปี 2561 มีพ.ร.บ.วินัยทางการคลังยํ้าประเด็นชัดเจนในมาตรา 28 ว่า รัฐบาลใช้เงินของรัฐวิสาหกิจโดยขัดหรือไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ ไม่ได้ ทำให้ผมกลับไปอ่านกฎหมายจัดตั้ง ธ.ก.ส.อีกรอบ ซึ่งเรื่องนี้ต้องดูให้ดี ประเด็นนี้ตรงกับที่แบงก์ชาติได้ออกมาเตือน” กรณ์ ระบุชัด
ส่วน สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจธ.ก.ส (สร.ธกส.) ได้ออกมาเรียกร้อง 1.ส่งเรื่องให้หน่วยงานกำกับดูแล ธ.ก.ส. ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และธปท. เพื่อพิจารณาว่า รัฐบาลสามารถกู้เงิน ธ.ก.ส. ไปดำเนินการโครงการดิจิทัล วอลเล็ตได้หรือไม่
2.ส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อพิจารณาข้อกฎหมายว่า รัฐบาลสามารถกู้เงิน ธ.ก.ส.ไปดำเนินการโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ได้หรือไม่
3.ให้ธนาคาร เร่งสื่อสารทำความเข้าใจ ทั้งภายในและภายนอกองค์กร ว่าในปัจจุบัน ธ.ก.ส.ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ กับรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับโครงการดิจิทัล วอลเล็ต เนื่องจากอยู่ในระหว่างการพิจารณาให้ความเห็นจากส่วนงานกำกับดูแลตามข้อ 1 และ 2
ด้าน “รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง” นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กว่า การเอาเงินฝากของ ธ.ก.ส.ให้รัฐบาลนำไปแจก ไม่น่าจะทำได้ตามพ.ร.บ.ธ.ก.ส. มาตรา 9 เพราะไม่ได้เป็นการดำเนินกิจการ ซึ่งเป็นการดำเนินการร่วมกับผู้ประกอบการ โดยการนำเอาคำว่า “พัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร” มาใช้อย่างโดดๆ เป็นการบิดเบือนการใช้กฎหมาย ที่เลวร้ายกว่า “ศรีธนญชัย” ถ้าจะอ้างว่าในอดีตรัฐบาลก่อนๆ เคยทำในลักษณะเดียวกัน ก็ไม่น่าจะอ้างได้ เพราะโครงการในอดีตไม่ว่าจะเป็นโครงการรับจำนำข้าวหรือโครงการประกันรายได้ ต่างนำเงิน ธ.ก.ส.ไปใช้ร่วมกับผู้ประกอบการตามกฎหมายนี้ และถ้าการนำเงิน ธ.ก.ส.ไปใช้ในอดีตเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง ก็ไม่ใช่บรรทัดฐานที่จะอ้าง ทำตามความไม่ถูกต้องนั้นได้
คำถามคือ การที่รัฐบาลจะมอบภารกิจให้ ธ.ก.ส. มาแจกดิจิทัลวอลเล็ต ในวงเงิน 172,300 ล้านบาท จะมีความผิดทั้งมาตรา 28 ของพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง 2561 เพราะไม่ได้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ ธ.ก.ส. และยังผิดตามมาตรา 9 ของพ.ร.บ.ธ.ก.ส. ตามวัตถุประสงค์ของ ธ.ก.ส.หรือไม่
จึงเชื่อว่า หากมีการทำตามที่มีการแถลงไว้ ต้องนำมีการนำประเด็นดังกล่าวไปตรวจสอบ และขยายผลแน่นอน ซึ่งพรรคฝ่ายค้านคงไม่ปล่อยผ่านไปง่ายๆ แน่ แม้ “หัวหน้ารัฐบาล” ยืนยันว่า พร้อมให้คณะกรรมกฤษฎีกาตรวจสอบ และโครงการต้องเดินหน้าอย่างโปร่งใส
ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่ง ทำให้ “เศรษฐา” ต้องการปล่อยมือจาก “กระทรวงการคลัง” เพราะไม่อยากเผชิญกับ “ปมร้อน” ไม่ต้องตอบคำถาม เรื่องที่หมื่นเหม่กับของกฎหมายในประเด็นเกี่ยวกับโครงการดิจิทัล วอลเล็ต หรือต้องตกเป็น “จำเลย” หากมีใครนำเรื่องไปร้องเรียนให้ “องค์กรอิสระ” ตรวจสอบ ซึ่งอาจมีผลกระทบการดำรงตำแหน่งทางการเมือง และอาจทำให้เสียสมาธิในการบริหารราชการแผ่นดิน เลยอาจต้องการไปนั่งควบ “รมว.กลาโหม” แทน
เพราะก่อนหน้านี้ เวลามีปัญหาอะไรที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง นายกฯมักต่อสายตรงพูดคุยกับ “ผบ.เหล่าทัพ” และในเดือนต.ค.ปีนี้ “ผบ.ทบ.” และ “ผบ.ทร.” จะเกษียณอายุราชการ ซึ่งถือว่ามีบทบาทสำคัญ ในการดูแลงานด้านความมั่นคง ดังนั้นถ้าหากนายกฯเข้าไปทำหน้าที่ “รมว.กลาโหม” ก็อาจมีส่วนสำคัญในการพิจารณาเลือกตัวบุคคลเข้ามาดำรงตำแหน่งสำคัญ หวังสร้างคอนเนคชั่นกับกองทัพ แม้จะมีคณะกรรมการ (บอร์ด) ของกระทรวงกลาโหมเป็นผู้พิจารณาการแต่งตั้งโยกย้าย ซึ่งปกติหลายรัฐบาลที่ผ่านมา นายกฯมักนั่งควบรมว.กลาโหม
แต่ในที่สุดคงต่อรอการตัดสินใจขั้นตอนสุดท้ายของ “เศรษฐา” จะตัดสินใจอย่างไร โดยมี “ผู้มากบารมีนอกรัฐบาล” มีส่วนสำคัญในการผลักดัน “ครม.เศรษฐา 2”
…………………..
คอลัมน์ : ล้วง-ลึก-ลับ
โดย….“แมวสีขาว”